ทำไมคนแก่เอาแต่ใจตัวเอง? (ตอบไม่ง่ายอย่างที่คิด)

ทำไมคนแก่เอาแต่ใจตัวเอง? (ตอบไม่ง่ายอย่างที่คิด)

ทำไมคนแก่เอาแต่ใจตัวเอง? คำถามนี้ไม่ได้ตอบง่ายอย่างที่คิด เพราะมีปัจจัยหลายอย่างมากที่เราต้องทำความเข้าใจ ซึ่งหลายๆอย่างที่ผมพูดมานี้ หากเราไม่ได้อยู่ในมุมมองผู้สูงอายุ เราก็อาจจะลืมคิด หรือ คาดไม่ถึงเลยก็ได้

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ประเทศไทยของเรากำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ จากข้อมูลของ United Nations World Population Ageing บอกไว้ว่าในปี พ.ศ.2564 เราจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุถึงร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรเลยทีเดียว

ในความเป็นจริงนั้นทุกคนแก่ตัวลงทุกวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงตัวเราเอง และหลายครอบครัวอาจจะมีผู้สูงอายุที่ต้องดูแลมากกว่า 1 คน แต่จะต้องเจอกับปัญหาความดื้อ รวมทั้งความแปรปรวนของอารมณ์ที่ไม่ต่างกัน ต้องเรียนรู้การรับมือไปพร้อม ๆ กับความอดทนอย่างมาก เราจะพาไปหาสาเหตุที่แท้จริงด้วยกันว่าทำไม…คนแก่เอาแต่ใจตัวเอง  

7 เหตุผลว่าทำไมคนแก่เอาแต่ใจตัวเอง?

ในส่วนนี้ผมมีมาถึง 7 เหตุผลที่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมคนแก่ถึงเอาแต่ใจตัวเอง แน่นอนว่าบางเหตุผลก็อาจจะไม่ได้ตรงกับทุกสถานการณ์ เพราะฉะนั้นหากคุณกำลังอ่านบทความนี้เพื่อตอบว่าทำไมผู้สูงอายุที่บ้านของคุณถึงได้เอาแต่ใจมากนัก ผมก็แนะนำให้ ‘ลองสังเกต’ เพื่อดูว่าปัจจัยไหนเป็นสาเหตุหลักกันนะครับ

1. สภาพร่างกาย

คนเราเมื่ออายุมากขึ้นก็เป็นธรรมดาที่ทำอะไรได้ช้าลง นั่นก็เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย ที่ส่งผลเสียต่อการควบคุมต่าง ๆ จากที่เคยหยิบจับอะไรได้รวดเร็วก็ทำได้ช้า  เคยยกของหนักได้ก็ก้มไม่ค่อยจะไหว จะลุกจะนั่งก็ปวดหลังปวดขา แถมยังหลง ๆ ลืม ๆ ง่ายเสียอีก วางของไว้ตรงไหน เผลอหน่อยเดียวจำไม่ได้ซะแล้ว สมรรถนะทางร่างกายเริ่มเสื่อมถอย จากที่เคยทำได้ พอทำอะไรไม่ได้บ่อย ๆ ก็ส่งผลให้จิตใจหงุดหงิด นาน ๆ เข้าจากที่โมโหตัวเอง ก็กลายเป็นโมโหคนอื่น

2. ขาดความมั่นใจ

ข้อนี้นับว่าสำคัญมากกับสภาพจิตใจของคนเรา จากเคยทำงานมีลูกน้อง มีเพื่อนร่วมงาน มีคนนับหน้าถือตา พอถึงวันเกษียณอายุ หรือเมื่อถึงเวลาต้องหยุดงานอยู่บ้านขึ้นมาจริง ๆ ก็กลายเป็นคนไม่มีอะไรทำ ไม่มีใครให้สั่ง ไม่มีใครให้พูดคุยปรึกษาเหมือนเก่า กิจวัตรประจำวันเปลี่ยนแปลงไป  ส่งผลให้ขาดความมั่นใจได้อย่างแน่นอน การปรับสภาพของจิตใจ และสภาพชีวิตความเป็นอยู่ต้องค่อย ๆ ใช้เวลา แต่หากปรับไม่ได้ หรือยอมรับตัวเองไม่ได้ก็จะยิ่งเป็นปัญหาที่สะสมแน่นอน  

3. วิตกกังวลจนเกินกว่าเหตุ

อายุมากขึ้นโรคภัยก็มากขึ้นตามกัน หากเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยบ่อย ๆ ด้วยโรคชรา เช่น ใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ทั่วท้อง เหนื่อยง่าย ฯลฯ หนัก ๆ เข้าก็จะกลายเป็นความกังวล กลัวเป็นภาระให้กับคนอื่น กลัวถูกลูกหลานทอดทิ้ง กลัวไม่มีใครดูแล กลัวเป็นปัญหาให้กับครอบครัวเรียกว่าเป็นความกลัวที่คิดไปเองล่วงหน้า กังวลไปกับทุกปัญหา กลายเป็นความเครียด หรือซึมเศร้าไปเลยก็ได้เหมือนกัน

4. ความเหงา

จากที่ได้พบปะผู้คนบ่อย ๆ หากต้องหยุดอยู่บ้านขึ้นมาจริง ๆ สภาวะจิตใจจะยิ่งแย่ ยิ่งกับครอบครัวที่ลูกหลานต้องออกไปทำงาน ต้องอยู่บ้านคนเดียว นี่ก็เป็นสาเหตุที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจได้มากเลย คนแก่บางคนปรับสภาพได้ก็หางานอดิเรกทำเพื่อผ่อนคลาย แต่หากปรับไม่ได้ก็จะจมอยู่กับความคิดที่ว่าตัวเองไม่มีใคร ขาดลูกหลาน ขาดเพื่อนฝูง ขาดการพบปะสังสรรค์ ความเหงานั้นหากสะสมในจิตใจนาน ๆ เข้า ก็จะกลายเป็นความว้าเหว่ อ้างว้าง รู้สึกไม่มีใคร เริ่มใช้ถ้อยคำตัดพ้อต่อว่าคนอื่นบ่อย ๆ

5. ช่องว่างระหว่างวัยในครอบครัว

ครอบครัวที่ไม่ได้มีสัมพันธ์กันอย่างจริงจังมากเท่าไหร่  ต่างคนต่างต้องทำงาน แต่ต้องมาใช้เวลาอยู่ร่วมกันมากขึ้น  ก็อาจจะพบปัญหาข้อนี้ได้ เพราะความคิด ความเชื่อ มุมมอง ประสบการณ์หรืออะไรอีกหลายสิ่ง เป็นปัจจัยที่อาจจะทำให้เกิดแนวความคิดที่ไม่ตรงกัน จนกระทบกับความรู้สึกของคนแก่ ซึ่งรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และ นวัตกรรมใหม่ ๆ ด้วยเช่นกัน หากเป็นคนแก่ที่ตามโลกไม่ทัน ก็จะรู้สึกแปลกแยก ไม่เข้ากับครอบครัว กลายเป็นความระแวง

6. ความคิด ความจำ

อาการที่ลดลงสวนทางกับอายุที่มากขึ้นคือ ความคิดและความจำ คนแก่บางคนอาจจะคิดได้ช้า และจำได้น้อยลง หลง ๆ ลืม ๆ แต่กลับเชื่อว่าตัวเองจำได้ คิดได้ ทำได้ อาการเหล่านี้จะคอยรบกวนให้เกิดปัญหาไม่เข้าใจกันระหว่างคนในครอบครัวได้ง่าย หลงลืมว่าทำไปแล้ว พูดไปแล้ว ทำให้เกิดการคิดซ้ำ ๆ พูดซ้ำ ๆ แต่เรื่องเดิม ๆ พอพูดบ่อย ๆ คนก็ไม่อยากฟัง ก็จะกลายเป็นปัญหาว่าทำไม พูดแล้วใครไม่ฟัง อารมณ์ก็จะเสีย จนกลายเป็นคนขี้โมโหจุกจิก ขี้บ่น หงุดหงิดง่าย ได้ง่าย ๆ 

7. สภาพจิตใจ

ศูนย์รวมของทุกปัญหาที่เกิดขึ้น จะส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจอย่างแน่นอน การเชื่อว่าลูกหลานไม่รัก ไม่เคารพนับถือ อยากเป็นคนสำคัญ หรือเชื่อว่าคนในครอบครัวไม่เชื่อฟังตนเอง ทำให้เกิดความน้อยใจ เก็บตัว หรือกลายเป็นคนแก่ขี้หงุดหงิด และดื้อรั้นไปโดยไม่รู้ตัวก็มี หนักเข้าจนกลายเป็นความคิดการต่อต้านลูกหลาน บอกอะไรก็ไม่ทำ พูดอะไรก็ไม่เชื่อไปเสียอีก เช่น คนแก่หลายคนเวลาเจ็บป่วยมักจะไม่ยอมกินยา ไม่ยอมรักษาตัว

ในส่วนนี้ผมได้อธิบายสาเหตุต่างๆไว้บ้างแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งเรื่องที่ผมอยากจะให้เพิ่มเติมก็คือ ‘วิธี’ ที่เราสามารถนำมารับมือกับคนแก่ที่เอาแต่ใจตัวเองได้ จะเรียกว่า ‘รับมือ’ ก็ไม่ได้ถูกทีเดียว เพราะหลายๆวิธีนั้นอาศัย ‘ความเข้าใจ’ และ ‘ความตั้งใจที่จะอยู่ร่วมกัน’ มากกว่า

วิธีรับมือคนแก่เอาแต่ใจตัวเอง

ปัญหาคนแก่เอาแต่ใจตัวเองนั้นเป็นปัญหาที่หลีกเลี่ยงได้ยากจริง ๆ มีเปอร์เซ็นต์สูงมากที่จะเกิดกับทุกคน ตามปัจจัยที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้น แต่ก็พอจะมีวิธีจัดการปัญหาเหล่านี้ได้ พร้อมไปกับการบริหารจัดการอารมณ์ของตัวเราไปด้วย ดังต่อไปนี้

1. แสดงออกให้เห็นว่าเราเห็นความสำคัญ

บางครั้งการที่เรารู้คุณค่าหรือเคารพอยู่แล้ว จึงละเลยที่จะแสดงออก กลับกลายเป็นว่าเราไม่ใส่ใจไปเสียอีก จนบางครั้งคนแก่หรือผู้สูงอายุน้อยใจ เก็บเอาไปคิดมากจนกลายเป็นปัญหา ทางแก้ก็ต้องเปลี่ยนท่าทีการแสดงออกเสียใหม่ ทำให้รู้ว่าเราเห็นคุณค่า เช่น ลองเข้าไปขอความเห็นเรื่องต่าง ๆ ขอคำปรึกษาเรื่องที่ต้องตัดสินใจ ทั้งเรื่องงาน และเรื่องภายในบ้าน  คนแก่จะเริ่มรับรู้ว่าตัวเองมีความสำคัญ อาการน้อยใจหรือคิดมากก็จะค่อย ๆ หายไป

2. ระวังคำพูดและท่าทีการแสดงออก

บางครั้งหากคนแก่เกิดการทำผิดพลาดขึ้นมา เราอย่าพึ่งรีบตำหนิหรือใช้คำพูดที่อาจจะกระทบกระเทือนจิตใจได้ ข้อนี้ดูเป็นเรื่องยากสักนิด แต่เพื่อเป็นการป้องกันเกิดปัญหาซ้ำซาก ต้องพยายามสงวนท่าทีการแสดงออก ค่อย ๆ พูดหลังจากเหตุการณ์ผ่านไปแล้วจะดีกว่า หรือคอยหาจังหวะบอกในขณะที่ทำกิจกรรมภายในบ้าน เช่น ระหว่างดูหนัง ฟังเพลง ทานกาแฟ  

3. ชวนคุยเรื่องเก่า ๆ ช่วยสร้างความมั่นใจ

หากเป็นคนแก่ที่ผ่านการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานด้านต่าง ๆ แน่นอนว่าเรื่องที่ปลื้มใจและคุยกับเราได้ไม่รู้เบื่อก็คือเรื่องเหล่านี้นั่นเอง อาจจะต้องฟังซ้ำ ๆ หรือเบื่อหน่ายบ้างก็ต้องอดทน ลองถามถึงประสบการณ์การทำงาน ให้บอกเล่าเกี่ยวกับหน้าที่การงาน หรือผลงานที่ประสบความสำเร็จ เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยเยียวยาจิตใจให้มั่นคงมากขึ้น เกิดความภูมิใจมากขึ้น จิตใจสมองแจ่มใสมากขึ้น จะช่วยให้ลดอาการเอาแต่ใจลงอย่างได้ผล

4. ไม่ควรตามใจมากเกินไป

จริงอยู่ว่า 3 ข้อด้านบนนั้นเราต้องยอมตามใจคนแก่ที่เอาแต่ใจตัวเองพอสมควร แต่ก็ไม่ควรเอาใจ หรือตามใจไปซะทุกเรื่อง เพราะอาจจะส่งผลเสียได้เช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพร่างกาย เพราะคนแก่บางคน หากเราตามใจก็จะยิ่งเอาแต่ใจมากขึ้น บางครั้งการอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผล พูดจากันอย่างใจเย็น ก็เป็นทางออกที่เรานึกไม่ถึงได้เหมือนกัน 

5. พาไปพักผ่อน หลีกหนีจากความจำเจ

การที่ต้องอยู่กับสภาพแวดล้อมเดิม ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานนั้น ย่อมส่งผลต่อสภาพจิตใจอย่างแน่นอน โดยเฉพาะหากต้องอยู่คนเดียวเป็นเวลานาน ๆ ให้เราหาเวลาพาคนแก่หรือผู้สูงอายุออกไปเที่ยวนอกบ้านบ้าง เช่น พาออกไปเดินเล่น ไปสวนสาธารณะ ไปห้างสรรพสินค้า ไปวัดทำบุญ หรือไปเที่ยวต่างจังหวัด การได้เปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนอิริยาบถ จะช่วยให้จิตใจเบิกบาน อารมณ์ดี ลดความหงุดหงิด และเลิกเอาแต่ใจลงได้อย่างแน่นอน

การที่ต้องดูแลคนแก่ที่เอาแต่ใจตัวเองนั้น อาจจะทำให้ความเครียดย้อนกลับมาถามหาเราได้เช่นเดียวกัน การรับมือกับปัญหาอย่างใจเย็น ศึกษาข้อมูลอย่างถูกวิธี ค่อย ๆ ปรับจูนความคิดเข้าหากัน และการดูแลเอาใจใส่ด้วยความรักความจริงใจนั้น จะเป็นการตอบโจทย์ปัญหาเหล่านี้ได้ตรงจุดมากที่สุด  เรื่องจิตใจเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ หากทำให้มีความเครียดน้อยลง ก็จะเอาแต่ใจตัวเองน้อยลง ความสุขของทุกคนภายในบ้านก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน 

บทความล่าสุด