ข้อดีและข้อเสียของการชอบอยู่คนเดียว ไม่อยากคุยกับใคร

ข้อดีและข้อเสียของการชอบอยู่คนเดียว

บางคนชอบเวลาที่ได้อยู่คนเดียวตามลำพังและนั่นถือเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งประมาณ 50% ของประชากรบนโลกจัดว่าเป็นคนที่ชอบเก็บตัว ซึ่งหมายความว่าพวกเขาก็มักจะสามารถใช้เวลาอยู่กับตัวเองตามลำพังได้เป็นอย่างดีและถึงแม้ว่าการอยู่คนเดียวนั้นจะทำให้รู้สึกสบายใจกว่าก็ตาม แต่ในบางครั้งการอยู่คนเดียวมาเป็นเวลานานนั้นก็อาจทำให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวขึ้นจนส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้เช่นกัน

ดังนั้นเรามาเริ่มจากข้อดีของการชอบอยู่คนเดียวกันก่อนดีกว่า

10 ข้อดีของการชอบอยู่คนเดียว

#1 การอยู่คนเดียวทำให้สมองของเราได้รับการเติมพลัง

การเข้าสังคมมักจะส่งผลดีต่อการทำงานของสมองก็จริง แต่ในบางครั้งการปิดสมองของคุณก็เป็นประโยชน์เช่นกัน สมองของเรานั้นต้องการความสมดุล ในขณะที่การปฏิสัมพันธ์ทางสังคมก็มีความสำคัญต่อการทำงานของสมองบางส่วน แต่เวลาอยู่คนเดียวก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสมองของเราในการผ่อนคลายและเติมพลัง อย่างบ้านที่ว่างเปล่าปราศจากสิ่งรบกวนช่วยให้คุณปลอดโปร่งและเริ่มคิดได้ชัดเจนขึ้น

ดร. เชอร์รี บอร์ก คาร์เตอร์ อธิบายว่า “ การที่เราให้เวลากับคนอื่นๆ อยู่ตลอดเวลานั้น คือการไม่เปิดโอกาสให้สมองของคุณได้พักผ่อนและเติมเต็มตัวเอง แต่การอยู่กับตัวเองคนเดียวโดยไม่มีสิ่งรบกวน จะช่วยให้คุณมีโอกาสที่จะเคลียร์ใจ จดจ่อและคิดได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ถือเป็นโอกาสที่จะฟื้นฟูร่างกายและจิตใจของคุณได้ในเวลาเดียวกัน”

#2 การอยู่คนเดียวสามารถช่วยทำให้มีความจำที่ดีขึ้น

เมื่อคุณได้ทำงานเป็นกลุ่มกับคนอื่นๆ คุณอาจจะใช้ความพยายามน้อยลงในการจดจำข้อมูลต่างๆ เพราะคุณอาจคิดว่าคนอื่น ๆ ในกลุ่มจะเข้ามาช่วยเติมเต็มช่องว่างตรงนั้น หรือที่เราเรียกกันว่า การอู้งาน ดังนั้น การทำงานกับสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองเพียงคนเดียวสามารถช่วยให้คุณมุ่งเน้นความสนใจได้เต็มที่ ซึ่งจะช่วยทำให้คุณมีความจำที่ดีขึ้นและสามารถเรียกใช้ข้อมูลต่างๆ ได้ทันที

จากการศึกษาหนึ่งที่ได้ตีพิมพ์ในวารสาร Psychological Bulletin นักวิจัยพบว่ากลุ่มที่ทำงานร่วมกันเพื่อเรียกคืนข้อมูลนั้น มีประสิทธิภาพที่ด้อยกว่าบุคคลที่สามารถจดจำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง

#3 การอยู่คนเดียวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

การทำงานเป็นกลุ่มมักได้รับการยกย่องว่าเป็นการทำให้การทำงานร่วมกันดีขึ้นและสามารถนำไปสู่แนวคิดใหม่ๆ แต่ก็อาจทำให้เกิดการเสียสมาธิได้เช่นกัน แม้แต่การพยายามที่จะมุ่งเน้นไปในสิ่งต่างๆมากกว่าหนึ่งสิ่งในแต่ละครั้ง ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าสามารถลดประสิทธิภาพโดยรวมของการทำงานได้เป็นอย่างมาก ดังนั้นถึงแม้ว่าคุณจะไม่มีความสนใจในการมุ่งเน้นไปที่โปรเจ็กต์เดี่ยว แต่คุณก็สามารถลดสิ่งที่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงได้ เพียงแค่มุ่งเน้นไปที่การทำงานทีละงาน

แม้ว่าในปัจจุบันมีสำนักงานจำนวนมากที่จะเริ่มสร้างโต๊ะทำงานแบบเปิด เพื่อให้ทุกคนสามารถสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น แต่จากการศึกษานั้นแสดงให้เห็นว่าผู้คนจะรายล้อมไปด้วยการทำลายประสิทธิภาพการทำงานแทนที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แต่ผู้คนกลับทำงานได้ดีขึ้นเมื่อมีความเป็นส่วนตัวเพียงเล็กน้อย

ดร. เชอร์รี บอร์ก คาร์เตอร์ ยังได้กล่าวไว้ว่า “ เมื่อคุณขจัดสิ่งรบกวนออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้จากวันของคุณ คุณมีสมาธิที่ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยให้คุณทำงานเสร็จได้มากขึ้นในเวลาที่สั้นลง” ดังนั้น การขัดจังหวะเพียงเล็กน้อยจากเพื่อนร่วมงาน หรือสมาชิกในครอบครัวอาจจะขัดขวางความคิดของเรา และทำให้เรากลับเข้าสู่โปรเจ็กต์ หรืองานที่กำลังทำอยู่ได้ยาก แม้แต่การส่งข้อความ หรือเสียงการแจ้งเตือนทางอีเมล ก็สามารถทำให้เราเสียสมาธิและลดประสิทธิภาพการทำงานได้เช่นกัน

#4 การอยู่คนเดียวช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์

มันมีเหตุผลที่พวกนักเขียน หรือศิลปินจำนวนมากต้องการปลีกวิเวกไปตามที่ต่างๆ ไม่ว่าจะไปปีนเขา เข้าป่าอยู่กับธรรมชาติ หรือแม้แต่ในสตูดิโอส่วนตัวเพื่อที่จะทำงาน การอยู่คนเดียวกับความคิดของคุณทำให้สมองของคุณมีโอกาสที่จะมีอิสระ ซึ่งจะช่วยให้คุณมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นนั่นเอง

การระดมความคิดร่วมกันมักถูกมองว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งในการสร้างแนวคิดใหม่ ๆ แต่ในขณะนี้มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าผู้คนมีแนวโน้มที่จะคิดไอเดียที่ดีที่สุดด้วยตนเองมากกว่าในระหว่างการประชุมระดมความคิดแบบกลุ่ม

ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ผู้คนมักจะอ่อนไหวต่อคำวิจารณ์จากผู้อื่น ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พวกเราหลายคนสามารถคิดได้อย่างอิสระมากขึ้นและแสดงออกอย่างชัดเจนมากขึ้นเมื่อเราอยู่คนเดียว นอกจากนี้การอยู่คนเดียวทำให้เราสามารถไตร่ตรองและคิดต่างออกไปได้ โดยไม่ต้องกังวลถึงความกดดันทางสังคม

#5 การอยู่คนเดียวสามารถเสริมสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้

‘วันเวลาที่เราห่างไกล ความเข้าใจจะทำให้เราใกล้กัน’

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน British Journal of Psychology พบว่าคนที่มีความฉลาดมากๆ จะไม่ค่อยมีความพึงพอใจมากนักเมื่อพวกเขาจะต้องใช้เวลาสังสรรค์กับเพื่อนมากขึ้น

การรักษาความเป็นอิสระในระดับหนึ่งจะช่วยให้จุดประกายชีวิตที่อยู่ในความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ ยิ่งไปกว่านั้นเวลาอยู่คนเดียวทำให้เราเห็นคุณค่าของเวลาร่วมกับผู้อื่นได้มากขึ้นแทนที่จะคิดว่าจะได้รับ หรือรู้สึกหนักใจกับเวลานั้น เวลาอยู่คนเดียวยังช่วยให้เราเข้าใจผู้อื่นได้ดีขึ้น คนที่ชอบเก็บตัวมักจะมีทั้งความเห็นอกเห็นใจและความตระหนักรู้ในตนเองในระดับสูง ซึ่งเป็นคุณสมบัติสองประการที่นำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น

การมีมิตรภาพและการสนับสนุนทางสังคมที่เข้มแข็งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีของคุณ แต่การหยุดพักและออกไปเที่ยวคนเดียวเป็นครั้งคราว ก็อาจช่วยให้คุณรู้สึกซาบซึ้งกับความสัมพันธ์เหล่านั้นมากขึ้นอีกด้วย

ดร. คาร์เตอร์ยังได้กล่าวไว้ว่า “ การใช้เวลาอยู่กับตัวเองและทำความเข้าใจว่าคุณเป็นใครและต้องการอะไรในชีวิตมากขึ้น จะทำให้คุณมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจได้ดีขึ้นว่าคุณอยากอยู่กับใคร”

#6 การอยู่คนเดียวทำให้เรามีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้น

การวิจัยชี้ให้เห็นว่าการใช้เวลาอยู่คนเดียวจำนวนหนึ่งสามารถช่วยทำให้คุณมีความเห็นอกเห็นใจผู้คนรอบข้างมากขึ้น แน่นอนว่าการมีเวลาอยู่คนเดียวไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนในการใช้เวลาอยู่คนเดียว และถึงแม้ว่าคุณจะอยู่คนเดียว คุณก็ไม่อาจจะหยุดพักจากการสื่อสารกับคนอื่นๆ ได้ ท้ายที่สุดก็จะมีข้อความหรืออีเมลถูกส่งมาหาเราอยู่ดี

ในกรณีที่คุณไม่สามารถหาเวลาที่จะอยู่กับตัวเองได้อย่างเต็มที่ การลดการสื่อสารทางดิจิทัลลงในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ อาจจะช่วยได้เหมือนกัน ซึ่งจากการศึกษาหนึ่งมีนักวิจัยพบว่าเมื่อวัยรุ่นใช้ชีวิตโดยไม่มีอุปกรณ์สื่อสารเป็นเวลา 5 วัน พวกเขาสามารถพัฒนาความสามารถในการจัดการกับอารมณ์และการแสดงออกทางสีหน้าของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น

#7 การอยู่คนเดียวสามารถช่วยสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ

มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเราที่จะต้องมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับผู้อื่น แต่การอยู่คนเดียวก็อาจจะสำคัญพอๆกัน และยังมีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า ความสามารถในการอดทนต่อเวลาที่ต้องอยู่คนเดียวได้นั้น มีผลกับความสุขที่เพิ่มขึ้น มีความพึงพอใจในชีวิตที่มากขึ้นและมีการจัดการกับความเครียดได้ดีขึ้น ทำให้คนที่ชอบอยู่คนเดียวนั้นจะมีอาการซึมเศร้าที่น้อยลง

#8 การอยู่คนเดียวทำให้เรามีโอกาสวางแผนชีวิต

คนส่วนมากมักจะใช้เวลาส่วนใหญ่ของตัวเองในการวางแผนงานแต่งงาน หรือวางแผนในวันหยุดพักผ่อน แต่ไม่เคยวางแผนว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด การใช้เวลาอยู่คนเดียวสามารถทำให้คุณนั้นมีโอกาสที่จะทำให้แน่ใจว่าทุกๆ คนที่ใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบนั้นก็มีจุดมุ่งหมาย การมีพื้นที่เงียบสงบเพื่อใช้เวลาอยู่คนเดียวนั้น เป็นการสร้างโอกาสในการคิดถึงเป้าหมายความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงที่คุณต้องการจะทำในชีวิต

#9 การอยู่คนเดียวอาจช่วยลดปัญหาพฤติกรรมของเด็ก

พ่อแม่บางท่านพยายามที่จะวางแนวทางให้ลูกเดินตามกรอบที่ตัวเองวางไว้ให้ ซึ่งคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเด็กๆ และในหลายๆ ครั้งที่มีการใช้คำว่า “ห้าม , อย่า , ไม่” มากจนเกินไป จึงทำให้เกิดเป็นความหวังดีที่เกินพอดีได้โดยไม่รู้ตัว

ดังนั้นสำหรับคนที่มีลูกก็ควรจะเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ หรือเวลาส่วนตัวในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง โดยให้เปลี่ยนบทบาทจากผู้ที่คอยบังคับ หรือควบคุม ให้กลายมาเป็นผู้คอยสนับสนุนแทน และจากการวิจัยแสดงให้เห็นว่าเด็กที่เรียนรู้ด้วยตัวเองนั้นจะมีพฤติกรรมที่ดีกว่าเด็กคนอื่น ๆ ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีและควรจะสอนให้สามารถอยู่คนเดียวด้วยตัวเองได้ตั้งแต่ยังเล็กๆ

#10 การอยู่คนเดียวทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้น

การอยู่กับตัวเองคนเดียวทำให้เราสามารถคิดได้โดยปราศจากแรงกดดัน หรือปัจจัยจากภายนอก ซึ่งมันก็จะช่วยให้เราสามารถเห็นตัวตน และความคิดของตัวเองได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในขณะที่เราถูกรายล้อมไปด้วยผู้คน เราก็มักจะต้องคอยสังเกตปฏิกิริยาของคนอื่นๆ อยู่ตลอดเวลาว่าเราควรจะพูด หรือทำบางอย่างที่เราคิดว่าดีหรือไม่ ซึ่งเป็นเหตุให้การอยู่คนเดียวนั้นจะทำให้คุณสามารถที่จะค้นพบตัวตนที่แท้จริงของตัวเองได้ โดยไม่ต้องว่ากังวลว่าจะถูกจำกัดด้วยความคิดที่แตกต่างของผู้อื่น

และถึงแม้ว่าการชอบอยู่คนเดียวจะมีข้อดีอยู่มากก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อเสียอยู่เลย

4 ข้อเสียของการชอบอยู่คนเดียว

#1 การอยู่คนเดียวทำให้เกิดการแทรกแซงจากเสียงในหัวของตนเอง

การอยู่กับความคิดของเราคนเดียวไม่ใช่เรื่องที่ดีเสมอไป ความโดดเดี่ยวที่เกิดขึ้นจากการอยู่คนเดียวอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความคิดในเชิงลบและการวิพากวิจารณ์ตนเอง ซึ่งเราทุกคนล้วนมีเสียงที่คอยทำตัวเป็นโค้ชนิสัยแย่ๆ อยู่ข้างในหัวเราเสมอและพยายามหาโอกาสที่จะวิพากวิจารณ์ตัวเราเอง

“เสียงวิพากวิจารณ์ในหัวเรา” เหล่านี้มักจะเริ่มดังขึ้นก็ต่อเมื่อเราถูกทิ้งให้อยู่กับความคิดของเราคนเดียว และมันก็จะแย่ที่สุดเมื่อเราไม่เพียงแต่อยู่คนเดียวเท่านั้น แต่ยังมีความรู้สึกเหงาอีกด้วย ในเวลานั้นเสียงในหัวเราจะบอกว่ามีบางอย่างที่ผิดปกติเกิดขึ้นกับเรา ซึ่งในกรณีนี้เท่ากับว่าเราก็คือศัตรูที่น่ากลัวของตัวเราเอง

#2 การอยู่คนเดียวอาจนำไปสู่ความรู้สึกเหงา หรือโดดเดี่ยว

จอห์น คาซิออปโป ซึ่งเป็นนักประสาทวิทยา ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับความเหงาและได้ให้คำจำกัดความของความเหงาว่าเป็น “การรับรู้ถึงการถูกแบ่งแยกทางสังคม หรือความแตกต่างระหว่างสิ่งที่คุณต้องการจากความสัมพันธ์ทางสังคมกับการรับรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคุณเหล่านั้น” ซึ่งในแง่นี้ความเหงาไม่ได้ถูกกำหนดโดยระยะเวลาที่เราอยู่คนเดียว แต่เป็นความรู้สึกของเราเกี่ยวกับเวลาที่อยู่คนเดียวต่างหาก

ความรู้สึกโดดเดี่ยวสามารถกระตุ้นความรู้สึกว่าไม่มีใครรักหรือไม่ชอบ ซึ่งอาจทำให้เราเปลี่ยน ความรู้สึกเหงาเป็นความเจ็บปวดในระดับร่างกายเช่นเดียวกับระดับอารมณ์ได้เช่นกัน จอห์น คาซิออปโปยังได้อธิบายไว้ว่า“ การไม่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ก็เหมือนทำให้เกิดเสียงระฆังเตือนภัยแบบเดียวกันกับความหิวกระหายและความเจ็บปวดทางร่างกาย”

#3 การอยู่คนเดียวอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า

มีความเชื่อมโยงระหว่างความเหงาและความซึมเศร้ามายาวนาน ซึ่งการใช้เวลาอยู่คนเดียวและรู้สึกเหงาอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ ในความเป็นจริงการศึกษาแสดงให้เห็นว่าสมองที่โดดเดี่ยวมีความแตกต่างทางโครงสร้างและทางชีวเคมี เมื่อเรามีความเหงาการตอบสนองทางประสาทของพวกเขาต่อภาพและเหตุการณ์เชิงบวกจะถูกระงับ

ดังนั้นเราจึงรับรู้และมองโลกรอบตัวผ่านตัวกรองในเชิงลบ เราก็จะมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าสิ่งต่างๆ นั้นไร้ความหวังเมื่อเรามีความเหงา ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้เราเรียกพลังงานเชิงบวกและความกล้าหาญเพื่อใช้ค้นหาความสุขและการเปลี่ยนแปลงได้ยากขึ้นกว่าเดิม

#4 การอยู่คนเดียวอาจส่งผลแย่ต่อสุขภาพร่างกาย

การใช้เวลาอยู่คนเดียวมากเกินไปแน่นอนว่าจะต้องส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายของเรา และมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างการใช้เวลาอยู่คนเดียวกับความเหงา สิ่งสำคัญคือต้องแยกแยะระหว่างระยะเวลาที่คุณอยู่คนเดียวกับความรู้สึกของคุณในเวลาที่อยู่คนเดียว ความรู้สึกเหงาสามารถนำมาด้วยไม่ใช่แค่ความเจ็บปวดทางอารมณ์เท่านั้น แต่เป็นความเจ็บปวดที่ส่งผลทางร่างกายอีกด้วย

การศึกษาพบว่าการแยกตัวออกจากสังคมและความเหงาสามารถเพิ่มโอกาสในการเสียชีวิตได้ถึง 30% และยังมีนักวิจัยกล่าวว่า“ การมีความสัมพันธ์ทางสังคมไม่เพียงแต่มีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตใจและอารมณ์เท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลที่สำคัญและเป็นบวกต่อความเป็นอยู่ที่ดีทางกายภาพและอายุขัยโดยรวมด้วย” สิ่งสำคัญคือจำเป็นต้องรักษาความสัมพันธ์ทางสังคมกับคนอื่นๆ เอาไว้ แม้ว่าคุณจะชอบใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่คนเดียวก็ตาม

สุดท้ายนี้จากงานวิจัยส่วนใหญ่ซึ่งจะชี้ให้เห็นว่าการแยกตัวจากสังคมมากเกินไปนั้น มักจะส่งผลร้ายแรงต่อทั้งสุขภาพทางกายและสุขภาพใจ แต่กลับกันการใช้เวลากับตัวเองนั้นก็ยังมีประโยชน์อีกมากมายเช่นเดียวกัน ตราบใดที่คุณสามารถสร้างสมดุลในการใช้ชีวิต โดยการรักษาความสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้คนที่คอยสนับสนุนตัวคุณในหลายๆ ด้าน โดยทำควบคู่ไปกับการใช้เวลาส่วนตัวด้วยการอยู่คนเดียวได้ เราก็จะไม่เกิดปัญหาในการใช้ชีวิตไม่ว่าจะด้วยตัวคนเดียวหรือการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในสังคม

บทความล่าสุด