7 ข้อดีของการทะเลาะกัน (ที่ทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น)

7 ข้อดีของการทะเลาะกัน (ที่ทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น)

ในความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อน หรือแม้กระทั่งคนรัก การพูดคุยเป็นสิ่งสำคัญ แต่ในบางครั้งการพูดคุยกันก็นำไปสู่การทะเลาะกันอันเป็นวิกฤตแห่งความสัมพันธ์ได้เช่นกัน ทำให้ใคร ๆ ก็ต้องเอ่ยปากบอกว่าไม่อยากทะเลาะกับคนใกล้ชิดของตัวเองอย่างแน่นอน แต่คุณเชื่อไหมว่าความเงียบที่เก็บซ้อนความไม่เข้าใจไว้ อาจเป็นดาบสองคมที่ส่งพิษร้ายมากกว่าการทะเลาะกันก็เป็นได้

ลองคิดดูสิครับว่า ถ้าวันหนึ่งที่เสียงในหัวระเบิดออกมา ความเงียบก็อาจกลายเป็นเสียงที่ดังเกินกว่าจะปิดกั้น และนั่นอาจจะหมายถึงความสัมพันธ์ที่ขาดหวิ่นไปเลยก็ได้ คำถามที่ตามมาก็คือ เราควรเงียบใส่กันหรือทะเลาะกันดีละทีนี้

ก่อนที่จะไปตอบคำถามนั้น เราชวนท่านมาคลายความสงสัยกันก่อนดีกว่าว่าทำไม งานวิจัยในต่างประเทศรวมทั้งนักจิตวิทยาหลาย ๆ ท่าน เห็นตรงกันว่าการทะเลาะกันมีข้อดีในการช่วยรักษาความสัมพันธ์ที่ดีได้ และจากรายงานของ Life Hack นักวิจัยยังยืนยันอีกด้วยว่าการทะเลาะกันของคู่รักทำให้รักมั่นคง ซึ่งนั่นยังรวมไปถึงความสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพระหว่างตัวเราและคนรอบข้าง อาทิ คนในครอบครัวหรือแม้กระทั่งเพื่อนร่วมงานด้วยเช่นกัน

และนี่คือ 7 ข้อดีของการทะเลาะกัน ซึ่งเชื่อแน่ว่ามันจะเป็นอีกมุมมองหนึ่งที่จะทำให้ท่านเปิดใจพูดคุยถกเถียงกันในข้อขัดแย้งต่าง ๆได้มากกว่าการเงียบใส่กันแล้วให้ความคิดที่ขัดแย้งตะโกนลั่นอยู่ข้างใจหัวใจแน่นอน

7 ข้อดีของการทะเลาะกัน

#1 สัญญาณของการเติบโตด้านความคิด 

นั่นหมายความว่าการทะเลาะกันเป็นเรื่องปกติและจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาความสัมพันธ์มาก ๆ เมื่อเราทะเลาะกันแบบสร้างสรรค์และอยู่บนเหตุผลมากกว่าอารมณ์ซึ่งนั่นคือสัญญาณเริ่มต้นของการเติบโตด้านความคิดและดูเหมือนจะเป็นยาสามัญประจำชีวิตที่ช่วยให้เรากล้าเผชิญหน้ากับข้อขัดแย้งและพยายามใช้ความคิดหาทางแก้ไขปัญหามากกว่าการหลีกหนีปัญหา  

#2 ปลดปล่อยความคิดและตัวตนของสองฝ่าย

ใช่แล้วครับ ต่างพ่อต่างแม่ ต่างมุมมอง ต่างความคิด จะให้เห็นตรงกันไปซะหมด คงเป็นไปได้ยาก (พี่น้องพ่อแม่เดียวกัน เลี้ยงมาวิธีเดียวกัน ยังทะเลาะกันได้เลย) ข้อขัดแย้งบางอย่างก็คือจุดเริ่มต้นที่ดีในการปลดปล่อยความคิดและตัวตนของตนเองให้อีกคนได้รับรู้เพื่อการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีไม่ว่าจะเป็นด้านการยอมรับหรือแม้กระทั่งความเห็นอกเห็นใจกัน แต่นั่นสติก็ควรอยู่เหนืออารมณ์อยู่เช่นกันนะครับ 

#3 ทำให้การสื่อสารระหว่างกันง่ายขึ้น

ลองสังเกตดูสิครับว่า หลังจากข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นพ้นผ่านไปด้วยดี การสื่อสารระหว่างกันไม่ได้ดูแย่ลงไปเลย กลับทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น รู้สึกเข้าใจกันมากขึ้นอีกด้วย ดังนั้นการสื่อสารและเปิดใจรับฟังความคิดของอีกฝ่ายจึงเป็นสิ่งสำคัญเหมือนสะพานเชื่อมต่อความสัมพันธ์ระหว่างกันนั่นเอง

#4 สร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

จากงานวิจัยของต่างประเทศที่เชื่อว่าการโต้แย้งถกเถียงกันระหว่างคู่สมรสที่มากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ทำให้ความสัมพันธ์ที่ดีถูกรักษาให้ยืนยาวขึ้น และนั้นยังสอดคล้องกับความเชื่อของคนไทยในอดีตที่ว่า ยิ่งทะเลาะกันบ่อยยิ่งลูกดก แสดงว่าความแข็งแรงของความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นส่วนหนึ่งมาจากการทะเลาะกัน ถึงแม้ว่าการโต้แย้งนั้นจะออกแนวรุนแรงบ้าง แต่หากตั้งอยู่บนหลักเหตุและผลที่สมควร เปิดสติรับฟังมากกว่าอารมณ์ปิดกั้น การทะเลาะกันก็ไม่อาจทำร้ายความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้แน่นอน 

#5 นั่นคือความใส่ใจระหว่างกันและกัน

ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน พี่น้อง คนในครอบครัวหรือที่ทำงาน แม้กระทั่งคู่รัก การเลือกที่จะปิดหูปิดตาและทนต่อนิสัยบางอย่างของอีกฝั่งนั้น กลับไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนักสำหรับการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีในระยะยาว แต่การทะเลาะกันกลับสร้างการเรียนรู้ระหว่างกันจนกลายเป็นข้อสรุปร่วมกัน และนั่นหมายถึงความใส่ใจที่จะเข้าใจอีกฝ่ายให้มากขึ้นอีกด้วย

#6 นำไปสู่การแก้ไขปัญหาแบบสร้างสรรค์

ในความรู้สึกของคนเรามักมองว่าการทะเลาะกันสื่อความหมายไปในทางรุนแรง นั่นเป็นเพราะเรานำเอาอารมณ์และตัวตนของตนเองเป็นที่ตั้ง พฤติกรรมที่แสดงออกมาจึงเอนเอียงไปในทางบั่นทอนกันและกัน แต่เมื่อเราปรับความคิดและมองในเชิงสร้างสรรค์ เปิดรับความคิดเห็นของอีกฝ่ายอย่างมีสติรู้ ด้วยเหตุและผลที่มากกว่าอารมณ์แล้ว นั่นคือจุดที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดและสร้างสรรค์ในรูปแบบต่าง ๆ 

#7 สัญญาณแห่งความรักที่ยืนยาว

การรักษาความรักและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันให้ยืนยาวและยังคงประสิทธิภาพที่ดีนั้นยากยิ่งกว่าการทำความรู้จักมันเสียอีก นี่คือความจริงที่คนส่วนใหญ่ยอมรับและพยายามสร้างสมดุลของความสัมพันธ์ที่ดี จนบางครั้งลืมไปว่าความขัดแย้งแบบสร้างสรรค์คืออีกหนึ่งตัวเลือกที่ดียิ่งกว่าการเงียบเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะคารม จำไว้ได้เลยว่าหากคุณอยากจะรักษาความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน พี่น้อง ครอบครัว คนรักให้ยืนยาว การปลดปล่อยอารมณ์ของตนเองให้พวกเขาได้รับรู้บ้างก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ดีกว่าการเก็บกักมันไว้ นอกจากจะทำให้ความสัมพันธ์ดูไม่น่าเบื่อแล้วยังส่งผลในระยะยาวต่อความรักที่ดีอีกด้วยเช่นกัน

จะเห็นได้ว่ามิติของคำว่า ทะเลาะกัน ไม่ได้สื่อความหมายเพียงแค่ความรุนแรง ความน่ากลัวและอารมณ์ที่บั่นทอนความรู้สึกของกันและกัน เมื่อเราพลิกกลับด้านและมองมันในอีกมิติหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความมีตัวตนของเรา การทะเลาะกันแบบสร้างสรรค์กลับเป็นข้อดีที่ช่วยให้ความสัมพันธ์กระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และการได้ส่งเสียงในหัวออกไปให้อีกฝ่ายได้รับรู้บ้างก็เปรียบเสมือนการปลดปล่อยความรู้สึกกดดันออกมาเพื่อแสดงให้เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องหาทางออกสำหรับข้อขัดแย้งนั้น ๆ

และนี่คงพอเป็นคำตอบสำหรับคำถามที่ว่า เราควรเงียบใส่กันหรือทะเลาะกันดี ซึ่งแต่ละท่านคงพอมีคำตอบอยู่ในใจแล้วใช่ไหมครับ แต่สุดท้ายแล้วผมอยากให้ทุกท่านพึงระลึกไว้เสมอว่า ความเงียบ ก็คือการทะเลาะกันในอีกรูปแบบหนึ่งที่รอวันปะทุออกมา เสมือนพลุไฟที่พร้อมจะเผาไหม้กันและกันมากกว่าความสวยงามจากประกายไฟที่ปะทุแล้ว 

บทความล่าสุด