สังคมจะดีและน่าอยู่ได้ แน่นอนว่าย่อมขึ้นอยู่กับผู้คนในสังคมเป็นหลักที่ต้องร่วมมือร่วมใจกันเปลี่ยนแปลงทำให้สังคมดีขึ้นกว่าเดิม มีความรักใคร่ สามัคคี ปรองดองกัน และไม่สร้างความแตกแยกหรือเกิดความขัดแย้งในสังคม เรามาดูวิธีที่จะทำให้สังคมเราดีขึ้นต้องทำอย่างไรบ้าง ไปดูกันเลย
15 วิธีทำให้สังคมดีขึ้น (ที่เราทำได้ด้วยตัวคนเดียว)
1. นำคุณธรรมมาใช้ในชีวิต
คุณธรรมเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมากที่สุดต่อมนุษย์เราทุกคน หากมีคุณธรรมยึดไว้ในจิตใจ เชื่อเถอะว่าชีวิตจะเจอแต่สิ่งดี ๆ และมีส่วนทำให้สังคมดีขึ้นและน่าอยู่ด้วยอย่างแน่นอน
ถ้าเราอยู่ร่วมกันในสังคมโดยไม่มีคุณธรรมหรือจริยธรรม สังคมก็เกิดความวุ่นวายและไม่มีความเป็นระบบระเบียบ แล้วมันก็ไม่ต่างอะไรจากสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งศักยภาพและสติสัมปชัญญะของคนเราต่างจากพวกมันอย่างสิ้นเชิง ฉะนั้นมนุษย์เราควรมีแนวทางการดำเนินชีวิตที่ดีหรือมีความเชื่อในทางที่ถูกต้อง เพื่อความสุขของตัวเราเองและไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น
2. เริ่มจากตัวเราแล้วเป็นตัวอย่างให้คนอื่น
สังคมจะน่าอยู่ขึ้น มันก็เริ่มจากตัวพวกเราทุกคนที่ทำดี ประพฤติดี และทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เมื่อมีลูกหลานควรปลูกฝังให้พวกเขาเป็นคนดี ทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ที่สำคัญผู้ใหญ่ควรเป็นตัวอย่างให้กับเด็ก เพื่อเป็นแนวทางดำเนินชีวิตที่ดีให้กับพวกเขา
ฉะนั้นทุกคนควรเริ่มจากตัวเอง และสังคมจะดีขึ้นไปอีกถ้าหากคนทุกคนในสังคมร่วมกันปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน
3. ให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน
การให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกันเป็นพื้นฐานสำคัญของคนที่อยู่ร่วมกันในสังคม คนที่รู้จักให้เกียรติคนอื่น มักเป็นคนที่คำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่นอยู่เสมอ กลัวว่าเขาจะเสียความรู้สึกหรือเสียหน้า
การให้เกียรติในทีนี้ คือ การให้เกียรติทั้งรูปลักษณ์ภายนอก ไม่วิพากย์วิจารณ์หรือดูถูกลักษณะภายนอกของกันและกัน การให้เกียรติในเรื่องของคำพูด พูดในสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดความไม่สบายใจหรือความแตกแยก เมื่อมีความเห็นต่างหรือการตัดสินใจที่ต่างจากตัวเอง ควรยอมรับและเคารพการตัดสินใจของกันและกัน หรือแม้กระทั่งการให้เกียรติหรือเคารพด้านความรู้สึก ควรมีความเกรงใจหรือการกระทำที่ไม่ทำร้ายความรู้สึกกัน
4. มีความเห็นอกเห็นใจกัน
ความเห็นอกเห็นใจมองว่าเป็นพื้นฐานของการสร้างความสามัคคีปรองดอง เมื่อเราเข้าใจและเข้าถึงความรู้สึกของผู้อื่น ความขัดแย้งก็แทบจะไม่เกิดขึ้น ควรเป็นผู้ฟังที่ดี พร้อมรับฟังกันและช่วยกันแก้ปัญหา
แต่การแสดงออกทางด้านคำพูดคงไม่พอ ควรแสดงความจริงใจที่ผ่านแววตาขและน้ำเสียงของเราที่หนักแน่น หรือการแสดงออกด้านการสัมผัส เช่น การจับมือ หรือกอดเพื่อเป็นกำลังใจให้กันและกัน เป็นต้น
5. มีความประนีประนอม
เมื่อเกิดความเห็นที่แตกต่างหรือความขัดแย้งกัน ควรพูดคุยหรือปรึกษาหารือกันด้วยสติและความพอใจทั้งสองฝ่ายในการตัดสินใจและใช้ความประนีประนอมในการแก้ปัญหา เพราะเชื่อว่าสิ่งนี้ก็สามารถช่วยรักษาความสัมพันธ์ไว้ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน ชัดเจนและถูกต้อง หรือ พูดคุยหรือเจรจากันด้วยเหตุและผล ไม่ควรใช้อารมณ์ ใช้กำลัง หรือตำหนิ ด่าทอกัน ที่จะนำไปสู่ความรุนแรงหรือความแตกแยก
6. พูดในสิ่งที่ดี เป็นประโยชน์และสร้างกำลังใจ
คิดว่าทุกคนคงเคยได้ยินคำว่าพูดดีเป็นศรีแก่ตัว คนเราควรรู้จักพูดในสิ่งที่ประโยชน์ สร้างสรรค์ และพูดถูกกาลเทศะ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง คนที่ได้ยินก็รู้สึกดี น่าฟัง และที่สำคัญควรพูดในเรื่องที่เป็นจริงด้วย
คนเราส่วนใหญ่อยู่ได้ด้วยการมีกำลังใจที่ดี เมื่อเราพบเจอใครที่ตกอยู่ในความทุกข์ยากลำบาก แม้ว่าเราอาจช่วยเหลือเขาไม่ได้มากพอ เราก็สามารถพูดหรือให้คำปรึกษาเพื่อเป็นกำลังใจให้เขาสู้และก้าวผ่านปัญหาเหล่านั้นก็ได้
7. มีความซื่อสัตย์และจริงใจต่อกัน
ความซื่อสัตย์และความจริงใจเป็นสิ่งที่จะทำให้คนเราสามารถอยู่ร่วมกันได้ เพราะเมื่อเกิดความหวาดระแวง การโกหก หลอกลวง การมีเล่ห์เลี่ยมเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ย่อมนำไปสู่หนทางที่ไม่ดีและสังคมแตกแยก คนเราควรมีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ไม่สร้างความแคลงใจให้กัน จะพูดหรือปฏิบัติตัวอย่างไรควรพูดและทำด้วยความสัตย์จริงและไม่ควรกลับกลอก
หากเราเป็นคนที่ไม่น่าเชื่อถือ เป็นเรื่องยากที่จะอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้ เพราะมันสร้างความหวาดระแวงหรือความรู้สึกที่ไม่ปลอดภัยแก่คนในสังคม เพราะฉะนั้นหากเรามอบความจริงใจให้แก่กันและกัน เชื่อเถอะว่าสังคมจะดีขึ้นและน่าอยู่ได้อย่างแน่นอน
8. ดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อมช่วยกัน
สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่คนเราทุกคนต้องตระหนักและให้ความสำคัญเหมือนกัน หากสิ่งแวดล้อมดี ปลอดขยะ มีส่วนทำให้ไม่เกิดมลภาวะทางอากาศ และเพื่อทำให้ธรรมชาติเกิดความสมดุล ปัจจุบันภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่ทุกคนวิตกกังวล เพราะเป็นสาเหตุที่สำคัญทำให้อากาศแปรปรวน เรายิ่งต้องรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีมากกว่าเดิม
9. มีความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน
ความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันเป็นสิ่งที่คนเราทุกคนควรมี ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนหรือวัยไหน ทุกคนต่างต้องมีสิทธิและเสรีภาพที่เท่าเทียมกัน ไม่ควรจำกัดเพศว่าเป็นเพศนั้นวัยนี้ต้องทำแบบนี้ถึงจะถูกต้องและเป็นที่ยอมรับ
จริงอยู่ว่าต้องคำนึงถึงกาลเทศะ แต่เรื่องบางเรื่องก็ไม่ควรเอาเพศหรือวัยมาตัดสินหรือมาจำกัดสิทธิกันและกัน เพราะมันช่วยให้อยู่ด้วยกันโดยไม่แบ่งแยก ไม่ตัดสินว่าใครต้องเป็นแบบไหนถึงจะดี อย่างไรก็ตามถ้าเพศหรือวัยไหนอยากเป็นหรือทำอะไร ก็ไม่ควรเกินขอบเขตหรือทำให้ตัวเองและผู้อื่นเดือดร้อนเช่นกัน
10. มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนหรือสังคมที่ตนอยู่
หากเราอยู่ในพื้นที่ชุมชนหรือสังคมแล้ว ควรทำตัวให้เป็นประโยชน์ ออกไปทำกิจกรรมหรือทำอะไรที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ เพื่อพัฒนาชุมชุนให้น่าอยู่และดีขึ้น เช่น การดูแลรักษาระบบสาธารณูปโภค ช่วยเหลือเด็กและคนชรา หรือหากมีกำลังทรัพย์มากพอก็สามารถมอบทุนการศึกษาให้กับเด็กผู้ยากไร้ได้
เมื่อมีการแสดงความคิดเห็น การประชุมหรือการอบรมต่าง ๆก็ควรหาเวลาไปฟังหรือช่วยกันระดมความคิด เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะชุมชนก็เป็นเหมือนบ้านที่เราต้องมีการดูแลรักษาและทำให้ดีขึ้นนั่นเอง
11. อัธยาศัยดี เป็นมิตรกับคนอื่น
เมื่อเรามีใบหน้าที่ยิ้มแย้มและเป็นมิตรกับคนอื่น มองว่าการสร้างมิตรภาพของเราจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ใคร ๆก็อยากเข้าหาและทำความรู้จัก ที่สำคัญสีหน้า แววตาและรอยยิ้มต้องออกมาจากใจเราจริง ๆ ไม่ใช่แสดงท่าทีกลับกลอก ต่อหน้าอย่าง ลับหลังอย่าง มันทำให้ไม่มีใครอยากคบค้าสมาคมด้วย ต้องแสดงความจริงใจให้คนอื่นเห็นว่า เราแค่ต้องการมิตรภาพที่ดี ไม่ได้มีหวังผลประโยชน์หรือมีเจตนาแอบแฝง
12. รู้จักให้อภัยกันและกัน
เมื่อเกิดความเข้าใจผิดหรือความขัดแย้งในเรื่องใดก็ตาม หากไม่ใช่เรื่องที่ร้ายแรงเกินไป มองว่าการให้อภัยกันและกันเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะรักษามิตรภาพเอาไว้ได้
เพราะความผิดพลาดสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และเข้าใจว่าการเป็นคนรู้จักให้อภัยเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก แต่หากเราฝึกจากเรื่องเล็ก ๆหรือฝึกจากการให้อภัยและให้โอกาสตัวเอง เชื่อว่าตัวเราจะค่อยๆเข้าใจคนอื่นและอยากที่จะให้อภัยเหมือนกัน อีกอย่างการให้อภัยจะช่วยให้เรารู้จักมองโลกในแง่ดีขึ้น และเติบโตมากขึ้น
13. มีน้ำใจและเสียสละ
การมีน้ำใจและการรู้จักเสียสละเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สังคมต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะคนเราบางทีก็ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่อะไรมากมาย แม้แต่เรื่องเล็ก ๆ เราก็สามารถมีน้ำใจต่อกันได้ หรือการเสียสละบางอย่าง เพื่อให้อีกคนมีความสุขมากกว่าเดิม เช่น การแบ่งสิ่งของหรือขนมให้เด็กหรือผู้พิการ การช่วยเหลือและพัฒนาสังคม หรือแม้กระทั่งการรักษาสิ่งแวดล้อมที่กล่าวมาข้างต้น
เข้าใจว่าเราทุกคนย่อมมีความเห็นแก่ตัวอยู่บ้าง แต่อยู่ที่ว่าจะมากหรือน้อย หากลดความเห็นแก่ตัวลง เสียสละมากขึ้น เชื่อเถอะว่าจะทำให้โลกน่าอยู่ขึ้นและสังคมก็มีแต่รอยยิ้ม ผู้คนก็อยู่กันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
14. ใจดี ใจเย็น ใจกว้าง
ใจดี ใจเย็น ใจกว้าง สามคำนี้ทุกคนควรพกไว้เป็นคาถาและท่องไว้ให้ขึ้นใจเพื่อเตือนตัวเราเอง หากเรามีความเมตตาต่อคนอื่น รู้จักใช้ความสงบสยบทุกปัญหาหรือใช้สติและความเงียบพิจารณาแก้ไขสิ่งๆนั้น รวมทั้งการแบ่งปันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นทั้งชีวิตคุณจะเจอแต่ความราบรื่น ทำอะไรก็สำเร็จโดยง่าย และเป็นที่รักของคนอื่น ๆในสังคม
15. ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่สร้างความเดือนร้อน
การที่เราคิดหรืออยากทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์แก่สังคมที่เราอยู่ เพื่อเป็นการพัฒนาชุมชน มองว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี จงตั้งเป้าหมายและวางแผนอย่างรอบคอบเพื่อทำให้สิ่งที่อยากจะทำนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ ที่สำคัญยังเป็นประโยชน์และใช้ได้จริงด้วย
การทำสิ่งที่เป็นประโชน์โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองและผู้อื่น มองว่าเป็นหน้าที่ของพลเมืองดี อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความสามัคคีปรองดองในชุมชน และปลูกจิตสำนึกให้คนรู้จักการช่วยเหลือและร่วมมือร่วมใจกันในการทำให้สังคมดีขึ้น
สังคมจะดีขึ้นได้ขึ้นอยู่กับคนทุกคนในสังคมและมีแนวคิดที่ดีร่วมกัน อีกทั้งยั้งรู้จักประพฤติตัวอยู่ในศีลธรรมยิ่งจะทำให้สังคมน่าอยู่ได้ในระยะยาว แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนเราถูกปลูกฝังและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน แต่หากเราเริ่มที่ตัวเราก่อนทำทีละเรื่อง ค่อยๆพัฒนาตัวเองไปทีละข้อที่กล่าวมา แล้วทำเป็นตัวอย่างให้คนรอบข้างเห็นว่าได้ผลจริง ถ้าเขาจะเชื่อเดี๋ยวก็ทำตามเอง ถ้าอยากให้สังคมดีขึ้น จงเริ่มที่ตัวเรา แล้วมันจะไม่ใช่อยู่แค่ความฝันหรือเป็นแค่จินตนาการอีกต่อไป
บทความล่าสุด
การจัดโต๊ะคอมให้สวยถูกใจ พร้อมฟังก์ชันการใช้งานครบครัน...
ในมุมมองหนึ่ง ‘ลูกคนกลาง’ ดูเหมือนจะต้องแบกรับภาระทางใจอันหนักอึ้ง...