หนึ่งคนให้ สามคนรับ นับเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ นั่นหมายความว่า ในการบริจาคเลือดปกติใน 1 ครั้งสามารถต่อชีวิตผู้ป่วยได้ถึง 3 คนนั่นเอง และการบริจาคเลือดก็เป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการช่วยชีวิตผู้อื่นที่คนเราสามารถทำได้ไม่ยากและที่สำคัญไปกว่านั้นองค์ประกอบจากเลือดในตัวเราก็ต่างจากยารักษาโรคทั่วไปตรงที่มันไม่สามารถหาซื้อได้นอกจากการได้มาด้วยการบริจาคเท่านั้น
คุณรู้ไหมครับว่า เลือดที่ไหลเวียนในตัวเรามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับการรักษาในผู้ป่วยที่เสียเลือดมากไม่ว่าจะด้วยอุบัติเหตุหรือโรคภัยต่าง ๆ องค์ประกอบของเลือดทุกส่วนไม่ว่าจะเป็นเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด พลาสมา มีโครงสร้างที่เชื่อมโยงกันและจำเป็นต่อการเชื่อมเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายให้ทำหน้าที่ได้อย่างปกติ และน่าอัศจรรย์ตรงที่ร่างกายของเราก็สามารถสร้างเม็ดเลือดแดงและส่วนประกอบต่าง ๆ ขึ้นมาทดแทนหลังจากให้การบริจาคเลือดไปแล้วในระยะเวลาอันสั้นได้อีกด้วย
บริจาคเลือด เตรียมตัวยังไง
สำหรับการบริจาคเลือดครั้งแรกสิ่งที่เราจะต้องรู้ก่อน นั่นก็คือ การบริจาคเลือดในปัจจุบันจะมีด้วยกัน 2 แบบใหญ่ ๆ คือ การบริจาคเลือดทั่วไป และการบริจาคเกล็ดเลือดด้วยเครื่องแยกส่วนประกอบของเลือด
การบริจาคเลือดทั่วไป วิธีนี้เป็นการบริจาคเลือดที่ง่ายที่สุด โดยการเจาะนำเลือดของผู้บริจาคใส่ถุงโดยตรง ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการบริจาคสั้น ๆ เพียง 10-20 นาที จากนั้นเลือดที่ได้จะถูกนำไปแยกส่วนประกอบเป็นเม็ดเลือดแดงอัดแน่น เกล็ดเลือด และพลาสมา ทำให้การบริจาคเลือกในแต่ละครั้งนั้นสามารถนำไปช่วยชีวิตให้กับผู้ป่วยได้ถึง 3 คน นั่นเอง ซึ่งสามารถบริจาคเลือดซ้ำได้ในอีก 90 วัน
การบริจาคเกล็ดเลือดด้วยเครื่องแยกส่วนประกอบของเลือด เป็นอีกวิธีหนึ่งสำหรับการบริจาคเกล็ดเลือดที่ดีที่สุดเพราะเป็นวิธีการคัดเก็บเฉพาะเกล็ดเลือดซึ่งจะได้ปริมาณมากกว่าการบริจาคเลือดโดยทั่วไป 4-6 เท่าและผู้บริจาคจะเสียปริมาณเลือดที่น้อยกว่าและสามารถกลับมาบริจาคซ้ำได้อีกใน 30 วัน และรู้ไหมครับว่า การบริจาคเกล็ดเลือด 1 ถุงในแต่ละครั้งสามารถช่วยผู้ป่วยได้ 1 คนเพื่อป้องกันหรือหยุดเลือดที่ออก ซึ่งปกติแล้วจะต้องใช้เกล็ดเลือดที่คัดจากการบริจาคเลือดทั่วไปจากผู้บริจาค 4-6 คนเลยทีเดียว
และแน่นอนว่าคุณสมบัติเบื้องต้นสำหรับผู้ที่ต้องการบริจาคเลือดในแต่ละครั้ง ควรเป็นผู้ที่มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง อายุระหว่าง 17-60 ปี มีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 45 กิโลกรัม และไม่ควรมีโรคประจำตัวหรือรับประทานยาประจำบางอย่างที่อาจจะส่งผลให้ไม่สามารถบริจาคเลือดได้ ทั้งนี้หญิงไม่ควรอยู่ในระยะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ด้วย
บริจาคเลือดห้ามกินอะไร
ในการบริจาคเลือดทุกครั้ง ผู้บริจาคเลือดควรพักผ่อนให้เพียงพอโดยนอนให้เต็มที่อย่างน้อย 6 ชั่วโมง ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงและงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ควรงดสูบบุหรี่ทั้งก่อนและหลังการบริจาคเลือดอย่างน้อย 1 ชั่วโมงร่วมด้วยเช่นกัน และอย่าลืมดื่มน้ำมาก ๆ ก่อนการบริจาคเลือด 1-2 วันด้วยนะครับ เพื่อให้ร่างกายสดชื่นและเลือดไหลเวียนดี
ข้อห้ามบริจาคเลือด
การบริจาคเลือดนั้นใช่ว่าทุกคนจะสามารให้เลือดได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคปอด โรคมะเร็ง ลมชัก โรคเลือดออกง่ายแต่หยุดยาก รวมไปถึงผู้ที่เคยมีประวัติเป็นไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซีและผู้ที่ติดเชื้อHIV คือกลุ่มผู้ที่ไม่สามารถบริจาคเลือดได้ นอกจากนั้นยังรวมไปถึงผู้ที่เคยเสพยาเสพติดชนิดใช้เข็มฉีดยาและผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศอีกด้วย ทั้งนี้ผู้ที่เคยมีประวัติโรคมาลาเรียในระยะเวลา 3 ปี ก็อยู่ในข้อห้ามบริจาคเลือดด้วยเช่นกัน
ก่อนบริจาคเลือดห้ามกินยาอะไร
สำหรับการให้เลือดทุกครั้ง ผู้บริจาคไม่ควรอยู่ระหว่างการทานยาปฏิชีวนะ ยาป้องกันเลือดแข็งตัว และยาฮอร์โมนเพศ นอกจากนั้นยังไม่ควรได้รับการถอดฟันหรือขูดหินปูนภายใน 72 ชั่วโมงก่อนการบริจาคเลือด คือร่างกายไม่ควรมีบาดแผลหรือแผลสดใด ๆ นั่นเอง
กินข้าวก่อนบริจาคเลือดกี่ชั่วโมง
ก่อนบริจาคเลือดทุกครั้งนอกจากการพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายพร้อมในการให้เลือดแล้ว ควรรับประทานอาหารประจำมื้อตามปกติ แต่ให้หลีกเลี่ยงการกินอาหารประเภทไขมันสูงจำพวกแกงกะทิ ข้าวขาหมู ก่อนมาบริจาคเลือดประมาณ 6 ชั่วโมง เพราะอาหารจำพวกนี้ส่งผลต่อพลาสมา ทำให้ไม่สามารถนำไปรักษาผู้ป่วยได้นั่นเอง และสิ่งสำคัญควรดื่มน้ำ 3-4 แก้ว ก่อนบริจาคเลือดสัก 30 นาที เพื่อให้เลือดไหวเวียนดีและช่วยลดภาวะการเป็นลมหลังจากบริจาคเลือดได้อีกด้วย
ข้อเสียของการบริจาคเลือด
แม้ว่าการบริจาคเลือดจะมีข้อดีที่ช่วยให้ผู้บริจาคได้รับการตรวจสุขภาพร่างกายเบื้องต้น อาทิ ชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต ตรวจหมู่เลือด ตรวจความเข้มข้นของเลือด เป็นต้น แต่ก็ยังมีผลข้างเคียงที่ผู้บริจาคควรรู้ก่อนการตัดสินใจบริจาคเลือด โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการบริจาคเลือดเป็นครั้งแรก โดยผลข้างเคียงที่พบบ่อยครั้ง คือ รอยช้ำ เลือดออกอย่างต่อเนื่อง อาการวิงเวียนหัว และคลื่นไส้ ตลอดถึง ความเจ็บปวดที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจากการบริจาคเลือดจนอาจต้องกินยาแก้ปวดเลยทีเดียว
นอกจากนั้นร่างกายหลังการบริจาคเลือดแล้วอาจมีแนวโน้มของอาการอ่อนแรงโดยเฉพาะแขนที่ถูกสอดเข็มเข้าไป ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการยกของหนักหรือออกกำลังกายแบบหักโหมประมาณ 5 ชั่วโมงหลังการบริจาคเลือด และไม่ควรงดรับประทานอาหารโดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ตับ ไข่ ผักใบเขียวและผักที่มีสีเหลือง เป็นต้น และแน่นอนว่ายังไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ด้วยเช่นกัน
สามผู้รับจากหนึ่งผู้ให้ นอกจากกุศลที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์แล้ว รู้ไหมครับว่า เมื่อคุณได้บริจาคเลือดเท่ากับว่าเป็นการช่วยกระตุ้นร่างกายในการสร้างเม็ดเลือดแดงขึ้นมาใหม่ส่งผลให้สุขภาพของคุณแข็งแรงขึ้นอีกด้วย
และสำหรับท่านใดที่ต้องการบริจาคเลือดก็มีขั้นตอนง่าย ๆ เพียง นำบัตรประชาชนมาติดต่อแจ้งความจำนงค์บริจาคเลือดที่ธนาคารเลือดของโรงพยาบาลต่าง ๆ หรือศูนย์รับบริจาคโลหิตของสภากาชาดไทย ศูนย์รับบริจาคเลือดเคลื่อนที่ โดยผู้บริจาคอาจต้องกรอกแบบสอบถาม เพื่อประเมินคุณสมบัติสักนิดและตรวจสุขภาพเบื้องต้น ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้มีไว้เพื่อท่านจะได้ให้เลือดได้อย่างปลอดภัยต่อตัวของท่านเองและผู้ป่วยที่ได้รับเลือดต่อจากนั้นนั่นเอง
บทความล่าสุด
การจัดโต๊ะคอมให้สวยถูกใจ พร้อมฟังก์ชันการใช้งานครบครัน...
ในมุมมองหนึ่ง ‘ลูกคนกลาง’ ดูเหมือนจะต้องแบกรับภาระทางใจอันหนักอึ้ง...