การบูลลี่ คืออะไร – สาเหตุและการแก้ปัญหา Bully ในสังคม

การบูลลี่ คืออะไร - สาเหตุและการแก้ปัญหา Bully ในสังคม

ปัจจุบันหลายคนไม่ได้มองปัญหาการกลั่นแกล้งในสังคมว่าเป็นเรื่องธรรมดา หรือเรื่องสนุกที่หยอกล้อกันแค่ในกลุ่มเพื่อนอีกต่อไป แต่เป็นปัญหาสำคัญที่ทุกคนต้องช่วยกันหาทางออก ไม่ว่าจะทั้งวัยเด็ก วัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่ ก็ต่างได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งนั้น

ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่าการบูลลี่คืออะไร มีสาเหตุมาจากอะไร ประเภทของการบูลลี่มีอะไรบ้าง และเราจะแก้ปัญหาการบูลลี่ในสังคมได้อย่างไรบ้าง

การบูลลี่คืออะไร (Bullying)

การบูลลี่ คือ พฤติกรรมการกลั่นแกล้ง ข่มเหงรังแก หรือการแสดงท่าทีที่มีความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นด้านการใช้วาจาหรือการลงมือกระทำทางร่างกาย ด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ซึ่งส่งผลกระทบให้ผู้อื่นได้รับความเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิตใจ และรู้สึกด้อยคุณค่า

ความหมายของการบูลลี่นั้นกว้างมาก นั่นก็เพราะว่าการรังแก ข่มเหงนั้นมาได้ในหลายรูปแบบ หลายวิธี ตัวอย่างเช่น

  • การล้อเลียนรูปร่างหน้า ตา สีผิว หรือ ปมด้อย
  • การแสดงท่าทีให้ตัวเองดูเหนือกว่าด้วยการแบ่งชนชั้นทางสังคม
  • การรุมทำร้ายร่างกายของกลุ่มนักเรียนในโรงเรียน
  • การประจานหรือทำให้เกิดความอับอายบนสังคมออนไลน์

ทำไมการบูลลี่ถึงเป็นปัญหา

ปัญหาการบูลลี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานแล้วในอดีต ซึ่งในปัจจุบันในหลายๆ ประเทศทั่วโลกก็ได้มีคนให้ความสนใจและตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมดังกล่าวมากขึ้น

จากผลการวิจัยพบว่า ประเทศไทยติดอันดับ 2 ของการถูกกลั่นแกล้ง ข่มแหงรังแกในโรงเรียน เป็นรองแค่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น

และข้อมูลจากกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติรายงานว่าในแต่ละปีมีนักเรียนตกเป็นเยื่อของการถูกรังแกมากกว่า 3.2 ล้านคน อีกทั้งมีเด็กและเยาวชนประมาณ 160,000 คน ถูกกลุ่มเพื่อนที่โรงเรียนกลั่นแกล้ง ข่มเหงรังแก จนถึงขนาดไม่กล้าไปโรงเรียน

สำหรับในปัจจุบันที่สื่อเข้ามามีบทบาทกับเด็กและเยาวชนได้มากขึ้น ซึ่งการใช้สื่อในโลกออนไลน์นั้น มีอิทธิพลอย่างมากต่อพฤติกรรมการกลั่นแกล้งกันของเด็กและเยาวชน รวมไปถึงผู้ใหญ่บางคนอีกด้วย

ในประเทศไทยพบว่า กลุ่มเยาวชนมากกว่าร้อยละ 50 มีพฤติกรรมการกลั่นแกล้ง ข่มเหงรังแกและคุกคามกันบนโลกไซเบอร์ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์กันมากขึ้น เรียกว่า Cyber Bullying ซึ่งเป็นปัญหาที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ทั้งในปัจจุบัน

อีกทั้งผู้ที่ถูกข่มเหงรังแก หรือตกเป็นเหยื่อของการถูกกลั่นแกล้ง อาจได้รับผลกระทบมากมายอย่างปัญหาด้านสุขภาพ เช่น การมีภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านการนอนหลับ การรับประทานอาหาร และการสูญเสียความสนใจในกิจกรรมที่ตัวเองเคยสนุก ภาวะซึมเศร้านี้อาจส่งผลต่อเนื่องไปในอนาคตอีกด้วย และในกรณีที่เลวร้ายที่สุดอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้

หากเป็นกรณีของนักเรียน หรือนักศึกษาอาจมีผลทำให้ผลการเรียนลดลงและมีแนวโน้มที่อาจจะออกจากโรงเรียนกลางคันมากขึ้นอีกด้วย

สำหรับผู้ที่มักจะข่มเหงรังแก หรือกลั่นแกล้งผู้อื่นก็น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน เพราะด้วยการทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจนติดเป็นนิสัย ทำให้มีโอกาสเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีทัศนคติที่ไม่ดี ชอบใช้ความรุนแรงกับคนใกล้ตัวและอาจจะพลาดพลั้งก่ออาชญากรรมได้โดยไม่ทันระวังตัวจนกลายเป็นอาชญากรในที่สุด

สาเหตุของการบูลลี่

นักวิจัยได้พยายามหาสาเหตุของการเกิดพฤติกรรมการกลั่นแกล้ง ข่มเหงรังแกผู้อื่น โดยสามารถระบุปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องได้ดังนี้

1. ปัจจัยด้านชีวภาพ – ปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมก้าวร้าวทางด้านชีวภาพมากขึ้น เช่น พันธุกรรม ฮอร์โมนและสมอง เป็นต้น ซึ่งไม่เพียงแต่เกิดจากสาเหตุด้านจิตใจหรือสังคมเท่านั้น

คนบางคนอาจจะมีปัญหาด้านการผลิตฮอร์โมนออกซิโทซิน (oxytocin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เรามีความสุขเวลาเข้าสังคม ได้รับการยอมรับ หากฮอร์โมนประเภทนี้ขาดหายก็อาจจะทำให้มีความเห็นอกเห็นใจในคนอื่นน้อยลง

2. ปัจจัยด้านจิตวิทยา – เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่อิทธิพลต่อพฤติกรรมการกลั่นแกล้ง ข่มเหงรังแกในหมู่เด็กและเยาวชน อันได้แก่ การที่มีความพึงพอใจในตนเองต่ำ เช่น หากรู้สึกว่าตนเองไม่เก่ง หน้าตาไม่ดีหรือไม่ได้ร่ำรวยมากมาย ก็อาจจะมองหาวิธีการที่ทำให้รู้สึกว่าตนเองดีกว่าคนอื่นๆ โดยการกดคนอื่นให้ต่ำกว่าตนเอง เป็นต้น

และนักจิตวิทยายังได้อธิบายถึง ความไม่สมดุลของอำนาจของทั้งผู้ที่มีพฤติกรรมกลั่นแกล้ง ข่มเหงรังแกผู้อื่น และผู้ที่โดนกลั่นแกล้ง โดนรังแก คือ ทั้งสองฝ่ายโดยทั่วไปมักจะมีลักษณะที่ไม่สมดุลหรือตรงกันข้ามกัน เช่น คนที่ตกเป็นเหยื่อ มักจะมีขนาดร่างกายที่เล็ก ในขณะที่ผู้รังแกจะมีขนาดร่างกายใหญ่ หรือคนที่ชอบกลั่นแกล้ง รังแกอาจจะมีความรู้สึกที่เป็นปมด้อยบางเรื่องในชีวิต จึงมักจะอยากข่มคนที่เด่นกว่าตนเอง หรือระบายความรู้สึกที่เป็นปมด้อยนั้นออกมา 

3. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม – เป็นปัจจัยที่มีความหลากหลาย ซึ่งมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนเป็นอย่างมาก เช่น การเป็นคนที่เคยถูกกลั่นแกล้งมาก่อน อย่างการเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีการเลี้ยงดูที่ใช้ความรุนแรงหรือการอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่มีความก้าวร้าวและชอบใช้ความรุนแรง และพวกเขาก็จะรู้สึกว่าต้องระบายความโกรธที่ตัวเองได้รับนี้ให้กับผู้อื่น อีกทั้งสื่อต่างๆ ที่มีความรุนแรงอย่างภาพยนตร์หรือละครบางเรื่องก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งเหมือนกัน

4. ปัจจัยด้านสังคม – การอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ตลอดจนค่านิยมต่างๆ หรือแม้แต่ความพิการ ความแตกต่างเหล่านี้จะถูกนำมาล้อเลียน จนนำไปสู่การปฎิบัติกับเหยื่อแบบที่ไม่เท่าเทียมกับคนอื่น เพียงเพราะความแตกต่าง

จากการรายงานสถานการณ์การกลั่นแกล้ง (Bully) กันในโรงเรียนของประเทศไทยนั้น ได้สรุปลักษณะของนักเรียนที่มักจะถูกกลั่นแกล้งอยู่เป็นประจำ โดยมักจะเป็นคนที่อ่อนแอและแตกต่างจากเพื่อน ซึ่งมีลักษณะได้ดังนี้

  • กลุ่มนักเรียนพิเศษที่มีความบกพร่องทางสมอง เช่น สมาธิสั้น ดาวน์ซินโดรม เป็นต้น
  • กลุ่มนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ
  • นักเรียนที่ชอบอยู่คนเดียว มีเพื่อนน้อย เข้าสังคมไม่เก่ง
  • นักเรียนที่มีปัญหาทางบ้าน และชอบเก็บตัว
  • นักเรียนที่ไม่สู้คน เช่น นักเรียนที่มีขนาดตัวเล็กกว่าคนอื่นๆ หรือคนที่มีความอดทนและมีเมตตาสูง
  • นักเรียนที่มีลักษณะภายนอกโดดเด่นหรือแตกต่างจากผู้อื่น เช่น มีรูปร่างอ้วนหรือมีผิวดำ เป็นต้น

ประเภทของการบูลลี่

ปัจจุบันกรมสุขภาพจิตได้แบ่งประเภทของการบูลลี่ออกเป็น 4 ประเภทหลักๆ ดังนี้

1. การบูลลี่ด้านร่างกาย (Physical Bullying) เป็นลักษณะของการทำร้ายร่างกายของอีกฝ่าย เช่น การชกต่อย การตบตี การผลัก เป็นต้น จนทำให้เกิดความเสียหาย การบาดเจ็บต่อร่างกาย ซึ่งสามารถมองเห็นได้จากภายนอก และในบางกรณีก็อาจจะส่งผลต่อสภาพจิตใจอีกด้วย

2. การบูลลี่ด้านสังคมหรือด้านอารมณ์ (Social or Emotional Bullying) เป็นลักษณะของการสร้างกระแสสังคมรอบข้างโดยใช้วิธีการยืมมือของคนรอบข้างให้ร่วมกันทำร้ายเหยื่อ กดดันและทำให้คนที่ตกเป็นเหยื่อของการบูลลี่แยกออกจากกลุ่มด้วยความรู้สึกเจ็บปวดหรือเสียใจจากการกระทำดังกล่าว เช่น การขัดขว้างไม่ให้คนที่ตกเป็นเหยื่อมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ หรือการหลบไม่ให้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ในกลุ่ม รวมไปถึงการโน้มน้าวชักจูงคนรอบข้างให้ไม่สนใจเหยื่อที่ถูกบูลลี่ ส่งผลทำให้คนที่ถูกบูลลี่รู้สึกว่าตัวเองไร้ตัวตน ไม่มีเพื่อน ไม่มีคนคุยด้วย ไม่มีใครคบ และหาทางออกจากปัญหานี้ไม่ได้

3. การบูลลี่ด้านวาจา (Verbal Bullying) เป็นลักษณะของการพูดจาเหยียดหยาม การด่าทอ ดูถูก นินทา เสียดสี ล้อเลียน ใส่ร้าย การประจานด้วยคำพูดให้คนอื่นได้ยิน โดยมีจุดประสงค์ให้เกิดความเจ็บปวด ถึงแม้ไม่ได้สร้างบาดแผลทางกายให้เห็น แต่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกซึ่งถือเป็นบาดแผลทางใจอยู่ไม่น้อย และนอกจากจะสร้างความอับอาย ความวิตกกังวลแล้ว ยังอาจจะสร้างความเครียด รวมถึงอาการเก็บกด ซึ่งอาจส่งผลถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า หรือหวาดกลัวสังคมไปเลย

4. การบูลลี่บนโลกออนไลน์ (Cyber Bullying) เป็นอีกประเภทหนึ่งของการบูลลี่ที่เกิดขึ้นใหม่ในปัจจุบันและกำลังเป็นประเด็นปัญหาสำคัญในสังคม โดยใช้เครื่องมือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ตที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายสังคมออนไลน์บนอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ เช่น

  • การโจมตีโดยขู่ทำร้ายหรือใช้ถ้อยคำหยาบคาย โพสต์ด่าทอ พูดจาเสียดสี ให้ร้าย
  • การคุกคามทางเพศแบบออนไลน์ โดยการพูดจาคุกคาม บังคับให้แสดงพฤติกรรมทางเพศผ่านกล้อง ตลอดจนการแฉหรือตัดต่อภาพโป๊เปลือยไปโพสต์
  • การแอบอ้างตัวตนของผู้อื่น โดยสวมรอยเป็นผู้อื่น ไปโพสต์ข้อความหยาบคายให้ร้ายผู้อื่นหรือโพสต์รูปอนาจาร
  • การแบล็กเมลล์ โดยนำความลับหรือรูปภาพของคนอื่นมาเปิดเผยหรือใส่ร้ายป้ายสี
  • การหลอกลวงให้หลงเชื่อออกมานัดเจอกันเพื่อทำมิดีมิร้าย หรือหลอกให้โอนเงินให้ด้วยวิธีการต่างๆ
  • การสร้างกลุ่มในโซเชียลเพื่อโจมตีโดยเฉพาะ โดยอาจจะตั้งเพจแอนตี้ โจมตีและจับผิดทุกๆ การกระทำของเหยื่อ แล้วนำมาถกประเด็นให้เกิดความเสียหาย

นอกจากประเภทของการบูลลี่ 4 ประเภทนี้แล้ว ก็มีการจำแนกประเภทของการบูลลี่เพิ่มอีกเป็น 2 ประเภท อันได้แก่

1. การบูลลี่ที่เกี่ยวกับวัตถุ (Material Bullying) ซึ่งเป็นลักษณะการนำเอาสิ่งของของคนอื่นไป หรือข่มขู่ด้วยความตั้งใจ เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินทองหรือสิ่งที่ต้องการ  เช่น การทำลายข้าวของของคนอื่น หรือการนำของไปซ่อน เป็นต้น

2. การบูลลี่ด้วยแรงจูงใจที่เกิดขึ้นจากความเกลียดชัง (Hate-motivated) การบูลลี่ประเภทนี้จะเกิดกับกลุ่มคนที่มีความแตกต่าง เช่น เชื้อชาติ ศาสนา ชาติกำเนิด สีผิว เพศ เป็นต้น

การแก้ปัญหาการบูลลี่ในสังคม

ในปัจจุบันพบเห็นการบูลลี่กันในสังคมมากมายจนหลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องปกติ และถอดใจที่จะคิดแก้ปัญหาไปแล้ว แต่ผมอยากนำเสนอแนวคิดอีกมุมมองในการแก้ไขปัญหาดังนี้

การแก้ไขปัญหาการบูลลี่ในสังคมนั้น ต้องเริ่มจากสถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นสถาบันหลักที่ต้องมีหน้าที่คอยปลูกฝังให้เด็กหรือเยาวชนนั้น รู้จักการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การเอาใจเขามาใส่ใจเราและตระหนักได้ถึงผลของการกระทำต่างๆ จนเป็นนิสัยติดตัวตั้งแต่เล็กๆ เมื่อเด็กหรือเยาวชนเข้าใจและตระหนักได้ถึงผลดีและผลเสียจากการกระทำของตนเอง พวกเขาก็จะไม่ไปบูลลี่คนอื่น

ในเรื่องของการเห็นอกเห็นใจนั้น ถึงแม้หลายๆคนคิดว่าเป็นสิ่งที่เราต้องมีตั้งแต่เกิด แต่ในความจริงแล้ว การเห็นอกเห็นใจก็เป็น ‘ทักษะ’ ที่สามารถฝึกได้อย่างหนึ่ง สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความนี้ครับ การเห็นใจเห็นใจผู้อื่น เริ่มยังไงดี

การให้คำปรึกษาเพื่อช่วยเหลือคนที่มีความทุกข์หรือไม่สบายใจในเรื่องต่างๆ และยังป้องกันการนำความทุกข์หรือปมด้อยของตัวเองไปลงที่คนอื่นด้วยการบูลลี่ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ผิด โดยการให้คำปรึกษาจะเป็นรายบุคคลหรือการให้คำปรึกษาเป็นกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่กลั่นแกล้งคนอื่น กลุ่มคนที่ถูกคนอื่นรังแก หรือผู้อยู่ในเหตุการณ์ ตลอดจนการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับครอบครัว ในกรณีที่จำเป็นต้องมีพ่อแม่ หรือผู้ปกครองเข้ามาเกี่ยวข้องกับการบูลลี่

การจัดตั้งทีมช่วยเหลือ เพื่อคอยช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาการบูลลี่ในสถานศึกษาโดยเฉพาะ และกลุ่มบุคคลที่ควรจะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหานี้ ได้แก่ ครูแนะแนว ครูประจำชั้น ผู้บริหารสถานศึกษา พ่อแม่ผู้ปกครอง นักให้คำปรึกษา จิตแพทย์ นักกฎหมาย และชุมชน เป็นต้น ซึ่งการป้องการและแก้ไขปัญหารูปแบบนี้ได้รับความนิยมและมีประสิทธิภาพเป็นอย่างมากในต่างประเทศ เพราะได้รับความร่วมมือจากบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

จะเห็นได้ว่าปัญหาการบูลลี่ในสังคมนั้น โดยพื้นฐานล้วนเกิดจากการขาดการปลูกฝังความคิดและทัศนคติที่ถูกต้อง ซึ่งนำไปสู่พฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับ เมื่อตัวเองเกิดความขัดแย้ง หรือไม่พอใจอะไรบางอย่าง จนทำให้มีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการกระทำหรือคำพูดนั้น

และถ้าเราสามารถแก้ปัญหาได้ตั้งแต่ต้นเหตุ โดยการทำให้พวกเขาเข้าใจและตระหนักถึงผลของการกระทำได้ ปัญหาการบูลลี่ที่มีมาอย่างยาวนานในสังคมก็จะหมดไป

บทความล่าสุด