5 ขั้นตอนเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง ให้ดีกว่าเดิม (ยากสุดคือลงมือทำ)

5 ขั้นตอนเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง ให้ดีกว่าเดิม (ยากสุดคือลงมือทำ)

หลายคนคงเคยมีความคิดว่าอยากจะลองทำอะไรใหม่ๆ หรือเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แต่ก็ได้แค่คิดในใจว่าอยากจะทำ แต่ไม่ได้ลงมือทำสักที แล้วก็ปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไป จนสุดท้ายก็ล้มเลิกความคิดที่อยากจะทำ เพราะอาจมีสิ่งอื่นที่น่าตื่นเต้นกว่ามาดึงดูดความสนใจไป และสุดท้ายก็ลืมเป้าหมายที่เราอยากจะทำตั้งแต่แรก

5 ขั้นตอนเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง ให้ดีกว่าเดิม

“สัปดาห์หน้าจะสอบ ต้องอ่านหนังสือแล้วนะ … แต่ช่วงนี้ Netflix มีซีรีย์ใหม่น่าดู ขอไปดูแปปนึงละกัน”
“ฉันต้องตื่นมาวิ่งทุกเช้า วันละ 30 นาทีให้ได้ … แต่ถ้านอนต่อก็ได้อีกตั้ง 30 นาทีเลยนะ!”

มีเป้าหมายอีกมากมายที่เราต่างก็อยากจะทำ “แต่” มีบางสิ่งบางอย่างฉุดรั้งเอาไว้ไม่ให้สามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นจากตัวเราเอง หรือปัจจัยภายนอกที่เราไม่สามารถควบคุมได้ บทความนี้ ผู้เขียนจึงอยากจะเสนอแนวคิดสำหรับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในระยะยาว และก่อให้เกิดเป็น “นิสัย” ใหม่ เพื่อที่พวกเราจะได้มี “นิสัยฉลาด-นิสัยสุขภาพดี-นิสัยรวย” ใบแบบที่อยากจะเป็นกับเขาบ้าง

#1: ยอมรับถึงการมีอยู่ของ “ปัญหา” เพื่อจะได้จัดการถูกจุด

ก่อนอื่นเลย เราต้องยอมรับให้ได้ว่า “เรามีปัญหาจริงๆ นะ” หรือ “ปัญหาที่เกิดขึ้น มันมีอยู่จริง” ไม่อย่างนั้นก็จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ถ้าเอาแต่มองข้ามปัญหา ผลัดวันประกันพรุ่งไปตลอด หรือที่ฝรั่งชอบพูดว่า Sweep under the carpet แปลเป็นไทย คือ “ฝุ่นใต้พรม” ที่เรามัวแต่กวาดให้มันพ้นสายตาไป พอถึงวันที่เราอยากจะทำความสะอาด ฝุ่นก็กองรวมกันเยอะมากจนทำให้หมดกำลังใจ ซ้ำร้ายฝุ่นพวกนี้ก็จะทำให้สุขภาพเราเสียไปด้วย

การที่เราสามารถหยิบปัญหาขึ้นมาแล้วพูดถึงมันได้ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้วของความคิดที่จะเริ่มแก้ปัญหา ถ้าคิดอะไรไม่ออกให้เราลองพูดกับตัวเองเบาๆ ก็ได้ ว่าปัญหาที่เรามีอยู่คืออะไรบ้าง

“น้ำหนักขึ้นมาเยอะเกินไปแล้ว”
“อาทิตย์หน้าจะสอบเลขแล้ว ยังไม่เข้าใจเลย”

อย่างน้อยการที่ได้รู้ว่าตัวเราเองมีปัญหาหรือสิ่งที่อยากจะเปลี่ยนแปลง จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เราหันมาคิดถึงวิธีการแก้ไขปัญหานั้น เพราะถ้ามัวแต่บอกตัวเองว่าเราไม่มีปัญหาอะไร แล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้อย่างไรล่ะ

อย่างน้อยการมองเห็นถึงปัญหา ก็ยังดีกว่าไม่รู้ว่ามันมี

#2: บอกลาคุณลักษณะของ “คนขี้แพ้”

ก่อนที่จะเรียนรู้ว่าคนที่ประสบความสำเร็จต้องมีคุณลักษณะเป็นอย่างไร เราลองมาดูว่าลักษณะของ “คนขี้แพ้” กันก่อนดีกว่า ว่าคนที่มักไม่ประสบความสำเร็จในการทำสิ่งต่างๆ นั้น มีลักษณะอะไรบ้างที่เหมือนกัน

เริ่มจาก ขี้บ่น คนที่มักจะไม่ประสบความสำเร็จจะชอบบ่นไปกับทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องงาน ดินฟ้าอากาศ หรือเรื่องเล็กน้อยอื่นๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ที่จะเห็นได้บ่อยคือเขามักจะบ่นเรื่องงานที่ทำ ว่าทำไมงานเยอะขนาดนี้ ทำไม่เสร็จเสียที ทำไมเขาต้องทำงานชิ้นนี้ด้วย ซึ่งการบ่นนั้นก็ไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้นมานอกเสียจากทำลายสุขภาพจิตของคนที่บ่นเอง แต่ที่น่าเห็นใจกว่าคือคนรอบข้างที่ต้องมาคอยฟังบ่นจะเสียสุขภาพจิตตามไปด้วย

คุณสมบัติเด่นอีกเรื่องของคนขี้แพ้ คือ เขามักจะมี ข้ออ้าง ตลอดเวลาไม่ว่าจะสถานการณ์ใดๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต เขาก็จะสามารถหาข้ออ้างมาได้เสมอ มาทำงานสายก็อ้างว่ารถติด ทำงานไม่ทันก็อ้างว่างานเยอะเกินไป

แทนที่จะคิดหาวิธีในการไขปัญหา บางครั้งข้ออ้างต่างๆ นั้นก็ฟังขึ้นบ้าง ไม่ขึ้นบ้าง แต่ส่วนมากการมีข้ออ้างจะทำให้เขาเหล่านั้นเลือกที่ไม่ค้นหาสาเหตุที่แท้จริง ว่าอะไรที่ทำให้เขาไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเขาจะคิดแต่ว่าข้ออ้าง ที่เขายกมานั่นแหละคือสาเหตุที่ทำให้ล้มเหลว สุดท้ายก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

คุณลักษณะอย่างสุดท้ายที่คนขี้แพ้ส่วนมากมักเป็นกัน (ข้อนี้ได้รับความนิยมมาก) นั่นคือการ โทษคนอื่น เขามักจะมองหาใครก็ได้ที่มารับผิดแทนเขา จะได้ไม่ต้องรู้สึกผิด เมื่อเขาทำงานบางอย่างไม่เสร็จ ก็จะโทษหัวหน้าที่สั่งงานยาก ให้เวลาทำงานน้อย พาลไปถึงการโทษเพื่อนร่วมงานที่ไม่ให้ความร่วมมือ  แม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือเขาไม่เริ่มทำงานตั้งแต่แรก มัวแต่เอาเวลาไปช็อปปิ้งออนไลน์ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า คนขี้แพ้ มักจะไม่มองมาที่ตัวเองก่อนเลย ว่าเขานั่นแหละที่ทำให้เกิดความล้มเหลว พวกเขาเหล่านี้เลือกเอาความสบายใจของตนเองมาก่อนอันดับแรก ทำให้มองไม่เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และสุดท้ายก็จะบอกว่า “ตนเองไม่มีปัญหาอะไรนิ”

ดังนั้น เราต้องบอกลาลักษณะนิสัยของคนขี้แพ้เสียก่อนถ้าเราอยากจะประสบความสำเร็จ อยากที่จะเริ่มทำสิ่งใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง ถึงแม้ว่าความสำเร็จจะไม่เกิดขึ้นทันทีหลังจากการทิ้งนิสัยที่ไม่ดีออกไป แต่อย่างน้อยก็จะไม่มีความคิดด้านลบที่คอยเป็นตัวถ่วงการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นของตัวเราเองอย่างแน่นอน

นิสัยคนขี้แพ้ ถ้าติดไปนานๆ แล้ว เลิกยากนะจะบอกให้

#3: กล้าที่จะลองผิด เพื่อหาวิธีที่ถูกต้องกว่า

“คนที่ไม่เคยทำผิด คือคนที่ไม่เคยทำอะไรเลย” วลีเด็ดนี้ทุกคนคงเคยได้ยินผ่านหู ดูผ่านตามาบ้าง และก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือเรื่องจริง หากย้อนกลับไปสมัยเมื่อพวกเรายังเป็นเด็ก เราทุกคนก็เคยทำผิดพลาดกันทั้งนั้น ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยจนไปถึงเรื่องใหญ่โตมโหฬารมาบ้างแล้ว

เช่น การเอามือเปล่าไปจับกาน้ำที่ร้อนจนโดนลวกมือพอง หลังจากนั้นเราก็ได้เรียบรู้ว่าถ้าจับของร้อนมือจะพองและเจ็บ ดังนั้นเวลาจะยกกาน้ำก็ต้องใส่ถุงมือหรือไม่ก็หาผ้าไปจับ ไม่กล้าใช้มือเปล่าไปจับอีกแล้ว ตัวอย่างง่ายๆ นี้ ทำให้เราเห็นว่าบางครั้งที่เราทำผิดพลาดไป เราก็จะเรียนรู้ถึงผลกระทบที่จะตามมาและจะหาวิธีการใหม่ที่ไม่ให้เกิดความผิดพลาดนั้นขึ้นอีกได้ด้วยตัวเอง

แต่ทำไมเมื่อเราเติบโต ผ่านโลกเยอะมากขึ้น หลายคนมักกลัวการทำผิดพลาดมากกว่าตอนที่ตนเองเป็นเด็กเสียอีก หลายคนไม่กล้าที่จะลงมือทำอะไรเพราะกลัวคนอื่นมองไม่ดี กลัวผิดหวัง ไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่เราต้องการ หรือมีเหตุผลอื่นอีกมากมาย แต่หากลองเปรียบเทียบว่า “การได้ลองทำผิดบ้าง” กับ “การไม่ทำอะไรเลย” อันไหนจะได้ประโยชน์มากกว่ากัน ถ้าตอนเด็กเราไม่เคยมือพองเพราะจับกาน้ำร้อน ทุกวันนี้เราก็คงจะยังไม่รู้จักวิธีป้องกันตนเองเลยใช่ไหมล่ะ

ดังนั้น การได้ลงมือทำอะไรใหม่ แม้จะล้มเหลวหรือเกิดความผิดพลาดขึ้น เราก็สามารถนำประสบการณ์มาต่อยอดเพื่อเริ่มใหม่อีกครั้งในแบบที่ดีขึ้น แข็งแรงขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเรามักจะได้ประสบการณ์และเข้าใจสิ่งต่างๆ จากการลงมือทำจริงด้วยตัวเอง มากกว่าการอ่านจากหนังสือ หรือฟังจากที่คนอื่นเล่าให้ฟัง

ทำน้ำร้อนลวกมือตัวเอง เจ็บกว่าฟังคนอื่นเล่าใช่ไหมล่ะ

#4: หนึ่งเป้าหมายมีหลายเส้นทางให้เลือกเดิน

สถานะปัจจุบันของเราอาจจะไม่เอื้ออำนวยให้สามารถทำสิ่งที่อยากทำได้ทุกอย่าง อาจจะเนื่องด้วยเหตุผลของเวลาในการใช้ชีวิต สภาวะความเป็นอยู่ หรือแม้กระทั่งเรื่องเงิน ที่ทำให้เราคิดว่าไม่สามารถทำสิ่งที่อยากทำได้หรอก ปัญหาเหล่านั้นเป็นอุปสรรคในการเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ ก็จริง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีทางออกเลย

หากลองตั้งโจทย์ว่าเราอยากจะเดินทางจากบ้านไป “พารากอน” จะมีวิธีการเดินทางแบบไหนได้บ้าง ถ้าเราไม่มีรถยนต์ คำตอบก็คงจะมีเยอะแยะมากมาย เช่น โบกแท็กซี่ไปเลย หรือเรียกพี่วิน แล้วไปต่อรถไฟฟ้า หรือนั่งรถเมล์ 2 ต่อ หรือวิธีสุดโต่งคือเดินจากบ้านไปพารากอน

ซึ่งวิธีที่เหมาะสมของเราอาจจะไม่เหมือนกับของเพื่อนก็ได้ เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือการริเริ่มลองทำสิ่งใหม่ โดยให้เราลองตั้งเป้าหมายดูว่า “เราอยากจะทำอะไร” “อยากจะเปลี่ยนแปลงสิ่งใด” และ “มีวิธีใดบ้างที่จะทำได้” เพราะบนโลกนี้มีเส้นทางมากมายที่เราสามารถเลือกเดินได้เพื่อไปถึงเป้าหมายที่ต้องการ แต่เราก็ต้องเลือกเส้นทางที่เหมาะสมและเข้ากับเรามากที่สุด เพื่อที่เราจะมีกำลังใจในการออกเดินทางและเริ่มลงมือทำให้เกิดขึ้นได้จริง

 “ถ้าอยากจะเล่นกีตาร์เป็น เราก็อาจจะเลือกที่ลงเรียนคอร์สกับครูสอนกีตาร์ หรือถ้าค่าใช้จ่ายในการเรียนแพงเกินไป ก็หาบทเรียนออนไลน์แทนก็ได้ ซึ่งในปัจจุบันมีคลิปสอนเล่นกีตาร์มากมายในอินเทอร์เน็ต”

“ถ้าเราอยากจะถ่ายรูปให้ได้สวยๆ ก็ไม่จำเป็นต้องเพิ่มต้นด้วยการซื้อกล้องถ่ายรูปราคาแพงมูลค่าตัวละเป็นแสนบาท เราสามารถลองด้วยการใช้สิ่งที่เรามีอยู่ก่อนก็ได้ เช่น กล้องมือถือ ที่สมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักจะมีติดมาด้วยอยู่แล้ว เราก็สามารถฝึกฝนฝีมือโดยใช้สิ่งที่เรามีอยู่ไปก่อนก็ได้”

จะเห็นได้ว่าทุกอย่างมันมีทางเลือกให้เสมอ โดยเราต้องเลือกในสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเองที่สุด ไม่จำเป็นต้องดีที่สุดเสมอไป ในอนาคตถ้าเราทำในสิ่งที่เราชอบ เราอยากทำได้ดีระดับนึงแล้ว อยากจะอัพเกรดเพิ่มขึ้นก็สามารถทำได้ และเมื่อถึงเวลานั้นเราก็จะสามารถใช้สิ่งที่เราอัพเกรดได้อย่างคุ้มค่ามากกว่าตอนเริ่มหัดใหม่อีกด้วย

If you want something bad enough, you’ll find a way … If you don’t, you’ll find an excuse.
ถ้าคุณอยากจะทำสิ่งใดจริงๆ คุณจะหาหนทางทำมันให้ได้เอง ไม่เช่นนั้นคุณก็จะมีแต่ข้ออ้างที่ไม่ลงมือทำ
เพราะท้ายที่สุด ถ้าคุณอยากไปพารากอนจริง คุณอาจจะยอมเลือกที่จะเดินไปก็ได้ …

#5: เริ่มทำสิ่งใหม่และเปลี่ยนนิสัยด้วยทฤษฎี 21 วัน

“การทำอะไรซ้ำๆ กัน ต่อเนื่องเป็นเวลา 21 วัน จะทำให้บุคคลนั้นสามารถปรับเปลี่ยนนิสัยได้” หลายคนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับทฤษฎีนี้มาบ้าง ซึ่งมีที่มาจาก ดร.แม็กซ์เวลล์ มอลทซ์ (Maxwell Maltz) ศัลยแพทย์ชาวอเมริกัน ที่ได้เขียนทฤษฎีนี้ลงในหนังสือ Psycho-Cybernetics เมื่อปี พ.ศ. 2503 โดยทฤษฎีได้ระบุไว้ว่า “พฤติกรรมใหม่จะตกผลึกจนกลายเป็นนิสัยใหม่ได้ก็ต่อเมื่อทำพฤติกรรมนั้นซ้ำๆ ต่อเนื่องกันทุกวัน เป็นเวลาอย่างน้อย 21 วัน วันละ 15 นาทีเป็นอย่างต่ำ”

ในมุมกลับกัน ทฤษฎีนี้อาจจะเพียงต้องการบอกให้เราได้ “เริ่ม” ทำอะไรใหม่ๆ ที่เราอยากทำ และทำมันอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้เกิดความ “เคยชิน” กับสิ่งใหม่ที่เข้ามาในชีวิต

เพราะร่างกายของคนเรานั้นมหัศจรรย์กว่าที่เราจะรู้ ร่างกายมีสัญชาติญาณของการอยู่รอดอยู่แล้วที่จะต่อต้านการเปลี่ยนแปลงหรือการทำสิ่งใหม่ถ้ากิจกรรมนั้นก่อให้เกิดความลำบาก หรือบอกได้ว่าร่างกายคุ้นเคยกับความสบายก็ไม่ผิด แต่ถ้าต้อง “ฝืน” ทำสิ่งใหม่เป็นระยะเวลาหนึ่ง ร่างกายของคนเราจะเริ่มทำการปรับตัวเข้ากับของใหม่และเริ่มมีความคุ้นชินมากขึ้น

เช่น การตื่นเช้ามาวิ่ง 30 นาที ก่อนไปทำงาน ในช่วงแรกร่างกายก็จะบอกเราว่า นอนหลับต่อเถอะ ไม่เหนื่อยด้วย ไม่เห็นต้องลุกไปวิ่งให้เสียแรงเลย แต่หากเราสามารถฝืนดึงตัวเองออกมาจากเตียง ใส่รองเท้าผ้าใบ แล้วออกไปวิ่งเบาๆ สักครึ่งชั่วโมง จะพบว่า 2-3 วันแรกจะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก จะมีความคิดในหัวว่าทำไมต้องมาทรมานตัวเองด้วย

แต่พอผ่านไปสัก 1 สัปดาห์ ร่างกายก็จะเริ่มคุ้นชินมากขึ้น อาการงอแงไม่อยากตื่นก็จะน้อยลง และถ้าสามารถทำแบบนี้ได้ติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง อาจจะไม่ต้องถึง 21 วัน ตามทฤษฎีหรอก ร่างกายก็จะทำการปรับตัวให้เข้ากับ “กิจวัตร” และ “นิสัย” ใหม่ของเราไปโดยอัตโนมัติ

การที่เราจะทำการเปลี่ยนแปลงหรือเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ก็เช่นกัน ในช่วงแรกก็อาจจะต้อง “ฝืน” เริ่มทำไปก่อน ค่อยๆ เรียนรู้วิธีการและขั้นตอนไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีข้อแม้ว่าห้ามล้มเลิกกลางคัน เพราะการได้ลองฝืนทำอะไรแปลกๆ ที่เราไม่ถนัด อาจจะทำให้เราค้นพบได้ด้วยว่าเราชอบสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้นหรือไม่ ซึ่งอาจจะทำให้ค้นพบอะไรบางอย่างที่เราไม่เคยคิดว่าจะชอบทำเลยก็ได้ หรืออย่างน้อยการได้ลองทำอะไรใหม่เป็นระยะเวลาติดต่อกัน จะทำให้เรารู้แน่ชัดว่าไม่ชอบอะไรก็เป็นได้

Insanity is doing the same thing over and over again and expecting different results.
ความวิกลจริต คือ การที่เราทำอะไรซ้ำๆ เหมือนเดิม และคาดหวังว่าจะได้ผลลัพธ์ใหม่
อัลเบิร์ต ไอน์สไต​น์              

บทความล่าสุด