การพูดเป็นทักษะขั้นพื้นฐาน ทั้งในแง่ของความสัมพันธ์ การเข้าสังคม รวมถึงการที่จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานด้วย แต่อย่างที่บอกไป สิ่งนี้เป็นทักษะ ที่จำเป็นต้องฝึกฝน เพื่อให้เรามีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างดีขึ้น รู้จักตนเองและผู้อื่นมากขึ้น และทำให้การทำงานราบรื่นขึ้นด้วย
วันนี้ผมจะมาแนะนำ 10 วิธีการสร้างความมั่นใจในการพูด เพื่อให้คุณได้นำสิ่งเหล่านี้ไปฝึกฝน หรือช่วยเพิ่มความมั่นใจในการพูดมากขึ้น โดยผมจะแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นเตรียมการ และ ขั้นลงมือ
10 วิธีสร้างความมั่นใจในการพูด
ขั้นตอนเตรียมการสร้างความมั่นใจในการพูด
#1 ก่อนจะพูดกับใครอื่น พูดกับตัวเองเสียก่อน การพูดคุยกับตัวเอง เป็นสิ่งที่สำคัญอันดับแรกสุด เราคุยกับตัวเองเพื่อให้เราเข้าใจตัวเองและรู้จักตัวเองมากขึ้น รู้จุดแข็ง จุดอ่อน และเข้าใจจุดประสงค์จริง ๆ ของการพูดของเรา
และที่สำคัญ การคุยกับตัวเองต้องเป็นการสื่อสารในแง่บวกด้วย (Positive self-talk) การให้กำลังใจตัวเอง การพูดเพื่อเรียกพลังให้กับตัวเอง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งสำคัญทั้งสิ้น
#2 เป็นตัวของตัวเอง การเป็นตัวเองจะทำให้เราเป็นธรรมชาติและพูดออกมาได้อย่างตรงกับสิ่งที่อยากนำเสนอที่สุด ในทางกลับกัน หากเราไม่เป็นตัวเอง หรือพยายามเลียนแบบคน นั่นอาจทำให้เราสูญเสียตัวตน และคู่สนทนาหรือผู้ฟังอาจรับรู้สิ่งนี้ได้ (ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรเรียนรู้วิธีพูดของคนอื่น สิ่งนี้เป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาตนเอง)
#3 สติ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกับคนอื่น หรือการนำเสนอผลงาน บ่อยครั้งเราอาจเจอเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด อย่างคำถามที่ยากจะตอบ อาจทำให้สติเราหลุดหาย และดึงกลับมาได้ยาก ดังนั้นสิ่งที่ควรทำ คือพึงระลึกอยู่เสมอ ให้เรามีสติ ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ตัดสินใจ หากเจอเรื่องไม่คาดฝันเหล่านี้
#4 ยิ้มเข้าไว้ และยิ้มอย่างจริงใจด้วย เป็นสิ่งดี ๆ สิ่งหนึ่งที่วัฒนธรรมของเราปลูกฝังเรามา ประโยชน์ของการยิ้มอย่างจริงใจมีมากมาย คุณจะดูเป็นคนน่าเข้าหาโดยทันที อีกทั้งยังสามารถเพิ่มความมั่นใจให้อย่างไม่น่าเชื่อ แต่อย่างที่บอกไป ต้องยิ้มออกมาจาก ใจด้วยนะ
ขั้นลงมือพูดให้มีความมั่นใจมากขึ้น
#5 การสบตา (Eye Contact) อย่างที่เขาว่า “ดวงตาเป็นหน้าต่างของดวงใจ” การสบตาคู่สนทนา หรือการกวาดสายตาให้ทั่วถึงในการนำเสนอผลงาน เรียกได้ว่าเป็นเหมือนการสร้างความเชื่อใจ ระหว่างผู้สื่อสารและผู้รับสาร แต่ที่สำคัญกว่านั้น อย่าเผลอสบตาคู่สนทนานานเกินไป อาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกถูกคุกคาม มันให้ผลตรงกันข้ามเลยทีเดียว
#6 พยายามเปิดร่างกาย (Open Posture) การเปิดร่างกาย คือการพยายามไม่ให้มีสิ่งใด ๆ มากั้นระหว่างคุณกับคู่สนทนา หรือผู้ฟัง ทั้งนี้รวมถึงมือ หรือแขนของคุณด้วย การเอามือกอดอก หรือใช้มือปิดส่วนของร่างกายไว้ เป็นเหมือนกลไกอัตโนมัติเมื่อเรารู้สึกไม่ปลอดภัย สิ่งนี้อาจทำให้คู่สนทนารู้สึกได้ และการพูดหรือการคุยครั้งนั้นอาจดูไม่ราบรื่นนัก
ในทางตรงกันข้าม หากเราไม่เอามือกอดอก รวมถึงการพยายามหงายมือให้คู่สนทนา นั่นเป็นสัญญาณของการเปิด จะทำให้เกิดความปลอดภัยและพร้อมที่จะเปิดรับได้
#7 การใช้ภาษากายอื่น ๆ คนที่มีความมั่นใจในการพูด และคนที่พูดเก่ง ๆ มักจะใช้ภาษากายในการพูดหรือสื่อสารด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ใช้คำพูดเพื่อสื่อสารเท่านั้น สิ่งนี้ช่วยเพิ่มเสน่ให้คุณได้อย่างเหลือเชื่อ
ตัวอย่างเช่น หากคุณกำลังพูดถึงสิ่งที่ดูใหญ่โตหรือกว้างมาก ๆ คุณควรผายมือและกางแขนออกไปให้กว้างด้วยเช่นกัน หากคุณกำลังพูดถึงเรื่องใด ๆ ก็ตามเป็นหัวข้อ การใช้นิ้วมือนับไปด้วยช่วยเสริมการพูดของคุณอย่างมากเลยทีเดียว
การใช้ภาษากายเป็นการสะท้อนความรู้สึกของคุณต่อเรื่องที่คุณเล่าให้ดูชัดเจน และทำให้ผู้ชมมีอารมณ์ร่วมด้วย
#8 คำติดปากทั้งหลาย เลิกซะ ไม่ว่าจะเป็นการสนทนาธรรมดา ๆ หรือการนำเสนอผลงาน เรามักจะมีคำติดปากของเรา ตัวอย่างเช่น “อืม” “เออ” “นะครับ” “ครับผม” และอีกหลาย ๆ คำ
การมีคำพวกนี้ในการพูด หากเป็นการสนทนาที่คู่สนทนาเป็นคนใกล้ชิดก็พอจะอนุโลมบ้าง แต่หากเป็นการพูดคุยกับผู้ใหญ่ หรือการนำเสนอผลงาน คำเหล่านี้จะทำให้เราดูขาดความมั่นใจ และดูเหมือนไม่เตรียมตัวมา ดังนั้นจึงควรระวังคำเหล่านี้ให้มา
#9 หยุดให้ถูกจุด บางคนอาจกลัวการหยุด เพราะรู้สึกว่าความเงียบเป็นสิ่งที่ดูน่ากลัวในการพูดคุย หรือการนำเสนอผลงาน แต่ในความเป็นจริงบางครั้งการหยุดเพียงชั่วครู่ ช่วยให้ผู้ฟังมีอารมณ์ร่วม เราควรเว้นช่วงให้ผู้ฟังได้มีโอกาสใช้ความคิด ประมวลในสิ่งที่เราต้องการสื่อ
ในการอ่านกวียังมีหน้ากระดาษโล่ง ๆ เปิดโอกาสให้เราใช้ความคิดและซึมซับอารมณ์ ในการพูดก็ควรเป็นแบบนั้นเช่นกัน เชื่อสิ คุณจะดูมีเสน่ห์และดูนุ่มลึกมากขึ้นเลยทีเดียว
#10 เปลี่ยนจังหวะจะโคนบ้าง การพูดไปเรื่อย ๆ โดยไม่สนใจผู้ฟังหรือจังหวะการพูด คงจะดูน่าเบื่อ การใส่ใจในรายละเอียดนี้ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง มันทำให้การพูดน่าฟัง และเสริมความมั่นใจของผู้พูดอย่างมาก
การรู้จักเร่งจังหวะเมื่อพูดเรื่องที่มีความตื่นเต้น และช้าลงเมื่อพูดเรื่องที่มีความเศร้าโศก การใช้น้ำเสียงก็สำคัญ เสียงสูงต่ำเพียงนิดเดียว ก็มีผลต่ออารมณ์ของผู้ฟังได้เช่นกัน
เหล่านี้เป็นตัวอย่างเพียงเล็กน้อย ที่จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้คุณ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยธรรมดา ๆ หรือการนำเสนอผลงานใหญ่ ความมั่นใจเป็นสิ่งแรกที่จะนำเราไปสู่ความสำเร็จ ไม่ว่าจะในหน้าที่การงาน หรือในชีวิตของเรา
แต่อย่างที่ผมบอก สิ่งเหล่านี้เป็นทักษะ และเมื่อขึ่นชื่อว่าทักษะแล้ว จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง การหาผู้ฟังที่เชื่อถือได้ก็เป็นสิ่งที่ดีและควรมีไว้ ถ้าเป็นผู้ฟังที่หลากหลายจะเป็นสิ่งที่ดีมาก หวังว่าคุณจะมีความมั่นใจในการพูดมากขึ้นครับ
บทความล่าสุด
การจัดโต๊ะคอมให้สวยถูกใจ พร้อมฟังก์ชันการใช้งานครบครัน...
ในมุมมองหนึ่ง ‘ลูกคนกลาง’ ดูเหมือนจะต้องแบกรับภาระทางใจอันหนักอึ้ง...