15 วิธีดัดนิสัยคนชอบเอาชนะ ในทุกสถานการณ์

15 วิธีดัดนิสัยคนชอบเอาชนะ ในทุกสถานการณ์

ในชีวิตนี้เราก็น่าจะต้องเคยเจอคนประเภทที่ชอบเอาชนะ ชอบเอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ มาบ้าง หรืออาจจะต้องเจออยู่ทุกวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งคนคนนั้นอาจจะเป็นเพื่อนของคุณ เพื่อนร่วมงานของคุณ คนรักของคุณ หรือแม้กระทั่งเป็นคนในครอบครัวของคุณเองก็ได้

การที่ชอบเอาชนะ หรือทำตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาลของคนประเภทนี้ ก็มักจะทำให้เรารู้สึกรำคาญ หรืออารมณ์เสียอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็แล้วแต่ คนประเภทนี้ก็จะชอบแข่งขันและพยายามเสนอตัว บรรยายถึงสรรพคุณของตัวเอง โดยหวังว่าอยากจะให้เป็นที่สนใจของคนอื่น และต้องการการยอมรับจากคนที่ตัวเองคุยข่ม หรือต้องการเอาชนะ เพื่อตอกย้ำปมด้อยในใจว่า ตัวเองชนะแล้ว ตัวเองถูกต้องที่สุด ตัวเองเก่งกว่า ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองอยู่เหนือกว่าคนอื่น

ต้นตอของนิสัยชอบเอาชนะ

นิสัยชอบเอาชนะเป็นนิสัยที่คนเราเก็บสะสมตั้งแต่เด็กยันโต

ตัวอย่างเช่น การอวดคะแนนสอบของตัวเองกับเพื่อนในห้องอย่างออกนอกหน้าเกินไป แม้ว่าตัวเองจะมีเกรดที่เท่ากัน แต่ดันเปิดประเด็นเจาะลึกถึงจำนวนคะแนนที่แม้ว่าตัวเองอาจจะมีมากกว่าอยู่ไม่กี่คะแนน เพราะเขายอมรับไม่ได้ที่ตัวเองต้องอยู่ในระดับเดียวกับคนอื่นๆ จึงพยายามหาข้อเปรียบเทียบ เพื่อให้ตัวเองดูเหนือกว่า ทั้งๆ ที่คนอื่นก็ไม่ได้ต้องการจะแข่งขันกันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

หรือแม้แต่การแสดงความคิดเห็นในบางเรื่อง ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละคนก็ล้วนมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไป แต่คนประเภทนี้จะไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากของตัวเอง และเชื่อมั่นอย่างสุดใจว่าสิ่งที่ตัวเองคิดคือ ดีที่สุด ถูกต้องที่สุดแล้ว ใครไม่เห็นด้วย ก็จะพยายามโต้แย้งจนกว่าอีกฝ่ายจะยอม หรืออาจจะบานปลายไปถึงขั้นทะเลาะวิวาทกันได้ในกรณีที่ฝ่ายตรงข้ามไม่รู้วิธีรับมือ หรือเป็นคนประเภทชอบเอาชนะเหมือนกัน

ถ้าเราตอบโต้กลับไปตรงๆ ด้วยความใจร้อน ก็อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ แต่ถ้าจะให้อยู่เฉยโดยไม่ทำอะไรเลยก็อาจจะรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวันและเสียสุขภาพจิตได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น หากเรารู้วิธีการรับมือที่ดี ก็จะทำให้สามารถรับมือกับคนประเภทนี้ได้ เมื่อต้องเผชิญหน้ากัน แถมยังเป็นการดัดนิสัยคนประเภทนี้ไปในตัวด้วย ให้รู้กันไปเลยว่า ถ้ายังทำตัวแบบนี้จะเป็นอย่างไร ดังนั้น ในครั้งนี้อยากให้ลองมาดู 15 วิธีที่นำมาฝากครับ

15 วิธีดัดนิสัยคนชอบเอาชนะ

#1 ลองมองโลกในแง่ดีก่อน ให้คิดว่าคนที่ชอบเอาชนะอาจจะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นแบบนั้นก็ได้

คนที่ชอบเอาชนะคนอื่นๆ ในทุกเรื่อง บางทีเขาก็อาจจะไม่ได้ตั้งใจทำให้คนอื่นๆ ไม่พอใจก็ได้ แต่เพียงแค่ตัวเขายังไม่รู้ตัวเองว่า ได้แสดงพฤติกรรมที่ไม่ค่อยดีนักไปโดยไม่รู้ตัว

ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้ก็ดันทำให้คนรอบข้างรู้สึกไม่ดี และก็อาจจะสงสัยว่าทำไมหลายๆ คนถึงมักจะหลบหน้าเขา หรือพยายามเลี่ยงที่จะคุยกับเขา ทั้งๆ ที่ตัวเองเชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองทำ หรือพูดออกไปนั้นมันดี และตัวเองก็ทำถูกต้องแล้ว แต่คนอื่นๆ กลับไม่คิดแบบนั้น

เพราะฉะนั้น หากเราต้องเผชิญหน้ากับเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็ให้เราลองแสดงความเข้าอกเข้าใจแทนการไปตัดสินเขาทันที ไม่แน่ว่าคุณอาจจะเป็นคนที่ทำให้เขาเริ่มรู้ตัวและเข้าใจถึงสถานการณ์ของตัวเองมากขึ้นก็ได้

#2 ลองพยายามทำความรู้จักเขาให้มากกว่านี้ก่อน

อาจจะเป็นเรื่องยากเกินไปที่ต้องลองไปพยายามทำความรู้จักกับคนประเภทนี้ให้มากขึ้นกว่าเดิม ทั้งๆ ที่เรามีความรู้สึกที่ไม่ชอบเขาไปแล้ว แต่ถ้าหากให้ลองมองเขาในฐานะที่เขาก็เป็นคนๆ หนึ่งที่มีชีวิตทั่วไปเหมือนๆ กับเราดูบ้าง มันก็จะทำให้เราสามารถที่จะแสดงความเห็นอกเห็นใจขึ้นมาได้บ้าง และสามารถทำให้เรามองข้ามบางเรื่องที่มักจะทำให้เรารู้สึกไม่ดีไปได้ในบางสถานการณ์

#3 อย่าเพิ่งรีบไปตัดสิน/คัดค้านในสิ่งที่เขาพูด หรือกระทำออกมา

แน่นอนว่าคนประเภทนี้ พวกเขาจะมีความคิดว่าสิ่งที่ตัวเองพูดออกมานั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว และมักจะคิดว่าดีเสมอ ซึ่งเมื่อมีคนว่าทักท้วง คัดค้าน หรือแม้แต่ตั้งข้อสงสัย ก็จะทำให้เกินความรู้สึกโกรธและไม่พอใจ เนื่องจากถูกมองว่าความคิดของเขานั่นไม่ถูกต้อง หรือไม่ดีพอ และพวกเขาก็จะพยายามตอบโต้ด้วยความอยากเอาชนะที่รุนแรงกว่าเดิมจมกว่าคนที่ไม่เห็นด้วยจะยอมจำนน และยอมรับคำพูดของเขาในที่สุด

เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาที่จะบานปลายไปกันใหญ่ เราจึงต้องพยามทำความเข้าใจวิธีคิดของคนประเภทนี้ และอย่าให้เขาควบคุมเราได้ ด้วยการแสดงออกที่ทำให้เรารู้สึกไม่พอใจ ดังนั้น เราอย่าเพิ่งรีบไปคัดค้านในสิ่งที่เราไม่เห็นด้วยกับเขาทันที เพื่อป้องกันการตอบโต้ที่รุนแรงจากฝ่ายตรงข้าม

#4 แกล้งทำเป็นเห็นด้วยกับเขา หรือทำเป็นให้ความสนใจไปก่อนในช่วงแรก

การที่คนประเภทพยายามเสนอตัว ทำโน่นทำนี่ หรือแสดงความคิดเห็นต่าง ก็เพราะมีความต้องการที่อยากจะเป็นที่ยอมรับในสังคม ทำให้รู้สึกว่าตัวเองนั้นเป็นคนเก่งกว่าคนอื่นๆ และความคิดแบบนี้ก็ได้กลายเป็นความเชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองทำนี่แหละต้องดีที่สุดแล้ว

ดังนั้น นอกจากจะไม่ไปคัดค้านเขาโดยตรงตั้งแต่แล้ว ให้เราแกล้งทำเป็นเห็นด้วย หรือให้ความสนใจไปก่อนในช่วงแรก เพื่อป้องกันการเกิดปัญหา และหาโอกาสพลิกสถานการณ์ให้เราเป็นฝ่ายคุมเกมต่อไป

#5 พยายามหาจุดอ่อนของความคิดของเขา เพื่อยิงคำถามด้วยข้อจำกัดต่างๆ

หากเราสามารถที่จะไม่ไปคัดค้านและเออออห่อหมกตามเขาไปแล้วในช่วงแรก หลังจากนี้ก็ถึงเวลาที่เราต้องลงมือทำอะไรบ้างแล้ว

เนื่องจากว่าเราได้แกล้งทำเป็นเห็นด้วยกับความคิดของเขาแต่แรก ทำให้เขารู้สึกว่าเราไม่ได้กำลังต่อต้านความคิดของเขาอยู่ จึงสามารถเปิดโอกาสให้เรายิงคำถามที่แสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนของความคิดของเขาด้วยข้อจำกัดต่างๆ ที่เราหาได้จากการเห็นด้วยกับเขาในช่วงแรก

จุดสำคัญก็คือการควบคุมตัวเองไม่ให้ไปตัดสินความคิดของเขา แล้วให้เขาเป็นคนตัดสินใจด้วยตัวเอง ว่าถ้ามีข้อจำกัดแบบนี้ เขายังจะสามารถยอมรับได้เหมือนเดิมอยู่หรือไม่ และเมื่อข้อจำกัดนั้นมันมากพอ ก็จะทำให้เขายอมแพ้ไปเองในที่สุด โดยที่เราก็ไม่ไปมีปัญหากับเขา

#6 เวลาคุยงาน หรือตัดสินใจอะไร ให้ทำกันเป็นกลุ่มไว้ก่อน

เนื่องจากว่าคนประเภทนี้มักจะมีนิสัยที่อยากได้หน้าอยู่ในตัวอยู่แล้ว และคนประเภทนี้ไม่ว่าเราเสนออะไรไป เขาก็จะมีสิ่งที่ตัดสินใจอยู่ในใจไว้ก่อนแล้ว สุดท้ายก็อาจจะต้องมาจบที่ไอเดียของเขาอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้างานของคุณก็ตาม

ดังนั้น เวลาที่เราต้องการจะนำเสนอไอเดียของตัวเอง เป็นไปได้ให้พยายามนำเสนอในที่ประชุม หรือควรนำเสนอตอนอยู่กันเป็นกลุ่มดีกว่า และหลีกเลี่ยงการคุย หรือนำเสนอไอเดียกันแบบตัวต่อตัว เพื่อป้องกันการที่เขาจะคอยชักจูงความคิดเรา เพื่อให้ลงเอยกับไอเดียของเขา หรือการเอาไอเดียของเราไปแอบอ้างว่าเป็นของเขาเองได้

#7 ไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมวงสนทนา หรือถกประเด็นกันทุกครั้งที่ถูกชวน

เป็นการตัดปัญหาตั้งแต่แรก โดยหลีกเลี่ยงการร่วมวงสนทนาถกประเด็นต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรา หรือเราไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในการถกประเด็นในครั้งนั้นๆ ไม่ว่าจะมีคนชวนหรือไม่ก็ตาม

เพราะส่วนใหญ่แล้วในวงสนทนาที่มีการถกประเด็นต่างๆ นั้น ก็มักจะมีคนประเภทที่มีนิสัยชอบเอาชนะคนอื่น โดยเอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ปะปนอยู่ด้วยเสมอ และพวกเขาเหล่านั้นก็มักจะยึดมั่นในความคิดของตัวเองที่คิดว่าถูกต้องที่สุดแล้ว โดยไม่แม้แต่จะรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นๆ ดังนั้นหากสามารถปล่อยผ่านไปได้ ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร ในเมื่อคุณก็ไม่ได้เสียอะไรอยู่แล้ว และไม่มีความจำเป็นต้องรับปัญหาเข้ามาเพิ่ม

#8 ใช้ความเห็นอกเห็นใจเข้าช่วย ด้วยความใจเย็น

หากคนประเภทนี้เป็นคนใกล้ตัวของคุณ อย่างเพื่อนสนิท คนรัก หรือแม้แต่ คนในครอบครัวเราเองก็ตาม ให้เราพยายามเข้าหาเขา ด้วยความเห็นอกเห็นใจที่อยากจะช่วยเหลือจากใจจริง และอย่าพยายามตอบโต้ด้วยวิธีการที่เหมือนจะไปสั่งสอนเขา หรือพยายามจะชี้นำเขา

เพราะถ้าคนประเภทนี้เป็นคนใกล้ตัวคุณอยู่แล้ว เมื่อเราแสดงการตอบโต้ในลักษณะที่ทำให้เขารู้สึกว่าเรากำลังต่อต้าน เขาก็จะโต้ตอบกลับมาอย่างไม่ลังเลเลย ดังนั้นให้พยายามใจเย็นๆ ไว้ก่อน แล้วค่อยๆ คุยกับเขาดีๆ ถ้าความรู้สึกเห็นอกเห็นใจที่เราอยากจะช่วยมันมากพอ มันก็จะส่งไปถึงเขาเองในที่สุด

#9 บอกให้อีกฝ่ายรู้ถึงความไม่สบายใจ แล้วเบี่ยงเบนประเด็น

ถ้าหากว่าคนที่ชอบอยากจะเอาชนะคนอื่น เข้ายืนกรานจะพูดหรือทำอะไรก็ตามที่ทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ ให้เราพยายามพูดอย่างหนักแน่นเพื่อสื่อให้เขารู้ว่า เราไม่ชอบเรื่องพวกนี้เลย ถ้าเป็นไปได้อยากจะให้เลี่ยงเรื่องพวกนี้ไปจะขอบคุณมาก ทั้งนี้ต้องสุภาพและไม่มีการใส่อารมณ์ แล้วหลังจากนั้นให้เราลองเบี่ยงเบนประเด็นหาเรื่องอื่นให้เขาสนใจแทน เช่น การถามเรื่องงานอดิเรกของเขา เป็นต้น

#10 ทำความเข้าใจว่าเหตุผลไม่สามารถใช้กับคนประเภทนี้ได้ แล้วรีบจบการสนทนา

เนื่องจากว่าคนประเภทนี้มักมีความเชื่อที่ว่า สิ่งที่ตัวเองคิด หรือทำนั้น มันถูกต้องที่สุดแล้ว และหลายครั้งการที่เราพยายามหาเหตุผลเพื่อมาคุยด้วยดีๆ ก็มักไม่ได้ช่วยทำให้สถานการณ์นั้นดีขึ้นเลย แถมอาจจะทำให้เขาคิดว่าเราพยายามเอาชนะเขาอีก

เพราะฉะนั้น ทางที่ดีเราก็ควรรีบจบบทสนทนานั้นเลยดีกว่า อย่างน้อยก็เพื่อที่จะไม่ต้องเสียเวลาและสิ้นเปลืองพลังงานอย่างเปล่าประโยชน์ไปกับคนประเภทนี้ และยังสื่อให้เขารู้ด้วยว่า เราไม่ค่อยเห็นด้วยกับความคิดของเขาสักเท่าไหร่ เพราะยังไงเราก็ยังมีความเชื่อมั่นในความคิดของเราอยู่ด้วย

#11 สร้างรูปแบบการสนทนาที่เราเป็นฝ่ายจำกัดประเด็น…ในมุมมองของเราเอง

หมายถึงกรอบสนทนาที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถรับฟังความคิดเห็นอีกฝ่ายได้ โดยที่ไม่ต้องตัดสินกันไปก่อน (ที่จะจบบทสนทนา)

ก่อนที่จะเริ่มพูดคุยกับ เราสามารถเกริ่นไปก่อนได้เลยว่า อยากให้บทสนทนานี้มีความเป็นกลาง และให้ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ โดยที่ไม่มีใครตัดสิน หรืออย่างน้อยก็อยากให้ทุกคนได้พูดในสิ่งที่ตัวเองพูดให้จบก่อน โดยที่ไม่ถูกพูดขัดภายหลัง

ก่อนเกริ่นแบบนี้จะเป็นการดักคอไม่ให้อีกฝ่ายโต้เถียงเราได้ดี แน่นอนว่าเราไม่ควรใช้คำว่า คุณ หรือ ชื่ออีกฝ่ายในช่วงการเกริ่นเพราะจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเรากำลังติหรือให้คำแนะนำอีกฝ่าย ให้ใช้คำว่า ‘ทุกคน’ แทน เช่น อยากให้ทุกคนสามารถรับฟังคำพูดให้จบก่อน

#12 ให้มองว่าจริงๆ แล้วเขาเป็นคนที่น่าสงสารมาก

คนประเภทนี้จริงๆ แล้ว ข้างในลึกๆ เขากำลังต้องความช่วยเหลืออยู่ อยากเป็นที่ยอมรับ อยากมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ แต่พวกเขาแค่แสดงออกไม่เป็น ใจจริงแล้วอาจจะอยากทำตัวให้ดีกว่านี้ แต่ลองพยายามแล้ว ก็ไม่สามารถทำได้จริงๆ เพราะเกิดมาเขาไม่เคยทำนั่นเอง

ซึ่งมีคนแบบนี้อยู่ในสังคมอยู่ไม่น้อย อาจจะเป็นเพราะเติบโตมาในท่ามกลางครอบครัว หรือสภาวะแวดล้อมที่ไม่ดี ได้รับการสอนแบบผิดๆ ส่งผลทำให้กลายเป็นนิสัยติดตัวที่แก้ได้ยาก เมื่อไม่รู้วิธีการแสดงออกที่เหมาะสม จึงทำให้พวกเขาเลือกที่จะแสดงออกในรูปแบบที่ตัวเองเคยประสบพบเจอมา และเข้าใจผิดว่ามันเป็นสิ่งที่สามารถทำได้

#13 ยิ้มสู้ด้วยพลังงานด้านบวก

เมื่อกำลังถูกคนประเภทนี้เปรียบเทียบ หรือดูถูกทั้งคำพูด ความคิด หรือการกระทำก็แล้วแต่ การที่เราตอบโต้กลับไปด้วยวิธีที่รุนแรงแบบเดียวกัน ก็เหมือนกับสาดน้ำมันลงบนกองไฟ ทำให้ปัญหายิ่งบานปลายไปกันใหญ่ และทำให้เกิดพลังงานด้านลบเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

กลับกันถ้าหากเรามีสติไม่ไปตอบโต้ด้วยวิธีรุนแรงแบบนั้น ไม่ไปใส่ใจให้ค่ากับมัน แล้วยิ้มสู้ด้วยพลังงานด้านบวก เมื่อเขารู้ตัวว่าต่อให้พยายามควบคุมเรา หรือเอาชนะเราไป ก็ไม่ทำให้เรารู้สึกแพ้ หรือด้อยกว่า แถมยังยิ้มได้อีก เขาก็อาจจะเลิกทำไปเองในที่สุด และก็อาจจะได้รับพลังงานด้านบวกจากเราไปด้วยก็ได้

#14 แพ้อย่างฉลาด

เป็นวิธีที่แสดงให้คนที่ชอบเอาชนะเห็นเลยว่า การแพ้ มันสำคัญแค่ไหน ถ้าการแพ้ของเรามันทำให้คนอื่นๆ หรือส่วนรวมสามารถชนะได้บ้าง นั่นก็เป็นเรื่องที่ดี

ในบางครั้งเราก็ต้องยอมแพ้เพื่อรักษามิตรภาพ รักษาความสำพันธ์ไว้  การที่ยึดมั่นในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าดีอยู่คนเดียว สุดท้ายคนๆ นั้นก็จะได้อยู่คนเดียว จะดีตรงไหนถ้าชนะแล้วต้องเสียเพื่อน เสียคนรัก หรือเสียงานไป การยอมแพ้บ้างก็ไม่ได้เสียหายอะไรขนาดนั้น แถมยังช่วยให้เรามีภูมิคุ้มกันกับความผิดหวังในระดับหนึ่งด้วย เพราะถ้าไม่เคยแพ้เลย และวันหนึ่งต้องแพ้ขึ้นมาจริงๆ ก็อาจจะยากที่จะรับไหว

#15 ต้องรู้จักพูดให้เป็น

เมื่อคนประเภทนี้เขาพยายามที่จะให้คำแนะนำ หรือบอกกับเราว่า ให้ทำแบบนั้นแบบนี้ดีกว่า เราก็แค่ตอบเขากลับไปอย่างให้เกียรติว่า ขอบคุณสำหรับคำแนะนำ หรือ ขอบคุณที่ช่วยเหลือ ซึ่งเกิดว่าเป็นสิ่งที่ดีจริงๆ เราก็จะอยากทำตามคำแนะนำเองอยู่แล้ว แต่ถ้ามันขัดกับความรู้สึกของเรา ก็แค่ลืมๆ มันไป และเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าดีก็แค่นั้น สำคัญคือเราต้องรู้จักการพูดกับคนประเภทนี้ให้เป็น และต้องอย่าลืมที่จะให้เกียรติเขาด้วย

ทั้งนี้คนที่มีนิสัยชอบเอาชนะก็จะมักชอบเอาตัวเองเป็นใหญ่ และมีความหลงตัวเองอยู่พอสมควร ซึ่งเขาจะไม่ยอมให้ตัวเองเสียหน้าอย่างเด็ดขาด หากใครที่ต้องเผชิญหน้ากับคนประเภทนี้อยู่บ่อยครั้ง แล้วไม่รู้วิธีจัดการ หรือรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ให้ลองนำ 15 วิธีนี้ไปปรับใช้ดูครับ รับรองว่าจะทำให้คุณสามารถที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่งเลย โดยไม่จำเป็นต้องตกเป็นฝ่ายที่โดนกระทำอยู่ฝ่ายเดียวอีกต่อไป

บทความล่าสุด