ผมว่าทุกปัญหาในการเข้าสังคมของคนก็คือการที่เราไม่เข้าใจกันนั่นแหละครับ
ซึ่งการไม่เข้าใจกันก็เกิดมาจากการที่คนคิดไม่เหมือนกัน หรือการที่คนคิดต่างนั่นเอง
แต่ทำไมคนเราถึงคิดไม่เหมือนกันนะ?
และอะไรที่ทำให้คนคิดต่างจากคนอื่น?
ในวันนี้เรามาดูกันว่าทำไมคนเราคิดไม่เหมือนกัน และข้อดีของการคิดต่างคืออะไร มันต่างอะไรกับการคิดขวางโลกหรือเปล่า
และเราจะอยู่ร่วมกับคนอื่นที่คิดต่างได้ยังไง
ทำไมคนเราถึงคิดไม่เหมือนกัน
การคิดไม่เหมือนกัน หรือการคิดต่างเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ เพราะตามหลักจิตวิทยาแล้วความแตกต่างมาจากทั้งการฟูกฟักจากสิ่งรอบข้าง และนิสัยที่ติดมาตั้งแต่เกิด ซึ่งความคิดที่แตกต่างคือปัจจัยที่ทำให้สังคมมีสีสันและก้าวหน้าไปได้ สิ่งที่สำคัญก็คือเราจะสามารถอยู่กับคนที่คิดต่างและเคารพความคิดที่ไม่เหมือนกับเราได้อย่างไร
ผมคิดว่าการคิดไม่เหมือนกันเป็นเรื่องปกติ
นักจิตวิทยาวิจัยว่าสิ่งที่มีผลกระทบต่อความคิดและการกระทำของมนุษย์มีอยู่ 2 อย่าง นั่นก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และสิ่งที่เกิดขึ้นตามการเลี้ยงดู (nature และ nuture)
สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ถ้าพูดตามภาษาคนทั่วไปก็คือการที่เราเกิดมาก็เป็นอย่างนี้แล้ว (born this way) หรือถ้าจะพูดตามหลักวิทยาศาสตร์ก็อาจจะอธิบายได้ว่าสมองคนเราสร้างฮอร์โมนแห่งความสุข (endorphins, dopamine and serotonin) ได้จากเหตุการณ์แต่ละอย่างไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างเช่นขนาดคนในครอบครัวเดียวกันหือแม้แต่ฝาแฝดบางคู่ยังคิดไม่เหมือนกันเลย
นักจิตวิทยายังค้นพบได้อีกว่า ‘ความคิด’ บางอย่างเช่นอาการซึมเศร้า (depression) หรือหวาดระแวง (anxiety) เป็นสิ่งที่สืบทอดกันได้ผ่านยีนด้วย
ส่วนความแตกต่างที่เกิดขึ้นตามการเลี้ยงดู ก็คือสิ่งที่เราถูกปลูกฝังมาอาจจะจากพ่อแม่ จากเพื่อน จากสังคม หรือจากสื่อต่างๆที่เราเสพตั้งแต่เด็กจนโต บางทีคุณกับเพื่อนสนิทในกลุ่มของคุณก็คิดอะไรเหมือนๆกัน หรือสามารถคิดแทนกันได้ด้วยซ้ำใช่ไหมครับ นั่นก็คือการที่คุณถูกฟูมฟักมาในสังคมหรือกลุ่มเพื่อนที่เหมือนกัน
ความคิดที่ถูกปลูกฝังมาจากรุ่นสู่รุ่น และทุกคนในสังคมคิดว่าเป็นเรื่องปกติก็ถูกเรียกว่าวัฒนธรรมนั่นเอง
แน่นอนว่า มนุษย์ทั่วโลกมี 7000 ล้านคน เอาแค่ในประเทศไทยก็มี 70 ล้านคนแล้ว จะให้ทุกคนเกิดมาเหมือนกันก็ยาก และถ้าจะให้ทุกคนถูกปลูกฝังมาด้วยความคิดหรือความคาดหวังเดียวกันก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่
เพราะฉะนั้นความแตกต่างพวกนี้ถึงทำให้คน คิดไม่เหมือนกัน
ข้อดีของการคิดต่าง
โดยรวมแล้วการคิดต่างเป็นเรื่องที่ดีนะครับ
เพราะความคิดและความชอบที่ไม่เหมือนกัน เป็นจุดเริ่มต้นของการเริ่มลองทำอะไรใหม่ๆ
ผมขอยกตัวอย่างสังคมเป็นสนามฟุตบอลละกัน สังคมที่ทุกคนคิดเหมือนกันหมดก็จะมีแต่คนอยากเล่นเป็นกองหน้า ทำให้ไม่มีใครอยากเล่นเป็นกองหลัง กองกลาง หรือตำแหน่งผู้รักษาประตู สังคมอย่างนี้คงไม่สามารถเล่นฟุตบอลกันได้
ในเชิงเศรษฐกิจก็คงเช่นกัน ถ้าไม่มีใครอยากเป็นชาวนา อยากเป็นหมอ หรืออยากเป็นตำรวจ เราก็คงไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้เป็นสังคมที่มีประสิทธิภาพ เพราะเราจะขาดตำแหน่งสำคัญไป
หรือถ้าจะมองให้เล็กหน่อยเป็นการคิดต่างในครอบครัวหรือระหว่างคนสองคน ในความเป็นจริงแล้วอาจจะมีการไม่เข้าใจกันอยู่บ้าง แต่เราสามารถนำความต่างนี้มาช่วยในการดูแลกันและกันในส่วนที่อีกฝ่ายไม่ถนัด
ซึ่งจุดสำคัญของการอยู่กับคนคิดต่าง ก็คือเราต้องเคารพความคิดของอีกฝ่ายนึหนึ่งด้วย
คิดต่างกับขวางโลก
การคิดต่างกับการคิดขวางโลกต่างกันยังไง?
การคิดต่าง เป็นความคิดที่ไม่ได้ทำให้คนรอบข้างรู้สึกแย่ นี่รู้สึกไม่ดี
ในทางตรงข้าม การคิดขวางโลก ก็คือการคิด(และการกระทำ)ที่นอกจากจะต่างจากคนอื่นคิดแล้วยังทำให้คนอื่นรู้สึกไม่ดี ไม่สบายใจ หรือบางทีก็จะทำให้ระบบสังคมที่มีอยู่ถูกกระทบในแง่ไม่ดี
หลายๆครั้งการคิดต่างกับการคิดขวางโลก ไม่ได้เป็นปัญหาที่ตรงส่วนความคิดครับ แต่ปัญหาจะอยู่ที่วิธีการพูดกับการกระทำมากกว่า
เราอาจจะคิดไม่เหมือนคนอื่นเขา อาจจะมองเห็นวิธีการแก้ปัญหาที่น่าจะดีกว่าก็ได้ แต่คนคิดต่างที่ดีคือคนที่เข้าใจว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้ในระยะสั้น และเรียนรู้ที่จะก้าวผ่านจุดที่ไม่เหมือนกันได้โดยที่ยังรักษาน้ำใจของคนอื่นไว้อยู่
จะพูดว่าคิดต่างหรือคิดขวางโลก มันก็เป็นมุมมองของคนหนึ่งคนหรือคนหนึ่งกลุ่มกับสังคมอีกกลุ่มหนึ่ง หรือจะว่าไปแล้วมันคือการที่การแปลความหมายของคนหนึ่งกลุ่ม ไม่ตรงกับความหมายของคนกลุ่มอื่น เราต้องมีผู้ที่ต่างและผู้ที่ถูกเปรียบเทียบว่าต่าง
แต่คนทั้งสองกลุ่มนี้จะอยู่ด้วยกันได้ยังไง มีวิธีไหนบ้างที่จะทำให้อยู่กับคนที่คิดต่างได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคนที่คิดต่างเป็นคนที่สำคัญของเราและเป็นคนที่เราอยากจะอยู่ด้วยทั้งๆที่ความคิดไม่ตรงกัน เรามาลองดูวิธีแก้ปัญหาเวลาความคิดไม่ตรงกันกันครับ
วิธีแก้ปัญหาความคิดเห็นไม่ตรงกัน
ขั้นตอนในการแก้ปัญหาเวลาความคิดเห็นไม่ตรงกันก็คือ
- หาขอบเขตก่อน – เราควรเคารพทุกคน ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงที่โมโหหรือความคิดไม่ตรงกันก็ตาม ถ้าเกิดมีการต่อว่า ตระโกน หรือการด่ากัน เราควรบอกให้อีกฝ่ายหยุดโดยด่วน และถ้าหากอีกฝ่ายไม่ยอมหยุด เราก็ควรเดินออกมาก่อนและบอกอีกฝ่ายว่าตอนนี้ไม่อยากทะเลาะด้วย
- หาปัญหาที่แท้จริง – เวลาที่เกิดการทะเลาะเพราะความคิดเห็นไม่ตรงกัน ส่วนมากจะเป็นเพราะว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถทำตามหรือให้ในสิ่งที่อีกฝ่ายอยากได้ บางครั้งคนที่โมโหก็เป็นเพราะว่าเค้าอยากได้รับการสนใจ รู้สึกอึดอัดไม่ปลอดภัย หรืออยากได้กำลังใจ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าเราช่วยทำความสะอาดหรือเปล่า เพราะปัญหาที่แท้จริงคืออีกฝ่ายรู้สึกว่าตัวเองทำงานเยอะอยู่คนเดียวเป็นต้น
- เข้าใจว่าด้องมีการทะเลาะกันบ้าง – บางครั้งวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการไม่พูดถึงมัน เพราะเราก็ไม่สามารถเปลี่ยนความคิดคนได้ทุกอย่าง เราควรโฟกัสกับสิ่งที่สำคัญแทนที่จะยึดติดกับสิ่งที่เราอาจจะลืมในอีกหนึ่งถึงสองปีก็ได้ ถ้าทั้งสองฝ่ายไม่สามารถรับความคิดหรือการทะเลาะกันได้ บางทีทั้งสองฝ่ายอาจจะไม่เข้ากันตั้งแต่แรกแล้ว
- ประนีประนอม – ประนีประนอมเป็นสิ่งที่พูดง่ายแต่ทำยากมาก แน่นอนว่าถ้าทำได้มันก็จะดีมากเช่นกัน หากอีกฝ่ายอยากกินอาหารจีนแต่เราอยากกินอาหารไทย เราก็ควรคิดว่าอาหารที่เราอยากกินมันสำคัญถึงขนาดต้องมาทะเลาะกันหรือเปล่า และมันจะมีจุดกลางอะไรที่ทั้่งสองฝ่ายจะสามารถอยู่ร่วมกันได้ไหม
- มองให้กว้าง – ปัญหาหรือความแตกต่างนี้มันสำคัญมากแค่ไหน เราต้องเปลี่ยน ‘ความเชื่อ’ หรือ ‘มุมมองต่อคุณธรรม’ ของเราเลยหรือเปล่า ถ้ามันสำคัญต่อเราจริงๆเราก็ควรจะแสดงจุดยืนของเราออกมา แต่ถ้ามันไม่สำคัญผมว่าเราก็น่าจะคุยและปรบตัวกันได้ หากเรามองให้กว้างเข้าไว้ ปัญหาอาจจะไม่ใช่เรื่องความคิดเห็นเล็กๆ แต่อาจจะมาจากอย่างอื่นที่ทำให้อีกฝ่ายไม่พอใจแทน
เรื่อง ‘การคิดต่าง’ เป็นปัญหาระหว่างคนสองคนหรือคนสองกลุ่ม และไม่ใช่ปัญหาที่เราจะแก้ได้ด้วยคนเดียว การที่บอกให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมรับอยู่เพียงข้างเดียวไม่ใช่คำตอบที่ดีในระยะยาวเลย
ผมมองว่ามันง่ายที่จะบอกว่า ความคิดไม่ตรงกัน ก็เลยไม่อยากคุยต่อ แต่สิ่งที่สำคัญคือความกล้าจะยอมรับความคิดอีกฝ่าย ทั้งๆที่ความคิดนั้นอาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่เราเชื่อ
แน่นอนว่าคงไม่มีอะไรสบายไปกว่าการอยู่กับคนที่ความคิดตรงกับเราทุกอย่าง แต่ในโลกนี้จะมีซักกี่คนกัน ขนาดพ่อแม่หรือฝาแฝดของเรายังอาจจะคิดไม่เหมือนเราเลย
บทความล่าสุด
การจัดโต๊ะคอมให้สวยถูกใจ พร้อมฟังก์ชันการใช้งานครบครัน...
ในมุมมองหนึ่ง ‘ลูกคนกลาง’ ดูเหมือนจะต้องแบกรับภาระทางใจอันหนักอึ้ง...