หลายคนบอกว่าการจากลาเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งเมื่อความเป็นจริงมาถึง การสูญเสียใครสักคนโดยเฉพาะคนที่รักมักเป็นเรื่องที่ยากเสมอ แน่นอนว่ามีคนที่กลัวการจากลาอย่างมากด้วยประสบการณ์ส่วนตัวที่ผ่านมาหรือความกังวลที่เกิดจากสถานการณ์ก็ตาม โดยวันนี้เราจะพาทุกท่านมาเรียนรู้เคล็ดลับการขจัดความกลัวในใจที่จะสูญเสียหรือจากลาคนรักหรือพ่อแม่ตามแบบฉบับงานวิจัย หากพร้อมแล้วมาเริ่มต้นกันเลย
ขุดต้นตออาการกลัวการจากลาเกิดจากอะไรกันแน่?
สำหรับการกลัวการจากลาในแต่ละคนอาจจะไม่เท่ากัน ซึ่งเป็นปฏิกิริยาทางจิตใจที่ตอบสนองต่อการสูญเสียไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ คนรักหรือความสัมพันธ์ จนเกิดผลกระทบต่อสุขภาพจิต โดยมักจะเริ่มจากความกลัว ความหมดหวังและท้ายที่สุดอาจจบลงที่ซึมเศร้า โดยระดับความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับประสบการณ์หรือสิ่งที่เผชิญ อาการกลัวการจากลา ภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘Separation anxiety’ ยกตัวอย่างสาเหตุ ดังนี้
- เหตุการณ์ในอดีตที่ยังฝังใจ
ในวัยเด็กหรือช่วงเวลาที่ผ่านมาหลายคนอาจเคยเผชิญกับการสูญเสียคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดจนเป๋ไป เกิดความคิดด้านลบภายในหัวกังวลว่าคนที่รักจะจากไป หรือแม้กระทั่งเก็บไปฝันซ้ำ ๆ บางคนไม่กล้าออกจากบ้านไปไหนเลย อาจเกิดอาการเจ็บป่วยแบบหาสาเหตุไม่ได้ เช่น ปวดท้อง ปวดหัว โดยจะเกิดขึ้นเมื่อจินตนาการไปล่วงหน้าว่าพ่อแม่จะจากไป
- สถานการณ์ปัจจุบัน
มาต่อกันที่อีกหนึ่งสาเหตุของการกลัวพ่อแม่จากไปหรือคนใกล้ชนิดที่จะแยกจากไปนั่นก็คือสถานการณ์ปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น คนที่รักเข้าโรงพยาบาลอาการโคม่า หลายคนอาจตกอยู่ในสภาวะ Separation Anxiety หรือรุนแรงไปจนถึงขั้น Separation Anxiety Disorder เพราะกลัวจะสูญเสียจนทำให้สภาพจิตใจรวมถึงร่างกายย่ำแย่
นอกจากนี้ยังมีอีกหลากหลายสาเหตุ เช่น การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตอย่างการย้ายบ้านไปอยู่แดนไกล การเติบโตมาในครอบครัวที่เลี้ยงดูอย่างเข้มงวด เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าในวัยเด็กหรือวัยผู้ใหญ่ เป็นต้น
5 วิธีรับมือกับอาการกลัวการจากลา ที่ทำตามได้ไม่ยาก
สำหรับวิธีจัดการกับอาการกลัวการจากลานั้นแต่ละคนใช้เวลาไม่เท่ากัน ซึ่งไม่ควรปล่อยเรื้อรังให้ยาวนานเกินกว่า 6 เดือน ต้องขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน สำหรับใครที่กำลังเผชิญอาการดังกล่าวไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด เรามีแนวทางในการรับมือ 5 วิธีมาช่วยปลอบประโลมหัวใจของคุณ จะเป็นอย่างไรมาดูพร้อมกันเลย
1. เปลี่ยนโฟกัสมาให้ความรักกับตัวเองและครอบครัว
การจมอยู่ในโลกสีเทา รู้สึกทุกข์ทรมานไม่สามารถช่วยให้อะไรดีขึ้นได้เลย อย่าลืมว่ามีคนอยู่ข้างหลังเราอีกมาก มีคนร่วมทุกข์ร่วมสุข ผ่านเรื่องราวหรือเผชิญสิ่งเดียวกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องหรือคนในครอบครัวก็ตาม หากคุณช่วยกันส่งพลังบวกสร้างกำลังใจ ความเข้มแข็งให้กันจะช่วยให้ผ่านความกังวลเหล่านี้ไปได้
2. มองให้เห็นกำลังใจจากคนรอบข้าง
ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือคนใกล้ชิดต่างก็ให้พลังใจแก่คุณ มีหลายต่อหลายคนที่เข้าใจว่าคุณเผชิญกับอะไรอยู่และไม่ใช่แค่คุณคนเดียวที่กำลังเผชิญปัญหานี้ลำพัง ดังนั้นสังคมและเพื่อนจะช่วยให้คุณบรรเทาความกังวลหรือความเศร้าได้ดีกว่าการเก็บตัวเงียบอยู่คนเดียว
3. ปรับความสนใจไปยังสิ่งที่ควบคุมได้
หากคุณพ่อคุณแม่หรือคนสำคัญในชีวิตกำลังป่วยอยู่ อาจทำให้คุณวิตกกังวลใจ เมื่อทำสุดความสามารถในการช่วยเหลือหรือยืดชีวิตแล้ว อย่าไปโฟกัสกับความเศร้าและความกลัว แต่ให้สนใจเรื่องที่สามารถควบคุมได้จะดีกว่า เช่น การควบคุมพฤติกรรมของตัวเอง การทำให้คนที่รักสบายใจ การดูแลตัวเอง หรือการระบายกับคนที่เชื่อใจ จากนั้นปล่อยวางสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ และเมื่อดูแลคนอื่นก็ต้องมีเวลาดูแลตัวเองด้วย มีสติอยู่กับปัจจุบันไม่เครียดแทนอนาคตเพราะบางอย่างเราก็ไม่สามารถกำหนดได้
4. มองโลกในแง่ดี
การมองโลกในแง่ดีจะช่วยฟื้นฟูจิตใจของคุณได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีรับมือกับการกลัวการจากลาที่ทำให้คุณเข้าใจว่าวงจรชีวิตของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องธรรมชาติที่ไม่อาจฝืนได้ แถมยังได้ข้อคิดว่าชีวิตนั้นเปราะบางขนาดไหน ไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร จงใช้ชีวิตให้คุ้มค่าและมีความสุขมากที่สุด นอกจากนี้ยังตระหนักได้ว่าความทรงจำนั้นล้ำค่า อย่างน้อยเราต่างก็มีโอกาสได้มาเจอและอยู่ร่วมกัน
5. หาเป้าหมายในชีวิตให้เจอ
มากันที่ข้อสุดท้าย บางคนอาจจะมีคำตอบในใจอยู่แล้ว บางคนอาจจะฟังดูเป็นเรื่องยาก แต่หากค้นพบแล้วคุณจะรู้ว่าโลกนี้ก็มีความหมายเหมือนกัน เพราะเราได้ใช้ชีวิตเพื่อบางสิ่งบางอย่าง เช่น การช่วยเหลือสัตว์ป่า การช่วยโลก การช่วยเหลือผู้ยากไร้ เป็นต้น ดังนั้นคุณจะไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ไปวัน ๆ แต่มีจุดหมายปลายทาง
บทความล่าสุด
การจัดโต๊ะคอมให้สวยถูกใจ พร้อมฟังก์ชันการใช้งานครบครัน...
ในมุมมองหนึ่ง ‘ลูกคนกลาง’ ดูเหมือนจะต้องแบกรับภาระทางใจอันหนักอึ้ง...