Free Will คืออะไร? มีจริงหรือเปล่านะ (เจตจำนงเสรี)

Free Will คืออะไร? มีจริงหรือเปล่านะ (เจตจำนงเสรี)

Free Will หรือเจตจำนงเสรี เป็นคำศัพท์ที่มีมานานแล้ว แต่ก็ยังมีการถกเถียงกันในหมู่นักวิทยาศาสตร์ และนักปรัชญาสาดว่าเจตจำนงเสรีคืออะไร และมีจริงหรือเปล่า

เรื่องสมองและเรื่องความคิดการตัดสินใจของมนุษย์ เป็นสิ่งที่นักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์หลายคนพยายามหาคำตอบมานานแล้ว แต่สมองของคนเราก็เป็นสิ่งที่ซับซ้อนแถมยังพัฒนาและผันแปรตามวัฒนธรรมต่างๆด้วย ทำให้การศึกษาและตีกรอบเรื่องหลักการของเจตจำนงเสรีทำได้ยากมาก

การที่เด็กคนนึงอยากไปโรงเรียน เพราะถูกพ่อแม่สอนมาว่าการไปโรงเรียนเป็นสิ่งที่ดี หรือเป็นสิ่งที่เด็กนึกขึ้นได้เอง และการที่พ่อแม่สอนเด็กว่าโรงเรียนเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่พ่อแม่ตัดสินใจเองหรือถูกสังคมตีกรอบมาให้ทั้งชีวิตกันนะ? การตัดสินใจบางอย่างอาจจะแบ่งแยกได้ง่ายๆว่าเป็นเจตจำนงเสรีหรือเปล่า แต่การตัดสินใจบางอย่างก็แบ่งแยกได้ยากมากว่าเหตุผลที่แท้จริงมาจากอะไร 

ในบทความนี้เรามาลองดูกันว่ามนุษย์เรามี ‘เจตจำนงเสรี’ หรือเปล่า และเรามี ‘มากแค่ไหน’ ?

Free Will คืออะไร?

Free Will หรือเจตจำนงเสรี คืออิสระและความสามารถในการเลือกระหว่างการกระทำมากกว่าหนึ่งอย่าง โดยไม่ต้องมีใครหรืออะไรมาบังคับและกำหนดการกระทำ คำว่าเจต ‘จำนงเสรี’ ก็เป็นคำที่ถูกต้องเถียงกันในปรัชญา วิทยาศาสตร์ และจริยธรรม อย่างต่อเนื่อง

หนึ่งในความสุขของการมีชีวิตก็คืออิสระ การมีความคิด และการมีเจตจำนงเป็นของตัวเอง เพราะฉะนั้นตามเหตุผลแล้ว ยิ่งเรามีอิสระมากเท่าไหร่ เราก็ควรที่จะมีความสุขมากเท่านั้น 

สิ่งที่ตรงข้ามกับ เจตจำนงเสรี ก็คือการไม่มีตัวเลือก ไม่มีอิสระ ยกตัวอย่างเช่นคนที่ถูกบังคับให้ทำนู่นทำนี่ หรือตัวอย่างแบบสุดโต่งก็คือนักโทษที่ถูกขังคุก ไม่สามารถทำอะไรได้มากและก็ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้ การไม่มีอิสระก็คือความทุกข์ เพราะฉะนั้นคนถึงอยากมีอิสระและอยากมีเจตจำนงเสรี

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราจำเป็นต้องถามต่อมาก็คือ เจตจำนงเสรี คืออะไรกันแน่ ในเหตุการณ์และสถานการณ์แบบไหน ที่การตัดสินใจและความคิดของเราถูกจัดประเภทว่าเป็น ‘เจตจำนงเสรี’

Free will ไม่มีจริง…จริงหรือเปล่า

คำถามนี้อาจจะจริงหรือไม่จริง ขึ้นอยู่กับทฤษฎี ปรัชญา และความเชื่อส่วนบุคคล เนื่องจากว่ายังไม่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่จะพิสูจน์ได้แน่นอน อย่างไรก็ตามความคิดเห็นของนักปรัชญาส่วนมากก็มีดังนี้

นักปรัชญาหลายคนเชื่อว่า การกระทำส่วนมากของมนุษย์ล้วนเกิดจากผลกระทบจากสิ่งรอบข้าง ทั้งสังคมและการเลี้ยงดู ทำให้การกระทำทุกอย่างเหมือนจะถูกชักจูงมาจากสิ่งอื่นไม่มากก็น้อย ทำให้สรุปได้ว่า ‘เจตจำนงเสรีไม่มีจริง’ 

ยกตัวอย่างเช่น หากการกระทำและความคิดของคน เป็นสิ่งที่ตกผลึกจากประสบการณ์และสิ่งที่ได้เรียนรู้มาในอดีต และถ้าคนเราไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ที่เราพบเจอได้ (เช่นเราไม่สามารถควบคุมให้ฝนไม่ตก ให้รถไม่ติด หรือเลือกได้ว่าคุณครูในวัยเด็กของเราจะเป็นครูที่เก่งหรือไม่เก่ง) การกระทำทั้งหมดของเราก็เป็นแค่ผลลัพธ์จากสิ่งที่เราเผชิญในอดีต

ความคิดนี้ก็เป็นหนึ่งในหลักการของเหตุวิสัย (Determinism) ที่คุณสามารถอ่านเพิ่มได้ภายหลัง

เป้าหมายของการศึกษาเจตจำนงเสรี ไม่ใช่การทำให้คุณนอนไม่หลับ นอนคิดเรื่องการกระทำแต่ละอย่างของคุณ แต่มีเพื่อให้คุณทำความเข้าใจและรับรู้ความรู้สึกและความคิดตัวเองมากขึ้น เพื่อที่จะทำให้คุณเป็นคนที่ดีขึ้น ตัดสินใจอะไรได้ฉลาดและมีความเมตตามากขึ้น

นอกจากนั้นแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อเจตจํานงเสรีก็คือหลักการทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยา ที่พิสูจน์ว่าสารเคมีต่างๆในร่างกาย เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่ออารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์ ซึ่งก็หมายความว่ามีผลกระทบต่อการตัดสินใจของมนุษย์ด้วยเช่นกัน

ความท้าทายของการศึกษาการตัดสินใจของมนุษย์ ก็คือการที่มนุษย์สามารถ ‘สร้างเหตุผล’ (Rationalize) ให้กับทุกการกระทำของตัวเองได้เสมอ มนุษย์ส่วนมากใช้อารมณ์เป็นตัวตัดสินใจ และค่อยหาเหตุผลมาสนับสนุนอารมณ์นั้นๆ

ในบทความส่วนถัดๆไป เรามาลองดูกันว่า Free Will หรือเจตจำนงเสรีในแต่ละหลักความคิดนั้นสามารถตีความได้อย่างไรบ้าง

เจตจำนงเสรีและวิทยาศาสตร์ (Free Will and Science)

สารเคมีแห่งความสุขในร่างกายคนเรา อย่าง dopamine และ endorphin ก็เป็นหนึ่งในแรงจูงใจที่ทำให้เราอยากทำอะไรสักอย่าง ทุกครั้งที่เรารู้สึกชนะรู้สึกประสบความสำเร็จ ร่างกายเราก็จะผลิตสาร dopamine ก็มากทำให้เรารู้สึกมีความสุข 

ปัญหาก็คือมนุษย์สามารถเสพติดสาร dopamine ได้ ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่บางคนถึงเสพติดบุหรี่ ซึ่งมีนิโคตินที่ทำให้เกิด dopamine อย่างไรก็ตามสารเคมีนี้ก็ไม่ได้มีแค่ไหนสิ่งเสพติดเท่านั้น การวิ่งมาราธอนหรือการออกกำลังกายก็ทำให้เกิด dopamine ได้เช่นกัน เราวิ่งได้เร็วกว่าเดิม ร่ายกายเราก็เลยผลิต dopamine เพิ่มเพื่อให้เรามีความสุข อยากวิ่งต่อไป

คำถามในส่วนนี้ก็คือ คนที่ติดยา มีแต่เจตจำนงเสรีหรือเปล่า การที่มนุษย์ติดยาและต้องการที่จะเสพยาต่อไป เป็นเพราะสารเคมีจากตัวยาหรือเป็นเพราะเจตจำนงเสรีเฉพาะบุคคล

ซึ่งพอเรามาวิเคราะห์การกระทำด้วยสารเคมีในร่างกายแล้ว การอธิบายว่าคนเราชอบทำอะไร หรือไม่ชอบทำอะไร ก็เริ่มดูซับซ้อนขึ้นมาทันที เราชอบเพราะเราชอบ หรือเราชอบเพราะร่างกายของเราชอบกันแน่? ทั้งสองอย่างนี้มีความแตกต่างกันหรือเปล่านะ?

เราจะเห็นได้ว่า ‘เจตุจำนง’ ในสมองคนเราอาจจะมีหลายอย่าง แต่ละอย่างก็อาจขัดแย้งกัน ในตอนเช้าสมองเราก็มีเจตจำนงที่อยากจะตื่นเช้าไปทำงาน แล้วก็มีเจตจำนงที่อยากจะนอนต่อ เจตจำนงไหนคือเจตจำนงเสรี?

นอกจากนั้นแล้ว ศาสตร์จิตวิทยายังได้อธิบายไว้อีกว่า พฤติกรรมของมนุษย์ล้วนถูกชักจูงจาก 2 อย่างซึ่งก็คือธรรมชาติและการเลี้ยงดู (Nature and Nurture) หมายความว่าถ้าคุณไม่ได้เกิดมาเป็นแบบนี้ คุณก็เป็นแบบนี้เพราะถูกพ่อแม่ เพื่อนฝูง หรือสังคม ‘โน้มน้าว’ ให้เป็น

ในกรณีนี้ เราก็อาจจะบอกได้ว่าธรรมชาติและการเลี้ยงดู เป็นสิ่งที่สร้างตัวตนของเรา เช่นเราเกิดมาสายตาสั้นจากยีนด้อยจากพ่อแม่ ทำให้เราเป็นคนชอบเดินช้าต้องระวังเดินชนอะไรต่ออะไร นอกจากนั้นเรายังโตมาในสังคมที่ชอบคนพูดน้อยๆ ทำให้เราเป็นคนไม่ค่อยชอบแสดงความรู้สึกตัวเอง นิสัยพวกนี้เป็นสิ่งที่เราเป็นเพราะเราอยากเป็น หรือเป็นสิ่งที่เราเป็นเพราะเราถูกปลูกฝังมากันแน่? 

สรุปแล้วก็คือ ในปัจจุบันหากเราจะใช้วิทยาศาสตร์และจิตวิทยาเพื่ออธิบายว่าเจตจำนงเสรีมีจริงหรือเปล่า สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับความคิดแต่ละคน หากคุณเป็นคนคิดมากคิดลึกหน่อย คุณก็อาจจะรู้สึกปวดหัวหรือลังเลก็ได้

เจตจํานงเสรีและเหตุวิสัย (Free Will and Determinism)

หากคุณคิดว่าหลักการทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยานั้นอาจจะไม่เพียงพอในการอธิบายเรื่องเจตจํานงเสรี เราก็มาลองดูหลักการทางปรัชญาบ้าง โดยเฉพาะหลักการที่คนพูดถึงบ่อยๆพร้อมกับเจตจํานงเสรี อย่างหลักการเหตุวิสัย (Determinism)

เหตุวิสัย หรือ Determinism คือปรัชญาที่ว่าทุกเหตุการณ์ที่เกิด ทุกการตัดสินใจ ถูกชักจูงจากเหตุการณ์ที่เกิดมาแล้วก่อนหน้า และเป็นหลักปรัชญาที่ใช้ในการสรุปว่าเจตจํานงเสรีไม่มีจริง เพราะมนุษย์ไม่สามารถตัดสินใจอะไรที่ไม่ได้ถูกชักจูงจากเหตุการณ์ในอดีต

หลักการเหตุวิสัย เชื่อว่าทุกการกระทำ ว่าจะมีเหตุผลมากแค่ไหนก็ตาม ก็ล้วนถูกชักจูงมาจากเหตุการณ์ในอดีต อาจจะเป็นจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก หรือจากสิ่งที่เราเคยเจอมาเมื่อวานทำให้เราทำการตัดสินใจวันนี้

คนส่วนมากก็คงยากที่จะสามารถตัดสินใจอะไรเองได้ อยากจะมีเจตจำนงเสรีของตัวเอง แต่ปัญหาก็คือเราจะสามารถตัดสินใจ โดยไม่ถูกชักจูงหรือถูกโน้มน้าวจากปัจจัยภายนอกได้เลยหรือเปล่า ซึ่งนอกเหนือจากหลักจิตวิทยาที่ผมได้อธิบายไปแล้ว ก็ยังมีหลักการของด้านจริยธรรมเข้ามาอีกด้วย

หากเรามองว่าในโลกนี้มีปัจจัยร้อยอย่างพันอย่างที่อาจจะกระทบต่อการตัดสินใจของเราแต่ละวัน หากเศรษฐกิจไม่ดีคนก็อาจจะเปลี่ยนจากการกินไอศครีมราคา 100 บาทมากินไอศครีมโคนราคา 20 บาทโดยไม่รู้ตัวก็ได้ บางคนออกจากบ้านแล้วโดนจิ้งจกทัก ก็อาจจะรู้สึกแย่เลยไม่รู้ตัว เลยต้องไปทำบุญเพิ่มหลังเลิกงาน 

ทฤษฎีเห็นนิสัยได้อธิบายและว่า ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่สามารถรับรู้ถึงแรงจูงใจทั้งหมด และรับรู้ถึงปัจจัยภายนอกทุกอย่าง มนุษย์ก็ไม่สามารถมีเจตจำนงเสรีที่แท้จริงได้

เจตจํานงเสรีและความรับผิดชอบทางจริยธรรม (Free Will and Moral Responsibility)

ถ้าคุณคิดว่า วิทยาศาสตร์ จิตวิทยา และปรัชญา ยังทำให้คุณเข้าใจเรื่องเจตจํานงเสรีได้ไม่ดีพอ ในส่วนสุดท้ายนี้เรามาลองทำความเข้าใจเกี่ยวกับ เจตจํานงเสรีและความรับผิดชอบทางจริยธรรม (Free Will and Moral Responsibility)…อาจจะทำให้คุณงงมากขึ้นอีก 555

ตามหลักจริยธรรมแล้ว คนที่ทำดีก็สมควรได้รับคำชม คนที่ทำไม่ดีก็ควรได้รับการเตือน…และในบางกรณีก็ควรได้รับการลงโทษ

ซึ่งหลักการที่ผมได้อธิบายไว้แล้ว ก็ชักจูงให้เราเห็นว่า ในบางมุมมอง และในบางสถานการณ์นั้น ‘เจตจำนงเสรี’ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ชัดเจนขนาดนั้น ซึ่งหมายความว่าเวลาที่คนเราทำผิด…คนคนนั้นคู่ควรหรือสมควรกับการลงโทษหรือเปล่า

หากคุณกำลังสงสัยว่าทำไมเจตจำนงแห่งเสรีเป็นถึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ข้อแรกก็คือว่าคนเราอยากจะเชื่อว่าตัวเองมีอิสระ เพราะอิสระจะทำให้เรามีความสุข เพราะฉะนั้นเจตจำนงเสรีเท่ากับความสุข และข้อที่สองก็คือว่า หากเราเข้าใจเจตจํานงเสรี เหตุวิสัย และความรับผิดชอบทางจริยธรรม เราก็อาจจะหาวิธีทำให้สังคมของเราดีขึ้นมาได้ 

นักปรัชญาที่เชื่อว่าเจตจำนงเสรีมีจริง และมนุษย์ทุกคนสามารถตัดสินใจด้วยเหตุผลของตัวเองได้ ก็ควรเชื่อว่าคนที่ทำผิดก็ควรได้รับการตักเตือนการลงโทษ หลักการเจตจำนงเสรีสามารถนำมาประยุกต์ ตอบคำถามว่า ‘มนุษย์เราควรประพฤติต่อคนอื่นอย่างไร’

คนที่เชื่อในเหตุวิสัย ก็ไม่ได้จำเป็นต้องบอกว่าคนที่ทำผิด ทำผิดตัวเองควบคุมไม่ได้ไม่ต้องไปลงโทษหรอก แต่ความคิดแบบเหตุวิสัยสามารถนำมาใช้เพื่อหาวิธีทำให้คนที่ทำผิดเปลี่ยนมุมมองและแก้ไขตัวเองได้ 

ยกตัวอย่างเช่น หากลูกของคุณลืมทำการบ้าน คุณจะลงโทษลูกเพราะว่าลูกของคุณสมควรถูกลงโทษ หรือลงโทษลูกเพราะอยากจะให้ลูกพัฒนาและทำตัวให้ดีขึ้น? 

และถ้าคุณคิดอย่างนี้กับคนใกล้ตัว คุณจะสามารถนำความคิดนี้ไปใช้กับนักโทษในคุกได้หรือเปล่า เราลงโทษนักโทษเพราะคนนั้นสมควรถูกลงโทษ หรือเพราะเราอยากจะให้นักโทษพัฒนาและทำตัวให้ดีขึ้น?

ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าหลักการเจตจํานงเสรีนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจง่ายหรือยากสำหรับคนอื่น แต่สำหรับผมนั้นต่อให้อ่านมาหลายบทความ ศึกษามาหลายวิดิโอ ผมก็ยังไม่สามารถสรุปอะไรได้เลยด้วยซ้ำ ซึ่งก็ทำให้ผมคิดว่าคำตอบของเจตจำนงเสรี อาจจะไม่ได้มีขาวดำ ไม่ได้มีคำตอบที่ชัดเจน แต่การลองคิดเรื่องพวกนี้ก็จะทำให้เราสามารถเข้าใจสังคมมนุษย์ได้มากขึ้น 


บทความล่าสุด