ผู้ฟังที่ดีคืออะไร? และเราจะเป็นผู้ฟังที่ดีได้ยังไงบ้างนะ?

ผู้ฟังที่ดีคืออะไร?

มันเป็นเรื่องน่าแปลกใจที่สังคมมนุษย์เรา ให้สำคัญกับทักษะการพูดการสื่อสารมากกว่า อาจเป็นเพราะทักษะเหล่านี้คนมองว่าสามารถทำงานได้ เช่นการพูดขายของลูกค้า หรือการพูดพรีเซ้นงาน แต่ทักษะที่สำคัญยิ่งกว่าทักษะการพูด…ก็คือทักษะการฟัง

ลองคิดดูนะครับว่า สังคมเราจะเป็นยังไง ถ้าทุกคนเอาแต่พูด เอาแต่พยายามยัดเยียดความคิดหรือไอเดียตัวเองให้คนอื่น…โดยที่ไม่มีใครยอมรับฟังอีกฝ่ายเลย สังคมแบบนี้คงมีแต่เสียงวุ่นวาย ก็เหมือนกับการที่เราไปเล่น Facebook แล้วเจอแต่โฆษณาอะไรก็ไม่รู้ที่เราไม่ได้สนใจ…เราคงรู้สึกอึดอัดมาก จนไม่อยากเข้าสังคมอีก

ในวันนี้เรามาดูกันว่า ผู้ฟังที่ดีคืออะไร มีประโยชน์ยังไง และการที่เราจะเป็นผู้ฟังที่ดีต้องทำยังไงบ้าง

ผู้ฟังที่ดีคืออะไร

ผู้ฟังที่ดี คือคนที่รับฟังความคิดเห็นคำแนะนำของคนอื่น และนำข้อมูลเหล่านั้นมาประกอบในการใช้สนทนาต่อไป การฟังที่ดีไม่ได้หมายความว่าเราต้องฟังอย่างเดียวห้ามพูดอะไร ในทางตรงกันข้ามเราควรเสนอความคิดของตัวเองเข้าไปในบทสนทนาเพื่อเป็นการเข้าสังคมด้วย

ผมคิดว่าคนเราคงอยู่ไม่ได้ถ้าไม่ได้สื่อสาร หรือเข้าสังคมกับผู้อื่น และหนึ่งในทักษะการเข้าสังคมที่ดีที่สุดก็คือการฟัง

ตอนเด็กๆเราเคยได้ยินกันบ้าง ว่าต้องตั้งใจฟัง ‘ห้ามพูดห้ามเถียง’ ซึ่งคำว่าห้ามพูดห้ามเถียงนั่นแหละทำให้คนเข้าใจผิดว่าการฟังเป็นแค่การรับรู้ข้อมูลอย่างเดียว และความเข้าใจผิดอย่างนี้ก็เลยทำให้คนส่วนมากกลายเป็นคนที่ถ้าไม่เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ก็กลายเป็นคนดื้อเงียบ…ไม่เห็นด้วยแต่ไม่เถียงเพราะไม่ชอบการเผชิญหน้าแทน

อย่างไรก็ตามหนึ่งในความสุขของมนุษย์ก็คือการเข้าสังคม หากเราไม่เรียนรู้วิธีเป็นผู้ฟังที่ดีได้ เราก็ไม่สามารถมีความสุขกับการเข้าสังคมของเรามากนัก และเราก็คงไม่สามารถพัฒนาความสัมพันธ์ของเรากับคนสำคัญรอบตัวเราให้มันดีขึ้นได้ ทั้งเรื่องของเพื่อน เรื่องการงาน หรือแม้แต่เรื่องความรัก

เรามาดูกันครับว่าประโยชน์ของการเป็นผู้ฟังที่ดีมีอะไรบ้าง

ประโยชน์ของการฟังที่ดี 

ถ้าอ่านมาถึงขนาดนี้แล้วยังไม่เข้าใจสิ่งที่ บทสรุปก็คือ ‘การเป็นผู้ฟังที่ดีนั้นมีประโยชน์มากมาย’ ครับ  โดยที่ประโยชน์ส่วนนี้ก็ครอบคลุมถึงส่วนชีวิต ส่วนสังคม และส่วนการพัฒนาตัวเองด้วย

  • การพัฒนาชีวิต – ส่วนนี้หมายถึงว่าชีวิตของคนจะดีขึ้นมากถ้าคนรู้วิธีฟังที่ดี ยกตัวอย่างเช่นกันที่เราสามารถฟังและเข้าใจสิ่งที่ครูสอน หรือการที่เราสามารถฟังและเข้าใจคำแนะนำที่เพื่อนหรือคนที่รักเราให้กับเรา ตั้งแต่เด็กมีกี่ครั้งแล้วที่เราโดนโมโหเพราะเราไม่สามารถทำตามข้อแนะนำง่ายๆได้ ยิ่งคนโตขึ้นความรับผิดชอบนี้ก็จะยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
  • การพัฒนาวิธีเข้าสังคม การฟังเป็นทักษะของสังคมที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง คุณอยากจะอยู่กับแฟนที่เอาแต่พูดแต่ไม่ฟังอะไรคุณเลยหรือเปล่า หรือคุณอยากจะอยู่กับพ่อแม่ที่เอาแต่สั่งอย่างเดียวโดยไม่รับฟังปัญหาของคุณเลยไหม การสนทนาและการตอบโต้เป็นหัวใจของความสัมพันธ์ หากคุณไม่สามารถทำ 50% ของการตอบโต้ได้ ความสัมพันธ์ของคุณก็คงไม่คืบหน้าไปไหนหรอก
  • การพัฒนาตัวเอง – การรับฝากให้แท้จริงคือการเริ่มเปิดใจยอมรับไอเดียใหม่ๆความคิดเห็นใหม่ๆ ที่เราอาจจะคิดไม่ถึงหรือปฏิเสธเพราะอคติส่วนตัว ในหนึ่งวันคุณได้รับข่าวสารเยอะมากครับ ถ้าคุณเป็นคนที่ออกไปคุยกับคนอื่นเยอะ คุณก็คงได้รับคำแนะนำ ได้รับความรู้ใหม่ๆเช่นกัน การเป็นผู้ฟังที่ดีทำให้คุณสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากความรู้ใหม่เล็กๆน้อยๆพวกนี้ได้อย่างเต็มที่

การฟัง…และการได้ยิน

การฟังและการได้ยิน เป็นสิ่งที่คนชอบสับสนกัน ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ต่างกันมาก

เวลาคุณมีคนมาเล่าเรื่องหรือพูดปัญหาให้คุณฟัง คุณสามารถสรุปปัญหาที่ได้ยินมาออกมาเป็นคำพูดตัวเองได้หรือเปล่า…ถ้าคุณไม่สามารถทำได้ ก็จะแปลว่าคุณไม่ได้ใส่ใจฟัง หรือฟังแล้วไม่เข้าใจแต่ก็ไม่ได้ใส่ใจมากจนที่จะถามหาข้อมูลเพิ่มเติม

การได้ยิน ถ้าแปลตรงตัวก็คือการที่หูเราสามารถรับเสียงจากภายนอกได้ เข้ามาเป็นสัญญาณเข้ามาในสมองเราอีกที…ความหมายตามวิทยาศาสตร์ก็คงมีแค่นี้ แต่ ‘การฟัง’ มีอะไรมากกว่านี้เยอะ

การฟังที่ดีหมายถึงเราต้องใส่ใจกับผู้ฟัง หมายความว่าเราต้องใช้สมาธิในการฟัง เราต้องทำความเข้าใจอีกฝ่ายให้ได้ ทั้งความคิด เหตุผล และอารมณ์ของอีกฝ่าย เวลาที่คุณสนทนากับเพื่อนครั้งหน้า ให้คุณลองตอบคำถามพวกนี้ดูครับ ถ้าคุณตอบได้ก็แปลว่าคุณเป็นผู้ฟังที่ดีพอสมควร

  • อีกฝ่ายพูดเรื่องอะไรอยู่ 
  • ทำไมอีกฝ่ายหนึ่งพูดเรื่องนี้ออกมา
  • สิ่งที่อีกฝ่ายพูดหมายความว่ายังไง 
  • ความคิดและอารมณ์ของอีกฝ่ายในขณะพูดเป็นยังไง

หากเราแค่ ‘ได้ยิน’ อย่างเดียว ถ้าเราความจำดี เราก็คงสามารถเราได้แค่ว่าคำพูดที่อีกฝ่ายพูดออกมานั้น ‘มีอะไร’ บ้าง แต่จุดสำคัญที่ว่าคำพูด ‘แปลว่าอะไร’ เราอาจจะไม่สามารถเก็บเกี่ยวข้อมูลพวกนี้ได้บ้าง

*ข้อแนะนำ: ต่อให้เราอยากจะเป็นผู้ฟังที่ดี แต่การถามอีกฝ่ายตรงๆว่า ‘หมายความว่าอะไร’ หรือ ‘ทำไม’ ซ้ำๆหลายๆที อาจจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกหงุดหงิดได้ เพราะทำให้เขารู้สึกว่าเราไม่ได้ตั้งใจฟังเขา ในกรณีนี้คุณต้องฝึกทักษะการสังเกตและการแปลบทสนทนาด้วยตัวเอง ซึ่งคุณสามารถเรียนรู้ได้จากประสบการณ์

การเป็นผู้ฟังที่ดีต้องทำยังไง

การเป็นผู้ฟังที่ดี มีประโยชน์เยอะ แต่กว่าเราจะเป็นผู้ฟังที่ดีได้เราก็ต้องฝึกซ้อมมาพอสมควร แน่นอนอยู่แล้วครับเพราะว่าทักษะเข้าสังคมทุกอย่างก็ต้องฝึกฝนด้วยการเข้าสังคม

  • สมาธิในการสนทนา ตอนเด็กๆเวลาครูสอนแล้วเราทำหน้าไม่ค่อยเข้าใจ คนก็จะบอกว่าเราไม่ค่อยตั้งใจเรียนใช่ไหมครับ เวลาที่อีกฝ่ายพูดอยู่เราควรจะทุ่มเทสมาธิไปกับคนที่พูด ยกตัวอย่างเช่นเวลาคุณไปเดินห้างแล้วคุณเห็นดาราที่คุณชอบ สมาธิคุณก็คงจะไปอยู่กับดาราคนนั้น ไม่สนไปหาคนอื่นแล้วใช่ไหมครับ ผู้ฟังที่ดีจำเป็นต้องใช้สมาธิระดับนั้นได้ในบทสนทนา
  • สังเกตภาษาทางร่างกายและโทนเสียง การสนทนาไม่ได้มีแค่คำพูดอย่างเดียว แต่ยังมีทั้งภาษาร่างกายแล้วโทนเสียง เริ่มจากง่ายๆก่อนเสียงสั่นก็คือโมโหหรือเศร้า เสียงสูงก็อาจจะมีความรู้สึกตื่นเต้น หาคนกอดออกก็แปลว่ากำลังปกป้องตัวเองอยู่ หากคุณสามารถสังเกตข้อความเล็กๆน้อยๆพวกนี้ได้ คุณก็จะมีข้อมูลเพิ่มที่จะมาประกอบในการสรุปบทสนทนาภายหลัง
  • ทักษะการเห็นอกเห็นใจ จริงๆรักษาอย่างอื่นไม่สำคัญหรอกครับ ขอแค่เรามีทักษะในการเห็นอกเห็นใจทุกอย่างมันก็สบายแล้ว อย่างไรก็ตามทักษะเห็นอกเห็นใจก็เป็นอะไรที่เราต้องฝึกฝนเหมือนกัน บางคนโชคดีหน่อยอาจจะเรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก แต่สำหรับคนที่ไม่ค่อยได้เข้าสังคมมากนัก ข้อแนะนำอย่างแรกเลยก็คือเปิดใจให้กว้างและยอมรับความคิดและมุมมองคนอื่นโดยไม่มีอคติ
  • ฝึกวิธีการถามที่ดี ถามที่ดีคือคำถามที่สามารถดึงบทสนทนาไปขั้นต่อไปได้ หาคนตั้งใจฟังเรื่องราวที่อีกฝ่ายเล่ามาจริงๆ การถามคำถามเพื่อดึงบทสนทนาไปขั้นต่อไปก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าเราตั้งใจฟังอยู่นะและเราสนใจที่จะเรียนรู้เพิ่มเติม สิ่งที่ควรระวังก็คือการถามคำถามนอกเรื่อง พยายามดึงเข้าไปเรื่องอื่น ซึ่งจะทำให้อีกฝ่ายคิดว่าเราไม่ได้ตั้งใจฟัง
  • ตั้งใจรออีกฝ่ายพูดให้จบก่อน เวลาคนพูดอยู่เราก็ไม่ควรไปขัดใช่ไหม อันนี้เป็นมารยาทการเข้าสังคมธรรมดา
  • คิดก่อนพูด เป็นคำพูดสุดฮิตของนักสนทนาเลย ผมคิดว่าปัญหาในความสัมพันธ์ในโลกนี้ทุกอย่างคงลดน้อยลงมากถ้าทุกคนคิดก่อนพูดทุกครั้ง แต่การคิดก่อนพูดและการใช้สมาธิในบทสนทนาก็เป็นอะไรที่ใช้พลังงานเยอะมาก โดยเฉพาะสำหรับคนที่ไม่ได้ทำเรื่องนี้บ่อย เพราะฉะนั้นถ้าคุณกำลังอยู่ในช่วงเรียนรู้ ให้เตือนตัวเองทุกครั้งที่คุณรู้สึกว่าบทสนทนานี้เป็นเรื่องสำคัญหรือเรื่องซีเรียส เราให้เวลาตัวเองคิด 3 วืนาทีทุกครั้งก่อนที่จะเริ่มพูดอะไร

มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคมก็จริงครับ เราต้องการเข้าสังคมและต้องการความสัมพันธ์เพื่อสร้างความสุขให้ตัวเอง แต่ในขณะเดียวกัน Ego หรืออัตรา ก็ทำให้เราไม่สามารถดึงสมาธิออกมาจากการคิดแต่เรื่องตัวเองได้ 

ผมคิดว่าทุกอย่างที่ดีในชีวิตต้องใช้ความพยายามเพื่อให้ได้มา และทักษะการเป็นผู้ฟังที่ดีก็เป็นหนึ่งในนั้น ผมแนะนำให้ทุกคนให้โอกาสตัวเอง เปิดใจให้กว้าง แล้วลองฝึกทักษะนี้ด้วยการเข้าสังคมลองเข้าไปคุยกับคนอื่นคนใกล้ตัวดู 

ยิ่งคนฝึกเท่าไร คุณก็จะยิ่งเก่งขึ้น และคนว่าจะรู้สึกได้ว่าคนรอบข้างของคุณชอบคุณมากขึ้น ตั้งใจฟังคุณมากขึ้น…ทั้งๆที่คุณพูดน้อยลง

บทความล่าสุด