วิธีจัดการกับคนหัวแข็ง คนก้าวร้าว และ คนดื้อ

วิธีจัดการกับคนหัวแข็ง คนก้าวร้าว และ คนดื้อเงียบ

ในชีวิตคุณเคยพบเจอกันคนหัวแข็งกันบ้างไหมครับ ? ผมเชื่อว่าหลายคนคงเคยเจอ แต่นิยามของคำว่า “คนหัวแข็ง”  ของแต่ละคนนั้นอาจแตกต่างกันไป บ้างก็เรียกว่า หัวดื้อ หัวรั้น ดื้อดึง เกเร ก้าวร้าว แต่ทุกความหมายนั้นก็ดูจัดการได้ยากและไม่เป็นมิตรเอาเสียเลย คนที่ต้องอยู่ร่วมกับคนหัวแข็ง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน คนในครอบครัว หรือกลุ่มเพื่อน คงปวดหัวน่าดู และในบางครั้งอาจกระทบกับคุณภาพชีวิตของเราเลยก็ได้ ดังนั้นในบทความนี้ผมขอเสนอ วิธีจัดการกับคนหัวแข็ง ซึ่งคนกลุ่มนี้สามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้

วิธีจัดการกับคนหัวแข็ง คนก้าวร้าว และ คนดื้อเงียบ

วิธีจัดการกับคนหัวแข็ง คนก้าวร้าว

ความก้าวร้าวนั้นเกิดขึ้นเมื่อบุคคลรู้สึกว่าจำเป็นที่จะต้องปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง หรือต้องการต่อสู้เพื่อบางสิ่งบางอย่าง จนเกิดเป็นความขัดแย้งขึ้น โดยคนก้าวร้าวมักแสดงออกด้วยความโกรธ ดังนั้นวิธีจัดการกับคนก้าวร้าว คุณจำเป็นต้องทำให้ตัวเองใจเย็นเข้าไว้ การดับไฟด้วยไฟนั้นมักจะนำไปสู่ความรุนแแรงในที่สุด และเป็นตัวกระตุ้นความก้าวร้าวให้ทวีคูณมากขึ้นอีกด้วย ดังนั้น ผมขอเสนอ 4 วิธีจัดการกับคนก้าวร้าว ดังนี้ 

1) ตั้งใจฟัง

เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น สิ่งสำคัญคือต้องป้องกันไม่ให้มันบานปลาย สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของความรุนแรง คือการไม่ฟัง หรือฟังไม่จบ หากคุณต้องการแก้ไขปัญหา คุณต้องเข้าใจจุดยืนของอีกฝ่ายก่อน ซึ่งสิ่งนี้ต้องใช้ทักษะการฟังอย่างระมัดระวังและเอาใจใส่ ไม่ฟังโดยมีเจตนาจะตอบข้อโต้แย้งเท่านั้น ฟังด้วยความตั้งใจที่จะเข้าใจอย่างแท้จริง

 2) พยายามทำความเข้าใจกับพวกเขา

ต่อจากข้อที่แล้วเมื่อคุณตั้งใจฟังแล้ว จำเป็นที่คุณจะต้องเข้าใจจุดยืนของอีกฝ่ายอย่างถ่องแท้ อย่าไปตั้งรับ เมื่อคนก้าวร้าวเห็นว่าคุณกำลังพยายามเข้าใจสถานการณ์ของเขา จะทำให้พวกเขาสงบสติอารมณ์และวางใจในตัวคุณ สิ่งนี้สร้างบรรยากาศที่เป็นกันเองมากขึ้น ซึ่งคุณสามารถทำงานร่วมกันเพื่อพยายามหาทางออกที่น่าพอใจของทั้งสองฝ่าย

3) เอาใจเขามาใส่ใจเรา

เมื่อคุณพบว่าตัวเองต้องเผชิญกับคนก้าวร้าว ให้ใช้เวลาสักครู่เพื่อลองดูสิ่งต่าง ๆ จากมุมมองของพวกเขาการเอาใจเขามาใส่ใจเรา เปรียบเสมือนการที่คุณใส่รองเท้าข้างเดียวกันกับพวกเขา และถามว่าตัวคุณเองว่า หากคุณอยู่ในสถานการณ์นี้คุณจะรับมืออย่างไร จะช่วยให้คุณเข้าใจคนก้าวร้าวมากขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้การหาแนวทางแก้ไขเป็นไปได้มากขึ้น

4) กล้าแสดงออก

เพียงเพราะคุณพยายามช่วยคนก้าวร้าว ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องเสียสละความต้องการ ความคิดเห็นของคุณเอง คุณมีสิทธิ์ที่จะแสดงออก ทำให้คนที่ก้าวร้าวรู้ว่าคุณพร้อมที่จะช่วยเหลือพวกเขาแต่คุณคาดหวังว่าจะได้รับ การปฏิบัติอย่างเหมาะสมเช่นนั้น

วิธีจัดการกับคนหัวแข็ง คนดื้อเงียบ

พฤติกรรมดื้อเงียบเป็นการแสดงความโกรธทางอ้อม โดยที่คนๆ นั้นพยายามทำให้คุณไม่พอใจหรือเจ็บปวดด้วยวิธีการที่ไม่ชัดเจน ซึ่งความท้าทายก็คือคนๆ นั้นสามารถปฏิเสธได้ง่ายๆ ว่าเขาไม่ได้ทำอะไรผิด บ่อยครั้งคนเราแสดงพฤติกรรมดื้อเงียบออกมา เพราะเราไม่ได้เรียนรู้วิธีที่จะรับมือกับความขัดแย้งอย่างเหมาะสม หรือเมื่อเราแสดงออกถึงความโกรธก็จะถูกตัดสินว่าเป็นคนที่ไม่ดี 

ดังนั้นหลายคนจึงเลือกที่จะกดความรู้สึกโกรธเอาไว้ แล้วเราจะทำอย่างไรเมื่อต้องเผชิญกับคนดื้อเงียบ ผมขอเสนอ 4 วิธีจัดการกับคนดื้อเงียบ ดังนี้  

1) มีทัศนคติที่เป็นบวกเสมอ

พลังของการคิดบวกช่วยให้เรารับมือกับเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ดีคนที่ดื้อเงียบจะพยายามดึงคุณเข้าสู่ห้วงอารมณ์ที่เป็นลบและบางครั้งก็รอคอยการตอบสนองเชิงลบจากคุณเพื่อที่เขาจะได้มีโอกาส กลับไปเล่นงานคุณอีกครั้งโดยไม่ต้องเป็นฝ่ายผิด คุณต้องไม่ปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น การคิดบวกคือการที่คุณไม่ทำตัวไปอยู่ในระดับเดียวกับเขา อย่าแสดงพฤติกรรมดื้อเงียบตอบ อย่าใช้ถ้อยคำหยาบคาย ตะคอก หรือโมโหจนเกินเหตุ 

2) นิ่งไว้

ถ้าคุณไม่พอใจ ให้ทำใจให้สงบก่อนพูดถึงปัญหา อาจเลือกหาวิธีที่เหมาะสมกับตัวคุณเพื่อช่วยให้คุณสงบ เช่น เดินออกจากสถานการณ์ก่อนเพื่อสงบสติอารมณ์ หรือหายใจเข้าลึกๆ รับลมธรรมชาติ แล้วค่อยๆ คิดว่าคุณต้องการอะไรจากสถานการณ์นี้กันแน่ อย่าตอบโต้เกินกว่าเหตุเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอย่าแสดงความโกรธออกไป และอย่ากล่าวหาโต้งๆ ว่าเขาเป็นคนดื้อเงียบเพราะจะเป็นการเปิดช่องให้เขาปฏิเสธ ทุกข้อกล่าวหาและหาว่าคุณ “คิดมากเกินไป” หรืออ่อนไหวง่าย ขี้ระแวงได้

3) เริ่มบทสนทนาเกี่ยวกับปัญหา

หากคุณมีอารมณ์ที่มั่นคง เชื่อมั่นใจตัวเอง และนิ่ง วิธีการที่ดีที่สุดคือก็แค่บอกว่ามันเกิดอะไรขึ้น เช่น “ฉันไม่แน่ใจนะว่าตัวเองเข้าใจถูกไหมนะ แต่เธอดูจะไม่พอใจที่เพื่อนไม่ชวนเธอไปงานวันเกิด เธออยากคุยเรื่องนี้หรือเปล่า” ควรพูดตรงๆ และเจาะจง เพราะคนดื้อเงียบจะใช้รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ มาบิดเบือนคำพูด ถ้าคุณพูดกว้างเกินไปหรือพูดจาคลุมเครือ ถ้าคุณต้องเผชิญหน้ากับคนดื้อเงียบแล้วละก็คุณต้องพูดประเด็น ที่อยู่ตรงหน้าให้ชัดเจน

ข้อควรระวังของการเผชิญหน้ากันก็คือ คำที่พูดออกไปกลายเป็นการเหมารวมเกินจริง เช่น คำพูดที่ว่า “เธอก็เป็นแบบนี้ตลอดแหละ!” คำพูดแบบนี้ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น เพราะฉะนั้นคุณต้องพูดถึงพฤติกรรมของคนๆ นั้นแบบเจาะจงไปเลย เช่น มีสถานการณ์นายเอไม่พูดไม่จากับคุณ คุณก็อธิบายเหตุการณ์ที่เจาะจงไปเลยว่าการเงียบใส่ของเขาทำให้คุณรู้สึกแบบนี้ “เมื่อเช้าที่เราคุยกันเรื่องการทำงานบ้าน แล้วหลังจากที่คุยกันจบเอก็ไม่พูดกับเราอีกเลย เอเป็นอะไรไม่พอใจอะไรหรือเปล่า บอกเราได้นะ”

4) ทำให้เขารับรู้และยอมรับว่าเขากำลังไม่พอใจ

พูดกับเขาด้วยท่าทีที่ไม่ขึงขังแต่หนักแน่น เช่น พูดว่า “เธอดูไม่ค่อยพอใจเท่าไหร่นะ” หรือ “ดูเหมือนจะมีอะไรกวนใจเธออยู่นะ” บอกไปว่าพฤติกรรมของเขาทำให้คุณรู้สึกอย่างไร เช่น บอกว่า “เวลาที่เธอพูดห้วนๆ กับฉัน ฉันไม่สบายใจเลยและรู้สึกเหมือนถูกตัดบทด้วย”

การพูดเช่นนี้จะช่วยทำให้เขายอมรับว่าพฤติกรรมของเขามีผลต่อคุณอย่างไร?

ที่สำคัญให้เน้นไปที่ว่าตัวคุณรู้สึกอย่างไรและหลีกเลี่ยงการใช้ภาษากล่าวโทษที่เป็นการวิจารณ์เขาอย่างรุนแรง ใช้คำพูดที่ขึ้นต้นด้วย “ฉัน” เวลาสื่อสารกับใครก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของความขัดแย้ง พยายามใช้ “คำพูดที่ขึ้นต้นด้วยฉัน” แทนที่จะเป็น “คำพูดที่ขึ้นต้นด้วยเธอ” 

เช่น แทนที่จะพูดว่า “เธอนี่มันหยาบคายชะมัด” คุณอาจจะพูดว่า “ฉันรู้สึกไม่ดีเลยที่เธอกระแทกประตูใส่ฉัน เพราะฉันรู้สึกเหมือนเธอไม่อยากฟังฉันพูด” คำพูดแรกคือคำพูดที่ขึ้นต้นด้วยเธอ ซึ่งโดยทั่วไปคำพูดที่ขึ้นต้นด้วยเธอจะสื่อถึงการกล่าวหา ตัดสิน หรือกล่าวโทษในขณะที่คำพูดที่ขึ้นต้นด้วยฉัน จะเป็นการแสดงความรู้สึกของคุณออกมาโดยไม่บอกว่าใครผิดคนที่ดื้อเงียบจะพูดอ้อมไปอ้อมมา อย่าพูดจาอ้อมค้อมกลับ ให้พูดตรงๆ อย่างอ่อนโยน และรักษาน้ำใจ

ในชีวิตของเราอาจเป็นไปได้ที่เราจะเลือกคนที่เราอยากอยู่ด้วย แต่เราอาจไม่ได้เลือกได้ทุกครั้ง การเลิกคบคนไม่ดีเป็นเรื่องง่ายแต่ในบางครั้ง คนหนึ่งคนมีทั้งด้านดีและไม่ดี

ดังนั้นการหันกลับมาเพิ่มทักษะในการจัดการกับคนก็อาจเป็นเรื่องที่ดีมากกว่า เพราะบางครั้งคนหัวแข็งก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเป็นคนไม่ดีเสมอไป และที่สำคัญทุกคนสามารถพัฒนาได้ และสิ่งที่สำคัญที่เราสามารถฝึกฝนได้ไม่ว่าเราจะต้องอยู่กับคนหัวแข็งแบบไหน จะคนก้าวร้าว หรือคนดื้อเงียบ เราก็จะไม่ทุกข์นั่นก็คือทักษะการสื่อสารแบบตรงไปตรงมา การสื่อสารมีทั้งการสื่อสารแบบก้าวร้าว การสื่อสารแบบนิ่งเฉย และการสื่อสารแบบดื้อเงียบ ซึ่งไม่มีการสื่อสารแบบไหนมีประสิทธิภาพเท่าการสื่อสารแบบตรงไปตรงมาเลย

การสื่อสารแบบตรงไปตรงมาคือการสื่อสารที่แสดงความคิดเห็นของตัวเองอย่างชัดเจนและไม่ได้เป็นการตอบโต้ โดยที่ยังให้เกียรติอีกฝ่ายด้วย แสดงความมั่นใจ ความเต็มใจที่จะร่วมมือ และแสดงออกว่าคุณอยากจะแก้ปัญหาในแบบที่ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย พิจารณาและยอมรับมุมมองของอีกฝ่าย ให้ความสำคัญกับความรู้สึกของเขาแม้ว่าคุณจะคิดว่าเขาผิดก็ตาม

และสุดท้ายคือการเสริมแรงพฤติกรรมที่เหมาะสม หรือพฤติกรรมที่ดี ในแง่ของจิตวิทยาด้านพฤติกรรมการเสริมแรงคือสิ่งที่คุณทำหรือให้อีกฝ่ายหลัง จากที่เขามีพฤติกรรมแบบใดแบบหนึ่ง เป้าหมายของการเสริมแรงคือการเพิ่มอัตราการเกิดพฤติกรรมนั้น การเสริมแรงหมายถึงการให้รางวัลพฤติกรรมดีที่คุณอยากให้เกิดขึ้นต่อไป หรือลงโทษพฤติกรรมที่คุณอยากกำจัด

‘การเสริมแรงเชิงบวก’ เป็นสิ่งที่พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะพฤติกรรมที่ไม่ดี มักสังเกตเห็นได้ง่ายกว่าพฤติกรรมที่ดี ดังนั้นคุณอาจต้องคอยสังเกตพฤติกรรมที่ดีเพื่อที่คุณจะได้หาโอกาสเสริมแรงในทุกๆ ครั้ง เช่น ถ้าคนดื้อเงียบเปิดใจและพูดถึงความรู้สึกของเขาอย่างตรงไปตรงมา เช่น “ฉันรู้สึกไม่พอใจที่เธอวิจารณ์งานของฉัน” คุณอาจจะเสริมแรง พฤติกรรมนี้ด้วยการพูดว่า “ขอบคุณมากนะที่บอกฉันว่าเธอรู้สึกยังไง” วิธีนี้จะดึงความสนใจเชิงบวกไปที่พฤติกรรมที่ดี ซึ่งก็คือการสื่อสารความรู้สึกของเขาออกมา 

การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เราไม่จำเป็นต้องคิด ต้องทำ ต้องรู้สึกเหมือนกันทุกเรื่อง เราอาจเคยไม่พอใจกันบ้าง กระทบกระทั่งกันบ้างตามประสา ทุกคนย่อมมีความแตกต่างกันคนละเล็กละน้อย แต่เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข หากเราทุกคนรู้จักวิธีจัดการอารมณ์ของตัวเองและผู้อื่นอย่างเหมาะสม  

บทความล่าสุด