ไม่ว่าใครก็มีความฝันอยากจะเป็นคนเก่ง อยากจะเป็นคนที่สามารถช่วยคนอื่นได้เยอะๆ ยิ่งถ้าในอดีตเคยมีคนชมเราหรือเราสามารถช่วยคนได้บ้างแล้ว เราก็จะรู้สึกภูมิใจในหน้าที่หรือทักษะของเรามากเป็นพิเศษ แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากสิ่งที่เราคาดหวังไว้ ไม่สามารถกลายเป็นจริงได้ … สิ่งนี้เรียกว่า Hero Complex
ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่า Hero Complex คืออะไร มีผลเสียอะไรบ้าง และทางออกจากความรู้สึกแบบนี้คืออะไร
Hero Complex คืออะไร?
Hero Complex หรือความลำบากของฮีโร่ คือสภาพความคิดของคนที่เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าเราจะกลายเป็นฮีโร่หรือคนที่ช่วยเหลือสังคมได้ในอนาคต และก็รวมถึงความคิดที่ว่าเป็นความรับผิดชอบของเราที่เราจะเป็นที่จะต้องช่วยเหลือผู้อื่น
ซึ่งจริงๆแล้ว คำนี้เป็นภาษาที่ใช้กันในประเทศไทยมากกว่านะครับ ในต่างประเทศจะชอบใช้คำว่า messiah complex หรือ savior complex น่าจะเอามาจากเรื่องเล่าพระเยซูจากศาสนาคริสต์
ถึงแม้ว่าการช่วยเหลือคนอื่นจะเป็นเรื่องดี แต่สาเหตุที่เราใช้คำว่า ‘Complex’ (ความซับซ้อน หรือ ความลำบาก) ก็เพราะว่าอะไรที่มันมากเกินไปหรือเกินความสามารถของเรามากเกินไปก็มักจะส่งผลร้ายกลับมาอยู่เสมอ … ถึงแม้ว่าจะมาจากเจตนาที่ดีก็ตาม
มนุษย์ที่มี Hero Complex จะตัวเองมีหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ทุกอย่าง และเชื่อมั่นว่าหน้าที่ดีไม่ควรที่จะมีความผิดพลาด หรือตัวเองจะไม่สามารถทำให้ผิดพลาดได้
ในช่วงหลังของบทความผมจะเจาะลึกลงไปมากกว่านี้ว่าข้อเสียของ Hero Complex มีอะไรบ้าง แต่ก่อนที่เราจะไปดูส่วนนั้น เราต้องทำความเข้าใจที่มาที่ไปของความเป็น Hero Complex ก่อน
Hero Complex และการปลูกฝังให้เป็นคนดีคนเก่ง
จริงๆแล้วในสังคมของเราปลูกฝังให้คนชื่นชมคนเก่งและคนที่มีความสามารถอยู่แล้ว เพราะด้วยนิสัยมนุษย์ ไม่ว่าอย่างไรก็ตามเราก็อยากจะให้คนอื่นมาชื่นชม หรืออย่างน้อยก็อยากจะให้คนมองว่าเราเป็นคนดี (ผมขอเน้นในเรื่อง ‘มุมมอง’ เพราะการที่เราจะตัดสินว่าใครเก่งหรือดีจริงๆนั้นเป็นอีกเรื่อง)
ซึ่งเราก็จะเห็นตัวอย่างได้จากสื่อต่างๆรอบตัวเราเลย ไม่ว่าจะเป็นพระเอกจากละคร ฮีโร่จากหนังต่างๆ หรือแม้แต่ตำรวจที่คอยช่วยเหลือคนอื่น
หรืออาจจะมาจากการที่ในตอนที่เราเป็นเด็กเราเก่งศิลปะ เก่งเลข หรือเก่งเล่นเกม เราก็อาจจะนำความคิดเหล่านี้มาผูกกับตัวตนของเรา ว่าเรามีข้อดีเป็นทักษะแบบนี้ เป็นข้อดีที่คนอื่นไม่มีหรือไม่สามารถทำได้ เพราะฉะนั้นเราก็ควรจะใช้ข้อดีเหล่านี้ในการช่วยเหลือคนอื่น
ในเชิงจิตวิทยา เราอาจจะบอกได้ว่าการมี Hero Complex ก็คือการนำตัวตนหรืออีโก้ของเราไปผูกไว้กับปัจจัยอื่นๆที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ผลลัพธุ์จากการช่วยเหลือคนอื่น
และผมก็ขอย้ำอีกที ว่าการที่เราเป็นคนดี คนเก่ง คนชอบช่วยเหลือคนอื่น นั้นเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมมากๆ แต่ปัญหาจะเกิดขึ้น หากเรานำตัวตนเราไปผูกกับผลลัพธ์ที่เราคาดหวังไว้มากเกินไป ซึ่งในหัวข้อต่อไปเราจะมาดูกันเรื่องของข้อเสียของ Hero Complex กันครับ
ข้อเสียของ Hero Complex
ตัวอย่างของการเป็น Hero Complex นั้นเห็นได้บ่อยมากนะครับ ในหนังก็อาจจะมีเรื่องของการที่พระเอกไม่สามารถช่วยคนในครอบครัวได้ แต่ว่าในชีวิตจริง ก็อาจจะรวมถึงการที่เด็กเก่งเลข…แต่ดันสอบตกทำให้พ่อแม่ผิดหวัง จนไปถึงเรื่องของคุณหมอที่เก่งมากๆแต่ก็ยังไม่สามารถช่วยผู้ป่วยได้
หากเรามองว่าหน้าที่หรือเป้าหมายในชีวิตของเราคือการช่วยเหลือคนอื่น แต่เราไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ดี ในมุมมองนี้ ก็อาจจะเปรียบได้กับคนที่รู้สึกผิดหวังในตัวเอง หรือรู้สึกว่าเป้าหมายในชีวิตของตัวเองไม่ได้มีอยู่จริง ซึ่งแน่นอนว่าก็จะทำให้เกิดสภาวะ ‘สับสนในตัวเอง’
และหาก ‘ตัวตนจริงๆของเรา’ ขัดกับ ‘ตัวตนในความคิดของเรา’ เมื่อไหร่ อาการทางด้านจิตวิทยาอย่าง อาการซึมเศร้า อาการหมดไฟ อาการจิตวิตก นอนไม่หลับ ก็จะตามมา
Hero Complex จะแก้ได้อย่างไร?
คำตอบของการแก้ Hero Complex นั้นง่ายมาก หากเราเชื่อว่าการช่วยเหลือคนอื่นเป็นเรื่องดี เราก็ควรที่จะนำตัวเองไปผูกกับ ‘กิจกรรม’ การช่วยเหลือคนอื่น มากกว่า ‘ผลลัพธ์’ ของการช่วยเหลือคน
ยกตัวอย่างเช่น แทนที่เราจะมองว่าในหนึ่งวันมีเด็กแอฟริกาเสียชีวิตจากการอดอาหารกี่คน เราก็ควรจะมองว่าในหนึ่งวันเราสามารถช่วยคนได้กี่คน หรือ เราได้พยายามทำดีที่สุดที่เราจะทำได้แล้วหรือยัง
อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องยอมรับว่าการปรับมุมมองของตัวเองหรือแม้แต่การปรับอีโก้ของตัวเองนั้นไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ หลายคนต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าจะสามารถเรียนรู้มุมมองใหม่ๆได้ ยิ่งเป็นคนที่เจอสภาวะที่ไม่ดีหรือผลลัพธ์ที่แย่ๆเยอะๆ ก็คงยากที่จะปรับความคิดนี้ได้
ปัญหานี้เรามักจะเห็นได้บ่อยในโลกของการทำงาน เราไม่ต้องเป็นหมอ ไม่ต้องเป็นบุรุษดับเพลิง เราก็จะรู้ได้ใช่ไหมครับว่างานแต่ละอย่างนั้นมีมูลค่า อาจจะเป็นทั้งเรื่องของเงินทองหรือเรื่องของการประหยัดเวลา (แต่เราก็ต้องยอมรับว่าพอมันเป็นเรื่องของชีวิตคนหรือความปลอดภัยของคน ความรู้สึกนี้ก็อาจจะทวีคูณขึ้นไปอีก)
ซึ่งผมก็ยอมรับว่าผมไม่เคยอยู่ในตำแหน่งนั้นมาก่อนในชีวิต ผมทำงานบริษัทอย่างมากก็ดูระบบ ดูแลชีวิตพนักงานหลักร้อยคน ไม่ได้เหมือนแพทย์ ตำรวจ ทหาร หรือแม้แต่นักการเมืองที่มีผลกระทบต่อความเป็นความตายของคน
เพราะฉะนั้นบทความนี้เป็นแค่วิธีการรักษาเบื้องต้นเท่านั้น ผมต้องบอกก่อนว่าผมเป็นแค่คนที่ชอบอ่านหนังสือ ที่คุณบังเอิญมาเจอในโลกออนไลน์ ไม่ใช่นักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์
… หากคุณมีอาการรู้สึกไม่ค่อยดีเกี่ยวกับตัวเอง รู้สึกไม่ภูมิใจเกี่ยวกับตัวเอง หรือรู้สึกผิดเพราะตัวเองไม่สามารถช่วยเหลือใครได้ และคุณรู้สึกว่าอาการเหล่านี้เป็นตัวขัดขวางไม่ให้ชีวิตคุณสามารถดำเนินต่อไปได้ ผมแนะนำให้คุณลองสอบถามจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาใกล้ๆตัวคุณก่อนด้วยนะครับ
บทความล่าสุด
การจัดโต๊ะคอมให้สวยถูกใจ พร้อมฟังก์ชันการใช้งานครบครัน...
ในมุมมองหนึ่ง ‘ลูกคนกลาง’ ดูเหมือนจะต้องแบกรับภาระทางใจอันหนักอึ้ง...