อยากเป็นคนตลกต้องทำยังไง – วิธีการเป็นคนตลกอย่างง่ายๆ

อยากเป็นคนตลกต้องทำยังไง

โบราณเค้าว่าไว้ ‘หล่อมักนก ตลกมักได้’….ใช่ครับ ความตลกเป็นทักษะการเข้าสังคมอย่างหนึ่งนั่นเอง

การเป็นคนตลกคืออะไรที่เราสามารถเรียนรู้ได้ ดาราตลกหลายคนก็ใช้เวลาฝึกฝนจังหวะ วิธีแสดง และมุขตลก วันละหลายชั่วโมง….และความพยายามเป็นคนตลกมันคุ้มค่ากับการฝึกซ้อมมาก

ข้อดีของการเป็นคนตลกมีเยอะมากครับ คนส่วนมากก็จะชอบเรามากขึ้น เราสามารถทำให้คนที่เรารักมีความสุขได้มากขึ้น และเมื่อคนรอบข้างเรามีความสุข เราก็จะมีความสุขมากขึ้นด้วย

อยากเป็นคนตลกต้องทำยังไง 

การเป็นคนตลกคือการเข้าใจว่าผู้ฟังมีความคาดหวังอะไรและหาจังหวะที่ดีในการ ‘พลิกความคาดหวัง’ ของผู้ฟังให้เป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม แปลกใหม่ หรือ เกินความเป็นจริง แต่นอกจากการรู้เทคนิคพวกนี้แล้ว คุณยังต้องฝึกซ้อมการนำเสนอและเลือกมุขตลกที่เหมาะสมกับสถานการณ์ด้วย

ข้อมูลศึกษาให้เราเป็นคนที่ตลกขึ้นมีหลายอย่าง ทั้งวิดิโอบนยูทูป หนังสือต่างๆ ข้อมูลในพันทิป หรือถ้าอยากลงทุนจริงๆก็ไปหาคอร์สเรียนยังได้เลย

ซึ่งผมก็เป็นคนที่ชอบศึกษาข้อมูลพวกนี้พอสมควร จากการที่ เป้าหมายของบทความนี้ก็คือการแนะนำวิธีเป็นคนตลกที่สามารถทำได้ง่ายและทำได้จริง ผมจะไม่แนะนำวิธีที่คลุมเครือแบบ ‘หาจังหวะให้ถูก’ อะไรแบบนี้ ลองไปดูกันเลยครับ

#1 ให้คำตอบตรงข้าม เวลาอีกฝ่ายคาดว่าเราจะตอบว่า ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่ใช่’

‘ความคาดหวัง’ คือสิ่งที่เราสามารถเล่นได้เวลาเราอยากจะเป็นคนตลก ยกตัวอย่างเช่นการที่เราตอบอะไรแปลกๆฮาๆเวลาอีกฝ่ายถามอะไรจริงจังเป็นต้น แต่การพลิกความคาดหวังของอีกฝ่ายให้ตลกมากขึ้นมันต้องกะจังหวะและหาคำตอบสวยๆให้ได้

ทริคการพลิกความคาดหวังของอีกฝ่ายให้ง่ายที่สุดคือคำตอบว่า ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่’ เวลาที่เราถูกถามอะไรซักอย่าง…โดยเฉพาะคำถามอะไรที่อีกฝ่ายคาดหวังว่าคุณจะตอบอีกแบบหนึ่งแน่นอน 

เวลาคุณกินบุฟเฟ่กับเพื่อนเสร็จแล้วอีกฝ่ายถามว่า ‘กินอิ่มยัง’ คำตอบที่อีกฝ่ายคาดหวังไว้ก็คือ ‘อิ่มแล้ว’ แต่ถ้าคุณตอบว่า ‘ยังไม่อิ่ม’ คุณก็จะทำให้อีกฝ่ายอมยิ้มได้ไม่มากก็น้อยละครับ 

‘เรียนหมอยากมั้ย?’ ‘ง่ายนิดเดียวเอง’

การสังเกตโอกาสของ ‘ใช่’ และ ‘ไม่ใช่’

ทักษะการพลิกความคาดหวังของอีกฝ่ายขึ้นอยู่กับทักษะการสังเกตสถานการณ์รอบตัวคุณ ยิ่งคุณมีสติในการสนทนามากเท่าไร คุณก็จะยิ่งเห็นโอกาสเหล่านี้มากขึ้นเท่านั้น 

หากคนคาดหวังให้คุณตอบว่า ‘ยาก’ คุณก็ควรตอบว่า ‘ง่าย’
หากคนคาดหวังให้คุณตอบว่า ‘ดี’ คุณก็ควรตอบว่า ‘ไม่ดี’
หากคนคาดหวังให้คุณตอบว่า ‘ถูก’ คุณก็ควรตอบว่า ‘ผิด’

และเพื่อให้คนอื่นเข้าใจว่าคุณกำลังล้อเล่นหรือพูดตลกอยู่ คุณอาจจะเสริมมุขของคุณด้วยการยิ้มหรือการหัวเราะนิดหน่อยด้วยก็ได้ แล้วค่อยให้คำตอบ ‘จริงๆ’ กับอีกฝ่ายเพื่อสร้างความ ‘จริงใจ’ และทำให้อีกฝ่ายชอบเรามากขึ้นกว่าเดิม

ข้อดีของวิธีนี้ก็คือคุณไม่ต้องเตรียมมุขตลกมาก่อนด้วยซ้ำ คุณแค่ต้องใส่ใจกับบทสนทนาเวลาคุยกับคนอื่นและค่อยๆหาโอกาสดีๆในการพูดว่า ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่ใช่’ ก็แค่นั้น คำถามอาจจะเป็นอะไรง่ายๆเช่น ‘วันนี้อากาสดีนะ’ หรือ ‘ทำงานเหนื่อยมั้ย’ ข้อแม้มีเพียงอย่างเดียวก็คือเราต้องอยู่ในสถานการณ์ที่อีกฝ่ายคาดหวังคำตอบอย่างใดอย่างหนึ่งจากเราแน่นอน

#2 เล่นกับตัวเลข

อีกส่วนหนึ่งของการเล่นกับความคาดหวังก็คือการเล่นกับตัวเลข 

ตัวเลขเป็นอะไรที่ใช้ได้ผลดีเพราะมันบอกได้ชัดเจนว่าอะไรเยอะ อะไรน้อย และอะไรคือตัวเลขที่โอเวอร์เกินความจริง…แต่ถ้าคุณไม่เก่งเลข คุณก็ไม่ต้องกลัวไปนะครับ วิธีเล่นกับตัวเลขง่ายๆก็คือการใช้คำว่า ‘มาก’ หรือ ‘น้อย’ แค่นั้น’

ยกตัวอย่างเช่นหากคุณบอกว่าคุณไปออกกำลังกายเหนื่อยมาก แต่พอคนถามคุณว่าคุณวิ่งเยอะแค่ไหน คุณก็อาจจะพูดตลกด้วยการบอกว่า ‘วิ่งไป 5 นาที’ อะไรแบบนี้ ยิ่งคุณสร้างความคาดหวังให้อีกฝ่ายได้เยอะแค่ไหน คำพูดของคุณก็ยิ่งตลกมากขึ้นถ้าตัวเลขออกมาไม่ตรงกับความคาดหวังนั้นๆ 

คำพูดสร้างความคาดหวังด้านตัวเลขมีเยอะมากครับ เยอะ น้อย มาก นิดเดียว แค่ ตั้ง เป็นต้น

หากคุณกำลังจะพูดตัวเลขใหญ่ๆ คุณก็สามารถใส่คำว่า ‘แค่’ หรือ ‘นิดเดียว’ เป็นการเตรียมความคาดหวังอีกฝ่ายไว้ก่อน แต่ถ้าตัวเลขของคุณเป็นตัวเลขเล็ก คุณก็ต้องเตรียมความคาดหวังอีกฝ่ายด้วย ‘ได้เยอะมาก’ เป็นต้น

‘อาทิตย์ที่แล้วถูกหวยเยอะสุดในชีวิต ได้มา 100 บาท’

#3 กฏข้อ 3

เวลาเราพูดอะไรเป็นข้อๆ เป็นขั้นเป็นตอน เรากำลังสร้างความคาดหวังให้อีกฝ่ายอยู่ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบหารูปแบบให้ทุกอย่าง…แม้กระทั้งบทคำพูด เพราะฉะนั้นเวลาคุณเล่าเรื่องเริ่มที่หนึ่งไปสองและจบที่สาม คุณก็สามารถทำให้อีกฝ่ายคาดหวังในเรื่องที่สามตอนจบได้

กฏข้อสามใช้กับอะไรง่ายๆก็ได้ครับ แทนที่จะพูดว่า สีแดง สีขาว สีฟ้า คุณอาจจะพูดว่า สีแดง สีขาว และ สีเขียวมะนาวอมเทา แทนเป็นต้น คุณสามารถพูดให้ ‘ข้อที่สาม’ เป็นอะไรที่โอเวอร์เกินความเป็นจริงจากสองข้อแรก หรือจะพูดให้เป็นสิ่งตรงกันข้ามเลยก็ได้ 

1 ธรรมดา 2 ธรรมดา 3 ตลก/แปลก/เกินความเป็นจริง 

กฏข้อสามใช้ได้ทั้งเวลาพูดและเวลาเขียน แต่ผมคิดว่าการเขียนทำให้คนสามารถ ‘รับรู้รูปแบบ’ ได้ดีกว่า มุขก็เลยจะตลกกว่านิดนึง ยกตัวอย่างเช่น

  • หน้าที่หลักของตำแหน่งนี้คือ การขาย การเงิน และ การดูยูทูป
  • ชอบผัก ผลไม้ และ ผู้ชายหล่อๆ
  • เปาบุ้นจิ้นชอบกินไข่เต่า ส่วนจั่นเจาชอบอมโอเล่ เซเลอร์มูนตาเหล่ตกส้วมตาย

#4 แกล้งเข้าใจผิด สลับตัวละคร

การเล่นกับภาษาก็สามารถทำให้มันตลกได้ แต่ผมไม่ได้หมายความว่าให้เล่นมุข อยากไปซานฟราน (ซานฟรานรีเวิลด์) หรือ ไปเที่ยวเมกา (เมกาบางนา) นะครับ สิ่งที่เราจะทำกันในข้อนี้คือการเล่นกับตัวละครและการเล่นกับสรรพนามนั่นเอง

ภาษาเป็นอะไรที่สวยงามครับ มีการใช้คำศัพท์แทนชื่ออยู่เสมอ เช่น เขา เธอ ชั้น เรา คุณ เวลาใครเล่าเรื่องส่วนมากเค้าก็ไม่ใช่ชื่อคนซ้ำไปซ้ำมาใช่ไหมครับ คนส่วนมาก็ชอบ ‘ใช้สรรพนาม’ ในการอธิบายให้อะไรมันสั้นลง

เวลาที่มีคนเล่าเรื่องอะไรที่มีตัวละครสองคน (ซึ่งก็เป็นทุกเรื่องเหล่ะครับ ยกเว้นหนัง The Martian) เราก็สามารถหาเรื่องทำเป็นแกล้งเข้าใจผิดว่าคิดตัวละครที่พูดถึงนั้นหมายถึงตัวละครอีกตัวแทน คุณอาจจะเล่าเรื่องเองเช่น

หมอ: ‘ใจเย็นไว้นะ เดวิด การผ่าตัดเล็กน้อย ไม่ต้องตื่นเต้น’
คนไข้: ‘คุณหมอ ผมไม่ได้ชื่อเดวิดนะ’
หมอ: ‘หมอรู้ หมอชื่อเดวิด’

หรือจะใช้เป็นการต่อเรื่องของอีกฝ่ายให้เป็นมุขตลกก็ได้

เพื่อน: ‘เราชอบพาหลานไปเที่ยวดิสนีย์แลนด์นะ’
คุณ: ‘…แล้วก็ให้หลานนั่งรอระหว่างแกเล่นเครื่องเล่นใช่มะ’

ข้อดีของการเอาเรื่องเล่าของคนอื่น ‘มาต่อยอดให้ตลกขึ้น’ ก็คือเราจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วมกับมุขตลกนี้ ซึ่งก็จะทำให้อีกฝ่ายชอบเรามากขึ้นด้วย และยิ่งเราสามารถพลิกแพลงเนื้อเรื่องของอีกฝ่ายได้เท่าไรโอกาสในการทำให้บทสนทนามันตลกขึ้นก็มีเยอะขึ้นเท่านั้น เช่น ‘อ๋อเป็นอย่างนี้หรอ แต่ถ้าเป็น XYZ แทนนี่ฮาเลยนะ’

#5 มุขตลกต้องมาทีหลัง

เคยได้ยินไหมครับว่าการเป็นคนตลกมันขึ้นอยู่กับจังหวะและเวลา

เวลาเราเล่าเรื่องตลก ส่วนมากแล้วถ้าเรารีบยิงมุขเร็วไป มันก็อาจจะไม่ตลกก็ได้ สาเหตุก็คือคนส่วนมากต้องใช้เวลาในการซึมซับมุขต่างๆ เราสามารถเรียกสิ่งนี้ว่าการ ‘วอร์มอัพ คนดู’ ก่อน

การ ‘วอร์มอัพคนดู’ ไม่ได้แปลว่าเราต้องบอกคนดูคนฟังว่าเรากำลังจะเล่นมุขนะ เราต้องทำสิ่งตรงกันข้ามคือการทำให้อีกฝ่ายเลิกคิดว่าเราจะเล่นมุข โดยเราสามารถทำได้ด้วยการพูดหรือเล่าเรื่องอื่นเพื่อ ‘ลบความคาดหวัง’ นั้นๆ

มันอาจจะเป็นอะไรที่ใช้การเล่าเรื่องเยอะ อย่างการเก็บ ‘ท่อนฮุค’ ไว้พูดประโยคสุดท้าย หรือการเก็บ ‘คำเฉลย’ ไว้เป็นคำท้ายสุดของประโยคก็ได้ สมมุตว่ามุขของคุณคือ ‘หมอชื่อเดวิด’ แบบข้อที่แล้ว คุณก็ไม่ควรเอา ‘หมอชื่อเดวิด’ มาเป็นตัวเปิดเรื่องใช่ไหมครับ ‘หมอชื่อเดวิด’ เป็นมุขที่ต้องมาหลังจากการแสดงว่าหมอบอกว่าเดวิดกำลังเครียดและคนไข้บอกว่าตัวเองไม่ได้ชื่อเดวิด

นอกจากนั้นในประโยค ‘หมอชื่อเดวิด’ คุณก็จะเห็นได้ว่าคำว่าเดวิดเป็นคำสุดท้ายในประโยค นอกจากเราจะเก็บมุขไว้ท้ายสุดของเรื่องแล้ว เรายังเก็บ ‘คำเฉลย’ ไว้ท้ายสุดของประโยคอีกด้วย

สรุปวิธีการเป็นคนตลกอย่างง่ายๆ

หลังจากที่คุณเล่นมุขไปแล้ว คุณยังสามารถนำมุขอื่นๆที่เคยเล่นไปแล้วมาพูดใหม่อีกรอบได้ด้วย ถ้าคนฟังได้หัวเราะกับมุขนี้ไปแล้ว เพียงแค่คุณนำกลับมาพูดเล็กๆน้อยๆคนฟังก็จะขำตามแล้วครับ โน๊ตอุดมใช้วิธีนี้บ่อยมาก เวลาโน๊ตอุดมเล่าเรื่องอะไรไปแล้วจะชอบกลับมาโยงเรื่องให้เข้ากับมุขอื่นๆของตัวเอง

สุดท้ายแล้วการเป็นคนตลก…ก็ต้องใช้การฝึกซ้อมครับ ต่อให้เรารู้จักทริคที่ผมเขียนมาแล้ว ยังไงคุณก็ต้องฝึกพูด ฝึกหาจังหวะ หรือแม้กระทั้งเปิดอินเตอร์เนตหามุขจดไว้ใช้ทีหลัง

ในช่วงแรกๆ ให้คุณเริ่มจากมุขอะไรใกล้ตัวหรืออะไรง่ายๆก่อน ผมคิดว่ามุขตลกที่ต้องเล่าเรื่องเกริ่นนำยาวๆเป็นอะไรที่ยาก เพราะคุณต้องสามารถเรียกร้องความสนใจของอีกฝ่ายได้ให้ในระยะยาว (อาจจะหลายนาที) กลับกันถ้าคุณหาจังหวะพูดแค่หนึ่งคำหรือหนึ่งประโยคเวลาอีกฝ่ายกำลังเล่าเรื่องหรือพูดอยู่ มันก็อาจจะง่ายกว่ามาก

สิ่งแรกที่คุณต้องทำให้ได้คือ ‘ใส่ใจกับสิ่งที่อีกฝ่ายพูด’ ถ้าคุณไม่เข้าใจมุมมองของผู้ฟังคุณก็จะไม่สามารถเล่นกับความคาดหวังของอีกฝ่ายได้ 

ถ้าคุณลองศึกษาพวกตลกมืออาชีพดู คุณจะเห็นว่าคนพวกนี้ไม่ได้เป็นคนที่ตลกมาตั้งแต่แรก โอเค ผมยอมรับว่าคนพวกนี้คงชอบเสียงหัวเราะและเป็นคนที่มีอารมณ์ดีในระดับหนึ่ง แต่กว่าที่คนพวกนี้จะกลายเป็น ‘ตลกมืออาชีพ’ เค้าก็ต้องมีการฝึกมุข ฝึกจังหวะ มานับไม่ถ้วน

การเป็นคนตลกเป็นทักษะเข้าสังคมที่ดีครับ หากคุณอยากเป็นคนที่ตลกขึ้น ผมแนะนำให้ลองดูคลิปตลกที่คุณชอบและลองวิเคราะห์ดูว่าในคลิปพวกนี้ เนื่องเรื่องเริ่มยังไง ความคาดหวังของคนดูคืออะไร และสิ่งที่คลิปหักความคาดหวังของเราเป็นยังไงกันแน่

บทความล่าสุด