ปัจจุบันปัญหาการบลูลี่ เป็นปัญหาที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกๆ สังคม และเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ทำให้มีผู้เคราะห์ร้ายที่ต้องทนกับความทุกข์จากการถูกกลั่นแกล้ง รังแกจากคนอื่นเป็นจำนวนมาก ดังนั้นบทความนี้จะมานำเสนอ 15 วิธีการแก้ปัญหาการบูลลี่ การกลั่นแกล้งในสังคมไม่ว่าจะเป็นสังคมโรงเรียนหรือที่ทำงาน ซึ่งได้รวบรวมมาให้ไว้แล้วดังต่อไปนี้
15 วิธีการแก้ปัญหาการบูลลี่ ที่สังคมต้องรู้
#1 เมื่อรู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกบูลลี่ ให้ตั้งสติ แล้วสำรวจตัวเอง
ไม่ว่าจะเป็นสังคมในโรงเรียน หรือสังคมที่ทำงาน หากตัวเองกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกบูลลี่ อาจจะด้วยคำพูด หรือการกระทำ สิ่งแรกที่คุณต้องทำคือ ตั้งสติก่อน เพราะมันอาจจะเป็นความผิดของคุณ หรืออาจจะไม่ใช่ความผิดของคุณก็ได้
หลังจากนั้นให้ลองสำรวจ ตรวจสอบตนเองดูว่า ได้เผลอทำอะไรให้คนอื่นไม่พอใจหรือไม่ บางครั้งการกระทำของเราที่ไม่ตั้งใจก็อาจจะทำให้มีคนที่ไม่พอใจเราก็ได้เหมือนกัน แต่หากสำรวจตัวเองดีแล้ว พบว่าตัวเองผิดจริงๆ ก็ควรขอโทษ และแก้ไขปัญหานั้น
#2 ไม่ตอบโต้ ใช้ความนิ่งเข้าสู้
เมื่อสำรวจ ตรวจสอบตัวเองอย่างแน่ใจแล้ว พบว่าปัญหานั้น ไม่ได้เกิดจากตัวคุณจริงๆ แต่ปัญหามันเกิดจากคนอื่น ดังนั้นคุณจึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องพยายามเปลี่ยนแปลงตนเองให้คนเหล่านั้นพอใจ แต่ให้เปลี่ยนความคิดใหม่ว่า มันไม่ใช่ปัญหาของคุณ สิ่งที่คุณสามารถทำได้คือ ไม่ไปตอบโต้
เพราะเมื่อใดที่เราตอบโต้ จะทำให้เข้าทางฝ่ายที่กลั่นแกล้ง เนื่องจากธรรมชาติของคนที่ชอบกลั่นแกล้ง ต้องการเห็นเหยื่อมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งที่ตัวเองทำลงไป การใช้ความนิ่งเข้าสู้ก็อาจจะทำให้เขารู้สึกว่าทำไม่ได้อย่างที่หวัง จนเบื่อแล้วถอดใจเลิกแกล้งไปในที่สุด
#3 พยายามทำความเข้าใจฝ่ายที่ชอบกลั่นแกล้ง
นอกจากจะปรับความคิดและทัศนคติของตัวเองแล้ว ในบางกรณีก็ควรที่จะพยายามทำความเข้าใจ หรือควรจะลองให้ความเห็นใจต่อผู้ที่กลั่นแกล้งด้วย เนื่องจากว่าผู้ที่ชอบกลั่นแกล้งผู้อื่นอาจจะมีปมด้อยหรือปัญหาทางใจของตัวเองอยู่ แล้วไม่รู้วิธีที่จะจัดการกับปัญหานั้น จนมาระบายลงกับผู้อื่นก็เป็นได้
ในส่วนนี้ผมแนะนำให้อ่านบทความเรื่อง Empathy ของผมนะครับ แล้วจะเข้าใจได้ดีมากขึ้นว่าการเข้าอกเข้าใจจะช่วยแก้ปัญหาให้เราได้อย่างไรบ้าง ทักษะการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น คืออะไรกัน
#4 ลองเปิดใจคุย
ถ้าหากไม่ตอบโต้และใช้ความนิ่งเข้าสู้แล้ว สถานการณ์ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นเลย ก็ต้องลองเปิดใจคุยกันดูสักตั้ง ว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้ต้องมากลั่นแกล้งกันแบบนี้ ไม่ชอบพฤติกรรมที่เขาปฏิบัติต่อเรา โดยต้องกล้าแสดงความไม่พอใจที่มีต่อการกระทำของเขาให้เจ้าตัวรับรู้ และต้องพยายามสื่อสารอย่างจริงใจด้วยคำพูดที่สุภาพ
เพราะบางครั้งผู้ที่มีพฤติกรรมแบบนี้จะไม่รับรู้ว่าผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมีความรู้สึกอย่างไร จึงกระทำการกลั่นแกล้งซ้ำๆ และเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถทำได้ ดังนั้นการแสดงออกไปว่าเราไม่พอใจกับพฤติกรรมนั้น อาจจะทำให้เขาตระหนักได้ถึงความรู้สึกของเหยื่อผู้ถูกกระทำ แล้วมีแนวโน้มที่จะกลั่นแกล้งน้อยลง หรือเลิกพฤติกรรมนั้นลงได้
#5 อย่าไปใส่ใจกับการกระทำของคนแบบนั้น
เราไม่สามารถให้ความสำคัญกับทุกๆ คนบนโลกใบนี้ได้ เพราะฉะนั้นเราจึงควรที่จะแยกแยะคนที่ควรให้ความสำคัญหรือคนที่ไม่ควรเสียเวลาปฏิสัมพันธ์ด้วยให้ได้ ในขณะที่ยังมีคนอีกมากมายที่รักเราและค่อยสนับสนุนเรา แต่ถ้าเรามัวเอาเวลาไปให้ความสำคัญกับคนผิดคน จะเป็นตัวเราเองนั่นแหละที่รู้สึกแย่ในท้ายที่สุด
#6 อย่าแยกตัวออกมาอยู่คนเดียว
การแยกตัวออกมาอยู่คนเดียวเงียบๆ ไม่ได้ทำให้ความเครียดหรือปัญหาที่มีอยู่ลดลง แถมยังทำให้ความภาคภูมิใจและความมั่นใจของผู้ที่ถูกกระทำลดลงอีกด้วย
ดังนั้น การหนีปัญหาโดยการปลีกตัวออกมาอยู่คนเดียวจึงไม่ใช่การแก้ปัญหาการบูลลี่ที่ดี แต่เราควรเข้าหาผู้คนเพื่อที่จะสามารถช่วยให้คำปรึกษาและร่วมด้วยช่วยกันหาแนวทางแก้ปัญหาที่ถูกต้องและตรงประเด็นดีกว่า
#7 ปรึกษาครอบครัว ครูอาจารย์เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน หรือคนที่ไว้ใจได้
กรณีปัญหาการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่เหยื่อผู้ถูกกระทำนั้น ไม่ได้บอกให้พ่อแม่หรือครูอาจารย์ได้รับรู้ อาจเนื่องจากการถูกข่มขู่โดยผู้ที่รังแกทำนองว่า ไม่ให้ไปฟ้องใคร ไม่อย่างนั้นจะโดนรังแกหนักกว่านี้ จึงทำให้ตัวเหยื่อผู้ถูกกระทำไม่กล้าที่จะบอกพ่อแม่ หรือครูอาจารย์
ดังนั้น เราไม่ควรเก็บปัญหาไว้กับตัวเองคนเดียว หรือเพิกเฉยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การกล้าที่จะบอกปัญหาของตนกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครูอาจารย์ เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะได้ช่วยกันรับมือและหาวิธีแก้ไขปัญหาร่วมกันได้อย่างตรงจุด ส่วนในสังคมการทำงานอาจจะลองปรึกษากับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้าที่ไว้ใจได้ เพื่อขอแนวทางแก้ปัญหา
#8 การมองเห็นคุณค่าในตัวเอง
เราไม่มีความจำเป็นที่ต้องให้ความสำคัญกับคำพูดของคนที่ว่าเรา หรือด่าเราเสียๆ หายๆ สิ่งที่ต้องทำคือ การเป็นตัวของตัวเองโดยที่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ควรยอมรับในตัวตนของตนเอง ถึงแม้จะมีจุดด้อย แต่ก็ยังมีข้อดีอีกมากมายที่ไม่มีใครรับรู้ นอกจากตัวเราเอง
#9 หาต้นแบบที่ดี
การที่เรามีบุคคลต้นแบบที่ดีนั้น จะทำให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการถูกกลั่นแกล้งมองเห็นคุณค่าของตัวเองผ่านบุคคลต้นแบบของตนเอง เนื่องจากการที่ผู้ถูกกระทำมีบุคคลต้นแบบที่ดีนั้นก็จะสามารถทำให้ได้รับรู้อีกว่า ยังมีอีกหลายคนที่เคยประสบพบเจอปัญหาในลักษณะเดียวกัน แต่บุคคลเหล่านั้นก็สามารถก้าวข้ามผ่านปัญหาการถูกกลั่นแกล้งมาได้ จนสามารถที่จะประสบความสำเร็จในที่สุด ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาในการที่ผู้ถูกกระทำเกิดความสับสนในตัวเองและทำให้เกิดการรักตัวเองมากขึ้นอีกด้วย
#10 เลิกมองว่าตัวเองเป็นปัญหา
การมีอัตลักษณ์ บุคลิกภายนอกที่แตกต่างจากคนอื่น เช่น เชื้อชาติ เพศสภาพ รูปร่างหน้าตา ฯลฯ ไม่ใช่ปัญหาของเราซึ่งเป็นฝ่ายที่ถูกกระทำ แต่เป็นเพียงทัศนคติแบบผิดๆ ของผู้กระทำที่มีต่อผู้อื่นต่างหาก
#11 เก็บหลักฐานและหาพยาน
ในบางครั้งการถูกกลั่นแกล้งนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับบุคคลเพียงคนเดียวเท่านั้น การที่เราหาผู้ที่ร่วมถูกกระทำจะเป็นการเพิ่มหลักฐานและพยาน เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือโดยให้พยานซึ่งเป็นผู้ที่ร่วมถูกกระทำยืนยันถึงพฤติกรรมของคนที่กลั่นแกล้งหรือรังแกผู้อื่น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการเอาผิดตัวผู้ลงมือกระทำต่อไป
และในกรณีที่โดนกลั่นแกล้งเรื่องงาน ยังจะใช้เป็นหลักฐานในการปกป้องตนเองจากการถูกกลั่นแกล้งว่าเราไม่ใช่ฝ่ายผิด แต่มีคนตั้งใจให้เราผิด โดยอาจจะบันทึกเหตุการณ์ ด้วยการถ่ายรูปหรือบันทึกเสียง เป็นต้น
#12 การดำเนินคดีตามกฎหมาย
บางคนอาจจะยังไม่ทราบ ในบางกรณีการถูกกลั่นแกล้งที่รุนแรงมากๆ จนเกินเลยขอบเขตที่ยอมรับได้ ไม่ว่าจะใช้คำพูดด่าทอถึงเชื้อชาติ เพศสภาพ หรือโดยใช้กำลังและความรุนแรงกับผู้อื่น รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลเท็จของผู้อื่นลงในอินเทอร์เน็ต ทั้งหมดล้วนเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น และถ้าหากว่าพบเจอการกลั่นแกล้งที่รุนแรงลักษณะนี้ ก็สามารถรายงานเรื่องนี้ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ เพื่อที่จะนำไปดำเนินคดีทางกฎหมายต่อไป
#13 หาวิธีจัดการกับความเครียด
ในบางครั้งก็จำเป็นที่ต้องหาวิธีจัดการกับความเครียดที่ได้รับจากการถูกกลั่นแกล้งนั้น เพราะปฎิเสธไม่ได้เลยว่า ปัญหาการถูกกลั่นแกล้ง รังแกในสังคมนั้น สร้างความเครียดและผลกระทบต่างๆ ให้แก่ผู้ที่ถูกกระทำเป็นอย่างมาก
นอกจากการที่บอกหรือปรึกษาปัญหากับคนที่ไว้ใจได้แล้ว เราก็ควรมองหาสิ่งใหม่ๆ หรือกิจกรรมทำ เพื่อช่วยผ่อนคลายความเครียดที่มีอยู่ เช่น การดูหนัง ฟังเพลง การออกไปเที่ยว การไปรับประทานอาหารนอกบ้านกับครอบครัว หรือการออกกำลังกาย เป็นต้น เพื่อจะจัดการกับความเครียดของตัวเอง ทำให้ไม่หมกมุ่นกับปัญหาที่เกิดขึ้น และยังช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจให้ดีขึ้น
#14 เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม
กรณีที่เกิดการกลั่นแกล้ง รังแกที่รุนแรงในหลายๆ ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นในโรงเรียนหรือที่ทำงาน จนบางครั้งก็อาจจะบานปลายไปถึงขั้นเกิดการลงไม้ลงมือกันเกิดขึ้น หรือโดนกลั่นแกล้งอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ทำให้ผู้ที่ถูกกระทำเกิดความเครียดสะสมจนอาจกลายเป็นภาวะซึมเศร้าได้ และทำให้ไม่มีสมาธิหรือกะจิตกะใจที่จะตั้งใจเรียนหรือทำงาน ซึ่งไม่แม้แต่ส่งผลต่อการเรียนและการทำงานเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อเรื่องส่วนตัวอีกด้วย เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมใหม่จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
#15 มั่นดูแลสุภาพกายและสุขภาพจิต
การถูกกลั่นแกล้งนั้น มักจะสร้างบาดแผลหรือปมในใจให้แก่เหยื่อผู้ที่ถูกกระทำไม่มากก็น้อย บางคนก็อดทนและเก็บกดมันไว้คนเดียว หาทางออกไม่ได้ จนทำให้ส่งผลแย่ต่อสภาพร่างกายได้ เช่น อาการนอนไม่หลับจากการมีความเครียดสะสม อาการเบื่ออาหาร เป็นต้น
เช่นเดียวกัน การถูกกลั่นแกล้งเป็นเวลานานก็อาจส่งผลต่อทั้งสภาพร่างกายและจิตใจอีกด้วย ดังนั้น การไปพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำปรึกษาและช่วยให้คำแนะนำให้ตรงจุดจากนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์โดยตรง ก็ถือเป็นการใส่ใจในการดูแลสุขภาพของตัวเองอย่างหนึ่ง
สุดท้ายนี้กับการแก้ปัญหาการบูลลี่
การกลั่นแกล้งกันในสังคม เป็นปัญหาที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นไม่ว่ากับใครหรือในสังคมแบบไหนก็ตาม และปัญหานี้ควรได้รับทางแก้ไขอย่างจริงจังสักที เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถรับมือกับการกลั่นแกล้งได้ทุกครั้ง และสำหรับใครที่กำลังประสบปัญหาการถูกกลั่นแกล้งแบบนี้อยู่ แนะนำให้ลองนำ 15 วิธีนี้ไปปรับใช้ดูครับ และเชื่อว่าทุกคนจะสามารถก้าวข้ามปัญหานี้ไปได้ด้วยดี แล้วจะเติบโตเป็นคนที่เข้มแข็งมากขึ้นกว่าเดิมในอนาคต
บทความเกี่ยวข้องที่เราแนะนำ
- การบูลลี่ คืออะไร – สาเหตุและการแก้ปัญหา Bully ในสังคม
- Mindfulness คืออะไร? เหมือนกับ Meditation หรือเปล่า?
- ความสุขที่แท้จริงคืออะไร? นิยามความสุขที่แท้จริง
บทความล่าสุด
การจัดโต๊ะคอมให้สวยถูกใจ พร้อมฟังก์ชันการใช้งานครบครัน...
ในมุมมองหนึ่ง ‘ลูกคนกลาง’ ดูเหมือนจะต้องแบกรับภาระทางใจอันหนักอึ้ง...