หลาย ๆ คนอาจจะเข้าใจด้วยซ้ำไปว่า การบ่นไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น เท่ากับการลงมือเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง แม้ว่าตัวเราอาจจะบอกว่า การบ่นเหมือนได้ระบายความอัดอั้นตันใจก็ตาม
แต่สุดท้ายแล้วข้อเสียของการบ่นนั้น มีมากมายกว่าข้อดี กลายเป็นว่ายิ่งบ่นมากเท่าไหร่ ชีวิตกลับแย่ลงไปกว่าเดิมเสียอีก ในต่างประเทศถึงขนาดมีแคมเปญรณรงค์ เตือนสติตัวเองให้เลิกบ่น แล้วเอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์ ดังนั้น หากอยากเลิกเป็นคนขี้บ่น มารวมกันตรงนี้เลย
เรามาลองปรับเปลี่ยนตัวเองใหม่กันดีกว่า หัดปล่อยวางกับเรื่องต่าง ๆ ที่ทำให้หงุดหงิดกวนใจ ลดการสร้างมลภาวะทางอารมณ์ให้กับคนรอบข้าง พยายามคิดบวกเท่าที่จะทำได้ เพื่อจะได้มองเห็นโลกในมุมมองใหม่ ๆ แต่จะทำอย่างไร ให้เป็นคนเลิกบ่นจู้จี้น่ารำคาญได้นั้น วันนี้เราจะมาแนะนำวิธีเลิกบ่น (ให้ชีวิตดีขึ้น)
8 วิธีเลิกบ่น (ทำแล้วชีวิตจะดีขึ้น)
1. ตั้งสติให้อยู่กับตัว
ส่วนใหญ่ของการบ่นพร่ำเพรื่อนั้น เกิดจากสาเหตุที่ไม่ได้ดังใจ โมโห หรือโกรธจนสติหลุดออกจากร่าง การฝึกตัวเองให้รู้จักอดทน สงบเยือกเย็น เป็นทางเลือกข้อแรกที่เราอยากแนะนำ
ไม่ว่าจะพบเจอเหตุการณ์อะไรที่ไม่ถูกใจ ให้เรานิ่งไว้ก่อน นับ 1-100 ค่อย ๆ มองปัญหานั้นอย่างรอบด้าน หากเราดึงสติยับยั้งการพูดออกไปได้ นั่นเท่ากับเราทำสำเร็จไปได้ครึ่งทางแล้ว
นอกจากนั้น หากเราเป็นคนที่นิ่งเป็น ยังช่วยให้เรากลายเป็นคนสุขุมรอบคอบ มีเวลาไตร่ตรองปัญหา จนสามารถเลือกวิธีจัดการกับปัญหาต่าง ๆ อย่างคนฉลาด และเข้าใจอะไร ๆ ได้ดี ดังนั้น ไม่ว่าจะพบเจออะไร ให้เริ่มต้นตั้งสติให้มั่นคง มีสมาธิอยู่ตลอดเวลา เพราะบางครั้งถึงจะพูดอะไรออกไป หรือระบายออกไปทันที ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรแบบชั่วขณะได้เช่นเดียวกัน
2. ปรับเปลี่ยนสไตล์สนทนา
การบ่น เป็นอาการทางการแพทย์ ที่บอกว่าเป็นการพูดชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะการพูดในระดับเสียงที่แตกต่างกันตามอารมณ์ มีตั้งแต่เบา ๆ ค่อย ๆ เหมือนการพึมพำคนเดียว ไปจนถึงเสียงดังแบบฟังชัดเจน ขึ้นอยู่กับเจตนาของคนบ่น หรือขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่ทำงาน
ซึ่งวิธีการพูดออกมานี่แหละ ที่เป็นตัวสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นได้อยู่บ่อย ๆ เมื่อเราเข้าร่วมวงสนทนา หรือพยายามบ่นให้คนหนึ่งคนใดฟัง
นั่นก็เพราะน้ำเสียง รวมถึงบุคลิกในการพูดหรือบ่นนั้น อาจถูกตีความไปได้หลายแง่มุม โดยที่บางครั้งเราเองไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อเราเป็นคนที่พูดน้อยลง เราก็จะกลายเป็นคนที่บ่นน้อยลงด้วย รวมไปถึงการโดดเข้าร่วมวงวิจารณ์เหตุการณ์ต่าง ๆ
หากเราเองรู้ตัวเองว่า มีขีดจำกัดด้านอารมณ์ ก็พยายามหลีกเลี่ยงที่เข้าไปรับฟังรับรู้ในทุก ๆ เรื่อง ก็จะเป็นการดี เพราะหากไปได้ฟังอะไรที่ไม่ตรงกับใจขึ้นมา ก็จะกลายเป็นปัญหา เอามาบ่นได้อีกเหมือนกัน
3. ลด ละ เลิกจดจ่อ กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
ปัญหาหนึ่งที่ทำให้หลายคนเป็นคนที่ชอบบ่น ก็เพราะจริงจังมากเกินไป หรือเมื่อรู้สึกว่าไม่พอใจ ไม่สามารถปล่อยผ่านเรื่องนั้นเรื่องนี้ไปไม่ได้เมื่อไหร่ การบ่นก็มักจะเริ่มทำหน้าที่โดยไม่รู้ตัว
เมื่อเรารู้สาเหตุว่า การจดจ่อกับอะไรมากไป ทำให้เรากลายเป็นคนบ่นพร่ำเพรื่อ ก็ให้ลดระดับความสนใจกับสิ่งนั้น ๆ ลงไปบ้าง ปรับระดับให้ลงมาแบบเป็นปกติ
ถอยออกมาห่าง ๆ สักหนึ่งก้าว ปล่อยวางสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากการควบคุม แล้วมองกลับไปที่เรื่องจดจ่อในมุมใหม่ อาจจะเข้าใจมากขึ้น จนเลิกบ่นได้เองโดยไม่รู้ตัว
4. อย่าวิตกกังวลจนมากเกินไป
ส่วนใหญ่เมื่อเจอกับสถานการณ์รุมเร้า ไม่ว่าจะเรื่องงานหรือเรื่องอื่น ๆ ก็จะเริ่มวิตกกังวล เมื่อวิตกกังวลมาก ๆ ก็ระบายออกด้วยการบ่นกับคนรอบข้าง
ซึ่งการบ่นนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องราวในแง่ลบ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครอยากรับฟัง การแก้ปัญหาคือต้องสังเกตตัวเองให้ดีว่า วิตกกังวลกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ มากเกินความเป็นจริงหรือเปล่า?
อย่าปล่อยให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อความฟุ้งซ่าน หรือหมกมุ่นครุ่นคิด รีบพาตัวเองกลับมาอยู่ในสถานการณ์ปกติให้ได้
การวิตกกังวลนั้น อีกส่วนหนึ่งก็มาจากความคาดหวังที่มากเกินไปด้วย เช่น คาดหวังว่างานจะเสร็จเร็วกว่ากำหนด ไม่มีอะไรต้องแก้ พอผิดจากที่คาดไว้ก็รับไม่ได้ และทำให้กังวลมากเกินไป
หรือหากเป็นเรื่องครอบครัว อาจคาดหวังว่าบ้านต้องสะอาดเป็นระเบียบตลอดเวลา หรือลูกต้องไม่ดื้อ ไม่ซน ซึ่งหากไม่เป็นไปอย่างที่ควรเป็น ก็จะบ่นออกมาบ่อย ๆ จนกลายเป็นคนจู้จี้จุกจิกขี้บ่นไปเลย
5. ท่องจำคำว่า ไม่เป็นไร ให้แม่น
การบ่นนั้นเกิดเพราะยึดติดกับปัญหา ปล่อยวางไม่ลง จนทำให้ความสุขในชีวิตถูกเบียดเบียนออกไปทีละน้อย หลายคนอาจจะบอกว่า ไม่เห็นจะเป็นไรเลย ก็แค่บ่นกับตัวเองคนเดียว
แต่อย่าลืมตอบคำถามด้วยว่า เมื่อบ่นแล้วอะไร ๆ มันดีขึ้นหรือเปล่า ซึ่งแน่นอนว่า นอกจากไม่มีอะไรดีขึ้นแล้ว ยังเพิ่มความไม่พอใจ อารมณ์โกรธโมโหเข้ามาอีกด้วย และที่สำคัญไม่ว่าเราจะบ่นเบาสักแค่ไหน หากมีคนได้ยินก็จะเป็นการทำลายบรรยากาศดี ๆ
แต่หากลองปรับความคิดตัวเองใหม่เมื่อเจอปัญหา เจอเรื่องหงุดหงิดใจเมื่อไหร่ ให้รีบพูดคำว่า “ไม่เป็นไร” ออกมา เพื่อสะกดใจตัวเองเอาไว้ให้อยู่กับการปล่อยวาง มองโลกให้สวยงามอยู่ตลอดเวลา
เช่น ลูกน้องส่งงานไม่ทัน ก็บอกตัวเองแทนการบ่นว่า ไม่เป็นไร พรุ่งนี้ยังมีเวลา แล้วมองหาสาเหตุว่าทำไมทำงานไม่ทัน หรือหากขับรถกลับบ้าน เจอรถเบียดเปลี่ยนช่องเลนกะทันหัน ก็บอกตัวเองเลยว่า ไม่เป็นไร ใช้ถนนสาธารณะร่วมกัน แบ่ง ๆ กันไป
6. พูดคำว่า แต่ บ่อย ๆ
ในชีวิตแต่ละวัน อาจจะต้องเจอกับเรื่องไม่ถูกใจบ่อย ๆ อาจจะเพราะไลฟ์สไตล์ หรือเทคโนโลยีของคนในยุคปัจจุบัน รวมไปถึงสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปมากด้วย ทำให้ความคิดของคนแต่ละ Gen อาจจะคิดไม่ตรงกัน
จนทำให้หลายคนปรับตัว หรือก้าวตามไม่ทัน จนกลายเป็นความอึดอัดขัดใจ ไม่ได้อย่างที่คิด แล้วก็ระบายออกมาด้วยการบ่น เพื่อหวังจะให้อะไร ๆ มันดีขึ้น
นอกจากคำว่าไม่เป็นไรแล้ว อีกคำหนึ่งที่ใช้งานได้ดีไม่แพ้กันคือคำว่า “แต่” คำว่าแต่เป็นเทคนิคการคิดแบบ Positive Thinking หรือคิดในทางบวก เป็นการหาทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น และช่วยลดสภาวะทางอารมณ์ที่ดี
การปรับมุมมองจะช่วยให้เราเปลี่ยนการบ่น ให้เป็นความคิดสร้างสรรค์ เช่น เพื่อนร่วมงานคนนี้ทำงานไม่เก่งเลย แต่เขาก็เป็นคนขยันมากนะ หรือหากเป็นเรื่องครอบครัว ลูกของเราเรียนเลขไม่เก่งเลย แต่เขาก็เก่งภาษาอังกฤษนะ
7. ฝึกฝน การเลิกบ่น ให้เชี่ยวชาญ
การบ่นเมื่อเป็นนิสัยแล้วเป็นเรื่องที่เลิกยาก การจะเลิกบ่นนั้น ไม่สามารถทำได้ทันทีทันใด ต้องค่อย ๆ ลดลง แบบค่อยเป็นค่อยไป แต่การเลิกบ่นก็สามารถฝึกฝนได้เช่นเดียวกัน สามารถฝึกได้ทุกวันทุกเวลา เพราะเมื่อเราตั้งสติได้แล้ว โอกาสที่เราจะควบคุมความคิดตัวเองก็เปิดกว้างมากขึ้น
อันดับแรกเลยเมื่อรู้ตัวว่าเริ่มพึมพำ หรือเริ่มจะบ่นเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมา เมื่อนึกขึ้นได้ต้องรีบหยุดทันที และหันมาเตือนตัวเอง อาจจะพูดกับตัวเองเบา ๆ หรือหักคะแนนความประพฤติ หรือใช้วิธีปรับท่าที ปรับวิธีการพูดเสียใหม่
ให้เปลี่ยนจากการบ่นเป็นการพูดออกมาในระดับเสียงของการสนทนา เหมือนฝึกพูด การบ่นก็จะลดระดับลงมาเอง เมื่อเริ่มบ่นเมื่อไหร่อีก ก็รีบเตือนตัวเองทันที ทำแบบนี้ทุกครั้ง กระตุกต่อมบ่นบ่อย ๆ ทำให้ชิน ก็จะค่อย ๆ เลิกบ่นไปเอง
8. ยกย่องคนอื่นให้เคยชิน
ในการทำงาน ที่เปลี่ยนให้หลายคนกลายเป็นคนขี้บ่น ก็เพราะมุ่งหวังในความสำเร็จมากเกินไป จนกลายเป็นการคาดคั้นเอากับผู้อื่น และเมื่อไม่ได้ดังใจ ก็เปลี่ยนการคาดคั้นมาเป็นการบ่น
ซึ่งอาจจะเป็นการทำลายมิตรภาพลงอย่างไม่รู้ตัว ลองนึกทบทวนดี ๆ ว่า การที่เราโหยหาความสำเร็จนั้น บางครั้งเราเคร่งเครียด จนตั้งแง่กับคนอื่น ๆ มากเกินไปหรือเปล่า
เมื่อคิดว่าตั้งแง่มากไป ก็ลองเปลี่ยนจากการบ่นมาเป็นการยกย่องผู้อื่น เลิกตั้งแง่หรือจับผิดผู้อื่นแทน เปลี่ยนมาเป็นสนใจในเรื่องที่เขาทำมากขึ้น เพื่อสร้างความสำเร็จร่วมกัน
เลิกคิดว่าใครทำงานหนักกว่าใคร หรือมากกว่าใคร เปลี่ยนมุมมองใหม่ เป็นชมเพื่อนร่วมงานทุกครั้งที่มีโอกาส หรือให้คำแนะนำทุกครั้งที่เกิดปัญหา โฟกัสไปที่ตัวงาน แทนตัวบุคคล เมื่อทำแบบนี้บ่อย ๆ อาการขึ้หงุดหงิดก็จะหายไป โลกกลับมาสดใสมากขึ้น และการบ่นจู้จี้จะห่างหายไปเลย
เมื่อรู้แล้วว่าการบ่น ไม่ใช่ทางออกของปัญหา แต่การบ่นหรือการระบายอะไร ๆ ออกมาในแง่ลบนั้น เป็นตัวการทำให้ชีวิตตัวเองและคนรอบข้างรู้สึกแย่มากขึ้น ยิ่งเป็นคนขี้บ่นมากเท่าไหร่ หันมาอีกทีคนรอบข้าง คนใกล้ ๆ ตัว ก็หายกันไปหมดแล้ว
ดังนั้น อย่าปล่อยให้ตัวเองกลายเป็นคนขี้บ่น จุกจิกน่ารำคาญ ปรับแก้ตามวิธีเลิกบ่น (ให้ชีวิตดีขึ้น) ที่เราแนะนำเอาไว้ ค่อย ๆ ลองทำไปทีละข้อ ในเวลาไม่นานเมื่อเลิกบ่นได้แล้ว เพื่อนฝูงก็จะกลับมาห้อมล้อมเหมือนเดิมอย่างแน่นอน
บทความล่าสุด
การจัดโต๊ะคอมให้สวยถูกใจ พร้อมฟังก์ชันการใช้งานครบครัน...
ในมุมมองหนึ่ง ‘ลูกคนกลาง’ ดูเหมือนจะต้องแบกรับภาระทางใจอันหนักอึ้ง...