เคยมีคนบอกไว้ว่า ‘ความสำเร็จก็เหมือนดาบสองคม’ สามารถทำให้เรามีความสุขได้ แต่ในอีกรูปแบบหนึ่งก็ทำร้ายเราได้เช่นกัน หนึ่งในข้อเสียของ ‘ความเจ็บปวดจากความสำเร็จ’ นั้นก็คือไม่มีใครสามารถเข้าใจเรา ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง หรือ Imposter Syndrome นั้นมีความน่ากลัวมาก
ในบทความนี้เรามาดูกันว่าโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง หรือ Imposter Syndrome คืออะไรกันแน่ มีสาเหตุมาจากอะไร และ วิธีรักษาเบื้องต้นมีอะไรบ้าง
Imposter Syndrome คืออะไร
Imposter Syndrome หรือ โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง คือคำศัพท์ทางจิตวิทยาที่ใช้อธิบายพฤติกรรมเวลาคนคิดว่าตัวเองไม่คู่ควรกับความสำเร็จหรือสิ่งที่ได้มา และมักคิดสงสัยเรื่อยๆว่าตัวเองเป็นตัวปลอมหรือคนหลอกลวง จนทำให้มองตัวเองว่าไร้ค่า
โดย Imposter Syndrome ก็ถือว่าเป็นอาการทางจิตเวชอย่างหนึ่ง ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาก็อาจทำให้เกิดอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวล
คำว่า Imposter Syndrome เป็นคำศัพท์ที่ถูกคิดค้นขึ้นเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว ในงานวิจัยของนักจิตวิทยา Pauline Rose Clance และ Suzanne Imes งานวิจัยทั้งหลายระบุไว้ว่าทั้งผู้ชายและผู้หญิงก็สามารถกดดันตัวเอง คิดว่าตัวเองไม่เก่งได้ ในปัจจุบัน โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่งถือว่าเป็นอาการของคนที่ไม่สามารถ ‘อธิบายหรือยอมรับความสำเร็จตัวเองได้’
และต่อมานักจิตวิทยาที่ชื่อว่า Valeire Young ก็ได้ ‘จำแนก’ Imposter Syndrome ออกมาเป็น ห้าประเภท
Imposter Syndrome 5 ประเภท ของโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง
Imposter Syndrome สามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ตามสาเหตุของความกลัวในความคิดว่าตัวเองไม่เก่ง ได้แก่ 1. Perfectionist ผู้รักความสมบูรณ์แบบ 2. Superwoman/man ยอดมนุษย์ 3. Natural Genius อัจฉริยะแต่กำเนิด 4. Soloist คนชอบทำอะไรด้วยตัวเอง และ 5. Expert ผู้เชี่ยวชาญ
5 ประเภทของ Imposter Syndrome นี้เป็นแค่วิธีจำแนกความกลัว ความกดดันตัวเอง แบบพื้นฐาน คนบางคนอาจจะประกอบไปด้วยความกลัวหรือความไม่มั่นใจในตัวเองหลายอย่าง ซึ่งก็จะทำให้แสดงอาการไม่มั่นใจในตัวเองหลายประเภท
#1 Perfectionist ผู้รักความสมบูรณ์แบบ
Perfectionist หรือผู้รักความสมบูรณ์แบบ เป็นกลุ่มคนที่มีสิทธ์เป็น Imposter Syndrome ได้ง่าย คนที่รักความสมบูรณ์แบบส่วนมากจะไม่พอใจกับอะไรง่ายๆ บางครั้งเพียงแค่ทำผิดหรือล้มเหลวนิดๆหน่อยๆก็จะรู้สึกไม่พอใจ หมายความว่าต่อให้ประสบความสำเร็จมากแค่ไหน ตราบใดที่ทุกอย่างไม่สมบูรณ์แบบ เป้าหมายไม่เป็นอย่างที่คาดหวังไว้ทั้งหมด Perfectionist ก็รู้สึกไม่ดีอยู่ดี
คนประเภทนี้มีแนวโน้มที่จะอยากควบคุมทุกสิ่ง (control freaks) หมายความว่าถ้า Perfectionist อยากจะให้อะไรสมบูรณ์แบบ ส่วนมากก็จะอยากทำเอง ไม่อย่างนั้นก็จะไม่พอใจหรือรู้สึกกังวลใจ
ปัญหาก็คือไม่มีความสำเร็จแบบไหนที่จะทำให้ Perfectionist พึงพอใจได้ เพราะทุกอย่างสามารถทำให้ดีขึ้นได้เสมอ และความคิดแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่ดีต่อสุขภาพจิตเท่าไร การยอมรับหรือฉลองความสำเร็จเล็กๆน้อยๆก็เป็นการให้กำลังใจตัวเองได้อย่างดี แถมยังป้องกันอาการหมดไฟ หรือรู้สึกเคืองใจจนทำให้หมดความมั่นใจในตัวเองได้
#2 Superwoman/man ยอดมนุษย์
Superwoman/man หรือ ยอดมนุษย์ หมายถึงคนที่ผลักดัน กดดันตัวเอง ให้ทำงานมากขึ้นหรือหนักขึ้นเพื่อที่จะได้ประสบความสำเร็จมากขึ้น บางคนอาจจะเรียกกลุ่มคนประเภทนี้ว่าพวกบ้างาน
อย่างไรก็ตามการใช้เวลาทั้งหมดเพื่อทำงาน บางครั้งก็อาจจะเป็นการปกปิดความอ่อนแอของตัวเองอย่างหนึ่ง (ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็น แต่ก็มีโอกาสเป็นไปได้) เช่นเพราะไม่อยากกังวลเรื่องครอบครัวหรือความรักเลยเอาเวลาไปลงกับงานดีกว่า ในกรณีนี้การทำงานมากเกินไปก็จะทำให้รู้สึกเครียด และทำให้ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างแย่ลงด้วย
Superwoman (หรือ superman) ที่เป็น Imposter Syndrome จะเอาความสำเร็จของตัวเองไปผูกมัดกับ ‘ผลงาน’ ของตัวเองเป็นส่วนมาก ซึ่งการเอาความสุขไปผูกมัดกับผลงานหรือความสำเร็จนั้นไม่ใช่สิ่งที่คงทนได้ทาน หากเทียบกับการผูกมัดความสุขกับ ‘กระบวนการ’ หรือ ‘การได้ทำอะไรที่ชอบ’ หมายถึงให้มีความสุขกับงานที่ทำ ไม่ใช่มีความสุขกับการที่หัวหน้าชม หรือการได้เลื่อนขั้น ‘เพียงอย่างเดียว’
#3 Natural Genius อัจฉริยะแต่กำเนิด
Natural Genius หรือ อัจฉริยะแต่กำเนิด คือกลุ่มคนที่วัดความเก่ง จากความง่ายและความเร็วในการทำงาน โดยเชื่อว่าอัจฉริยะก็คือคนที่ไม่ต้องพยายามอะไรมากก็สามารถประสบความสำเร็จได้ หากคนกลุ่มนี้ใช้เวลานานในการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ Natural Genius ก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งพอ
คนที่เป็น Imposter Syndrome ในกลุ่มนี้ ไม่เพียงแต่จะต้องทำอะไรให้ดี แต่ต้องทำให้ดี ‘ตั้งแต่ตอนแรก’ ด้วย ทุกครั้งที่เรียนรู้หรือว่าทำอะไรช้า คนกลุ่มนี้ก็จะรู้สึกกดดันตัวเอง
โดยวิธีแก้อาจจะเป็นการลดความคาดหวังของตัวเอง เปลี่ยนมุมมองชีวิตจากการเรียนรู้ให้เร็วเป็นการเรียนรู้ระยะยาวแทน และอาจจะลองตั้งเป้าหมายระยะสั้นเล็กน้อยเพื่อเป็นแรงผลักดันให้ตัวเองพยายามขึ้นเรื่อยๆ แบบพอเพียง
#4 Soloist คนชอบทำอะไรด้วยตัวเอง
Soloist หรือคนชอบทำอะไรด้วยตัวเอง เป็นคนที่ชอบพึ่งพาตัวเอง มีความภูมิใจเวลาที่สามารถทำอะไรด้วยตัวเองได้ คนกลุ่มนี้จะรู้สึกอายหรือรู้สึกด้อยค่าหากจะต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่น โดยวิธีแก้อาการ Imposter Syndrome ของ Soloist ก็คือการเรียนรู้ที่จะแยกระหว่าง ‘ความสามารถในการพึ่งพาตัวเอง’ กับ ‘การดื้อรั้นไม่ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นเพื่อที่จะพิสูจน์คุณค่าตัวเอง’
เคยมีคนพูดไว้คำว่าคนที่เก่งจริงก็คือคนที่รู้จักจุดเด่นและจุดด้อยของตัวเอง รู้ว่าเวลาไหนควรที่จะขอความช่วยเหลือ
#5 Expert ผู้เชี่ยวชาญ
Expert หรือ ผู้เชี่ยวชาญ คือคนที่วัดคุณค่าของตัวเองผ่านทักษะต่างๆที่ตัวเองรู้ ความไม่มั่นใจในตัวเองของผู้เชี่ยวชาญก็จะมาจากความกลัวที่ไม่ว่าพยายามเท่าไหร่ก็รู้ไม่มากพอสักที
คนในกลุ่มนี้คือคนที่กลัวที่จะสมัครงานที่ตัวเองมีทักษะไม่มากพอ หรือจำเป็นที่จะต้องเรียนและอบรมอะไรใหม่ๆเสมอ ผู้เชี่ยวชาญบางคนต่อให้ทำงานมาหลายปีหรือมีประสบการณ์เยอะแล้วก็ยังรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเองดี
ความรู้ในโลกนี้มีไม่จำกัดอยู่แล้ว และการพยายามเรียนรู้อะไรใหม่ๆก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่การนำความกลัวมาเป็นแรงจูงใจก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อสุขภาพจิตมากเท่าไหร่ นอกจากนั้นแล้วบางคนยังใช้คำว่า ‘รู้ไม่มากพอ’ หรือ ‘ยังเก่งไม่พอ’ มาเป็นข้ออ้างที่จะไม่กล้าลองอะไรใหม่ๆอีกด้วย
ผู้เชี่ยวชาญควรที่จะยอมรับวิธีเรียนรู้ระหว่างการทำงาน หมายถึงให้เริ่มทำอะไรก่อนแล้วค่อยเรียนรู้ ลองผิดลองถูกไประหว่างทำด้วย
วิธีสังเกต และ สาเหตุของ Imposter Syndrome
ถ้าเราเข้าใจแล้วว่า Imposter Syndrome คืออะไร และ สามารถแบ่งประเภทได้อย่างไรบ้าง ในส่วนนี้เรามาดูวิธีสังเกตและสาเหตุที่จะทำให้คนรู้สึกกดดันตัวเอง รู้สึกไม่เก่งพอกัน
อย่างแรกเลยก็คือ Imposter Syndrome จะมีตัววัดค่าอยู่ ที่เรียกว่า Clance Imposter Phenomenon Scale หรือ CIP โดยตัววัดค่านี้ใช้วัดค่าความกลัวว่ากลัวอะไรบ้าง และ กลัวแค่ไหน โดยที่ผู้ค้นพบและนิยาม Imposter Syndrome อย่าง Clance ได้ระบบไว้ว่า ตัววัดว่า Imposter Syndrome มีอยู่ 6 มิติ ดังนี้
#1 Impostor cycle วัฏจักรโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง*
#2 The need to be special or the best รู้สึกว่าอยากเป็นคนพิเศษหรือเป็นที่ 1 เสมอ
#3 Characteristics of superman/superwoman มีความเป็นยอดมนุษย์
#4 Fear of failure กลัวความล้มเหลว
#5 Denial of ability and discounting praise การชอบปฏิเสธไม่ยอมรับคำชม
#6 Feeling fear and guilt about success กลัวหรือรู้สึกผิดเวลาประสบความสำเร็จ
*Impostor cycle หรือ วัฏจักรโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง หมายถึงกรณีที่คนเรารับงานมารู้สึกเครียดหรือกังวล จึงทำให้มีปฏิกิริยาตอบโต้เป็นการตั้งใจทำงานหรือการขี้เกียจทำงาน แต่ไม่ว่าปฏิกิริยาตอบโต้จะเป็นแบบไหน ปฏิกิริยาเวลาผลลัพธ์ของการทำงานออกมาดีก็คือการปฏิเสธความสำเร็จ ด้วยการให้เหตุผลแค่ว่าพยายามเยอะในกรณีที่ตั้งใจทำงาน หรือเพราะโชคช่วยในกรณีที่ขี้เกียจทำงาน จนทำให้ตัวเองรู้สึกไม่เก่งจริง
โดยส่วนมากแล้วหากคนทั่วไปมีมากกว่า 2 มิติ ก็มีแนวโน้มที่จะเป็น imposter syndrome สูงครับ
วิธีรักษา Imposter Syndrome
ในส่วนนี้ผมจะแนะนำแนวคิดและการกระทำที่จะช่วยให้อาการของ Imposter Syndrome ดีขึ้นได้นะครับ
#1 แยกให้ออกระหว่างความรู้สึกกับความเป็นจริง – การรู้สึกล้มเหลวกับการเป็นคนที่ล้มเหลวจริงๆนั้นต่างกัน ปัญหาก็คือเราจะแยกยังไงระหว่างการกดดันตัวเองมากเกินไปกับการรู้จักตัวเองที่แท้จริง หนึ่งในวิธีก็คือการจดความสำเร็จและความผิดพลาดของคุณออกมา การเขียนจะทำให้คุณรู้และเปรียบเทียบข้อแตกต่างได้ง่ายกว่า
#2 ฝึกคิดบวกให้ได้ – สุดท้ายแล้วปัญหาในใจ ก็ต้องแก้ด้วยการปรับมุมมองไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง การคิดบวกมีข้อดีตั้งหลายอย่าง ถ้าคุณเป็นคนที่ปรับมุมมองชีวิตยาก ผมแนะนำให้เริ่มจากการจดสิ่งดีๆในชีวิตออกมาก่อน ปล่อยวางกับสิ่งเล็กน้อยและใส่ใจแค่สิ่งที่สำคัญในชีวิต
#3 มุมมองต่อความล้มเหลวและการทำผิด – คนที่คิดว่าตัวเองไม่เก่งส่วนมากจะโทษตัวเองเวลาที่ล้มเหลวหรือทำผิดอะไรเล็กๆน้อยๆ การเรียนรู้ความผิดเป็นสิ่งที่ดีแต่การโทษตัวเอง จมอยู่กับอารมณ์แย่ก็จะทำให้คุณไม่สามารถพัฒนาได้ เวลาที่คุณทำผิดให้เรียนรู้ความผิดตัวเองและมองหาโอกาสที่จะเริ่มใหม่
#4 เรียนรู้ที่จะให้รางวัลตัวเอง – การฉลองให้กับความสำเร็จของตัวเองแม้จะน้อยแค่ไหนก็เป็นเรื่องที่ดี หนึ่งในอาการของคนที่คิดว่าตัวเองไม่เก่งก็คือการไม่ยอมรับความสำเร็จของตัวเอง โดยที่อาจจะอ้างว่าโชคช่วยหรือว่าเพราะตั้งใจทำมากกว่าการให้สาเหตุว่าตัวเองเก่ง หากคุณเป็นคนที่ให้รางวัลตัวเองยาก คุณก็อาจจะต้องพึ่งพาคนรอบตัวให้ช่วยเตือนคุณให้ฉลองด้วย
#5 การแบ่งปันและช่วยเหลือคนอื่น – มุมมองสุดท้ายที่ผมอยากจะให้ทุกคนพิจารณาก็คือการดึงตัวเองออกมาจากความทุกข์ในหัวของเรา แล้วนำสมาธิหรือสติไปใส่ใจกับการช่วยเหลือคนอื่น โดยเฉพาะการช่วยเหลือด้วยการสอนทักษะที่คุณมี ไม่ว่าคุณจะมีทักษะเรื่องการออกกำลังกายหรือการทำบัญชี ถ้าคุณได้ใช้ทักษะนี้เพื่อช่วยคนอื่นแล้วคุณก็จะรู้สึกเห็นคุณค่าของความเก่งของตัวเองมากขึ้น
ก่อนอื่นเลย สิ่งที่ผมจำเป็นต้องอธิบายก็คือผมไม่ใช่จิตแพทย์หรือนักบําบัดจิต หมายความว่าสิ่งที่ผมเขียนในบทความนี้เป็นแค่คำแนะนำเบื้องต้นที่ผมศึกษาจากคนอื่นอีกทีเท่านั้น หากคุณมีปัญหา Imposter Syndrome และถ้าปัญหานี้กำลังรบกวนชีวิตของคุณ คุณควรที่จะรีบปรึกษาจิตแพทย์ใกล้ตัวนะครับ
สุดท้ายนี้เกี่ยวกับ Imposter Syndrome
ผมคิดว่าหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนเป็น Imposter Syndrome ก็คือวัฒนธรรมที่สอนให้คนทั่วไปมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ผมไม่ได้บอกว่าการอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นสิ่งที่ไม่ดีนะครับ แต่บางครั้งมนุษย์เราก็ตีความอ่อนน้อมถ่อมตนผิดไป ตีความว่าการปฏิเสธความเก่ง ปฏิเสธความสามารถของตัวเอง คือการไม่ทำให้ตัวเองดู ‘มั่นใจ มั่นหน้า’ เกินไปในสังคม (ให้ลองฝึกวิธีพูดคำว่า ‘ขอบคุณ’ ด้วยความจริงใจแทน)
อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิด Imposter Syndrome ได้ ก็คือการแข่งขันในสังคม ความสำเร็จของคนเราถูกนำไปเปรียบเทียบกับคนอื่นเสมอ ยิ่งในสังคมที่เข้าถึงข้อมูลคนอื่นได้ง่าย ทำให้ความสำเร็จในสายตาของเราถึงแม้จะดูยิ่งใหญ่ในสายตาคนอื่น ก็อาจจะไม่ได้เท่าเทียมกับคนอื่นในสายตาเรา
แต่ไม่ว่าคุณจะแสดงออกในสังคมยังไง คุณจะโฆษณาความเก่งกาจของตัว หรือจะปฏิเสธความสำเร็จต่อหน้าคนอื่น สิ่งที่สำคัญก็คือการยอมรับความสำเร็จของตัวเองให้ได้ในใจคุณ เราอยากจะให้คนอื่นคิดยังไงกับเราก็เป็นเรื่องของความคิดเห็นส่วนบุคคล แต่ความคิดเห็นของเราต่อตัวเองนั้น…ไม่ควรจะเป็นสิ่งที่ทำร้ายตัวเราเอง
บทความนี้ผมนำข้อมูลมาจากงานวิจัยทางจิตวิทยาหลายอย่าง คนที่สนใจสามารถอ่านข้อมูลต้นทางได้ดังนี้นะครับ ที่มา 1 และ 2
บทความล่าสุด
การจัดโต๊ะคอมให้สวยถูกใจ พร้อมฟังก์ชันการใช้งานครบครัน...
ในมุมมองหนึ่ง ‘ลูกคนกลาง’ ดูเหมือนจะต้องแบกรับภาระทางใจอันหนักอึ้ง...