Imposter Syndrome โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง กดดันตัวเอง

Imposter Syndrome โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง กดดันตัวเอง

เคยมีคนบอกไว้ว่า ‘ความสำเร็จก็เหมือนดาบสองคม’ สามารถทำให้เรามีความสุขได้ แต่ในอีกรูปแบบหนึ่งก็ทำร้ายเราได้เช่นกัน หนึ่งในข้อเสียของ ‘ความเจ็บปวดจากความสำเร็จ’ นั้นก็คือไม่มีใครสามารถเข้าใจเรา ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง หรือ Imposter Syndrome นั้นมีความน่ากลัวมาก

ในบทความนี้เรามาดูกันว่าโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง หรือ Imposter Syndrome คืออะไรกันแน่ มีสาเหตุมาจากอะไร และ วิธีรักษาเบื้องต้นมีอะไรบ้าง

Imposter Syndrome คืออะไร

Imposter Syndrome หรือ โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง คือคำศัพท์ทางจิตวิทยาที่ใช้อธิบายพฤติกรรมเวลาคนคิดว่าตัวเองไม่คู่ควรกับความสำเร็จหรือสิ่งที่ได้มา และมักคิดสงสัยเรื่อยๆว่าตัวเองเป็นตัวปลอมหรือคนหลอกลวง จนทำให้มองตัวเองว่าไร้ค่า

โดย Imposter Syndrome ก็ถือว่าเป็นอาการทางจิตเวชอย่างหนึ่ง ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาก็อาจทำให้เกิดอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวล 

คำว่า Imposter Syndrome เป็นคำศัพท์ที่ถูกคิดค้นขึ้นเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว ในงานวิจัยของนักจิตวิทยา Pauline Rose Clance และ Suzanne Imes งานวิจัยทั้งหลายระบุไว้ว่าทั้งผู้ชายและผู้หญิงก็สามารถกดดันตัวเอง คิดว่าตัวเองไม่เก่งได้ ในปัจจุบัน โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่งถือว่าเป็นอาการของคนที่ไม่สามารถ ‘อธิบายหรือยอมรับความสำเร็จตัวเองได้’ 

และต่อมานักจิตวิทยาที่ชื่อว่า Valeire Young ก็ได้ ‘จำแนก’ Imposter Syndrome ออกมาเป็น ห้าประเภท

Imposter Syndrome 5 ประเภท ของโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง

Imposter Syndrome สามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ตามสาเหตุของความกลัวในความคิดว่าตัวเองไม่เก่ง ได้แก่ 1. Perfectionist ผู้รักความสมบูรณ์แบบ 2. Superwoman/man ยอดมนุษย์ 3. Natural Genius อัจฉริยะแต่กำเนิด 4. Soloist คนชอบทำอะไรด้วยตัวเอง และ 5. Expert ผู้เชี่ยวชาญ

5 ประเภทของ Imposter Syndrome นี้เป็นแค่วิธีจำแนกความกลัว ความกดดันตัวเอง แบบพื้นฐาน คนบางคนอาจจะประกอบไปด้วยความกลัวหรือความไม่มั่นใจในตัวเองหลายอย่าง ซึ่งก็จะทำให้แสดงอาการไม่มั่นใจในตัวเองหลายประเภท

#1 Perfectionist ผู้รักความสมบูรณ์แบบ

Perfectionist หรือผู้รักความสมบูรณ์แบบ เป็นกลุ่มคนที่มีสิทธ์เป็น Imposter Syndrome ได้ง่าย คนที่รักความสมบูรณ์แบบส่วนมากจะไม่พอใจกับอะไรง่ายๆ บางครั้งเพียงแค่ทำผิดหรือล้มเหลวนิดๆหน่อยๆก็จะรู้สึกไม่พอใจ หมายความว่าต่อให้ประสบความสำเร็จมากแค่ไหน ตราบใดที่ทุกอย่างไม่สมบูรณ์แบบ เป้าหมายไม่เป็นอย่างที่คาดหวังไว้ทั้งหมด Perfectionist ก็รู้สึกไม่ดีอยู่ดี

คนประเภทนี้มีแนวโน้มที่จะอยากควบคุมทุกสิ่ง (control freaks) หมายความว่าถ้า Perfectionist อยากจะให้อะไรสมบูรณ์แบบ ส่วนมากก็จะอยากทำเอง ไม่อย่างนั้นก็จะไม่พอใจหรือรู้สึกกังวลใจ

ปัญหาก็คือไม่มีความสำเร็จแบบไหนที่จะทำให้ Perfectionist พึงพอใจได้ เพราะทุกอย่างสามารถทำให้ดีขึ้นได้เสมอ และความคิดแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่ดีต่อสุขภาพจิตเท่าไร การยอมรับหรือฉลองความสำเร็จเล็กๆน้อยๆก็เป็นการให้กำลังใจตัวเองได้อย่างดี แถมยังป้องกันอาการหมดไฟ หรือรู้สึกเคืองใจจนทำให้หมดความมั่นใจในตัวเองได้

#2 Superwoman/man ยอดมนุษย์

Superwoman/man หรือ ยอดมนุษย์ หมายถึงคนที่ผลักดัน กดดันตัวเอง ให้ทำงานมากขึ้นหรือหนักขึ้นเพื่อที่จะได้ประสบความสำเร็จมากขึ้น บางคนอาจจะเรียกกลุ่มคนประเภทนี้ว่าพวกบ้างาน 

อย่างไรก็ตามการใช้เวลาทั้งหมดเพื่อทำงาน บางครั้งก็อาจจะเป็นการปกปิดความอ่อนแอของตัวเองอย่างหนึ่ง (ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็น แต่ก็มีโอกาสเป็นไปได้) เช่นเพราะไม่อยากกังวลเรื่องครอบครัวหรือความรักเลยเอาเวลาไปลงกับงานดีกว่า ในกรณีนี้การทำงานมากเกินไปก็จะทำให้รู้สึกเครียด และทำให้ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างแย่ลงด้วย

Superwoman (หรือ superman) ที่เป็น Imposter Syndrome จะเอาความสำเร็จของตัวเองไปผูกมัดกับ ‘ผลงาน’ ของตัวเองเป็นส่วนมาก ซึ่งการเอาความสุขไปผูกมัดกับผลงานหรือความสำเร็จนั้นไม่ใช่สิ่งที่คงทนได้ทาน หากเทียบกับการผูกมัดความสุขกับ ‘กระบวนการ’ หรือ ‘การได้ทำอะไรที่ชอบ’ หมายถึงให้มีความสุขกับงานที่ทำ ไม่ใช่มีความสุขกับการที่หัวหน้าชม หรือการได้เลื่อนขั้น ‘เพียงอย่างเดียว’

#3 Natural Genius อัจฉริยะแต่กำเนิด

Natural Genius หรือ อัจฉริยะแต่กำเนิด คือกลุ่มคนที่วัดความเก่ง จากความง่ายและความเร็วในการทำงาน โดยเชื่อว่าอัจฉริยะก็คือคนที่ไม่ต้องพยายามอะไรมากก็สามารถประสบความสำเร็จได้ หากคนกลุ่มนี้ใช้เวลานานในการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ Natural Genius ก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งพอ

คนที่เป็น Imposter Syndrome ในกลุ่มนี้ ไม่เพียงแต่จะต้องทำอะไรให้ดี แต่ต้องทำให้ดี ‘ตั้งแต่ตอนแรก’ ด้วย ทุกครั้งที่เรียนรู้หรือว่าทำอะไรช้า คนกลุ่มนี้ก็จะรู้สึกกดดันตัวเอง

โดยวิธีแก้อาจจะเป็นการลดความคาดหวังของตัวเอง เปลี่ยนมุมมองชีวิตจากการเรียนรู้ให้เร็วเป็นการเรียนรู้ระยะยาวแทน และอาจจะลองตั้งเป้าหมายระยะสั้นเล็กน้อยเพื่อเป็นแรงผลักดันให้ตัวเองพยายามขึ้นเรื่อยๆ แบบพอเพียง

#4 Soloist คนชอบทำอะไรด้วยตัวเอง

Soloist หรือคนชอบทำอะไรด้วยตัวเอง เป็นคนที่ชอบพึ่งพาตัวเอง มีความภูมิใจเวลาที่สามารถทำอะไรด้วยตัวเองได้ คนกลุ่มนี้จะรู้สึกอายหรือรู้สึกด้อยค่าหากจะต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่น โดยวิธีแก้อาการ Imposter Syndrome ของ Soloist ก็คือการเรียนรู้ที่จะแยกระหว่าง ‘ความสามารถในการพึ่งพาตัวเอง’ กับ ‘การดื้อรั้นไม่ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นเพื่อที่จะพิสูจน์คุณค่าตัวเอง’

เคยมีคนพูดไว้คำว่าคนที่เก่งจริงก็คือคนที่รู้จักจุดเด่นและจุดด้อยของตัวเอง รู้ว่าเวลาไหนควรที่จะขอความช่วยเหลือ

#5 Expert ผู้เชี่ยวชาญ

Expert หรือ ผู้เชี่ยวชาญ คือคนที่วัดคุณค่าของตัวเองผ่านทักษะต่างๆที่ตัวเองรู้ ความไม่มั่นใจในตัวเองของผู้เชี่ยวชาญก็จะมาจากความกลัวที่ไม่ว่าพยายามเท่าไหร่ก็รู้ไม่มากพอสักที

คนในกลุ่มนี้คือคนที่กลัวที่จะสมัครงานที่ตัวเองมีทักษะไม่มากพอ หรือจำเป็นที่จะต้องเรียนและอบรมอะไรใหม่ๆเสมอ ผู้เชี่ยวชาญบางคนต่อให้ทำงานมาหลายปีหรือมีประสบการณ์เยอะแล้วก็ยังรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเองดี

ความรู้ในโลกนี้มีไม่จำกัดอยู่แล้ว และการพยายามเรียนรู้อะไรใหม่ๆก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่การนำความกลัวมาเป็นแรงจูงใจก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อสุขภาพจิตมากเท่าไหร่ นอกจากนั้นแล้วบางคนยังใช้คำว่า ‘รู้ไม่มากพอ’ หรือ ‘ยังเก่งไม่พอ’ มาเป็นข้ออ้างที่จะไม่กล้าลองอะไรใหม่ๆอีกด้วย

ผู้เชี่ยวชาญควรที่จะยอมรับวิธีเรียนรู้ระหว่างการทำงาน หมายถึงให้เริ่มทำอะไรก่อนแล้วค่อยเรียนรู้ ลองผิดลองถูกไประหว่างทำด้วย 

วิธีสังเกต และ สาเหตุของ Imposter Syndrome

ถ้าเราเข้าใจแล้วว่า Imposter Syndrome คืออะไร และ สามารถแบ่งประเภทได้อย่างไรบ้าง ในส่วนนี้เรามาดูวิธีสังเกตและสาเหตุที่จะทำให้คนรู้สึกกดดันตัวเอง รู้สึกไม่เก่งพอกัน 

อย่างแรกเลยก็คือ Imposter Syndrome จะมีตัววัดค่าอยู่ ที่เรียกว่า Clance Imposter Phenomenon Scale หรือ CIP โดยตัววัดค่านี้ใช้วัดค่าความกลัวว่ากลัวอะไรบ้าง และ กลัวแค่ไหน โดยที่ผู้ค้นพบและนิยาม Imposter Syndrome อย่าง Clance ได้ระบบไว้ว่า ตัววัดว่า Imposter Syndrome มีอยู่ 6 มิติ ดังนี้

#1 Impostor cycle วัฏจักรโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง*
#2 The need to be special or the best รู้สึกว่าอยากเป็นคนพิเศษหรือเป็นที่ 1 เสมอ
#3 Characteristics of superman/superwoman มีความเป็นยอดมนุษย์
#4 Fear of failure กลัวความล้มเหลว
#5 Denial of ability and discounting praise การชอบปฏิเสธไม่ยอมรับคำชม
#6 Feeling fear and guilt about success กลัวหรือรู้สึกผิดเวลาประสบความสำเร็จ 

*Impostor cycle หรือ วัฏจักรโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง หมายถึงกรณีที่คนเรารับงานมารู้สึกเครียดหรือกังวล จึงทำให้มีปฏิกิริยาตอบโต้เป็นการตั้งใจทำงานหรือการขี้เกียจทำงาน แต่ไม่ว่าปฏิกิริยาตอบโต้จะเป็นแบบไหน ปฏิกิริยาเวลาผลลัพธ์ของการทำงานออกมาดีก็คือการปฏิเสธความสำเร็จ ด้วยการให้เหตุผลแค่ว่าพยายามเยอะในกรณีที่ตั้งใจทำงาน หรือเพราะโชคช่วยในกรณีที่ขี้เกียจทำงาน จนทำให้ตัวเองรู้สึกไม่เก่งจริง

โดยส่วนมากแล้วหากคนทั่วไปมีมากกว่า 2 มิติ ก็มีแนวโน้มที่จะเป็น imposter syndrome สูงครับ

วิธีรักษา Imposter Syndrome 

ในส่วนนี้ผมจะแนะนำแนวคิดและการกระทำที่จะช่วยให้อาการของ Imposter Syndrome ดีขึ้นได้นะครับ

#1 แยกให้ออกระหว่างความรู้สึกกับความเป็นจริง – การรู้สึกล้มเหลวกับการเป็นคนที่ล้มเหลวจริงๆนั้นต่างกัน ปัญหาก็คือเราจะแยกยังไงระหว่างการกดดันตัวเองมากเกินไปกับการรู้จักตัวเองที่แท้จริง หนึ่งในวิธีก็คือการจดความสำเร็จและความผิดพลาดของคุณออกมา การเขียนจะทำให้คุณรู้และเปรียบเทียบข้อแตกต่างได้ง่ายกว่า

#2 ฝึกคิดบวกให้ได้ – สุดท้ายแล้วปัญหาในใจ ก็ต้องแก้ด้วยการปรับมุมมองไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง การคิดบวกมีข้อดีตั้งหลายอย่าง ถ้าคุณเป็นคนที่ปรับมุมมองชีวิตยาก ผมแนะนำให้เริ่มจากการจดสิ่งดีๆในชีวิตออกมาก่อน ปล่อยวางกับสิ่งเล็กน้อยและใส่ใจแค่สิ่งที่สำคัญในชีวิต

#3 มุมมองต่อความล้มเหลวและการทำผิด – คนที่คิดว่าตัวเองไม่เก่งส่วนมากจะโทษตัวเองเวลาที่ล้มเหลวหรือทำผิดอะไรเล็กๆน้อยๆ การเรียนรู้ความผิดเป็นสิ่งที่ดีแต่การโทษตัวเอง จมอยู่กับอารมณ์แย่ก็จะทำให้คุณไม่สามารถพัฒนาได้ เวลาที่คุณทำผิดให้เรียนรู้ความผิดตัวเองและมองหาโอกาสที่จะเริ่มใหม่

#4 เรียนรู้ที่จะให้รางวัลตัวเอง – การฉลองให้กับความสำเร็จของตัวเองแม้จะน้อยแค่ไหนก็เป็นเรื่องที่ดี หนึ่งในอาการของคนที่คิดว่าตัวเองไม่เก่งก็คือการไม่ยอมรับความสำเร็จของตัวเอง โดยที่อาจจะอ้างว่าโชคช่วยหรือว่าเพราะตั้งใจทำมากกว่าการให้สาเหตุว่าตัวเองเก่ง หากคุณเป็นคนที่ให้รางวัลตัวเองยาก คุณก็อาจจะต้องพึ่งพาคนรอบตัวให้ช่วยเตือนคุณให้ฉลองด้วย

#5 การแบ่งปันและช่วยเหลือคนอื่น – มุมมองสุดท้ายที่ผมอยากจะให้ทุกคนพิจารณาก็คือการดึงตัวเองออกมาจากความทุกข์ในหัวของเรา แล้วนำสมาธิหรือสติไปใส่ใจกับการช่วยเหลือคนอื่น โดยเฉพาะการช่วยเหลือด้วยการสอนทักษะที่คุณมี ไม่ว่าคุณจะมีทักษะเรื่องการออกกำลังกายหรือการทำบัญชี ถ้าคุณได้ใช้ทักษะนี้เพื่อช่วยคนอื่นแล้วคุณก็จะรู้สึกเห็นคุณค่าของความเก่งของตัวเองมากขึ้น 

ก่อนอื่นเลย สิ่งที่ผมจำเป็นต้องอธิบายก็คือผมไม่ใช่จิตแพทย์หรือนักบําบัดจิต หมายความว่าสิ่งที่ผมเขียนในบทความนี้เป็นแค่คำแนะนำเบื้องต้นที่ผมศึกษาจากคนอื่นอีกทีเท่านั้น หากคุณมีปัญหา Imposter Syndrome และถ้าปัญหานี้กำลังรบกวนชีวิตของคุณ คุณควรที่จะรีบปรึกษาจิตแพทย์ใกล้ตัวนะครับ 

สุดท้ายนี้เกี่ยวกับ Imposter Syndrome

ผมคิดว่าหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนเป็น Imposter Syndrome ก็คือวัฒนธรรมที่สอนให้คนทั่วไปมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ผมไม่ได้บอกว่าการอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นสิ่งที่ไม่ดีนะครับ แต่บางครั้งมนุษย์เราก็ตีความอ่อนน้อมถ่อมตนผิดไป ตีความว่าการปฏิเสธความเก่ง ปฏิเสธความสามารถของตัวเอง คือการไม่ทำให้ตัวเองดู ‘มั่นใจ มั่นหน้า’ เกินไปในสังคม (ให้ลองฝึกวิธีพูดคำว่า ‘ขอบคุณ’ ด้วยความจริงใจแทน)

อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิด Imposter Syndrome ได้ ก็คือการแข่งขันในสังคม ความสำเร็จของคนเราถูกนำไปเปรียบเทียบกับคนอื่นเสมอ ยิ่งในสังคมที่เข้าถึงข้อมูลคนอื่นได้ง่าย ทำให้ความสำเร็จในสายตาของเราถึงแม้จะดูยิ่งใหญ่ในสายตาคนอื่น ก็อาจจะไม่ได้เท่าเทียมกับคนอื่นในสายตาเรา 

แต่ไม่ว่าคุณจะแสดงออกในสังคมยังไง คุณจะโฆษณาความเก่งกาจของตัว หรือจะปฏิเสธความสำเร็จต่อหน้าคนอื่น สิ่งที่สำคัญก็คือการยอมรับความสำเร็จของตัวเองให้ได้ในใจคุณ เราอยากจะให้คนอื่นคิดยังไงกับเราก็เป็นเรื่องของความคิดเห็นส่วนบุคคล แต่ความคิดเห็นของเราต่อตัวเองนั้น…ไม่ควรจะเป็นสิ่งที่ทำร้ายตัวเราเอง

บทความนี้ผมนำข้อมูลมาจากงานวิจัยทางจิตวิทยาหลายอย่าง คนที่สนใจสามารถอ่านข้อมูลต้นทางได้ดังนี้นะครับ ที่มา 1 และ 2

บทความล่าสุด