10 วิธีเพิ่มความอดทน ทำให้ใจเราแกร่งขึ้น

10 วิธีเพิ่มความอดทน ทำให้ใจเราแกร่งขึ้น

เรียกได้ว่าความอดทนเป็นหนึ่งปัจจยที่สำคัญกับชีวิตในเกือบทุกมุมของเราเลย ทั้งด้านการทำงาน ด้านความสัมพันธ์ หรือแม้แต่จะกับตนเองและกับคนรอบข้าง การมีความอดทนย่อมทำให้เป็นคนที่รอบคอบและคิดอะไรอย่างเป็นระบบระเบียบโดยอัตโนมัติ และทำให้คนเรามีแนวโน้มที่จะ ‘ประสบความสำเร็จ’ มากขึ้นด้วย 

แต่ก็เหมือนหลายสิ่ง คือ จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนอย่างถูกวิธี นอกจากนั้น การเป็นคนมีความอดทนจะช่วยสร้างเสน่ห์ และทำให้คนรอบข้างรู้สึกสงบไปกับเราด้วย

10 วิธี เพิ่มความอดทน

ก่อนอื่นเลย ในบทความนี้ผมไม่ได้บอกว่า ‘การรู้สึกหงุดหงิด’ เป็นอารมณ์ที่ไม่ดี เราไม่ควรมีเลยนะครับ เพราะความรู้สึกแบบนี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ หากเรา ‘เมินเฉย’ ต่ออารมณ์ความรู้สึกตัวเองนานๆ เราก็จะกลายเป็นคนเก็บกด เครียดโดยไม่รู้ตัว หรือบางทีก็อาจจะเป็นคนโมโหง่าย มีอาการซึมเศร้า

แต่ในขณะเดียวกัน ทุกอย่างก็ต้องมี ‘สมดุล’ ของตัวเอง เราสามารถเศร้าได้ โมโหได้ หงุดหงิดได้ แต่เราก็ต้องรู้จักการลุกขึ้นมาแก้ปัญหาหรืออย่างน้อยก็หาวิธีทำความเข้าใจตัวเองด้วย

ต่อไปนี้จะเป็นข้อแนะนำเล็ก ๆ ที่ผมอยากจะนำเสนอ หวังว่ามันจะช่วยเพิ่มความอดทนให้กับคุณได้ครับ

#1 เริ่มต้นจากการหาสาเหตุ

ให้เราหาสาเหตุของการไม่อดทน แต่ละเหตุการณ์จะมีตัวการที่ทำให้เราไม่อดทนหรือใจร้อนอยู่ 

ขั้นแรกคือต้องหาสิ่งนั้นให้เจอเสียก่อน แต่ต้องบอกก่อนว่าหากคุณรู้สึกใจร้อน นั่นไม่ใช่เรื่องแปลก นั่นก็เพราะ ‘ความอดทน’ เป็นสิ่งที่เราต้องฝึกฝนเพื่อให้เราเก่งขึ้น อดทนมากขึ้น ยกอย่างเช่น หากคุณเบื่อหน่ายและไม่อยากอดทนกับการต่อแถวในร้านอาหาร สาเหตุอาจมาจากเพราะคุณรู้สึกหิว และอยากที่จะกลับบ้านเต็มที

เมื่อเราทราบสาเหตุของอาการใจร้อนแล้ว นั่นย่อมง่ายต่อการจัดการในขั้นต่อไป

#2 ยอมรับในอารมณ์และสถานการณ์

หลายครั้งที่เราต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ยากที่จะมีความอดทน อย่างเช่นการต้องนั่งรถติดอยู่บนถนนในชั่วโมงเร่งด่วน สิ่งนี้อาจทำให้เราใจร้อนได้ ดังนั้นให้เรายอมรับมันเสียก่อน มันเกิดขึ้นแล้ว และเราทำอะไรกับเหตุการณ์นั้นไม่ได้ 

ให้แบ่งหัวข้อนี้เป็นสามส่วนใหญ่ๆ 1) การยอมรับอารมณ์ตัวเองว่าเรารู้สึกหงุดหงิดโมโห 2) การแยกอารมณ์ตัวเองกับปัญหาที่อยู่ด้านหน้า และ 3) การทำความเข้าใจว่าความรู้สึกหงุดหงิดเป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่ควรเกี่ยวข้องกับการกระทำของเรา

สถานการณ์บางอย่าง เราก็สามารถแก้ได้เลย ไม่ต้องมีความอดทน แต่สถานการณ์หลายอย่างเราก็จำเป็นต้องยอมรับและเตรียมตัวหาวิธีทำให้ดีขึ้น

#3 เบี่ยงเบนความสนใจ หาอย่างอื่นทำ

ในหลายสถานการณ์ที่เราเลี่ยงไม่ได้ (อย่างการนั่งอยู่ในรถนาน ๆ ขณะรถติด หรือการต้องต่อแถวนาน ๆ ในร้านอาหาร) มีหลายสิ่งที่เราสามารถทำได้ เพื่อทำให้เวลานั้นผ่านไปอย่างรวดเร็ว เราสามารถเรียกวิธีนี้ว่า ‘การเบี่ยงเบนความสนใจ’ ให้ตนเอง 

คุณอาจฟัง Podcast หรือเล่นมือถือระหว่างรอก็ได้ (แต่ห้ามตอบข้อความขณะขับรถนะครับ) นอกจากใช้เวลาให้เป็นประโยชน์แล้วยังอารมณ์ดีขึ้นอีกด้วย

หลายคนอาจจะมองสิ่งนี้ว่าเป็น ‘การบริหารเวลา’ เพราะแทนที่เราจะเอาเวลามาทุ่มเทกับความรู้สึกด้านลบ เราสามารถเลือกที่จะลงทุนกับสิ่งที่มีคุณค่าหรือผลักดันให้ชีวิตเดินต่อไปได้ง่าย

#4 ฝึกสมาธิ

การฝึกสมาธิ สิ่งง่าย ๆ ที่หลายคนลืมนึกถึง อย่างที่เราน่าจะทราบกันอยู่แล้ว การฝึกสมาธิมีประโยชน์มากมาย เป็นตัวช่วยในการจัดการกับอารมณ์เชิงลบ รวมถึงอารมณ์ใจร้อน หรือความไม่อดทนด้วย 

สติถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเป็นคนมีความอดทน การฝึกสมาธิช่วยให้เรามีสติมากขึ้น การจดจ่ออยู่กับลมหายใจทำให้ร่างกายผ่อนคลาย และสามารถจดจ่อกับสิ่งต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น 

และนี่ยังไม่รวมถึงข้อดีทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ อย่างการช่วยในเรื่องของการไหลเวียนโลหิตที่ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดความเครียดได้อีกด้วย Mindfulness คืออะไร?

#5 การมีความเห็นอกเห็นใจ

ในบางครั้ง ต้นเหตุของความใจร้อนของเราก็เกิดจากการที่เราไม่อดทนกับการกระทำบางสิ่งของผู้อื่น กตัวอย่างเช่น การที่เราต่อแถวซื้อของในห้างสรรพสินค้า คนข้างหน้าเรากำลังควานหาเงินในกระเป๋า แล้วบรรจงนับมันอย่างช้า ๆ บางครั้งมันอาจทำให้เราเกิดความไม่พอใจได้ 

การมีความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) คือการพยายามนึกถึงคนอื่น หากเราคิดว่า เขาหรือเธอคนนั้นทำดีที่สุดแล้ว คงไม่มีใครอยากให้ผู้อื่นต้องช้าไปด้วยหรอก การพยายามเข้าอกเข้าใจผู้อื่นเป็นสิ่งที่ดีครับ

เพราะหลายๆครั้ง เวลาที่เรารู้สึกโมโหก็เพราะว่าเราเอาตัวเองหรืออีโก้ของเรามีเป็นที่ตั้ง หากอีโก้นี้ถูกสิ่งข้างหน้าเราโต้แย้ง เราก็จะรู้สึกเหมือนตัวตนเราโดนโต้แย้งไปด้วย ซึ่งก็จะทำให้เกิดอารมณ์ด้านลบ ในส่วนนี้ผมแนะนำให้อ่านสองบทความนี้ควบคู่ไปด้วยนะครับ ทักษะการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น คืออะไรกัน? และ อีโก้คืออะไร

#6 ฝึกมองภาพใหญ่

ในบางครั้ง การที่เรามองเพียงจุดเดียว อาจจะทำให้เราไม่อดทนกับบางสถานการณ์

ยกตัวอย่างเช่น คุณซื้อกาแฟร้านประจำ แล้วมารู้ทีหลังว่าพนักงานคิดเงินเกิน ซึ่งการมองภาพใหญ่ คือการมองว่า เงินที่พนักงานไม่ได้ตั้งใจคิดเกินเพียงเล็กน้อยนั้น ทำให้คุณเดือดร้อนเรื่องเงินเลยหรือ 

อีกเหตุการณ์หนึ่ง ผมขอยกตัวอย่างการออกกำลังกาย ครั้งแรก ๆ มันช่างเหน็ดเหนื่อยและไม่เห็นผล แต่หากมองกันในระยะยาว สิ่งนี้มันทำให้ร่างกายคุณแข็งแรง และทำให้เราอดทนได้อีกด้วย

การทำแบบนี้ก็เป็นหลักการเดียวกับการ ‘ไม่เอาตัวเองตอนนี้เป็นที่ตั้งมากเกินไป’ ก็คือแทนที่เราจะเอาตัวเราตอนนี้เป็นตัวกลางว่าเราต้องออกกำลังกายหรือกำลังโดนโกงเงิน เราก็มองว่าคนอื่นไม่ได้ตั้งใจ คนเราผิดพลาดกันได้ หรือความผิดพลาดแค่นี้ไม่ได้ทำให้เราทุกทรมานใจไปสิบปีหรอก ของแบบนี้ผ่านไปไม่นานเราก็ลืมไปแล้ว

#7 การเรียนรู้จากผู้อื่นไม่ใช่สิ่งผิด

การลองดูว่าคนอื่น ๆ รับมือกับสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์แบบเดียวกับเราอย่างไรก็เป็นสิ่งที่ดีเหมือนกัน ให้ลองดูว่าคนรอบตัวของเราจัดการกับเหตุการณ์เดียวกันนี้อย่างไร ลองอ่านตัวอย่างคนดังที่เคยเจอปัญหาเดียวกันกับเรา หรือ ลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่เก่งเรื่องนี้โดยเฉพาะ

บางครั้งเราอาจจะรู้สึกว่าการขอคำปรึกษาหรือความคิดเห็นส่วนตัวเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่ดี เรื่องน่าอาย หรืออาจจะเป็นการรบกวนคนอื่น แต่การเรียนรู้จากผู้อื่นไม่ใช่สิ่งที่ดูไม่ดีหรือผิดอะไร บางครั้งการลองขอคำแนะนำ หรือการถามออกไปตรงๆเลยก็ดีเหมือนกัน

#8 ยอมรับในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้

ในหลาย ๆ สถานการณ์ เราพยายามอย่างเต็มที่ที่จะอดทนกับมัน หรือพยายามแก้ไขให้ดีขึ้น แต่เราก็ต้องยอมรับเสียก่อน ว่าหลาย ๆ สิ่งเราก็ไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงมันได้ ยกตัวอย่างเช่น การที่คุณต้องรอให้หายจากอาการบาดเจ็บ เพื่อจะได้ออกไปเดินเล่น หรือออกกำลังกายได้ดังเดิม 

การมานั่งกังวลกับเรื่องแบบนี้ไม่น่าจะช่วยให้เราหายเจ็บ เข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้ต้องฝึกฝน ดังนั้นค่อย ๆ ทำความเข้าใจกับสิ่งเหล่านี้ ให้คุณลองบอกตัวเองว่า สิ่งเหล่านี้อยู่นอกการควบคุมของคุณ สิ่งที่ทำได้มากที่สุดคือการยอมรับและไม่เครียดกับมันมากนัก

(แต่ก็ให้พิจารณาตามความเป็นจริงด้วยนะครับ มีของหลายอย่างแก้ได้และของบางอย่างที่แก้ไม่ได้ คนเราจะอดทนก็ต้องเลือกอดทนให้ถูกสิ่ง ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นการเพิกเฉยหรือการให้คนมาเอาเปรียบได้)

#9 ใจเย็น ๆ ค่อยเป็นค่อยไป

‘จงอดทนด้วยความอดทน’ สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยเวลาเป็นอย่างมาก เหมือนกับหลาย ๆ เรื่อง การค่อย ๆ ทำอะไรนั้น นานวันเข้ามันจะได้ผลลัพธ์ที่ดีเสมอ 

หากคุณอยากลงแข่งวิ่งมาราธอน การค่อย ๆ ฝึกจากน้อย ๆ สุดท้ายแล้วคุณจะจบมันได้ และเห็นผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ได้ครับ อย่ากดดันตัวเอง ค่อยเป็นค่อยไปครับ

ข้อแนะนำของผมก็คือให้พยายาม ‘รักษาพลังใจ’ ของตัวเองไว้ เคยมีงานวิจัยอธิบายไว้ว่ามนุษย์เรามีพลังใจหรือกำลังใจ (mental energy/grit) อยู่จำกัด การที่เราต้องอดทนกับทุกเรื่อง ตลอดเวลานั้นเป็นไปไม่ได้ในมุมมองนี้ เพราะฉะนั้นในส่วนไหนที่เรามีโอกาสพักผ่อนหรือหาวิธีลดความเครียด เราก็ควรทำควบคู่กันไปด้วย…เพราะตามที่ผมได้เปรียบเทียบไว้ หากคุณฝึกวิ่งมาราธอนตลอดเวลา ทุกวัน ร่างกายคุณจะพังก่อนได้ลงสนามจริง

#10 ในบางครั้ง ไม่อดทนบ้างจะเป็นอะไรไป

จากมุมมองเดิมในข้อที่แล้ว หากเราเข้าใจว่ากำลังใจของเรามีจำกัด เราก็ต้องเลือกว่าเราอยากจะใส่ใจหรือทุมเทใจไปกับอะไรบ้าง การที่เราบอกตัวเองอยู่ตลอด ว่าให้เป็นคนอดทน แต่ก็ต้องยอมรับ ว่ามีบางเหตุการณ์ยากที่จะอดทนได้ 

การปล่อยให้เราไม่อดทนในบางเหตุการณ์ก็เป็นอะไรที่ดีเหมือนกัน ในบางครั้งนะครับ ตัวอย่างเช่น การกินของทอดบ้างเล็กน้อย หลังจากที่เราคุมอาหารมานานแสนนาน 

การผ่อนคลายจากความเข้มงวดบางอย่างบ้างก็ดีนะครับ ตราบใดที่สิ่งเหล่านั้นไม่ทำให้ผู้อื่นร้อนใจหรือเกิดความไม่สบายใจด้วย แต่อย่าเผลอไม่อดทนมากจนเกินไปนะครับ

ส่วนตัวแล้ว ผมมองว่าให้ปล่อยวางสิ่งไม่สำคัญออกไป แล้วก็เอาเวลา เอาแรง เอาสมาธิ มาใส่ใจกับสิ่งสำคัญจริงๆที่มีผลกระทบต่อชีวิตของคุณดีกว่า

บทความล่าสุด