สำหรับหลายๆคนความสุขเป็นสิ่งที่หาได้ยาก สร้างได้ยาก บางครั้ง บางเวลา และ บางสถานการณ์ เราก็อาจจะรู้สึกว่าความสุขเป็นสิ่งที่ไกลตัวเราเหลือเกิน วันนี้ผมเลยอยากจะแชร์ตัวอย่างของความสุขในหลายๆมุมมองของชีวิต เพื่อที่ผู้อ่านของผมจะได้เข้าใจว่าบางครั้งความสุขอาจจะอยู่รอบตัวเรากว่าที่คิด
บทความนี้เป็นบทความมหากาฬ ผมใช้เวลาเขียนนานหลายวัน แต่เนื้อหาที่เขียนมาจากประสบการณ์ทั้งชีวิตของผมเลย หวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้หลายๆคนสามารถหาความสุขให้ตัวเองได้
33 วิธีสร้างความสุขให้ตัวเอง
การค้นหาตัวเอง
#1 จินตนาการสิ่งที่ทำให้คุณมีความสุข
ผมขอเริ่มที่วิธีที่ง่ายที่สุด การหาความสุขของคุณจะง่ายมากหากคุณรู้ว่าอะไรทำให้ตัวเองมีความสุข และสำหรับหลายๆคน การคิดถึงสิ่งที่ทำให้ตัวเองมีความสุขก็คือความสุขอย่างหนึ่งแล้ว เพราะหลายๆครั้งความคิดและความทรงจำที่ดีก็คือความสุขของเรานั่นเอง
#2 ลองหาสิ่งที่มีค่าสำหรับคุณ
ผมเน้นคำว่า ‘มีค่าสำหรับคุณ’ เพราะแต่ละคนให้คุณค่าของแต่ละอย่างไม่เหมือนกัน บางคนชอบรถหรู บางคนชอบกระเป๋า บางคนชอบไปเที่ยว ส่วนบางคนก็ชอบกินของอร่อยๆ การรู้ว่าอะไรที่มีค่าสำหรับคุณก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ส่วนโบนัสพิเศษก็คือการที่คุณทำความเข้าใจว่าของที่สำคัญสำหรับคนอื่น อาจจะไม่ได้มีค่าสำหรับเรามากขนาดนั้น
#3 ทดลองทำอะไรใหม่ๆ…ที่เราน่าจะชอบ
สำหรับคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร หรือเห็นคุณค่ากับอะไรบ้าง การเริ่มลองทำอะไรใหม่ๆ ทำสิ่งที่ตัวเองไม่เคยทำ ก็ถือว่าเป็นก้าวแรกที่ทุกคนต้องทำให้ได้ การลองทำอะไรใหม่ๆจะทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น แน่นอนว่าเราก็ควรมีทิศทางให้ตัวเองก่อนว่าอยากทำอะไร ไม่อยากทำอะไร หรือถ้าคุณเป็นคนที่ใจกว้าง ยอมรับไอเดียทุกอย่างได้ง่ายๆ ก็จงไหลไปตามน้ำ ลองทำทุกอย่างเลยก็ได้
#4 ให้โอกาสตัวเอง
หลายครั้งที่เราปิดโอกาสตัวเองเพราะคิดว่าเราไม่เก่งพอ ไม่เหมาะสมพอ หรือไม่คู่ควร ในส่วนนี้คำถามที่ผมถามตัวเองเสมอก็คือ ‘ถ้าทำพลาดแล้ว จะมีข้อเสียอะไรหรือเปล่า’ หากคำตอบคือไม่ ทำพลาดแล้วอย่างมากก็เสียเวลาไม่กี่ชั่วโมง ผมก็จะให้โอกาสตัวเอง ลองทำสิ่งใหม่ๆ หรือสิ่งที่ผมคิดว่าตัวเองน่าจะชอบ
#5 จดสิ่งที่ทำให้คุณมีความสุข
อีกหนึ่งวิธีสำหรับคนที่ไม่ค่อยถนัดด้านการสังเกตตัวเอง การจดจะทำให้คุณสามารถเรียบเรียงข้อมูลได้ดีมากขึ้น หากเรากลับมาดูสิ่งที่เราจด เราก็อาจจะสังเกตได้ว่า ‘จุดเหมือน’ ของกิจกรรมต่างๆที่ทำให้เรามีความสุขคืออะไร หลังจากนั้นเราก็แค่ต้องทำซ้ำ หากเราจดเรื่องของกินบ่อยๆ เราก็คงชอบของกิน เราก็แค่กินให้มากขึ้น
#6 ฝึกเล่าเรื่องของตัวเองให้คนอื่นเข้าใจ
มีคนเคยบอกไว้ว่าคนที่เก่งจริงๆต้องสามารถอธิบายเรื่องต่างๆให้คนอื่นเข้าใจได้ง่าย เพราะฉะนั้นคนที่เก่งเรื่องตัวเอง เข้าใจตัวเองได้ดีจริงๆ ก็ต้องเก่งในการอธิบายเรื่องของตัวเองให้คนอื่นเข้าใจได้ง่ายเช่นกัน การฝึกเล่าเรื่องจะทำให้คุณสามารถเรียบเรียงความคิด และสรุปความชอบความสุขต่างๆออกมาเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย
#7 บอกใช่กับสิ่งที่คุณไม่เคยทำมาก่อน
หากคุณกำลังลังเลว่าควรจะทำสิ่งใหม่ดีหรือเปล่า โดยคุณอาจจะไม่มั่นใจว่าสิ่งนี้จะดีหรือคุณจะชอบแค่ไหน คำตอบง่ายๆก็คือ ‘การลองทำดู’ เช่นการไปเที่ยวที่ใหม่ๆ แต่งตัวสไตล์ใหม่ กินของใหม่ๆ ซึ่งแย่ที่สุดก็คือคุณจะเสียเวลาไม่กี่ชั่วโมง (และอาจเสียความรู้สึกนิดหน่อย) แต่อย่างน้อยคุณก็ได้ค้นพบตัวเองอีกหนึ่งอย่าง
#8 บอกไม่กับสิ่งที่คุณทำประจำ
นอกจากหน้าที่และความรับผิดชอบที่คุณต้องทำประจำแล้ว คุณอาจจะสังเกตได้ว่ามีบางอย่างที่คุณทำอยู่เรื่อยๆ ทั้งๆที่ไม่ได้มีใครมาบังคับคุณ ในส่วนนี้หากคุณเป็นคนที่เบื่อกับชีวิตเดิมๆ คุณก็อาจจะลองเลิกทำอะไรที่คุณทำบ่อยๆ เพื่อที่คุณจะได้มีเวลาไปทำอย่างอื่นมากขึ้น ลองไม่นอนดึกดูบ้าง ลองไม่กินอาหารมื้อเดิมทุกอาทิตย์ หากปกติเราชอบเล่นอินเตอร์เน็ต เราก็อาจจะลดส่วนนี้บ้างก็ได้
#9 เลิกทำสิ่งที่ผิดกับจริยธรรมและจรรยาบรรณของคุณ
ข้อนี้เป็นสิ่งที่ผมเห็นหลายคนยังทำอยู่ บอกตามตรงนะครับ ของบางอย่างเช่น การโกหก การพูดจาทำร้ายคนอื่น หรือการผิดสัญญา เป็นสิ่งที่หลายคนทำอยู่ หากคุณทำแล้วไม่รู้สึกผิด ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่สำหรับหลายๆคน การทำแบบนี้ทั้งๆที่ตัวเองจะรู้สึกผิดภายหลัง ก็คือการลดความสุขของตัวเอง
การลดสิ่งที่ทำให้เราทุกข์ใจ
#10 ทำความเข้าใจความเศร้าของตัวเอง
ความทุกข์เป็นอีกหนึ่งส่วนของสมการความสุข หากเรารู้ว่าอะไรทำให้เราทุกข์ใจ ขั้นตอนต่อไปก็คือการหลีกเลี่ยงหรือลดผลกระทบของความทุกข์ ซึ่งเราก็ทำได้ง่ายๆด้วยการจดสิ่งที่รบกวนจิตใจหรือทำให้เราทุกข์ใจเรื่อยๆ พอเราย้อนกลับมาดูเราก็จะเข้าใจว่าส่วนไหนที่เกิดขึ้นบ่อยๆ เราก็จะหาทางแก้ไขได้
#11 การปล่อยเรื่องที่ไม่จำเป็นออกไป
ผมยอมรับว่าโลกเราไม่สมบูรณ์แบบ บางทีเราก็เลี่ยงหน้าที่ ความรับผิดชอบ หรือแม้แต่ความทุกข์ไม่ได้ แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้ก็คือการเลือกว่าเราจะเก็บสิ่งนี้มาคิดทำร้ายเราแค่ไหน ในภาษาที่เราน่าจะเคยได้ยินกันก็คือ ‘การปล่อยวาง’ ยิ่งเราปล่อยวางสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ก็ยิ่งดี
#12 การพักที่จะคิดบางเรื่องบ้าง
เรื่องบางอย่างสำคัญมาก เราไม่สามารถทิ้งภาระนี้ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเก็บมาติดตลอดเวลา 24 ชม ถ้าคุณคิดว่าการปล่อยวางยังยากไปอยู่ เราก็อาจจะเริ่มจากการ ‘ลดความคิด’ ก่อน เช่น ปกติเราจะเครียดวันละสองชั่วโมง เราก็แค่ลดเวลาเครียดเหลือแค่หนึ่งชั่วโมง (ในส่วนอื่นๆ ผมจะอธิบายว่าทำยังไง)
#13 รู้จักการขอความช่วยเหลือ
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่แปลก ยิ่งเราทุกข์ใจมากแค่ไหน เราก็ยิ่งออกมาจากความทุกข์ใจนั้นได้ยาก ความคิดเราจะขุ่นหมอง หาทางแก้ปัญหาด้วยตัวเองไม่ได้ ในส่วนนี้การที่เรากล้าที่จะขอความช่วยเหลือจากคนอื่นก็เป็นทางออกง่ายๆที่คนเศร้าชอบลืมคิดถึงกัน
#14 จงชินกับความล้มเหลวและคําติชม
อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เราทุกข์ก็คือความล้มเหลว คำติชม และความกลัวในสองสิ่งนี้ ถึงแม้ว่า ‘การทำใจ’ อาจจะเป็นข้อแนะนำที่หลายๆคนไม่อยากได้ยิน แต่ส่วนมากแล้วความล้มเหลวและคำติชมเป็นสิ่งที่เราเลี่ยงไม่ได้ เราทำได้มากที่สุดคือการทำให้ตัวเองคุ้นชิน ยิ่งเราล้มเหลวบ่อย ยิ่งเราโดนคนติชมบ่อย เราก็ยิ่งทุกข์ใจกับสิ่งเหล่านี้น้อยลง
#15 การพักงานที่คุณไม่ชอบ
การพักผ่อนเป็นสิ่งที่ดี หน้าที่บางอย่างเราไม่สามารถเลิกทำได้ แต่เราสามารถลดหรือพักได้ คุณต้องอย่าลืมว่าร่างการคนเราก็มีข้อจำกัด หากเราทำแต่งาน ทำแต่หน้าที่ โดยไม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ซักวันหนึ่งร่างกายและจิตใจของเราก็จะล้มได้ คุณต้องหาวิธีพักผ่อนที่เหมาะสำหรับคุณให้ได้
ความสุขและสุขภาพ
#16 น้ำตาล
ในส่วนนี้ผมต้องขอเริ่มด้วยสิ่งที่ผมชอบมากที่สุด อาหารต่างๆที่มีน้ำตาลจะทำให้ร่างกายเรารู้สึกดีชั่วคราว บางครั้งหากเราเครียด ไม่มีแรงชั่วคราว การกินน้ำตาลก็คือการเพิ่มพลังงานให้กับทั้งร่ายกายและจิตใจเรา อย่างไรก็ตาม เราก็ควรควบคุมปริมาณน้ำตาลที่เรากินนะครับ เพื่อให้ร่างกายเรามีความสุขในระยะยาว
#17 กินของที่ทำให้เรามีความสุข
ของกินที่ทำให้แต่ละคนมีความสุขอาจจะไม่เหมือนกัน หากคุณรู้ว่าตัวเองชอบกินของแบบไหน เราก็แค่หาเวลาเพิ่มความสุขให้ตัวเองบ้าง หรือหากคุณเป็นคนไม่ชอบกินหรือไม่รู้ว่าตัวเองชอบกินอะไร คุณก็อาจจะทดลองกินอะไรใหม่ๆดู
#18 กินของเพื่อสุขภาพด้วย
ความสุขในชีวิตขึ้นอยู่กับความสมดุลด้วย หากเรามีวันที่ตัวเองกินของที่ตัวเองชอบ เราก็ต้องให้ตัวเรากินของเพื่อสุขภาพด้วย เพราะสุดท้ายแล้วสุขภาพที่ดีก็จะทำให้เรามีความสุขในระยะยาว
#19 หาการออกกำลังกายที่เหมาะกับคุณ
ทุกคนคงรู้อยู่แล้วว่าการออกกำลังกายจะทำให้สุขภาพของเราดี (ซึ่งสุขภาพร่างกายที่ดีก็จะทำให้สุขภาพจิตใจของเราดี และทำให้เรามีความสุข) ปัญหาก็คือการออกกำลังกายเป็นเรื่องยุ่งยากของบางคน ซึ่งในส่วนนี้เราก็ควรจะทดลองออกกำลังกายในรูปแบบใหม่ๆบ้าง เพื่อที่เราจะได้หาการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับตัวเราเอง
#20 การงีบเพื่อให้สมองพักผ่อน
สมองและความคิดของเราเป็นปัจจัยหลัก เพราะมุมมองความคิดเป็นตัวตัดสินว่าเราจะมีความสุขหรือเปล่า หากวันไหนที่สมองเรารู้สึกล้า โดยเฉพาะช่วงที่เราคิดไม่ออก หรืออารมณ์ไม่ดี การงีบเพื่อให้สมองเราได้มีโอกาสพักผ่อนก็จะช่วยได้เยอะมาก
#21 การนอนอย่างเพียงพอ
ในขณะที่การงีบคือการให้สมองพักผ่อนในระยะสั้น การนอนอย่างเพียงพอจะทำให้เรารู้สึกได้พักผ่อนระยะยาว หลายครั้งที่จิตใจเราว้าวุ่นเพราะเรานอนไม่พอ คนที่นอนไม่พอจะสามารถควบคุมอารมณ์และสติได้น้อยกว่าคนที่นอนอย่างเต็มอิ่ม เพราะฉะนั้นการนอนจึงปัจจัยสำคัญของความสุข
#22 อย่านั่งมากเกินไป
การนั่งและนอนอยู่เฉยๆทั้งวันก็เป็นอันตรายมาก โดยเฉพาะสำหรับคนที่ทำงานประจำที่ต้องนั่งทั้งวันอยู่แล้ว ในส่วนนี้การได้ออกไปไหนมาไหนบ้าง หรือแม้แต่การลุกเดินขึ้นมาจัดของ ทำความสะอาด ก็จะทำให้ร่ายกายได้รู้สึกว่ากำลังทำงานอยู่ หากเราอยู่กับที่มากเกินไปร่ายกายเราจะไม่ได้ใช้พลังงาน ทำให้เรารู้สึกกระสับกระส่าย
#23 ปรับชีวิตให้เหมาะกับสภาพร่างกาย
ความพอดีสำหรับแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนนอนน้อยได้ บางคนก็ไม่ต้องกินข้าวเยอะ บางคนไม่ออกกำลังกายทั้งวันก็ได้ ในส่วนนี้สิ่งที่สำคัญคือการรู้ข้อจำกัดของตัวเองและพยายามปรับการใช้ชีวิตให้เหมาะกับสิ่งที่เรามี ข้อแนะนำเสริมก็คือข้อจำกัดในชีวิตเราเปลี่ยนเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเราก็ควรกลับมาพิจารณาสิ่งเหล่านี้เรื่อยๆทุก 2-3 ปีนะครับ
#24 ดูแลสุขภาพตัวเองอย่างต่อเนื่อง
สุดท้ายแล้วความสุขที่ได้จากสุขภาพที่ดี (ทั้งโดยตรงและทางอ้อม) ก็เป็นสิ่งที่เราต้องดูแลระยะยาว สุขภาพก็เหมือนการเก็บออมเงิน หากเราตั้งใจดูแลตั้งแต่วันนี้ เราก็จะมีเงินเก็บเยอะในสมัยที่เราแก่ตัว แต่การปรับวิถึชีวิตแบบหักดิบก็เป็นเรื่องยาก เพราะฉะนั้นเรามาค่อยๆปรับ ค่อยๆพัฒนาสุขภาพตัวเองเรื่อยๆนะครับ
ความสุขและความสงบ
#25 การฝึกที่จะไม่คิด
การอยู่เหนือความคิดของตัวเองจะทำให้เรามีความสุขได้ หลายครั้งที่ความคิดของเราถูกชักจูงด้วยอารมณ์ ซึ่งอารมณ์ก็ถูกชักจูงจากสุขภาพร่างกายและปัจจัยภายนอกอีกที เพราะฉะนั้นหากเราสามารถหยุดคิดได้ เราก็จะอยู่เหนือการชักจูงที่ไม่ดีจากอารมณ์และความรู้สึกตัวเอง
#26 การฝึกหายใจ
การฝึกหายใจมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น การสอนให้ควบคุมความคิด-สติ หรือ ทำให้เรามีสมาธิมากขึ้น ผมพบว่าการควบคุมลมหายใจเวลาที่ตัวเองโมโห เครียด หรือคิดไม่ออก ก็จะทำให้เราอยู่เหนืออารมณ์ชั่วคราวได้ดีมากๆ
#27 การทำสมาธิ
การทำสมาธิเป็นสิ่งที่อยู่กับคนไทยมานานแล้ว บางคนก็เรียกความสงบนี้ว่าความสุข บางคนก็เรียกว่าความสบายใจ ซึ่งนอกจากจะเป็นสิ่งที่สอนกันมานานในศาสนาพุทธแล้ว วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ก็มีการวิจัยเรื่องความสุขจากการทำสมาธิด้วย คนที่ไม่เคยทำก็อาจจะเริ่มจากการทำสมาธิวันละ 1-2 นาทีก่อนก็ได้ครับ
#28 ความสบายใจ
นิยามของความสุขและความสบายใจของคนเราไม่เหมือนกัน แต่ที่แน่ๆก็คือหากเรามีความสบายใจ เราก็สามารถหาความสุขได้ง่ายขึ้น ที่ส่วนนี้ความหมายของความสบายใจของผมก็คือการที่ไม่มีอะไรมารบกวนใจเรา อาจจะเป็นด้วยการทำให้ใจเราแข็งแกร่งขึ้น หรือการพยายามลดสิ่งรบกวนจิตใจรอบข้างที่ไม่จำเป็นออกไปก็ได้
#29 การหยุดชั่วคราว
ความสุขและความสงบนั้นสามารถมาได้ทุกที่ทุกเวลา อย่างไรก็ตาม สำหรับมือใหม่ เราก็สามารถทำสมาธิได้ง่ายขึ้นหากเรานำตัวเองไปอยู่ในที่ที่สงบ แน่นอนว่าการไปนั่งวิปัสสนาก็เป็นเรื่องที่ดี แต่สำหรับคนที่ยุ่งไม่มีเวลา บางครั้งการหยุดชั่วคราว หยุดเพื่อคิด เพื่อสร้างช่วงเวลาที่สงบ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีพอแล้ว
#30 การไม่คาดหวัง
เราได้ยินบ่อยๆว่าการปล่อยวางเป็นเรื่องที่ดี แต่การปล่อยวางที่แท้จริงคืออะไรกัน? ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าการปล่อยวางที่ดีเริ่มจากการ ‘บริหารความคาดหวัง’ ของตัวเราก่อน อาจจะเป็นการเริ่มง่ายๆอย่างการลดความคาดหวังสำหรับเรื่องเล็กๆที่ไม่สำคัญไปก่อน หากเราทำเรื่องเล็กๆได้ดีแล้ว เราค่อย ‘ท้าทายตัวเอง’ ด้วยการปรับความคาดหวังเรื่องใหญ่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เราไม่มั่นใจว่าเราพร้อมที่จะทำได้
#31 ฝึกที่จะพอใจที่จะไม่ทำอะไร
มนุษย์บางประเภทไม่สามารถอยู่เฉยๆได้ เพราะการอยู่เฉยๆจะทำให้เรากระวนกระวาย ใจของเราจะรู้สึกว่าชีวิตเราไปไม่ถึงไหน การอยู่เฉยๆก็เหมือนกับการปล่อยให้เวลาเสียเปล่า ที่ผมสามารถพูดแบบนี้ได้เพราะผมก็เป็นคนประเภทนี้เหมือนกัน สำหรับคนที่เป็นแบบนี้เหมือนกัน การฝึกที่จะอยู่เฉยๆ เรียนรู้ที่จะพอใจกับสิ่งที่เรามีก็จะทำให้เราเก่งเรื่องการมีสติมากขึ้น
#32 ศาสนาและการเข้าสังคมในแบบอื่นๆ
ความเชื่อ และ การได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมคือวิธีการหาความสุขแบบหนึ่ง ในส่วนนี้ศาสนาหรือแม้แต่การเข้าสังคมในรูปแบบอื่นๆก็ช่วยเราได้เยอะ เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งของศาสนา จะทำจิตอาสา หรือจะจัดประชุมหมู่บ้าน เราก็สามารถมีความสุขได้ถ้าเราเรียนรู้ที่จะชื่นชมสิ่งรอบตัวเรา
#33 การหาสิ่งเตือนสติเรื่อยๆ
เรารู้อยู่แล้วว่าสติทำให้ชีวิตเราดีขึ้น แต่การมีสติอยู่ตลอดเวลาก็เป็นเรื่องยาก บางครั้งการมีคนอยู่ข้างๆเพื่อเตือนสติเราก็อาจจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด เผื่อวันที่เราไม่สามารถคิดด้วยตัวเองได้เราก็จะได้มีเครื่องมือภายนอกคอยช่วยเหลือ แต่สิ่งเตือนสติก็ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นเพื่อนรัก หรือครอบครัวเสมอไป บางครั้งอาจจะเป็นการเขียนป้ายบอกตัวเองไว้ที่ห้องนอนว่าเราควรมีสติอยู่เสมอก็คงเพียงพอ โดยเฉพาะในเวลาที่เราอยากมีความสุข
บทความล่าสุด
การจัดโต๊ะคอมให้สวยถูกใจ พร้อมฟังก์ชันการใช้งานครบครัน...
ในมุมมองหนึ่ง ‘ลูกคนกลาง’ ดูเหมือนจะต้องแบกรับภาระทางใจอันหนักอึ้ง...