Minimalist คืออะไรกันนะ?
มันเป็นวิธีการแต่งตัวหรือแต่งบ้านหรือเปล่า? แล้วทำไมช่วงนี้ถึงมีคนพูดถึงการเป็น minimalist มากขึ้น
ผมคิดว่าชีวิตคนเรานับวันยิ่งซับซ้อนวุ่นวายมากขึ้น ทุกคนมีความคาดหวังทางสังคม มีภาระของตัวเอง และมีสิ่งรบกวนจิตใจรอบตัวมากมาย บางครั้งการ ‘คัดแต่สิ่งที่จำเป็น’ เพื่อทำให้เราใส่ใจและมีความสุขกับชีวิตมากขึ้น
แต่คำว่า minimalist มันคืออะไรกันแน่ และ มันมีประโยชน์อะไรบ้างนะ ในบทควาทนี้เรามาดูกันครับ
Minimalist คืออะไร?
Minimalist (อ่านว่า มินิมัลลิสต์) คือหลักการใช้ชีวิตด้วยการใช้จ่ายแค่สิ่งที่จำเป็นเท่านั้น เป็นการลดสิ่งที่ไม่สำคัญออกไปเพื่อสร้างพื้นที่ให้กับสิ่งที่มีค่ากับเราเท่านั้น หลักการนี้หมายความว่าเราต้องเข้าใจว่าสิ่งไหนสำคัญที่สุดสำหรับเรา ซึ่งเราควรแบ่งเวลาและพื้นที่ให้สิ่งพวกนี้เป็นอย่างเดียวเท่านั้น
คำว่า minimal (มินิมัล) แปลตรงตัวว่า ‘น้อยมาก’ หรือ ‘น้อยที่สุด’ ส่วน minimalist หมายความตรงตัวก็คือคนที่ชอบอะไรน้อยๆ แต่ความหมายของ minimalist ในบทความนี้ไม่ได้แปลตรงตัวได้ขนาดนั้น
หัวใจหลักของการเป็น minimalist คือการหาความชัดเจนและเป้าหมายในชีวิต และการจงใจทุ่มเทชีวิตเพื่อสิ่งเหล่านั้นเป็นพิเศษ ความชัดเจนและเป้าหมายอาจจะหมายถึงครอบครัว การทำงาน งานอดิเรก หรือแม้แต่สิ่งที่เราชอบเล็กๆน้อยๆ สิ่งพวกนี้จะไม่เหมือนกันสำหรับแต่ละคน เพราะฉะนั้นเราคงไม่สามารถใช้วิถีการใช้ชีวิตของคนอื่นมากำหนดการใช้ชีวิตของเราได้
ยิ่งเราสามารถเข้าใจ ‘ความอยาก’ และ ‘วิถีการใช้ชีวิต’ ของตัวเราได้มากเท่าไร มันก็จะง่ายขึ้นในการจัดระดับความสำคัญของสิ่งรอบตัวเรา ซึ่งก็จะแปลว่าเราสามารถเข้าใกล้การเป็น minimalist ได้มากขึ้นด้วย
แต่ก่อนที่เราจะไปเรียนรู้วิธีการเป็น minimalist เรามาดูประโยชน์ของการเป็น minimalist กันก่อนครับ
ประโยชน์ของการเป็น minimalist?
Minimalist คือการสร้าง ‘อิสระ’ ให้ตัวเอง
หากเราสามารถปล่อย ‘สิ่งไม่จำเป็น’ ออกจากชีวิตของเราได้ เราก็จะมีพื้นที่และอิสระในการใช้เวลากับสิ่งที่เรารักจริงๆ เราไม่จำเป็นต้องผูกมัดกับความต้องการของสังคมที่เราไม่ได้อยากได้ เราไม่ต้องเสียเงินเสียเวลากับอะไรที่ซ้ำซากและไม่ได้จำเป็นสำหรับเรา
การสร้างพื้นที่ให้สิ่งที่เรารักหมายความว่าเราจะประหยัด เวลา เงิน และ โฟกัส ที่เราใช้ไปกับอย่างอื่นที่ไม่จำเป็นไปได้ หมายความว่าเราจะสามารถโฟกัสกับคนสำคัญในชีวิตได้มากกว่า โฟกัสกับงานที่สำคัญได้เยอะกว่า และโฟกัสกับการใช้จ่ายที่ทำให้เรามีความสุขได้จริงๆ
การทำอะไรซ้ำไปซ้ำมาโดยไม่ก่อเกิดประโยชน์ถือว่าเป็นสิ่งตรงข้ามกับการเป็น minimalist เลยครับ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของมาเยอะเกินความจำเป็น การทำงานที่เกิดประโยชน์กับเป้าหมายหลัก หรือการใช้เวลาเปล่าประโยชน์ไปกับสิ่งที่เราไม่ได้สนใจมากขนาดนั้น
ยกตัวอย่างเช่นนิสัยชอบ ‘ไถเฟสบุ๊ค’ หรือการซื้อเสื้อผ้ามามากเกินโดยที่ตู้เสื้อผ้าไม่มีที่จะเก็บแล้ว สิ่งที่เหมือนจะเล็กน้อยแต่ถ้ามันทับถมเรื่อยๆชีวิตเราก็จะมีพื้นที่น้อยลง
มาถึงตรงนี้ทุกคนคงเข้าใจหลักการและข้อดีเบื้องต้นของการเป็น minimalist แล้ว แต่มันจะมีวิธีไหนบ้างที่ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตแบบนี้ได้ ‘เหมาะกับเรา’ มากขึ้น…
วิธีการเป็น minimalist
วิธีพวกนี้มันฟังดูยุ่งยากใช่ไหมครับ การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างมันยากเสมอ มนุษย์เราเวลาเจออะไรยากๆก็จะถามตัวเองว่าเราจำเปลี่ยนหรือทนลำบากไปเพื่ออะไรกันนะ?
#1 หาโฟกัสของคุณก่อน
ขั้นแรกของการเป็น minimalist ก็คือการเลือกส่วนหนึ่งของชีวิตที่คุณอยากจะ ‘มีอิสระ’ มากขึ้น มันอาจจะเป็นอะไรเล็กน้อยอย่างการจัดโต๊ะทำงาน หรืออะไรยิ่งใหญ่แบบการจัดการนิสัยเสียบางอย่างของตัวเอง
ไม่ว่าเป้าหมายของคุณคืออะไร สิ่งสำคัญในขั้นตอนนี้ก็คือการเลือกอะไรที่คุณสามารถทำได้จริงหรือเห็นว่าทำแล้วจะช่วยให้ชีวิตของคุณดีขึ้นครับ
#2 สร้างกฎของตัวอง
ข้อต่อมาคือการสร้างกฏของตัวเอง ทุกคนมีความหมายของอิสระและความหมายของสิ่งที่จำเป็นไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นในส่วนนี้คุณต้องขีดเส้นให้ได้ว่าส่วนไหนที่สำคัญที่สุดสำหรับคุณ
ไม่ว่าภาพชีวิตแบบ minimal ของคุณจะหน้าตายังไง กฎของคุณต้องสามารถพาคุณไปยังภาพนั้นให้ได้
ตัวอย่างของกฏการเป็น minimalist ก็อาจจะเป็น ‘จะใส่เสื้อสไตล์ง่ายๆให้มากขึ้น’ หรือ ‘เพิ่มเวลาในการทำงานด้วยการลดงานที่ไม่สร้างคุณค่าให้น้อยลง’
#3 ลดสิ่งที่คุณต้องทำซ้ำ
สิ่งแรกที่คุณควรลดคือการทำซ้ำที่ไม่สำคัญ การทำซ้ำมีอยู่สองอย่างครับ การทำซ้ำที่สร้างคุณค่าและการทำซ้ำที่ไม่สร้างคุณค่า การทำซ้ำที่สร้างคุณค่าอาจจะเป็นอะไรก็ได้เกี่ยวกับงานของคุณ ยกตัวอย่างคือการตอบลูกค้าหรือการทำขนมมาขาย
สิ่งที่คุณควรโฟกัสก่อนก็คือการลดการทำซ้ำที่ไม่มีค่า เช่นการเปิดไลน์หรือเปิดเฟสบุ๊คทุกสิบนาที…ทั้งๆที่ไม่มีใครทักมา หากเป็นไปได้คุณควรจัดตารางชีวิตแบ่งเวลาให้กับทำกิจกรรมพวกนี้แบบจำกัด เช่นเราสามารถเล่นเฟสบุ๊คได้แค่ 20 นาที เราสามารถดูอีเมลได้แค่ 30 นาที เป็นต้น
จริงๆแล้วการทำซ้ำทุกอย่าง เราสามารถสร้างระบบขึ้นมาทดแทนได้ ยิ่งเราเข้าใจระบบและสามารถทำให้ระบบพวกนี้มัน ‘ง่ายสำหรับให้คนอื่นทำให้’ เราก็ลดภาระไปได้เยอะแล้ว
#4 ลดสิ่งที่คุณคิดว่าไม่สำคัญ
นอกจากการทำซ้ำแล้ว เราก็ควรมาโฟกัสในส่วนสิ่งที่ไม่สำคัญด้วย สิ่งไม่สำคัญอาจจะมาในรูปแบบของที่คุณเก็บมาหลายเดือนแล้วก็ยังไม่ได้ใช้ซักที หรือ งานที่ไม่จำเป็นสำหรับหน้าที่ของคุณเป็นต้น
Minimalist จะไม่เก็บของที่ไม่จำเป็นไว้ครับ เพราะของพวกนี้นอกจากจะกินพื้นที่ที่คุณควรให้กับสิ่งสำคัญเท่านั้น คุณยังต้องเสียเวลา (อย่าเปล่าประโยชน์) เพื่อดูแลของพวกนี้ด้วย
ลู่วิ่งหรือเครื่องนวดที่เราซื้อมาหลายปีแล้วไม่ได้ใช้เลย หรือเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใส่มาหลายปีเป็นตัวอย่างของไม่สำคัญครับ ของพวกนี้ถ้าเราไปขายต่อหรือบริจาค เราก็จะสร้างพื้นที่ในบ้านได้มากขึ้น
#5 จัดระเบียบ
หลักจากที่คุณได้ลดการทำซ้ำและสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปแล้ว สิ่งที่เหลือก็คือสิ่งที่จำเป็นและสำคัญต่อคุณใช่ไหมครับ? แต่ทำไมชีวิตของคุณยังรู้สึกวุ่นวายอยู่?
นั่นก็เพราะของบางอย่างยังไม่ได้ถูกจัดเรียงให้เรียบร้อยมีระเบียบ คุณเป็นคนที่ชอบกองเสื้อผ้าไว้บนเก้าอี้หรือเปล่า ชอบเก็บสายเครื่องไฟฟ้าไว้จนมันพันกันวุ่นวายหรือเปล่า แล้วพวกเอกสารต่างๆในที่ทำงานคุณจัดเรียงยังไงบ้าง
ของที่สำคัญต่อเราถ้าเราไม่นำมาจัดระเบียบให้ดีมันก็เกะกะได้ครับ ให้ลองหาระบบการจัดระเบียบที่มันง่ายสำหรับการใช้งานของคุณนะครับ
#6 หาของอเนกประสงค์
ตัวอย่างที่ดีที่สุดก็คือ ‘มีดเนกประสงค์’ แทนที่เราจะเก็บมีด กรรไกร ไขควง เราก็สามารถเก็บแค่มีดอเนกประสงค์เล่มเดียวได้ หากคุณสามารถหาของแบบมีดอเนกประสงค์ได้เยอะ เวลาคุณอยากทำอะไรคุณก็ไม่ต้องแบกบ้านไปทั้งหลังครับ
#7 เริ่มอีกครั้งกับส่วนอื่นในชีวิต
ถ้าคุณทำมาถึงข้อนี้ได้ผมมั่นใจว่าชีวิตคุณคงมีความ minimalist มากพอสมควรแล้ว หลังจากนี้ก็แค่นำวิถีการใช้ชีวิตนี้ไปประยุกต์กับส่วนอื่นๆด้วย ยิ่งคุณประยุกต์ใช้ได้เยอะ ชีวิตคุณก็จะมีความเรียบง่ายและสบายขึ้น
จุดสำคัญของการทำอะไรใหม่ๆก็คือการ ‘เริ่มทีละนิด’ การเปลี่ยนแปลงที่สุดโต่งเกินไปหรือเร็วเกินไป ต่อให้มันดีแค่ไหนก็ทำให้เรารู้สึกอึดอัดหรือหมดความมั่นใจได้ หากเราอยากเปลี่ยน ‘วิธีการใช้ชีวิต’ จริงๆ เราค่อยๆทำจะดีกว่าครับ
เราจะเป็น minimalist ไปเพื่ออะไรกัน
อ่านมาถึงขนาดนี้แล้ว บางคนอาจจะแอบคิดว่าทำไมการเป็น minimalist ถึงมีขั้นตอนเยอะดูวุ่นวายจัง ตรงกับหลักการของการลดความวุ่นวายเลย
ซึ่งผมก็เห็นด้วยครับ มนุษย์เราถูกสร้างมาให้ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง และไม่ชอบการลดทรัพย์สินของตัวเอง แต่สิ่งที่เราต้องปรับจริงๆไม่ใช่วิธีการใช้ชีวิตหรอครับ ที่เราต้องปรับก็คือมุมมองของชีวิตของเรา
การลดสิ่งที่เรามี (เฉพาะสิ่งที่ไม่จำเป็นและเราไม่ได้ชอบ) ไม่ได้หมายความว่าเราจะพึงพอใจกับชีวิตเราน้อยลง minimalist คือการสอนให้เราเห็นค่าสิ่งที่เรารักมากขึ้น และเป็นการตัดสินรบกวนอื่นๆรอบตัวออกไป ลดความกดดันทางจิตใจจากสิ่งที่เราไม่ได้อยากได้มาตั้งแต่แรก ยกตัวอย่างเช่น
- การเปรียบเทียบสิ่งที่สร้างความสุข คุณค่า เป้าหมาย และ อิสระ ให้กับชีวิตและทิ้งสิ่งอื่นๆที่ไม่จำเป็นออกไปให้หมด ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ (เช่นเสื้อผ้าหรือเอกสารต่างๆ) และ ของที่เราสัมผัสไม่ได้ (เช่นความสัมพันธ์ที่ไม่ดี ความรู้สึกเครียดหรือกังวล นิสัยที่ไม่ก่อผลประโยชน์ และภาระที่ไม่สำคัญ)
- เปลี่ยนโฟกัสของชีวิตไปยังสิ่งที่เราไม่สามารถขาดได้ แทนที่จะมัวกังวลกับการที่เราไม่มีอะไรสักอย่าง เราเลือกที่จะอยู่กับสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขมากกว่า
- ทำให้เรามีสติกับสิ่งรอบข้างมากกว่าเดิม เพราะการใช้ชีวิตแบบ minimalist จะทำให้เราตั้งคำถามตัวเองทุกวันว่าอะไรสำคัญ และอะไรมีคุณค่าสำหรับเราบ้าง
สัญญาณบอกว่าคุณควรเป็น minimalist มากขึ้น
ผมคิดว่าทุกคนก็คงมีปัญหาแนวพวกนี้เหมือนกัน
- เสื้อผ้าที่ซื้อมาหลายปีแล้วไม่เคยได้ใส่
- ของที่เก็บมาหลายปีแล้วไม่ยอมทิ้งเพราะเสียดาย
- โต๊ะทำงานที่มีเอกสารเยอะเต็มไปหมด
- ชั้นวางของที่มีหนังสือนิตยสารที่ไม่ได้อ่าน
- หน้าจอคอมที่มีไฟล์เยอะกว่าที่ใช้งานจริง
- ห้องน้ำเต็มไปด้วยขวดสบู่แชมพูครีมนวดที่ไม่ได้ใช้
บางอย่างอาจจะดูไม่ใช่ปัญหายิ่งใหญ่ในชีวิตเราเลยไม่ได้ใส่ใจกับมันมากนัก แต่พอเราหันกลับมาดูวันที่เรารู้สึกเหนื่อยๆแล้วเราจะรู้สึกว่า ‘ทำไมชีวิตของเราถึงไม่เรียบร้อยขนาดนี้’ ปัญหาเล็กๆน้อยๆจะทับถมเรื่อยๆจนถึงวันที่คุณเริ่มสังเกตุว่า ‘มันเยอะเกินไป’ จนเราต้องหาทางแก้ไขให้ได้
ทุกคนคงมีซักมุมของชีวิตที่รู้สึกว่ารก ไม่เรียบร้อย หรือไม่จำเป็นอยู่ หากคุณเห็นประโยชน์ของการจัดระบบและจัดการ ‘ความไม่จำเป็น’ พวกนี้คุณก็พร้อมที่จะยอมรับความคิดการเป็น minimalist ไม่มากก็น้อยแล้ว
สิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับ minimalist
ถึงแม้การเป็น minimalist คือหลักการที่มีมานานแล้ว แต่ก็ยังมีหลายสิ่งเกี่ยวกับ minimalist ที่คนยังไม่เข้าใจอยู่ ซึ่งส่วนมากเป็นการเข้าใจแบบผิดๆจนทำให้คนไม่อยากศึกษาการเป็น minimalist เพิ่ม ในวันนี้เราไปดูเรื่อง ‘สิ่งที่ควรรู้’ เกี่ยวกับการเป็น minimalist ที่คุณยังไม่รู้กันครับ
Less is More
Less is More หรือหลักการน้อยแต่มาก มักจะได้ยินบ่อยๆมาคู่กับหลักการ minimalist เสมอ โดยรวมแล้ววิธีคิดจะเหมือนกันครับ ไม่ต้องใช้ของเยอะเกินจำเป็น ไม่ต้องทำอะไรที่เราคิดว่าไม่สำคัญ หรือบางคนอาจจะเลือกย้ายไปอยู่ในบ้านที่มีหลักเล็กกว่าเดิมด้วยซ้ำ ยิ่งเราลดเรายิ่งมีพื้นที่ให้อย่างอื่น
Minimalist และความสร้างสรรค์
ยิ่งเรามีสิ่งของน้อยสิ่งที่ตามมาก็คือความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งมันอาจจะขัดแย้งกับความคิดหลายคนอยู่ครับ
คนส่วนมากเชื่อว่ายิ่งเรามีของเยอะ เรายิ่งมี ‘ตัวเลือก’ และ ‘ตัวประกอบ’ เยอะ แปลว่าเราสามารถทำอะไรใหม่ๆ ทำอะไรสร้างสรรค์ได้ดีกว่าเดิม แต่มันจริงแค่ไหนกันนะ?
ในความเป็นจริง ‘ข้อจำกัด’ คือต้นกำเนิดของความคิดสร้างสรรค์เลยครับ ยิ่งเรามีตัวเลือกตัวประกอบน้อยเรายิ่งต้องเรียนรู้ที่จะสรรหาทางเลือกใหม่ๆเสมอ นวัตกรรมเปลี่ยนโลกส่วนมากก็จากข้อจำกัดพวกนี้เหล่ะครับ
Minimalist ไม่ได้ต้องอยู่อย่างประหยัด
สิ่งที่คนเข้าใจผิดมากเกี่ยวกับ minimalist ก็คือการคิดว่าชีวิตแบบนี้เป็นการอยู่แบบไม่มีความสุข เพราะเราไม่ได้ใช้จ่ายอะไรเลย
เราสามารถใช้ของที่เราชอบได้ การเลือกที่จะไม่ซื้อของที่เราไม่ได้อยากได้เท่ากับว่าเราสามารถเอาเวลาและเงินของเราไปลงกับอะไรที่เรารักจริงๆ แบรนด์ใหญ่อย่าง Apple ก็ขึ้นชื่อในการเป็น minimalist ครับ ซึ่งราคาสินค้าก็ไม่ได้เบาอย่าง ‘การประหยัด’ ที่คนเข้าใจกันผิดๆ
อีกกรณีนึงก็คือการใช้ของเก่าๆหรือใช้ของซ้ำๆ การประหยัดเป็นข้อดีของการเป็น minimalist ก็จริงแต่การประหยัดมากเกินไปจนไม่มีความสุขในชีวิตก็ไม่ใช่หลักการของ minimalist ครับ เช่นหากเราเลือกใส่เสื้อเก่าๆขาดๆทั้งๆที่เราสามารถซื้อตัวใหม่ที่ใส่แล้วสบายใจกว่ามาก เราก็ควรพิจารณา ‘ระดับความสำคัญ’ ของสิ่งต่างๆในชีวิตตัวเอง
ผมคิดว่าคำที่เหมาะสมที่สุดก็คือการ ‘อยู่อย่างพอเพียง’ ครับ เราแค่ต้องทำความเข้าใจว่า ‘พอเพียง’ ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน หากเรายอมรับได้ว่าแต่ละคนชอบอะไรไม่เหมือนกัน เราก็จะเปิดรับความคิดของ minimalist ได้มากขึ้น
ตัวอย่างการใช้ชีวิตแบบ minimalist
การใช้ชีวิตแบบ minimalist มันจะเชื่อมโยงกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสำหรับผมแล้วมันเป็นไปได้ด้วยหลายเหตุผลด้วยกัน
- ประเทศญี่ปุ่นมีพื้นที่น้อย ทำให้ข้อดีของการ ‘เก็บของให้น้อยลง’ มีมากขึ้น
- คนญี่ปุ่นเป็นคนที่มีวินัยสูง สามารถปรับตัวให้เข้ากับกิจวัตรประจําวันของ minimalist ได้ง่าย
- ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่คนมีความเครียดสูง ทำให้มีความต้องการในการ ‘ปล่อยของไม่จำเป็น’ ออกไปจากชีวิตมากขึ้น
หลายคนบอกว่าหลักการ minimalist ของญี่ปุ่นกับหลักการ minimalist ของ Apple (หรือของ Steve Jobs) มาจากที่เดียวกัน ซึ่งก็แปลว่าหลักการ minimalist จริงๆแล้วอาจจะได้รับแรงบันดาลใจจาก พุทธศาสนานิกายเซน (Zen Buddhism) ไม่มากก็น้อย
กลับมาดูเรื่องตัวอย่างการใช้ชีวิตอีกรอบ เราก็จะเห็นวิถึการเป็น minimalist แบบญี่ปุ่นได้หลายอย่าง
- ใช้การปูเตียงนอน เพื่อประหยัดพื้นที่สามารถพับเก็บได้ตอนกลางวัน
- การจัดเสื้อผ้าและของในตู้มีการพับเก็บอย่างเรียบร้อย ใส่กล่องเล็กๆเข้าไปในลิ้งชักเพื่อทำให้จัดเรียงของชิ้นเล็กชิ้นน้อยได้ง่าย
- แต่งตัวด้วยการคุมโทนสี ทำให้ไม่ต้องใช้เวลาเลือกเสื้อผ้านาน
- หาความสุขจากการสร้างพื้นที่ในบ้าน ยิ่งของเยอะยิ่งมีพื้นที่ให้ยืดเส้นยืดสายได้น้อย
และมันก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่หนังสือพวก ‘ลดของไม่จำเป็น’ หรือ ‘สร้างกฏให้ตัวเอง’ พวกนี้ถึงมาจากคนญี่ปุ่นเป็นส่วนมาก ประเทศนี้เป็นราชาของการจัดระบบสร้างระเบียบจริงๆครับ ดูจากการสร้างระบบผลิต ‘ไร้ของเสีย’ อย่างโรงงานโตโยต้าดูก็ได้
Minimalist บางคนก็ชอบในการมีพื้นที่เยอะๆมาก บางคนถึงกับขนาดไม่ซื้อเฟอร์นิเจอร์อะไรเลย เพราะชอบความโล่งของบ้าน
อย่างไรก็ตามชีวิตในแบบ minimalist ของคุณก็ไม่จำเป็นต้องทำตามชีวิต minimalist ของคนญี่ปุ่นเสมอไป การใช้ชีวิตแบบ minimalist คือการ ‘ลดสิ่งที่ไม่จำเป็น’ ออกจากรอบตัวเรา และความหมายของสิ่งไม่จำเป็นของแต่ละคนคงไม่เหมือนกันครับ
ในประเทศญี่่ปุ่นกระแสการเป็น minimalist ก็มีผลกระทบแบบไม่ดีต่อประเทศเช่นกัน มีรายงานระบบไว้ว่าเศรษฐกิจแบบ minimalist กำลังทำให้เศรษฐกิจประเทศ ‘ฝืดตัว’ ลงเนื่องจากคนเลิกใช้จ่ายฟุ่มเฟือยทำให้รายจ่ายโดยรวมต่อคนน้อยลงทั้งประเทศ
ข้อคิดสุดท้ายกับการเป็น minimalist
Minimalist คือการมีความสุขกับการอยู่แบบจำกัด เราไม่จำเป็นต้องทำอะไรให้มันยากวุ่นวาย ไม่ต้องเก็บอะไรที่เกินจำเป็นสำหรับตัวเอง ยิ่งเราจำกัดตัวเองให้อยู่กับความเรียบง่ายเท่าไร ความสุขก็จะมาได้ง่ายขึ้น
การเป็น minimalist ให้เริ่มจากการจัดระเบียบอะไรง่ายๆก่อน การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ควรเริ่มจากการทำอะไรเล็กๆก่อน หลังจากที่เราเข้าใจประโยชน์ของการเป็น minimalist แล้ว เราค่อยเริ่มใช้หลักการนี้กับส่วนอื่นๆในชีวิตภายหลัง หากการจัดบ้านมันใช้ความพยายามมากเกินไป เราก็อาจจะเริ่มจากอะไรง่ายๆเช่นการจัดโต๊ะหรือการจัดหัวเตียงเราก่อน
สุดท้ายนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำอะไรอย่างมีสติ สติจะทำให้เราเห็นค่าของสิ่งที่เรารัก และ สติจะทำให้เราเข้าใจความต้องการของตัวเองมากขึ้น หากเรามีสติ การจัดอันดับความสำคัญของทุกอย่างในชีวิตจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
บทความล่าสุด
การจัดโต๊ะคอมให้สวยถูกใจ พร้อมฟังก์ชันการใช้งานครบครัน...
ในมุมมองหนึ่ง ‘ลูกคนกลาง’ ดูเหมือนจะต้องแบกรับภาระทางใจอันหนักอึ้ง...