เงินซื้อความสุขได้หรือเปล่า ? ทำไมการไม่มีเงินถึงทำให้ทุกข์

เงินซื้อความสุขได้หรือเปล่า

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้เห็นข่าว และรายการทีวี เชิญอดีตนักแสดงท่านหนึ่งมาพูดคุยถึงชีวิตที่น่าอิจฉาและความรวยของเธอ ซึ่งหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากเกิดเป็นคนนี้ หรือ อยากมีอาชีพเหมือนคนนี้ จนพากันติดแฮชแท็ก

ทำให้ผมเกิดคำถามในหัวว่า “เงินซื้อความสุขได้หรือเปล่า ?” และยิ่งในสถานการณ์ตอนนี้ที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง ทุกคนต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าจะอดตายอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงความสุขหรอกครับ แค่จะมีชีวิตอยู่ในทุก ๆ วัน ก็เรียกได้ว่ายากลำบาก

เงินซื้อความสุขได้หรือเปล่า ?

เงินซื้อความสุขได้ การไม่มีเงินเป็นความทุกข์ ทุกข์ทั้งกายและใจ แต่ในขณะเดียวกันก็คงมีคนอีกจำนวนหนึ่ง เถียงว่า เงินซื้อความสุขไม่ได้  การมีเงินมากมายไม่ได้การันตีว่าเราจะมีความสุขที่แท้จริง แต่การไม่มีเงินนั้นนำมาซึ่งความทุกข์ทั้งกายและใจ

คำถามนี้เป็นคำถามง่าย ๆ ที่หาคำตอบได้ยาก และซับซ้อน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ในการหาคำตอบเลย เพราะมีการศึกษามากมาย

จากการศึกษาในอดีตแสดงให้เห็นว่าเงินสามารถนำมาซึ่งความสุขได้ แต่ถึงจุดหนึ่งเท่านั้น

ในปี 1970 ริชาร์ดอีสเตอร์ลิน นักเศรษฐศาสตร์ บอกว่าเงินซื้อความสุขได้จริง เมื่อคุณมีเงินเพียงพอที่จะซื้อความต้องการพื้นฐานของคุณไม่ว่าจะเป็นอาหาร ที่อยู่อาศัย และสิ่งอื่น ๆ คุณก็มีความสุข

การศึกษาของ Princeton ในปี 2010 พบว่าความสุขในแต่ละวันเพิ่มขึ้นเมื่อผู้คนมีรายได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามการค้นพบของพวกเขายังชี้ให้เห็นว่าเมื่อผู้คนมีรายได้ถึง 75,000 เหรียญต่อปี (หรือเทียบเป็นเงินบาทก็จะอยู่ประมาณ 2,355,750) พวกเขาจะไม่มีความสุขไปกว่านี้อีกแล้ว

และการศึกษาในหัวข้อนี้ยังบอกอีกว่านอกจากเรื่องมูลค่าของเงินแล้วยังมีปัจจัยหลายอย่างที่เข้ามามีบทบาทในเรื่องของเงินซื้อความสุขได้หรือเปล่า เช่น

  • คุณอาศัยอยู่ที่ไหน

แน่นอนครับ ปัจจัยด้านที่อยู่อาศัยสามารถบอกได้ถึงความสุข หากคุณอยู่ในสังคมที่ให้คุณค่ากับเรื่องเงินทอง สิ่งของ หากใครมี รถ เสื้อผ้าหน้าผม รองเท้า กระเป๋า ที่ราคาแพง ก็จะได้รับการยอมรับเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม นั่นหมายความว่า เงินสามารถซื้อสิ่งของ เนรมิตสิ่งต่าง ๆ  เพื่อให้คุณได้รับการยอมรับ ซึ่งนำมาซึ่งความสุขได้นั่นเอง

  • สิ่งที่สำคัญสำหรับคุณ

หลายคน มักบอกว่าเงินทองเป็นของนอกกาย ไม่ตายก็หาใหม่ได้ ซึ่งประโยคนี้ ก็ขึ้นอยู่กับว่า คุณให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรในชีวิต หลายคนมีความสุขกับการได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว จึงเลือกทำงานใกล้บ้าน แต่รายได้อาจไม่สูงเท่ากับคนที่ทำงานในเมืองหลวง ดังนั้นเงินสามารถซื้อความสุขได้หรือเปล่าก็ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งสำคัญในชีวิตสำหรับคุณคือเรื่องอะไร

  • คุณใช้จ่ายเงินของคุณอย่างไร

แท้จริงแล้วสิ่งที่คุณซื้อได้คือโอกาสแห่งความสุขที่มากขึ้น คุณใช้จ่ายเงินเพื่อรับโอกาสแห่งความสุขที่คุณต้องการ จุดเริ่มต้นที่คุณเริ่มใช้จ่ายเงินก็เพื่อความต้องการในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน อาหารและน้ำที่ดีต่อสุขภาพ ที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย เสื้อผ้าพื้นฐาน และการรักษาความปลอดภัยที่เพียงพอ การศึกษาความสุขทั่วโลกแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการตอบสนองความต้องการพื้นฐานด้านคุณภาพชีวิตเหล่านี้เป็นพื้นที่หนึ่งที่คุณสามารถซื้อความสุขได้อย่างแท้จริง

แต่เมื่อคุณมีเงินมากขึ้น ความต้องการก็มากขึ้นเช่นกัน เมื่อคุณสามารถตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานได้แล้ว ต่อมาก็ต้องการเกินความจริง ของคำว่า“ พื้นฐาน” คุณลืมว่าคำว่าพื้นฐานหมายถึงอะไร คุณคิดว่าสิ่งที่เพื่อน ๆ หรือคนรอบข้างของคุณมี หรือสิ่งที่คุณเห็นในโทรทัศน์ หรือตามสื่อโซเชียลมีเดีย คือสิ่งที่คุณต้องมี และนั่นเรียกว่า “พื้นฐาน” ทั้งที่ความเป็นจริงสิ่งที่คุณต้องการจริง ๆ อาจจะน้อยกว่านั้น

ความสุข ความทุกข์ และ เงิน

ความสุขเป็นสิ่งที่ยุ่งยาก และซับซ้อน การจะมีความสุขคุณต้องหาสมดุลในชีวิตสำหรับทุกความต้องการของคุณ เมื่อคุณซื้อของเพื่อตอบสนองความต้องการนั้นคุณต้องระวังเพราะของมาพร้อมกับราคา และความรู้สึกของการเป็นเจ้าของ จริง ๆ แล้ว เราอาจจะต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าเราต้องการสิ่งของนั้น หรือต้องการความรู้สึกเป็นเจ้าของกันแน่

มนุษย์ไม่ว่าจะเป็นคนรวย หรือ จน เรารักของของเรา เรารู้สึกเจ็บปวดและเสียใจกับการสูญเสียของของเรา เงินและความพยายามที่เราทุ่มเทเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งต่าง ๆ ของเราเมื่อมันจากไป ด้วยเหตุนี้เราจึงใช้เวลา เงิน และความพยายามมากขึ้นในการปกป้องสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว ซึ่งทั้งหมดนี้สวนทางกับความสุข

หากคุณซื้อของที่ทำให้คุณมีโอกาสแห่งความสุขมากขึ้น เช่น รถ บ้าน หรือแม้แต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รุ่นล่าสุด หลายคนหลงลืมที่จะพิจารณาค่าใช้จ่ายทางอ้อมสำหรับการซื้อนั้นด้วย

สมมติว่าคุณซื้อด้วยบัตรเครดิต ผ่อนชำระ คุณต้องทำงานเพื่อนำเงินมาจ่าย นอกจากนี้คุณยังต้องทำงาน นำเงินมาจ่ายเพื่อรักษาความปลอดภัย และบำรุงรักษข้าวของเหล่านั้น ในที่สุดอาจจะต้องจ่ายเงินเพื่อกำจัดสิ่งของเหล่านั้นด้วย ซึ่งหากรายจ่ายมากกว่ารายรับก็อาจส่งผลให้ต้องทำงานพิเศษ งานพิเศษนั้นจำกัดเวลาว่างของคุณ สิ่งที่คุณซื้อมาเพื่อทำให้คุณมีความสุขมากขึ้นจะทำให้คุณมีความสุขโดยรวมน้อยลง

สิ่งสำคัญคือการตรวจสอบให้แน่ใจว่าสิ่งที่คุณลงทุนด้วยเงินที่หามาอย่างยากลำบากนั้นจะเกิดความสุขขึ้นจริง

ดังนั้นหากคุณมองว่าเงินสามารถซื้อความสุขได้ ก็ไม่ใช่เรื่องผิดแต่ต้องใช้ความระมัดระวังในการซื้อสิ่งที่ดึงดูดสายตา ดึงดูดจิตใจของคุณ สิ่งแวดล้อมสามารถหลอกให้คุณคิดว่าสิ่งเหล่านั้น คุณต้องมีเท่านั้น ถึงจะนำความสุขมาให้ แต่ความสุขนั้นก็หายวับไปอย่างรวดเร็ว มาถึงตรงนี้หลายคนอาจเกิดคำถามว่า แล้วอะไรล่ะที่ควรหรือไม่ควรซื้อ ?

ไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัวหรอกครับเกี่ยวกับสิ่งที่คุณควรหรือไม่ควรซื้อ เราแต่ละคนมีความแตกต่างกันในความต้องการ สิ่งสำคัญคือการรู้จักตัวเอง ซื้อตามความต้องการเหล่านั้น และแน่ใจว่าความสุขที่ต้องการจะได้มาจากสิ่งที่คุณจ่ายเงินไป

สิ่งต่าง ๆ ไม่ได้นำมาซึ่งความสุขที่แท้จริง หากคุณไม่สามารถจัดชีวิตให้สอดคล้องกับความต้องการของคุณ เงินเป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยให้กระบวนการนั้นง่ายขึ้นเล็กน้อยไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาในตัวมันเอง สรุปคือ การไม่มีเงินทำให้เรามีความทุกข์ แต่พอมีเงินในระดับหนึ่งแล้ว ความสุขจะไม่ได้เพิ่มมากขึ้นตาม

บทความล่าสุด