10 จิตวิทยาเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อสร้างนิสัยใหม่ที่ดีขึ้น

10 จิตวิทยาเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อสร้างนิสัยใหม่ที่ดีขึ้น

ส่วนใหญ่คนเรามักจะเชื่อว่าตัวเองดีกว่าทุกคน แต่ทำไมทั้งเพื่อนสนิท เพื่อนที่ทำงาน หรือแม้กระทั่งญาติพี่น้องกลับค่อย ๆ ถอยห่างออกไป เกิดจากอะไรกันแน่

เคยมีผลวิจัยออกมาว่า คนเรานั้นรู้จักตัวเองจริง ๆ ประมาณ 20-25 % เท่านั้นเอง บางครั้งก็ไม่รู้หรอกว่าตัวเองมีข้อผิดพลาด หรือนิสัยที่แย่ ๆ ด้านไหนบ้าง แต่ถ้าหากเราอยากรู้จักตัวเองให้ดีขึ้น เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองจะต้องทำอย่างไร วันนี้เรามีเคล็ดลับดี ๆ มาฝากกันกับจิตวิทยาเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อสร้างนิสัยใหม่ที่ดีขึ้น

จิตวิทยาเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อสร้างนิสัยใหม่ที่ดีขึ้น

การเปลี่ยนแปลงตัวเองนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย แต่ก็เป็นหมุดหมายสำคัญหากอยากจะพัฒนาตัวเองไปจากจุดเดิม คนเราอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง

เช่น อยากเป็นคนเก่ง อยากเป็นคนที่ได้รับการยอมรับ อยากได้ความรัก แต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะถามตัวเองด้วยว่า ที่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองในเรื่องนั้น ๆ เพื่ออะไร ได้ประโยชน์จริงหรือไม่ จะสูญเสียตัวตนไปหรือเปล่า หากรู้คำตอบแล้ว ทีนี้เรามาดูวิธีการเปลี่ยนแปลงตัวเองกันเลย

1. เข้าใจตัวเองให้ได้

การจะเข้าถึงตัวตนที่แท้จริงของตัวเองได้นั้น การเปิดใจเป็นก้าวแรกที่สำคัญมาก เมื่อเปิดใจแล้วก็อย่ารีบด่วนตัดสินตัวเองจากอารมณ์ความรู้สึก ควรสำรวจตัวเองอย่าช้า ๆ คิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผลว่านิสัยหรือพฤติกรรมตัวเราเป็นอย่างไร เราอาจจะพบสาเหตุของปัญหาทั้งหมด แล้วลองตั้งคำถามถามตัวเองไปทีละข้อ ลองเปลี่ยนคำถามจากที่เคยถามว่าทำไม ก็ให้ปรับเป็นถามว่าทำอย่างไร

2. คิดอย่างสร้างสรรค์  

หากอยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง สิ่งแรกที่จำเป็นต้องมี คือสร้างนิสัยแบบคิดทุกอย่างในแง่ดี หรือ Positive Thinking เพราะความคิดเป็นประตูบานสำคัญ ที่จะเปิดออกไปสู่การกระทำ และการกระทำอะไรบ่อย จะเคยชินจนกลายเป็นนิสัยใหม่ที่ดีของเรา

เมื่อต้นทางคิดบวก การกระทำก็จะเป็นบวกตามกันไป เช่น คิดในเชิงสร้างสรรค์  ไม่ตัดสินคนอื่นแบบฉาบฉวย เมื่อเจอปัญหาต่าง ๆ ไม่กล่าวโทษคนอื่นหรือหาคนผิด ฯลฯ

3. กำจัดจุดอ่อนทิ้งไป

บางทีเราอาจจะรู้อยู่แล้วว่า ตัวเองมีจุดอ่อนหรือข้อเสียอะไรบ้าง อะไรที่เป็นความไม่มั่นคงทางอารมณ์ อาจจะเพราะรู้สึกวิตกกังวลง่าย กลัวความผิดหวัง สับสนเพราะกลัวคนไม่รัก เผชิญต่อความกดดันไม่ได้ จนหลาย ๆ ครั้งวุฒิภาวะทางอารมณ์ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น กลายเป็นคนที่คิดและตัดสินใจแบบขาดเหตุผล หากรู้แล้ว ลองคิดทบทวนในมุมใหม่ ว่าทำอย่างไรจุดอ่อนของเราจะหายไป

4. ลงมือทำแทนการบ่น

ต้องนึกไว้เสมอว่าการบ่นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรได้เลย ต่อให้เราเชื่อว่าได้บ่นได้ระบายแล้วสบายใจ แต่ในมุมกลับกันการบ่นกลับเป็นการสะสมปัญหากับคนรอบตัวมากขึ้น

อย่าเชื่อว่านิสัย หรือบุคลิกภาพของเราเปลี่ยนแปลงไม่ได้ อย่าปล่อยให้นิสัยจู้จี้ขี้บ่นควบคุมความเป็นตัวตนของเราไว้ หากต้องการเป็นเลิกบ่น สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ง่ายมาก ๆ ด้วยการลงมือทำ เมื่อไหร่ที่คิดจะบ่นให้สะกดใจไว้ แล้วเตือนตัวเองให้ลงมือทำทันที

5. คิดแบบเป็นมิตร ไม่ตัดสินคนอื่น

การใช้ไม้บรรทัดมาตรฐานตัวเอง ไปวัดตัดสินการกระทำของคนอื่น เป็นนิสัยเสียอย่างร้ายแรง นอกจากจะเป็นการบั่นทอนความสัมพันธ์ที่ดีแล้ว ความคิดของเราอาจจะผิดจนแก้ไขให้กลับมาดีดังเดิมไม่ได้

การอยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกัน ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา มองไปที่ประโยชน์ของส่วนรวมก่อนของตัวเอง มีความเป็นมิตร (Agreeableness) ให้มากขึ้น เพราะธรรมชาติของสังคมนั้น มักจะชื่นชอบ คนที่มีนิสัยเป็นกันเอง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ชอบช่วยเหลือผู้อื่นเสมอ

6. เปิดรับประสบการณ์ใหม่ ๆ

บางครั้งจินตนาการสำคัญกว่าความรู้ การทำงานร่วมกันอาจมีเหตุให้เราไม่ชอบ ไม่ยอมรับฟังความคิดใคร จนกลายเป็นนิสัยด่วนตัดสินคนอื่นง่าย ๆ หรือทึกทักบางเรื่องเอาเอง

ให้ลองปรับนิสัยใหม่เปิดรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน ตั้งเป้าหมายว่าการฟังคนอื่นเราอาจได้เรียนรู้อะไรใหม่ เปิดรับมุมมองหรือประสบการณ์ใหม่ ๆ เรียกว่าเป็นการ Openness to Experience หากเราปรับความรู้สึกได้ ความอึดอัดก็จะหายไป พฤติกรรมก็จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

7. มุ่งมั่นกับปัจจุบัน และวันพรุ่งนี้

การเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงตัวเอง อาจต้องมีปัญหาอุปสรรคบ้าง บางครั้งอาจจะต้องใช้ทั้งความพยายามและเวลา เพราะนิสัยบางอย่างนั้นอาจจะติดตัวเรามาตั้งแต่เด็ก ให้คิดไว้สมอว่า อุปสรรคต่าง ๆ คือเครื่องมือวัดความอดทน ความมุ่งมั่นของเรา คอยเตือนตัวเองตลอดเวลาว่าอย่าหยุดกลางทาง

ทำทุกอย่างให้ถึงที่สุดเพื่อการก้าวไปสู่เป้าหมาย ฝึกฝนความคิดการเปลี่ยนแปลงและทำให้ได้ ไม่นานจะส่งผลดีให้ทั้งตัวเราและให้คนอื่นเห็นด้วยเช่นกัน

8. มีจิตสำนึกสาธารณะ

ในทางจิตวิทยา บอกว่าการกระทำเป็นการสะท้อนถึงรูปแบบความคิด พฤติกรรม และบุคลิกภาพ และยังเป็นผลที่ถูกส่งต่อมาจากวัยเด็ก นอกจากการทำตามหน้าที่ของตัวเองแล้ว การทำหน้าที่ต่อส่วนรวมอย่างเหมาะสม ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงตัวเองและสร้างนิสัยที่ดีด้วยเช่นกัน

เรียกว่าการมี Public Conscientiousness หรือมีจิตสำนึกสาธารณะ ซึ่งการทำเพื่อส่วนรวมบ่อย ๆ จะส่งผลให้ควบคุมการกระทำของตัวเองได้ดีมากขึ้น แถมยังได้รับการยอมรับมากขึ้นด้วย

9. กำหนดสัญลักษณ์เพื่อเตือนสติ

ทางจิตวิทยาบอกว่าการเปลี่ยนการจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งแบบฉับพลัน ช่วยเปลี่ยนแปลงอารมณ์ได้  บางครั้งเมื่อเจอปัญหาขึ้นมา เราอาจคืนร่างกลับไปเป็นคนเดิมที่สติหลุด ขี้โมโห จนทำอะไรต่อมิอะไรให้แย่ลงไปกว่าเดิม 

การเตือนตัวเพื่อดึงสติกลับมาเป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน วิธีที่ได้ผลชัดเจน ก็คือให้เรากำหนดสัญลักษณ์บางอย่างขึ้นมา เพื่อสั่งให้ตัวเองทำ เช่น หากอารมณ์เสียให้ไปเข้าห้องน้ำทันที หากโมโหให้เดินไปชงกาแฟ หากเริ่มโกรธให้หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดู

10. มองหาไอดอล หรือคนต้นแบบ

สุดท้ายหากพูดคุยกับตัวเองแล้วยังไม่ได้ผล เราขอแนะนำให้ลองมองหาไอดอล หรือคนต้นแบบที่เราชื่นชม เพื่อช่วยให้เราสามารถเปลี่ยนตัวเองได้ง่ายมากขึ้น  อาจจะเป็นหัวหน้างานที่ใคร ๆ ก็ชื่นชอบ เพื่อนร่วมงานที่เราและใคร ๆ ก็ชมว่าดี ลองสังเกตเรียนรู้เกี่ยวกับตัวคน ๆ นั้น เปรียบเทียบหรือพยายามยกเอานิสัยของเขา มาปรับใช้กับตัวเราดู แต่ต้องระวังเลียนแบบจนเกินพอดี จนสูญเสียความเป็นตัวตนไป

มีคำพูดว่า “การพยายามเป็นที่รักของคนทุกคน อาจลงเอยด้วยการที่ไม่มีใครรักเลยสักคนก็ได้”

แม้ว่าการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนนิสัยเพื่อจะให้คนมารักมาชื่นชมเป็นเรื่องที่ดี แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นก็ต้องไม่ละทิ้งตัวตนและความเป็นจริงไป แน่นอนว่าคนเราทุกคนมักจะมีนิสัยด้านที่แย่ ๆ ที่บกพร่อง ต้องเรียนรู้และปรับปรุง แต่การพยายามเป็นในสิ่งที่ไม่ได้เป็น ก็เป็นการสร้างบาดแผลในใจตัวเองขึ้นมาได้เช่นกัน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็ตามควรต้องมีเหตุผลมารองรับอยู่เสมอ  

บทความล่าสุด