สัญญาณเตือน! อาการ Burn out ภาวะหมดไฟในการทำงาน รับมือยังไงดี?

สัญญาณเตือน! อาการ Burn out ภาวะหมดไฟในการทำงาน รับมือยังไงดี?

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนต้อง Work From Home ตื่นเช้ามาก็เปิดคอมนั่งทำงาน ประชุมออนไลน์ หรือคุยงานกับลูกค้าบ้าง โดยกิจวัตรการทำงานในแต่ละวันก็จะเป็นแบบนี้วนไปเรื่อย ๆ ซึ่งการทำงานที่บ้านในช่วงแรกก็รู้สึกสนุกสนานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีสมาธิในการทำงาน โฟกัสงานทุกชิ้น เต็มที่กับทุกงาน ไม่ว่าจะต้องตื่นเช้าหรือนอนดึกแค่ไหนก็เต็มที่สู้ไม่ถอย แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานขึ้นเรื่อย ๆ การทำงานที่บ้านจึงทำให้คุณไม่มีเวลาส่วนตัว ซึ่งเวลาส่วนใหญ่จะหมดไปกับการทำงาน กลายเป็นว่าทำงานที่บ้านหนักกว่าทำงานที่ออฟฟิศ จนเริ่มรู้สึกเหนื่อยล้า เบื่อหน่าย เครียด หดหู่ ไม่มีสมาธิ ขาดแรงจูงใจในการทำงาน ไม่อยากที่จะตื่นขึ้นมาทำงานเลย และอยากที่ให้วันทำงานหมดไปเร็ว ๆ สิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพราะคุณกำลังอยู่ในภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) นั่นเอง

Burnout Syndrome คืออะไร
credit by https://www.freepik.com/free-photo/young-businessman-thinking-hard-office-desk_11800277.htm#page=1&query=work&from_query=%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99&position=4&from_view=search

Burnout Syndrome คืออะไร

Burnout Syndrome หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน ซึ่งเกิดจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจที่เกิดจากความเครียดสะสมเรื้อรัง และความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานที่มากเกินไป จนทำให้ส่งผลกระทบต่อทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ โดยอาจทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่อหน่าย หดหู่ เฉยชาต่อทุกสิ่ง ไม่อยากหยิบจับทำอะไร รู้สึกล้มเหลว ไม่มีแรงผลักดันในการทำงาน ไม่มีความสุข ไม่สนุกกับการทำงานเหมือนเดิม ประสิทธิภาพการทำงานก็ลดลง และเริ่มมีความคิดในแง่ลบเกี่ยวกับงานที่ทำ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจส่งกระทบต่อร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ เป็นต้น แม้ว่าอาการเบื้องต้นโรค Burnout Syndrome อาจจะยังไม่รุนแรงเท่ากับโรคซึมเศร้า แต่ถ้าปล่อยให้ตัวเองอยู่ในสภาพแวดล้อมและสภาพจิตใจแบบเดิม ๆ ต่อไป ก็มีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้าได้ในที่สุด

สาเหตุของ Burnout Syndrome

สาเหตุหลัก ๆ การเกิด Burnout Syndrome โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากงานที่ทำ มีความเครียดสะสมเรื้อรังและไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา มีภาระงานหรือปริมาณงานที่มากเกินไป ความยากง่ายของงานบวกกับระยะเวลาที่ให้ก็น้อยเกินไป จึงทำให้ไม่สามารถทำงานได้ตามเป้าหมาย ขาดประสิทธิภาพการทำงาน รู้สึกเหมือนตัวเองตกอยู่ในสภาวะที่กดดัน เครียด พึ่งพาใครก็ไม่มีใครให้ความช่วยเหลือหรือเป็นที่ปรึกษาได้เลย ทำให้รู้สึกเหมือนอยู่ตัวคนเดียว เข้ากับคนอื่นไม่ได้ อีกทั้งไม่ได้รับค่าตอบแทนที่คุ้มค่ากับความทุ่มเทในการทำงาน เมื่อสิ่งเหล่านี้สะสมมากขึ้น จนทำให้รู้สึกว่าตัวเองหมดไฟในการทำงาน

8 วิธี ในการรับมือเมื่อเจอกับปัญหา Burnout Syndrome

แน่นอนว่าคงไม่มีใครที่อยากจะให้ตัวเอง ต้องตกอยู่ในสภาวะ Burnout Syndrome หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน แต่เมื่อเริ่มรู้ตัวว่ามีแนวโน้มจะเกิดขึ้นกับตัวเอง ก็ควรต้องเตรียมความพร้อมวิธีในการรับมือและจัดการมันให้ได้ ซึ่งวันนี้เราก็มี 8 วิธีง่าย ๆ ในการรับมือเมื่อคุณจะต้องเผชิญกับภาวะหมดไฟในการทำงาน มีอะไรบ้างนั้น ตามมาดูกันเลย

1. ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน

สิ่งแรกในการรับมือเมื่อเจอกับ Burnout คือให้ปรับวิธีการทำงาน ควรทำงานแต่พอดี อย่าหักโหมหรือทำงานที่เกินกำลังหรือเกินความสามารถของตัวเอง ควรเลือกงานที่ถนัดและมีความเชี่ยวชาญ และควรจัดระเบียบการทำงานใหม่ โดยให้เรียงลำดับความสำคัญของงาน ว่างานชิ้นไหนควรทำก่อนหรือหลัง ที่สำคัญไม่ควรจะนำงานกลับมาทำที่บ้าน และถ้าหากได้รับมอบหมายงานที่มีความเร่งด่วน ซึ่งคุณประเมินแล้วว่าไม่สามารถทำงานนี้ได้ ควรจะเข้าไปปรึกษากับหัวหน้างานโดยตรง เพื่อหาทางออกที่ดีร่วมกัน

2. สื่อสารกับคนอื่นให้มากขึ้น

ซึ่งการทำงานบางงานนั้นไม่สามารถทำคนเดียวได้ จะต้องทำงานกับกลุ่มคนหมู่มาก ผ่านฝ่ายต่าง ๆ กว่างานจะเสร็จออกมาสมบูรณ์ ดังนั้น เมื่อต้องทำงานร่วมกับบุคคลอื่น ก็ควรที่จะสื่อสารพูดคุยกันให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยเรื่องทั่วไป สัพเพเหระ รวมไปถึงเรื่องงาน มีการปรึกษาหารือร่วมกัน ช่วยกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ หรือมีการขอความช่วยเหลือ พูดคุยระบายความเครียดของงาน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน หรือลูกน้อง เพื่อช่วยสร้างบรรยากาศทำงานได้น่าอยู่มากขึ้น และตัวคุณเองก็จะไม่รู้สึกว่าโดดเดี่ยวอีกต่อไป

3. พักผ่อนให้เพียงพอ

เมื่อทำงานหนักเกินไปหรือมีภาระงานมากนั้น ก็ควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ อย่าพยายามคิดว่านอนเพียงแค่นี้ร่างกายก็ไว้ เพราะต้องอย่าลืมว่าคุณไม่ใช่หุ่นยนต์ที่สามารถสั่งร่างกายให้ได้ บางครั้งปากบอกว่าไว้ แต่ร่างกายอาจไม่ไหว รู้สึกเหนื่อยล้า สมองตื้อ สมองเบลอ หัวตื้อ คิดงานไม่ออก สุดท้ายก็ต้องมานั่งเครียดกับงาน โดยใช่เหตุ ใครนอนดึกควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนใหม่ ให้เน้นความสำคัญในทั้งแง่ของปริมาณและคุณภาพในการนอน ซึ่งการพักผ่อนที่ดีควรอยู่ประมาณ 6-8 ชั่วโมง และก็ควรนอนให้เป็นเวลาในช่วงเวลาที่เหมาะสม

4. ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการทำงาน

ให้ลองปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการทำงานใหม่ อาจจะจัดโต๊ะที่นั่งทำงานใหม่ ตกแต่งด้วยต้นไม้เพื่อช่วยเพิ่มความสดชื่นในการทำงาน หรือใครที่ Work From Home ให้ลองเปลี่ยนมุมทำงานใหม่ ๆ และไม่ควรใช้ห้องนอนมาเป็นห้องทำงาน ควรแยกให้เป็นสัดส่วนชัดเจน

5. หาแรงบันดาลใจในการทำงาน

ถ้าเมื่อไหร่ทำงานหนักจนเกินไป หรือเริ่มรู้สึกว่าตัวเองเหนื่อยล้า ท้อแท้ หมดกำลังใจในการทำงาน แนะนำให้ลองมองหาแรงบันดาลใจ สร้างกำลังใจให้กับตัวเอง เพื่อจุดไฟการทำงานให้ลุกโชติช่วงได้อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มทักษะความสามารถของตัวเองให้เพิ่มมากขึ้น หาหนังสือที่ช่วยเสริมสร้างกำลังใจมาอ่าน หากลุ่มเพื่อนสังคมใหม่ ๆ เพื่อเปิดทัศนคติและประสบการณ์ใหม่ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานให้กับตัวเอง

8 วิธี ในการรับมือเมื่อเจอกับปัญหา Burnout Syndrome
credit by https://www.freepik.com/free-photo/man-watching-netflix-his-tv_16624177.htm#page=1&query=movie&from_query=%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%87&position=14&from_view=search

6. หากิจกรรมผ่อนคลาย

ต่อให้ทำงานหนักแค่ไหน ก็ควรต้องมีเวลาพักผ่อน หากิจกรรมมาทำในช่วงยามว่าง เพื่อผ่อนคลายสมอง เช่น การเล่นดนตรี ฟังเพลงสบาย ๆ ดูหนัง ดูซีรีย์เรื่องโปรด เล่มเกม ยิ่งตอนนี้ PS5 ราคาโปรโมชั่น ใครที่ชอบเล่นเกมพลาดไม่ได้ จะช่วยลดความตึงเครียดจากการทำงานได้ดี หรือหากิจกรรมอะไรที่ต้องใช้แรงกายอย่างพวกปลูกต้นไม้ ออกกำลังกายสักประมาณวันละ 2 ชั่วโมง ก็จะช่วยให้ผ่อนคลาย ทำให้สมองได้พักจากการที่ต้องคิดเรื่องงาน แถมยังได้สุขภาพที่ดีและแข็งแรงอีกด้วย หรือจะไปเดินห้างช้อปปิ้ง กินของอร่อย ๆ ก็ได้เช่นกัน คือไม่ว่าจะหากิจกรรมอะไรทำก็ได้หมด ขอเพียงแค่ทำแล้วรู้สึกผ่อนคลายได้

7. หาเวลาพาตัวเองไปเที่ยวพักผ่อน

นอกจากหากิจกรรมทำช่วงยามว่างแล้ว ควรหาวันว่างหรือลาพักร้อน พาครอบครัว หรือนัดกลุ่มเพื่อนไปเที่ยวสังสรรค์ตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ไปนอนค้างคืนในบรรยากาศดี ๆ ทั้งภูเขาหรือทะเล เพื่อให้ผ่อนคลายจากความเหน็ดเหนื่อยในการทำงาน ช่วยลดความตึงเครียดสะสม ยังมีเวลาให้กับตัวเองได้พักผ่อนมากขึ้นด้วย และได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวทำให้มีความสุข เติมพลังชีวิตก่อนที่จะกลับมาเริ่มทำงานใหม่อีกครั้ง

8. ปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดของตัวเอง

ฝึกให้ตัวเองเป็นคนที่คิดบวก เห็นอะไรก็อย่าอคติไปสักทุกเรื่อง มองโลกในแง่ดี รู้จักชมเชย เห็นคุณค่าในตัวเอง พร้อมเรียนรู้และวิธีรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ได้ดี มองหาโอกาสในวิกฤติ แม้ว่าในสิ่งที่คิดว่าไม่ดี ก็ควรมองหาว่ามีอะไรดี ๆ ซ่อนอยู่ในสิ่งนั้น อีกอย่างที่ควรทำเลยคือควรลดความยึดมั่นถือมั่น มั่นใจในตัวเองที่สูงเกินไป และไม่ควรจะคาดหวังอะไรที่มันสูงเกินไป ควรใช้ชีวิตให้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ถ้าคุณสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ ก็จะช่วยทำให้คุณไม่ต้องตกอยู่ในสภาวะหมดไฟในการทำงาน

เห็นไหมล่ะ การรับมือกับ Burnout Syndrome หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน ไม่ได้ยากอย่างที่หลายคนคิด เพราะทุกปัญหามีทางออกให้เสมอ แต่สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีนั้น คือจะต้องรู้ก่อนว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร ถ้ารู้แล้วก็เริ่มแก้ไขที่ตรงนั้น อย่างคนที่รู้ตัวเองว่ากำลังตกอยู่ในสภาวะหมดไฟในการทำงาน ก็ให้เริ่มแก้ไขจากตัวเอง แล้วปัญหาทุกอย่างก็จะค่อย ๆ คลี่คลายไปได้ด้วยดี เพียงแค่ต้องยอมรับและยึดพื้นฐานของความเป็นจริง แต่ถ้าใครยังรู้สึกว่าแก้ไขแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้รักษาอาการต่อไป

ที่มาข้อมูล : pobpad

ภาพหน้าปก credit by https://www.freepik.com/free-photo/stressful-workaholic-keeps-head-down-desk-feels-tired-overworked-has-much-work-prepares-upcoming-exam-writes-information-diary_11407201.htm#page=1&query=work&from_query=%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99&position=44&from_view=search

บทความล่าสุด