เป็นคนอ่อนไหวง่ายทําไงดี? วิธีรับมือความอ่อนไหวของตัวเอง

เป็นคนอ่อนไหวง่ายทําไงดี? วิธีรับมือความอ่อนไหวของตัวเอง

จริงๆ แล้วปัญหาของคนที่มีความอ่อนไหวง่ายก็คือ การที่เรารู้ไม่เท่าทันสภาวะอารมณ์และไม่รู้วิธีจัดการกับอารมณ์ของตัวเองเท่านั้น  การเป็นคนอ่อนไหวง่ายหรือชอบคิดมากนั้น ในสังคมตะวันตกหลายแห่ง มักถูกเข้าใจผิดว่า เป็นคนที่อ่อนแอหรือขาดความมั่นคงทางใจ และมักตกเป็นเป้าของการถูกกลั่นแกล้ง

แต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะสังคมในอีกหลายแห่งก็ยังมองว่า คนอ่อนไหวง่ายเป็นคนที่มีความสามารถในการรับรู้และเข้าใจผู้อื่นได้ดี เพราะความอ่อนไหวดังกล่าวนั่นเอง จึงทำให้ผู้ที่มีความอ่อนไหวหลายคนมักจะเป็นคนที่ค่อนข้างใส่ใจในรายละเอียดกับทุกเรื่อง และยังมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น นับว่าเป็นข้อดีที่จะทำให้มีแต่คนอยากจะเข้าหาและเป็นเพื่อนกับเรานั่นเอง ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำ

สำหรับคนที่คิดว่าความอ่อนไหวเป็นจุดอ่อนของตัวเอง ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงความอ่อนไหวของจิตใจกัน และมาลองดูวิธีที่ทำให้คุณสามารถก้าวผ่านข้อจำกัดต่างๆของอารมณ์ความรู้สึกของคุณได้

เป็นคนอ่อนไหวง่ายทําไงดี? วิธีรับมือความอ่อนไหวของตัวเอง

การที่เป็นคนอ่อนไหวง่ายเกินไปจนถึงจุดหนึ่ง ก็อาจทำให้นำไปสู่ผลกระทบในทางลบได้เช่นกัน โดยเฉพาะผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเราเองที่จะย่ำแย่ลง และยังส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึก รวมถึงความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ รอบข้างอีกด้วย ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องรู้จักการควบคุมและบริหารจัดการกับอารมณ์ต่างๆ ของตัวเองไม่ให้ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเราเอง

นอกจากนี้ การมีความอ่อนไหวมากเกินไป บางครั้งก็อาจจะทำให้เราเกิดการคิดและจินตนาการไปเองหรือตีความหมายของการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในชีวิตประจำวันผิดไปจากความจริงได้ ดังนั้นเพื่อที่จะไม่ปล่อยให้ตัวเองต้องเกิดการตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันในแบบที่สุดโต่งเกินไป จึงจำเป็นต้องมีการที่จะฝึกเรียนรู้และควบคุมความอ่อนไหวทางอารมณ์ของตัวเองให้ได้

ยกตัวอย่างเช่น การที่เราร้องไห้ในตอนที่มีความรู้สึกดีใจหรือเสียใจมากๆ ทำให้ร่างกายต้องพยายามปรับสมดุลของสารเคมีในสมองให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติ จึงเกิดการร้องไห้ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะช่วยทำให้เกิดการปรับอารมณ์ได้ดี

แต่การที่เราต้องใช้ชีวิตประจำวันอยู่ภายใต้เงื่อนไขของสังคมบางอย่าง เช่น คนที่เป็นผู้ใหญ่ สังคมก็จะคาดหวังว่าไม่ควรจะร้องไห้ให้คนอื่นเห็น ซึ่งอาจจะขัดแย้งกับธรรมชาติของคนเราอยู่บ้าง ทำให้คนที่มีอารมณ์ที่อ่อนไหวง่าย มักจะรู้สึกอายต่อการที่ต้องร้องไห้ต่อหน้าคนอื่น

ถ้าเราเกิดมาพร้อมกับความอ่อนไหว เราก็ควรจะต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับสิ่งนั้นในตัวเองด้วย และหากได้รับการฝึกฝน เราก็จะสามารถควบคุมและจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น แล้วตอบสนองต่อสิ่งเร้าน้อยลงได้ โดยผมจะมาบอก 5 วิธีการรับกับความอ่อนไหวที่มากเกินไปในแบบที่สามารถเริ่มฝึกฝนได้เองจนถึงในกรณีที่ไม่สามารถรับมือได้เอง

5 วิธีการรับมือกับความอ่อนไหวของตัวเอง

#1 การตั้งสติแล้วคอยสำรวจอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง

การที่มั่นสำรวจอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง รวมถึงปฏิกิริยาตอบสนองต่างๆ จะช่วยทำให้เราเข้าใจถึงสาเหตุหรือสิ่งเร้าต่างๆ ที่มีผลต่อการตอบสนองทางอารมณ์ของตัวเองได้มากขึ้น และยังจะช่วยให้เราสามารถตระหนักได้ว่าการตอบสนองแบบไหนที่เหมาะสมหรือเป็นวิธีที่ดีที่สุด

คุณอาจจะลองเริ่มจากการบันทึกความรู้สึกที่ตัวเองกำลังรู้สึกอยู่ในตอนนั้น โดยแค่ระบุมันออกมาและอย่าหยุดชะงักเพื่อแต่งเติมหรือตัดสินความรู้สึกเหล่านั้นว่าดีหรือไม่ดี แล้วนำกลับมาคิดว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดความรู้สึกแบบนั้นขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณกำลังมีความรู้สึกกังวลบางอย่าง ให้ลองคิดต่อไปว่า มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นในวันนี้บ้าง ที่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณมีความรู้สึกนั้นเกิดขึ้น คุณอาจจะพบว่าความรู้สึกนั้น อาจจะเกิดจากเหตุการณ์เล็กๆ ที่คุณคาดไม่ถึงเลยก็ได้ จากนั้นคุณก็จะเห็นรูปแบบของอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน พร้อมทั้งสาเหตุที่เป็นสิ่งกระตุ้นให้เราเกิดความอ่อนไหว

ดังนั้น แม้ว่าในบางครั้งเราอาจจะไม่สามารถควบคุมความรู้สึกของตัวเองที่เกิดขึ้นในช่วงแรกๆ ได้ แต่เราก็ยังสามารถควบคุมและจัดการกับการตอบสนองต่อความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้

#2 อย่าเพิ่งลงมือทำสิ่งใด ในขณะที่ยังไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้

เมื่อเรารู้สึกอ่อนไหวหรือมีอารมณ์ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ในขณะนั้น จงให้เวลากับตัวเองได้หยุดพักสักครู่หนึ่งก่อน เพราะอารมณ์ที่เกิดขึ้นสามารถเข้ามารบกวนการรับรู้และการตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้นการลงมือทำสิ่งใด ในขณะที่เรายังไม่สามารถจัดการหรือควบคุมกับอารมณ์ของตัวเองได้นั้น อาจจะนำไปสู่การทำสิ่งที่เราต้องเสียใจภายหลังได้ จึงควรที่จะรอจนกว่าเราจะสงบใจได้เสียก่อน

โดยอาจจะใช้วิธีการถามตัวเองเพื่อเตือนสติ ด้วยคำถามในทำนองว่า “ถ้าเราลงมือทำสิ่งนี้ไป แล้วจะเกิดผลที่ตามมาอย่างไร” ให้คุณลองคิดถึงความเป็นไปได้ของผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น แล้วมาพิจารณาอีกครั้งว่าเราควรจะทำหรือไม่

ยกตัวอย่างเช่น การที่คุณอาจจะเพิ่งทะเลาะและมีปากเสียงกับเพื่อนสนิทหรือคนรักของคุณ และด้วยความโมโหหรือเสียใจมาก จนถึงขนาดมีความรู้สึกว่าอยากจะเลิกคบกันไปเลย

แต่คุณควรที่จะให้เวลากับความรู้สึกตัวเองสักพักก่อน แล้วเตือนสติตัวเอง ด้วยการถามตัวเองว่า “ถ้าฉันเลิกคบกับเขาจริงๆ จะเกิดอะไรขึ้น” อีกฝ่ายอาจจะรู้สึกเจ็บปวดและเสียใจมาก และเมื่อตัวเองอารมณ์เย็นลงแล้ว เราอาจจะเพิ่งรู้สึกตัวว่าใจจริงเราไม่ต้องการให้มันลงเอยแบบนี้เลยก็ได้ แต่ก็ได้เผลอทำสิ่งที่ไม่อาจแก้ไขได้ลงไปแล้ว และเพื่อนหรือคนรักของคุณก็อาจจะไม่รอฟังคำขอโทษของคุณแล้ว คุณอยากให้มันเป็นแบบนี้จริงๆ หรือ แน่นอนว่าไม่

#3 การเรียนรู้วิธีที่จะสื่อสารอย่างหนักแน่นและชัดเจน

การไม่ได้สื่อสารความรู้สึกหรือความต้องการของตัวเองออกไปให้ผู้อื่นรับรู้อย่างชัดเจน ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนเรามีความอ่อนไหวมากเกินไปได้เช่นกัน ยิ่งถ้าหากเราเพิกเฉยต่อการที่จะสื่อสารมากเกินไป ก็จะทำให้เรามีปัญหาในการปฏิเสธในภายหลังได้ ซึ่งการเรียนรู้วิธีในการสื่อสารอย่างหนักแน่น จะช่วยให้เราสามารถสื่อสารความรู้สึกและความต้องการของเราให้ผู้อื่นทราบได้อย่างหนักแน่น และอาจมีผลทำให้ได้รับการยอมรับและเห็นคุณค่าอีกด้วย

ยกตัวอย่างเช่น การถามเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง โดยเฉพาะในการสนทนาที่เต็มไปด้วยอารมณ์ ซึ่งเป็นการถามเพื่อให้ตัวเองเกิดความเข้าใจกระจ่างและมีความถูกต้อง ซึ่งจะช่วยป้องความกังวลกับสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการจะสื่อสารว่าตรงกับที่เราเข้าใจหรือไม่ และทำให้มีข้อมูลที่ชัดเจนสำหรับใช้ในการปฏิเสธในภายหลังได้อีกด้วย

ในการสื่อสารอาจเกิดการโต้เถียงว่าใครเป็นฝ่ายถูกผิดในสถานการณ์หนึ่งๆ ได้ ซึ่งอาจทำให้เรารู้สึกถูกกระตุ้นอารมณ์จนเกิดการโมโหขึ้นได้ ดังนั้น ให้ตระหนักไว้ว่า โดยทั่วไปแล้วไม่มีอะไรถูกผิด ผู้คนต่างก็มีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน

เพราะฉะนั้น เราจึงควรที่จะเปลี่ยนวิธีการสื่อสารใหม่ โดยควรพูดว่าตัวเองนั้นกลับรู้สึกเห็นต่างออกไป พร้อมทั้งพยายามที่จะแสดงความเข้าใจในความรู้สึกของฝ่ายตรงข้ามด้วยเช่นกัน เพื่อที่จะเปิดใจรับฟังประสบการณ์ของเขา ดีกว่ามาโต้เถียงกันโดยเชื่อว่าความคิดของตัวเองถูกที่สุดอยู่ฝ่ายเดียว ซึ่งยิ่งกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ความขัดแย้งจนเป็นปัญหาตามมาในภายหลังได้อีก

#4 การฝึกทำสมาธิแบบเจริญสติอย่างสม่ำเสมอ

การทำสมาธิแบบเจริญสติ เป็นการทำสมาธิแบบเน้นไปที่การรับรู้และยอมรับอารมณ์ของตัวเองในปัจจุบัน และไม่ไปตัดสินมันว่าดีหรือไม่ดี ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถรับมือกับรูปแบบของการตอบสนองต่ออารมณ์ได้ และยังสามารถช่วยปรับเปลี่ยนปฏิกิริยาตอบสนองของสมองต่อสิ่งเร้าที่เข้ามากระตุ้นทำให้เกิดความเครียดได้อีกด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์มากต่อการที่จะเอาชนะสภาวะความอ่อนไหวทางอารมณ์ที่มากเกินไปได้เป็นอย่างดี

ที่สำคัญคือเป็นวิธีที่สามารถเรียนรู้และลงปฏิบัติเองได้ โดยให้ทำในสถานที่ที่มีความเงียบสงบที่จะไม่ถูกรบกวน ให้นั่งตัวตรง หากนั่งหลังงอจะทำให้หายใจได้ไม่สะดวก จากนั้นให้เริ่มโฟกัสไปที่ลมหายใจ และรับรู้ถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นในช่วงที่หน้าอกและหน้าท้องที่กระเพื่อมขึ้นลงตามจังหวะ หรือเสียงของลมหายใจก็ตาม

ต่อมาให้เริ่มเปลี่ยนไปโฟกัสประสาทสัมผัสอื่นๆ เช่น กลิ่นที่รับรู้ เสียงที่ได้ยิน และสัมผัสทางกายต่างๆ มันจะช่วยให้เราสามารถนั่งทำสมาธิต่อไปได้ง่ายขึ้น ซึ่งต่างกับการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสการมองเห็นที่มีผลต่อการรบกวนสมาธิได้ง่ายกว่าประสาทสัมผัสอื่นๆ นั่นเอง และหากรู้สึกว่ากำลังถูกรบกวนสมาธิ ให้พยายามดึงจุดโฟกัสกลับมายังลมหายใจ

ช่วงเวลาที่แนะนำในการทำสมาธิคือช่วงเวลาหลังจากเราตื่นนอนในตอนเช้า เพราะเป็นช่วงที่สมองได้พักผ่อนอย่างเต็มที่แล้ว จงใช้เวลา 5 – 15 นาที ในการทำสมาธิเพื่อปรับอารมณ์ เพื่อให้พร้อมสำหรับการเริ่มวันใหม่ในแต่ละวัน

#5 การขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ กรณีที่ไม่สามารถรับมือเองได้

ปัจจุบันยังมีหลายคนที่มีความเชื่อที่ผิดว่า เราควรจะต้องอดทนต่ออารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นให้ได้และใช้ความเข้มแข็งในการรับมือด้วยตัวเอง ซึ่งอาจส่งผลเสียที่ร้ายแรงต่อตัวเองได้ หลายครั้งที่เราพยายามรับมือกับความอ่อนไหวทางอารมณ์ของตัวเองอย่างเต็มที่แล้ว แต่ก็ยังรู้สึกว่ามันหนักเกินไปจนอาจรับมือไม่ไหวในบางครั้ง และอาการผิดปกติบางอย่างที่รุนแรง ก็ไม่อาจที่จะจัดการด้วยตัวเองได้

ดังนั้น การมองหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตที่ได้รับการรับรองโดยตรง จึงเป็นทางออกที่ปลอดภัยและดีที่สุด ซึ่งจะช่วยให้รู้ได้ว่า เรามีความคิดหรือพฤติกรรมอะไรที่ส่งผลเสียต่อตัวเราเองบ้าง และจะได้รับคำปรึกษาที่ถูกต้อง โดยอาจจะได้รับการสอนทักษะบางอย่าง เพื่อเอาไว้รับมือกับความรู้สึกต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยการไปหาผู้ให้คำปรึกษา ไม่ได้เป็นการบ่งบอกถึงความอ่อนแอของตัวเอง แต่หมายถึงการที่เรารู้จักดูแลเอาใจใส่ตัวเองต่างหาก

การเข้าไปใช้บริการจากนักบำบัด นักจิตวิทยาหรือผู้ให้คำปรึกษานั้น ไม่จำเป็นต้องมีอาการป่วยทางจิต หรือ เคยเจอเหตุการณ์ที่เลวร้ายในอดีตมาก่อน คนทั่วไปก็สามารถที่จะเข้ารับคำปรึกษา หรือเข้ารับการบำบัดได้ โดยพวกเขาจะสามารถประเมินได้ถึงระดับความรุนแรง หากมีความจำเป็นต้องส่งตัวไปรักษาต่อโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านหรือต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์โดยตรง

ทิ้งท้ายเกี่ยวกับการรับมือความอ่อนไหวของตัวเอง

สำหรับใครที่บอกว่าตัวเองนั้น เป็นคนที่อ่อนไหวง่าย และมักจะเกิดปัญหาอยู่บ่อยๆ ผมแนะนำให้ลองนำ 5 วิธีการรับมือนี้ไปปรับใช้ดูครับ รับรองว่าคุณจะสามารถควบคุมอารมณ์และจัดการกับความอ่อนไหวของคุณได้ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน และที่สำคัญอยากให้ตระหนักว่าการเป็นคนอ่อนไหวง่ายนั้นก็ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการที่เราต้องเข้าใจและยอมรับที่จะอยู่กับมันให้ได้ต่างหาก แล้วเราก็จะมีสุขภาพจิตที่ดีและสามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างมีความสุข

บทความล่าสุด