การอยู่ร่วมกันในสังคม เป็นเรื่องธรรมดาที่เราต้องอยู่ร่วมกับคนที่เราชอบ และคนที่เราไม่ชอบ หรือคนที่เราเกลียด โดยเฉพาะในสังคมคนทำงาน ที่ในแต่ละวันเราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งแน่นอนว่าคนที่เราเกลียดนั้น อาจจะเกลียดเพราะความขัดแย้งกันในเรื่องงาน หรืออาจจะเกลียดเพราะความไม่ชอบหน้าเฉย ๆ หรือบางทีคน ๆ นั้นอาจจะเป็นหัวหน้างานของเราก็ได้
อย่างที่บอกไปแล้วว่า ในเมื่อหลีกเลี่ยงการพบเจอคนที่เราเกลียดไม่ได้ เราจะทำอย่างไรได้บ้าง เพื่อไม่ให้ความเกลียดเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต มาคอยบั่นทอนจิตใจของเรา วิธีง่าย ๆ เลยก็ต้องเริ่มที่การจัดการกับตัวเราเองก่อน ใช้ความเกลียดเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยที่ไม่ต้องไปพยายามหลบเลี่ยงคนที่เราเกลียดให้เสียเวลา กับ 10 วิธีอยู่ร่วมกับคนที่เราเกลียด (ฉบับคนอยู่เป็น)
10 วิธีอยู่ร่วมกับคนที่เราเกลียด (ฉบับคนอยู่เป็น)
1. ยอมรับว่าความเกลียดมีอยู่จริง
สิ่งแรกที่เราต้องยอมรับให้ได้เลยคือ ยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับจิตใจของเราเอง การที่เราจะไม่ชอบ หรือเกลียดใครสักคน ไม่ว่าจะเป็นเพราะเรื่องงาน หรือเรื่องชีวิตส่วนตัวนั้นไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ไม่ใชเป็นการคิดลบ เพราะเรามีสิทธิ์จะไม่ชอบใครก็ได้โดยมีเหตุผลและไม่มีเหตุผล และไม่ต้องรู้สึกผิด เราต้องค่อย ๆ พยายามทำความเข้าใจกับตัวเองในมุมนี้ก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกแย่ ๆ หรือติดหล่มกับความคิดตัวเอง
2. ไม่ต้องให้ความสนใจ
การต้องทำงานร่วมกันกับคนที่เราเกลียด อาจจะเป็นการบั่นทอนความรู้สึก ยิ่งเราใส่ใจกับการพบเจอมากเท่าไหร่ เราจะยิ่งทำใจอยู่ร่วมกันได้ยากเท่านั้น ดังนั้นทางออกที่ดีคือไม่ต้องสนใจถึงการมีอยู่ ทำตัวตามปกติให้ได้ อาจจะไม่ต้องถึงขั้นเมินเฉย หรือไม่มองหน้า หากต้องทำงานร่วมกัน เพียงแต่ทำเท่าที่มีหน้าที่ต้องทำ พูดคุยเท่าที่ต้องพูดคุย
ที่สำคัญคืออย่าไปเก็บคำพูดที่กระทบกระทั่งเอามาใส่ใจ หรือเก็บกลับมาคิดวกวนให้รกสมอง หากไม่มีหน้าที่ที่ต้องเกี่ยวข้องกัน ก็แค่มองผ่าน ๆ ให้เหมือนเป็นอากาศธาตุ คล้ายไม่มีตัวตนอยู่ตรงนั้น เพียงเท่านี้ก็จะแสดงให้คนที่เราเกลียดเห็นว่า เราสามารถใช้ชีวิตมีความสุขได้อย่างปกติ
3. ไม่ควรหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า
หลาย ๆ คนเวลาเกลียดใครเข้าแล้ว พยายามหลีกเลี่ยงไม่เจอซึ่ง ๆ หน้า พยายามหลบ ไม่พบไม่เจอ เช่น ในที่ทำงานเวลามีประชุมไม่นั่งใกล้กัน ไม่ขึ้นลิฟต์พร้อมกัน ซื้อของร้านเดียวกัน ฯลฯ ซึ่งก็อาจทำได้เพียงบางครั้ง แต่หากต้องพยายามหลบเลี่ยงอยู่บ่อย ๆ เป็นเราเองนั่นแหละ ที่จะถูกมองว่าไม่กล้าสู้หน้าไปซะอีก
แทนที่จะหลบเลี่ยงให้เสียเวลา เราต้องปรับตัวให้ได้ด้วยการเจอกันได้แบบปกติ เดินสวนกันตรง ๆ ไปเลย อยู่ในที่ที่ทุกคนมองเห็นเราได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า เราไม่ได้คิดอะไร มีวุฒิภาวะมากพอ ไม่ใช่เป็นที่คนวิ่งหนีปัญหา และอยู่กับความขัดแย้งได้แบบสบาย ๆ
4. เลิกคิดเอาชนะ
มนุษย์ทุกคนอยากเป็นผู้ชนะด้วยกันทั้งนั้น โดยเฉพาะกับคนที่เราเกลียด ยิ่งอยากเอาชนะ บอกเลยว่าหากเรามัวแต่คิดเอาชนะมากเท่าไหร่ ความคิดเราก็ยิ่งมืดบอดลงเท่านั้น ทางที่ดีต้องเลิกคิดถึงผลลัพธ์โดยไม่สนวิธีการ เหมือน เราเอาตัวกระแทกกำแพงบ่อย ๆ ก็จะเป็นตัวเราเองที่เจ็บตัว ทางที่ดีคือเปลี่ยนจากการเป็นคนวิ่งชนกำแพง ทำตัวเป็นกำแพงเสียเองจะดีกว่า
ไม่ว่าจะต้องร่วมงานกับคนที่เราเกลียดมากแค่ไหน แม้ว่าจะมีคนหาจังหวะจ้องจะเอาชนะเราก็ตาม แต่หากเราโฟกัสอยู่เฉพาะงานที่ทำ ตั้งใจทำงานออกมาให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เอาชนะตัวเองให้ได้ นั่นถือว่าเพียงพอมาก ๆ แล้ว ที่จะเป็นคำตอบของชัยชนะ โดยไม่ต้องเปลืองตัว
5. อย่าราดน้ำมันเข้ากองไฟ
ต้องไม่ลืมว่าการเผชิญหน้า ไม่ใช่การประจันหน้า ต้องหลีกเลี่ยงที่จะเพิ่มปัญหากับคนที่เราเกลียด ด้วยการเติมน้ำมันเข้ากองไฟ เราไม่จำเป็นต้องแสดงความรู้สึกใด ๆ ออกมา แม้ต้องเจอกับสถานการณ์ที่เราอาจทนไม่ได้ แต่ควรปฏิบัติกลับ หรือตอบโต้กลับด้วยความสุภาพ นั่นเท่ากับว่าเรากำชัยชนะไว้ครึ่งหนึ่งแล้ว
เมื่อพบเจอกับพฤติกรรมแย่ ๆ ของคนที่เราเกลียดเข้าจริง ๆ ให้พยายามสูดหายใจลึก ๆ ยาว ๆ นับ 1 ถึง 10 ทำใจให้เย็นเป็นน้ำแข็ง ใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว ไม่จำเป็นต้องตอบโต้ทุกการกระทำแบบฉับพลัน ค่อย ๆ ปล่อยให้มันผ่านไป คิดเสียว่าต้องโฟกัสอยู่กับงานก่อน
6. เว้นระยะห่าง
การเว้นระยะห่าง เป็นคนละอย่างกับ การหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าคนที่เราเกลียด เพราะการเว้นระยะ จะทำให้เรามีพื้นที่ที่เป็นของเรา เหมือนการแบ่ง Zoning เหมือนการแบ่งเส้น เราสามารถกำหนดได้เลยว่า เราไม่ก้าวข้ามเส้นนี้นะ อย่าก้าวข้ามมาด้วยก็แล้วกัน ขอบเขตระหว่างเราอยู่แค่นี้ พูดคุยกันได้เฉพาะเรื่องนี้นะ การเว้นระยะเหมือนการปล่อยเวลาให้ผ่านไป อาจจะมีผลดีในระยะยาว ช่วยเยียวยาจิตใจ หรือลดความบาดหมางไปได้
เพราะมีงานวิจัยออกมาว่า การกำหนดขอบเขต หรือการรักษาระยะจากคนที่เราเกลียด ในระยะและเวลาที่พอเหมาะ อาจทำให้ต่างคนต่างหลุดพ้นจากอาการเกลียดชังกันไปได้ คล้าย ๆ กับการหลับตา ไม่ว่าจะอยู่ใกล้กันแค่ไหน แต่เมื่อมองไม่เห็นกันซะอย่าง ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นทั้งนั้น เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งวิธี ในการรับมือกับคนที่เราเกลียดอย่างได้ผลทีเดียว
7. รู้ทันอารมณ์ตัวเอง
อย่าไปคาดหวังให้คนอื่นคิดแบบเรา โดยเฉพาะกับคนที่เราเกลียด เพราะคนเรามีความแตกต่างกัน ยิ่งไม่ชอบหน้ากัน โอกาสที่จะตั้งแง่ใส่กันก็มีมากขึ้น บางครั้งต้องสำรวจอารมณ์ตัวเองด้วยว่า เราคาดหวังให้คนอื่นคิด หรือทำแบบที่เราต้องการมากไปหรือเปล่า อย่าปล่อยให้อารมณ์พุ่งขึ้นหรือดำดิ่งลงถึงขีดสุด นอกจากไม่ช่วยแก้ไขปัญหา ยังจะทำให้เราควบคุมตัวเองได้ยากอีกด้วย
แต่การรู้ทันอารมณ์ตัวเองเป็นแค่การเตือนสติ ไม่ให้คิดอะไรผลีผลามเกินไปเท่านั้น ไม่ใช่การทำอะไรที่ต้องฝืนตัวเองจนเกินไป
บางครั้งการต้องร่วมงานกับคนที่เราเกลียด เราไม่จำเป็นต้องฝืนปั้นหน้า ให้อารมณ์ดีตลอด 24 ชั่วโมงก็ได้ ปล่อยอารมณ์ให้เป็นธรรมชาติบ้างก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้มากเกินไป การรู้ทันอารมณ์ตัวเอง จะช่วยให้เรารู้ตัวว่า ตอนนี้เราเป็นอย่างไรอยู่ และช่วยดึงความคิดกลับมาได้ในเวลาอันรวดเร็ว
8. เรามี Bias ต่อคนที่เกลียดมากไปหรือเปล่า
การปล่อยวางจะเป็นตัวช่วยให้เราอยู่ในสังคมได้อย่างสงบสุข ไม่เว้นแม้แต่กับคนที่เราเกลียด ลองสำรวจตัวเราเองดูบ้างว่า ในการที่ต้องร่วมงานกัน อยู่ร่วมกัน หรือหากต้องแลกเปลี่ยนความคิดกัน เรามีปฏิกิริยาตอบโต้มากเกินไปหรือไม่ แสดงอาการหรือชักสีหน้าต่อคนที่เราเกลียดมากไปหรือไม่ ? เพราะหากใช่ เราอาจจะต้องปรับทัศนคติตัวเองกันบ้างแล้วล่ะ
โดยเราอาจปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีมองคนที่เราเกลียดเสียใหม่ว่า ในโลกสีเทา ๆ ใบนี้ ไม่มีใครดีหรือเลวไปเสียทั้งหมดหรอก มันต้องมีส่วนดีให้เรามองเห็นบ้างสิน่า ที่สำคัญความเกลียด ไม่มีคุณค่าอะไรต่อชีวิตของเราเลย สู้เอาเวลาหรือความคิดที่ต้องเกลียดชังใครสักคน ไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์เสียยังจะดีกว่า
เหมือนคำพูดที่ว่าถ้ามีภูเขาขวางอยู่ตรงหน้าเรา อย่าเสียเวลาย้ายภูเขา แต่ให้ย้ายตัวเองจะเป็นการดีกว่า ซึ่งภูเขาที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงคนที่เราเกลียด แต่หมายถึงอคติในตัวเรานั่นต่างหาก
9. เปิดใจคุยกันตรงไปตรงมา
ไม่ว่าใครก็ตามย่อมปรารถนาในความรักกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน คนที่เกลียด หรือแม้กระทั่งตัวเราเอง เมื่อสะสมปัญหาเอาไว้จนหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทางออกอีกทางก็คือ พูดออกไปตรง ๆ บอกไปอย่างที่ใจเราคิด ให้อีกฝ่ายรับรู้ว่าเรื่องนั้นเราไม่ชอบ หรือพฤติกรรมนี้เราไม่โอเค แต่การพูดออกไปก็ควรระมัดระวัง หรือหลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำที่จะกระทบกระทั่งกันด้วย
แน่นอนว่า การเปิดใจพูดออกไปตรง ๆ อาจทำให้ฝ่ายที่รับฟังไม่สบอารมณ์ แต่ลองนึกดู หากเราเก็บไว้มาก ๆ สะสมความอึดอัดไว้นาน ๆ อาจจะกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่เลยก็ได้ มองในแง่ดีการพูดของเรา หากมีน้ำหนักและเหตุผลที่พอให้อีกฝ่ายรับฟัง เข้าใจในสิ่งที่เราสื่อสาร อาจจะเกิดผลลัพธ์ในทางตรงกันข้าม ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เลิกเกลียดกันไปเลยก็ได้
10. เปลี่ยนความเกลียดให้เป็นพลัง
ข้อสุดท้าย เมื่อเราทำทุกอย่างแล้ว ไม่สามารถทำให้อะไรดีขึ้น แนะนำให้เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส เรียกว่า Change Hate To Positive Energy เพราะไม่ว่าจะเป็นความเกลียด หรือความโกรธมีพลังแฝงอยู่ในตัวเองอย่างมาก ช่วยให้เรามีแรงจัดการกับงานต่าง ๆ ที่คั่งค้างได้เร็วกว่าที่คิด เอาความเกลียดที่อยู่ในใจ ไปผลักดันเดินหน้าทำสิ่งที่เป็นประโยชน์จะดีกว่า
อย่างน้อยเมื่อสมาธิของเราอยู่กับงาน กลับมาอยู่กับตัวเอง เราก็จะมุ่งมั่นทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด เอางานเป็นเครื่องพิสูจน์ ไม่แน่ว่าการใช้ความเกลียดทั้งหมดทุ่มเทไปที่งาน เราอาจจะลืมคนที่เราเกลียดไปจริง ๆ เลยก็ได้ อย่าลืมว่า ยิ่งเราให้ความสำคัญกับคนที่เกลียดมากเท่าไหร่ สมาธิในการทำงานของเราก็จะน้อยลง จนสูญเสียความเป็นตัวเองไป
ดังนั้น ใครที่กำลังประสบปัญหา ต้องทำงานหรือใช้ชีวิต อยู่ร่วมกับคนที่เกลียด ลองเอา 10 วิธีอยู่ร่วมกับคนที่เราเกลียด (ฉบับคนอยู่เป็น) ไปลองปรับใช้ดู
อย่าลืมโฟกัสอยู่กับความเป็นจริงของตัวเองให้มากที่สุด อาจจะทำใจยาก ลองค่อย ๆ ปรับไปทีละข้อ อย่าลืมว่าความเกลียดเป็นเหมือนดาบสองคม หากเราจัดการกับมันได้ไม่ดีพอ ก็อาจจะเป็นผลเสียกับเรา แต่หากเรารู้วิธีจัดการกับปัญหาเหล่านี้ เราก็จะกลายเป็นคนที่ได้รับการยอมรับนับถือจากทุกคน
บทความล่าสุด
การจัดโต๊ะคอมให้สวยถูกใจ พร้อมฟังก์ชันการใช้งานครบครัน...
ในมุมมองหนึ่ง ‘ลูกคนกลาง’ ดูเหมือนจะต้องแบกรับภาระทางใจอันหนักอึ้ง...