วิธีการทำ SWOT ตัวเอง – ขั้นตอนและข้อแนะนำการทำ SWOT

วิธีการทำ SWOT ตัวเอง - ขั้นตอนและข้อแนะนำการทำ SWOT

การทำ SWOT ตัวเองก็เป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว แต่หากการเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองและการเข้าใจโอกาสอุปสรรครอบตัวเราเป็นเรื่องง่าย ทุกคนทำเป็นเองตั้งแต่แรก โลกของเราก็คงพัฒนาไปไกลมากกว่านี้แล้วครับ

บทความนี้เป็นบทความเกี่ยวกับการวิเคราะห์ตัวเองผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า SWOT Analysis เราจะมาดูกันว่าวิธีการทำ SWOT ตัวเองทำยังไง และ ข้อแนะนำในการวิเคราะห์ค้นพบตัวเองนั้นทำได้อย่างไรบ้าง

SWOT คืออะไร และเราจะ SWOT ตัวเองทำไม

SWOT คือเครื่องมือในการวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน-โอกาสอุปสรรค (Strengths Weaknesses Opportunities Threats) เพื่อช่วยสร้างกลยุทธ์ในการตัดสินใจสำหรับอนาคต เราสามารถทำ swot ตัวเองเพื่อหาทิศทางในการพัฒนาตัวเอง ซึ่งจะมีประโยชน์ทั้งในชีวิตส่วนตัวและในการทำงาน

การทำ SWOT ตัวเองจะช่วยทำให้คุณเข้าใจตัวเองได้มากขึ้น นอกจากนั้นแล้วคุณยังอาจจะค้นพบโอกาสใหม่ๆ หรือหาวิธีเลี่ยงสิ่งที่คุณไม่ชอบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่คุณไม่เคยคิดมาก่อน

แต่เดิมทีแล้ว SWOT เป็นเครื่องมือในการบริหารธุรกิจ ซึ่งผมได้เขียนอธิบายไว้เยอะในบล็อกเกี่ยวกับเรื่องบริหารธุรกิจของผม สามารถดูได้ที่นี่ (ไม่ได้อยากโปรโมท แค่ขี้เกียจอธิบายซ้ำครับ 555)

ผมพยายามอธิบายส่วนพื้นฐานของ SWOT นี้ให้กระชับที่สุดเพราะคิดว่าหลายคนคงรู้จักวิธีทำ SWOT แบบทั่วไปแล้ว และในส่วนถัดไปผมจะสอนวิธีทำ SWOT ตัวเอง ที่จะมีกระบวนการทำที่แตกต่างจากการทำ SWOT อย่างอื่นอยู่นิดหน่อย

วิธีทำ SWOT ตัวเอง

วิธีทำ SWOT ตัวเอง เริ่มจากการแบ่งกระดาษให้เป็น 4 ช่อง แต่ละช่องจะแสดงถึงจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และ อุปสรรค ของคุณ โดยจุดแข็งจุดอ่อนเป็นสิ่งที่ทำให้คุณแตกต่างจากคนอื่น และ โอกาสอุปสรรคคือสิ่งที่คุณควบคุมไม่ได้ แต่สามารถปรับตัวให้เหมาะสมได้

ผมคิดว่าหลายคนคงคุ้นเคยกับภาพ SWOT ที่เป็นสี่เหลี่ยมสี่ช่องด้านล่างดี

ซึ่งหลักการทำ swot ตัวเองนั้นโดยพื้นฐานแล้วก็จะเหมือนกับการทำ swot ในธุรกิจ เพียงแต่ว่าคำถามที่คุณจะต้องตอบในแต่ละหัวข้ออาจจะต่างกันนิดหน่อย

จุดแข็ง – ปัจจัยภายในแบบบวก ของ SWOT

หมายถึงจุดแข็งหรือสิ่งที่คุณทำได้ดี ทักษะ และประสบการณ์ต่างๆเฉพาะตัว หรือที่ทำให้แตกต่างจากคนอื่น ข้อแนะนำก็คือเราไม่จำเป็นต้อง ‘ถ่อมตัว’ มากก็ได้ เพราะเราวิเคราะห์ส่วนนี้เพื่อตัวเอง

ให้ตอบคำถามดังนี้

  • เรามีทักษะ การศึกษา ใบรับรอง หรือคอนเนคชั่นอะไรที่ทำให้เราแตกต่างจากคนรอบข้างหรือเปล่า
  • คนส่วนมากชมคุณเรื่องอะไร โดยเฉพาะคนที่เคยทำงานกับคุณ
  • คุณมีความเชื่อหรือวินัยอะไรที่คนรอบข้างคุณไม่มี
  • คุณมี ‘ความสำเร็จ’ อะไรที่คุณภูมิใจบ้าง

จุดอ่อน – ปัจจัยภายในแบบลบ ของ SWOT

หมายถึงจุดอ่อนหรือสิ่งที่คุณทำได้ไม่ดีเท่าไร อาจจะเป็นสิ่งที่คุณไม่ถนัดหรือความคิดบางอย่างที่ทำให้คุณไม่เหมือนคนอื่น (ยกตัวอย่างเช่น ความเชื่อที่จำกัดความสามารถของตัวเอง หรือ Limiting Belief) ข้อแนะนำก็คือเราต้องไม่ ‘หลอกตัวเอง’

ให้ตอบคำถามดังนี้

  • คนอื่นมีทักษะ การศึกษา ใบรับรอง หรือคอนเนคชั่นอะไรที่เราไม่มีหรือเปล่า
  • คนรอบข้างชอบตักเตือนหรือให้คำแนะนำคุณส่วนไหนเป็นพิเศษ
  • คุณมีนิสัยเสียหรือ ลักษณะบุคลิกอะไรที่ไม่ดีหรือเปล่า 
  • อะไรที่คุณหลีกเลี่ยงที่จะทำเพราะว่าคุณกลัว หรือว่าไม่มั่นใจในตัวเอง 

ถึงแม้ว่าจะเป็นการวิเคราะห์เพื่อตัวเองเกี่ยวกับตัวเอง แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องคิดคนเดียวก็ได้ ให้ลองถามเพื่อน ครอบครัว หรือคนที่เคยทำงานด้วยดูนะครับ หากเราทำความรู้จักตัวเองเสร็จแล้ว เรามาลองดูปัจจัยภายนอกที่เราไม่สามารถควบคุมได้กัน

โอกาส – ปัจจัยภายนอกแบบบวก ของ SWOT

โอกาส หมายถึงปัจจัยภายนอกที่จะช่วยสนับสนุนให้ชีวิตคุณดีขึ้น อาจจะเป็นโอกาสในที่ทำงาน ในโรงเรียน หรือโอกาสที่คนรอบข้างคุณหยิบยื่นให้คุณ 

ให้ตอบคำถามดังนี้

  • ในชีวิตของคุณมีอะไรเปลี่ยนแปลงในแง่บวกบ้าง
  • ปัจจัยรอบข้างคุณส่วนไหนที่กำลังเติบโตไปในแง่ดี
  • มีเทคโนโลยีอะไรใหม่ๆหรือเปล่าที่จะคอยช่วยเหลือคุณได้
  • คนที่คุณรู้จักสามารถช่วยคุณได้ยังไงบ้าง

ปัจจัยภายนอกเป็นเรื่องที่เราต้องคอยสังเกตเอง สำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเวลาออกกำลังกาย โอกาสของคุณอาจจะเป็นการที่ห้างใกล้บ้านกำลังเปิดฟิตเนสก็ได้ ยิ่งเรามองรอบตัวเราได้กว้างเท่าไร เรายิ่งเห็นโอกาสเยอะขึ้น

ในมุมมองของการทำธุรกิจ โอกาสอาจจะหมายถึงโครงการของรัฐบาล หรือเทรนด์เศรษฐกิจต่างประเทศ ซึ่งถึงแม้ปัจจัยเหล่านี้จะไม่ค่อยช่วยชีวิตส่วนตัวเราเท่าไร แต่หากคุณคิดว่าคุณสามารถกอบโกยประโยชน์จากส่วนพวกนี้ได้ก็เป็นเรื่องที่ดีครับ

อุปสรรค – ปัจจัยภายนอกแบบลบ ของ SWOT

อุปสรรค หมายถึงปัจจัยภายนอกที่ขัดขวางการใช้ชีวิตของคุณ เช่นกัน อุปสรรคอาจจะเป็นปัจจัยในชีวิตส่วนตัว ในที่ทำงาน ในโรงเรียนก็ได้

ให้ตอบคำถามดังนี้

  • ในชีวิตของคุณมีอะไรเปลี่ยนแปลงในแง่ลบ หรือคอยขัดขวางหรือเปล่า
  • คุณมีคู่แข่งหรือเปล่า
  • มีการเปลี่ยนแปลงรอบข้างแบบไหนที่คุณรู้สีกว่าปรับตัวไม่ทันหรือเปล่า
  • ประเทศหรือโลกของเราสามารถเปลี่ยนแปลงไปแนวไหนที่จะกระทบวิธีการใช้ชีวิตของคุณหรือเปล่า 

ปัจจัยอุปสรรคในการใช้ชีวิตส่วนตัวอาจจะเป็นอะไรง่ายๆเช่น หน้าบ้านมีการซ่อมถนนทำให้เราต้องตื่นเช้าไปทำงานเร็วขึ้นจนทำให้เราไม่มีพัฒนาตัวเอง หรือการที่พ่อแม่ป่วยและเราต้องคอยอยู่บ้านดูแล

ข้อแนะนำในการทำ SWOT ตัวเอง

ในส่วนนี้หากคุณยังคิดไม่ออกว่าปัจจัยต่างๆในตัวคุณและรอบตัวคุณจะสามารถเป็น SWOT ได้อย่างไรบ้าง ข้อแนะนำที่คนส่วนมากใช้กันก็คือ

จุดแข็งจุดอ่อน – ร่างกาย ความรู้ ประสบการณ์ นิสัย เวลา พลังงาน และ เงิน 
โอกาสอุปสรรค – เทคโนโลยี ที่ทำงาน ครอบครัว คนรัก และ สถานที่ใกล้ตัว

นอกจากนั้นแล้ว อย่าลืมว่า จุดอ่อนบางอย่างก็คือจุดแข็งอีกอย่างได้ เช่น คนที่เป็นโรคนอนไม่หลับก็คือคนที่มีเวลาทำอะไรตอนกลางคืนมากขึ้น หรือคนที่มีนิสัยคิดเล็กคิดน้อยก็จะเป็นคนที่ใส่ใจในรายละเอียด

อีกกรณีหนึ่งก็คือ คุณคิดว่าคุณเป็นแค่คนธรรมดา (ภาษาวัยรุ่นก็คือเป็น ‘เป็ด’) ที่ทำได้หลายอย่าง ไม่เก่งซักอย่าง ซึ่งในส่วนนี้คุณก็สามารถเปรียบเทียบกับคนธรรมดาคนอื่น (เป็ดชนเป็ด) หรือจะเทียบกับคนที่เก่งเฉพาะทางแต่ไม่เก่งบางอย่างก็ได้ 

สุดท้ายนี้ การเก็บข้อมูลจาก SWOT เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ครับ แต่การทำ SWOT ตัวเองจะมีค่ามากกว่ามากหากคุณสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในชีวิตจริงได้ ให้ลองทำตามข้อแนะนำเหล่านี้ดู

  • การพัฒนาจุดแข็ง 
  • การลบจุดอ่อนตัวเอง
  • การกอบโกยโอกาสใกล้ตัว
  • การหลีกเลี่ยงอุปสรรค

และที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ

  • การนำจุดแข็งมาใช้ควบคู่กับโอกาส
  • การนำจุดแข็งมาช่วยเราหลีกเลี่ยงอุปสรรค
  • การหาโอกาสเพื่อลบจุดอ่อนของตัวเอง
  • การป้องกันหลีกเลี่ยงอุปสรรคที่จี้จุดอ่อนเรา

อีกข้อแนะนำหนึ่งก็คือ หลายคนทำ SWOT ในมุมมองของ เงิน การพัฒนาตัวเอง เรื่องเรียน หรือเรื่องงาน จนลืมไปว่า หนึ่งปัจจัยที่สำคัญของการ SWOT ตัวเองก็คือ ‘ความสุข’ ให้ลองถามตัวเองดูครับว่าแต่ละปัจจัยจะทำให้เรามีความสุขได้มากน้อยแค่ไหน แบบไหนคือความสุขระยะสั้น แบบไหนทำให้เรามีความสุขระยะยาว และที่สำคัญกว่าก็คือการตัดสินใจแบบไหนที่เราจะไม่รู้สึกเสียใจภายหลัง

สุดท้ายนี้ผมอยากให้ทุกคนเรียนรู้เกี่ยวกับ ‘การเข้าใจตัวเอง’ เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เราทุกคนก็มีจุดอ่อนจุดแข็ง-โอกาสอุปสรรค รอบตัวไม่เหมือนกันครับ เราอาจจะไม่ใช่คนที่ดีที่สุดในวันนี้แต่เราเป็นคนที่ดีขึ้นพรุ่งนี้ได้ 

บทความล่าสุด