วิธีพูดให้คนใจอ่อน 7 ขั้นตอน

วิธีพูดให้คนใจอ่อน 7 ขั้นตอน

หลายๆคนมองว่าคนส่วนมากนำตรรกะมาเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจ ฉะนั้นการพูดให้คนใจอ่อนต้องคิดเยอะๆ โน้มน้าวจนคนไม่สามารถปฏิเสธได้… มนุษย์ย่อมใช้เหตุผลมากมายในการเชื่อและยอมรับบางสิ่ง แต่นั่นกลับไม่ใช่ทั้งหมดของการตัดสินใจเลือกเพราะจริง ๆ แล้วมนุษย์กลับเลือกบางสิ่งบางอย่างด้วยอารมณ์

ใช่แล้วครับ มันคือภาวะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและช่องว่างระหว่างอารมณ์และเหตุผล ซึ่งแน่นอนว่าอารมณ์ย่อมมาก่อนเหตุผลเสมอ คุณว่าจริงไหมล่ะครับ แล้วถ้าสมมุติว่าคุณต้องเผชิญหน้ากับคน ๆ หนึ่งที่ไม่รู้จักกันมาก่อน แบบว่าต้องเจอ ต้องร่วมงานหรือต้องโน้มน้าวใจของเขาให้ทำอะไรสักอย่างหนึ่งหรือตัดสินใจเลือกอะไรสักชิ้น คุณจะทำอย่างไรละทีนี้เพื่อให้เขาใจอ่อนและยอมทำตามเราได้ และกลวิธีต่อไปนี้ช่วยคุณได้แต่ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจอะไรบ้างอย่างกันก่อนครับ 

วิธีพูดให้คนใจอ่อน 7 ขั้นตอน

ในหลากหลาย ๆ งานวิจัยจากหลาย ๆ ปราชญ์ แตกแยกย่อยทฤษฎีความต้องการของมนุษย์ออกมากมาย แต่ทฤษฎีหนึ่งที่ได้รับการยอมรับและถูกนำมาประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายอาชีพ ก็คือ ทฤษฎีลำดับชั้นความต้องการของ Maslow ที่กล่าวโดยสรุปง่าย ๆ ว่า นอกจากปัจจัยขั้นพื้นฐานอันได้แก่ อาหาร น้ำ การพักผ่อน เพศสัมพันธ์แล้ว มนุษย์ยังต้องการปัจจัยอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ความปลอดภัย ความรัก ความเป็นเจ้าของ การได้รับการยกย่อง และความสำเร็จสูงสุดในชีวิต เข้ามาเติมเต็มอีกด้วย

และนี่คือเหตุผลทางจิตวิทยาขั้นพื้นฐานของการมีปฏิสัมพันธ์กับคนในสังคม และเป็นที่มาของกลวิธีการโน้มน้าวใจ การจูงใจหรือการพูดให้คนใจอ่อนและคล้อยตามเราได้อย่างง่ายขึ้น และแน่นอนว่ามันสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในทุกความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน และแม้แต่คู่รักของคุณ เพราะความเข้าใจในพฤติกรรมความต้องการนำไปสู่การสื่อสารที่ดี และเทคนิคการสื่อสารเพียงนิดเดียวอาจเปลี่ยนมุมความคิดและความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนได้นั่นเอง

เมื่อเข้าใจพฤติกรรมความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์แล้ว เรามาต่อกันด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่นักเจรจามืออาชีพหรือนักโน้มน้าวใจที่มีชื่อเสียงเขาใช้ในการเปลี่ยนความคิดคนหรือแม้กระทั่งโน้มน้าวใจให้คู่สนทนาใจอ่อนลงและยอมรับฟังมากขึ้นกันครับ 

1. ต้องรู้จุดยืนของตัวเองที่ชัดเจน 

โดยธรรมชาติของมนุษย์จะยอมเปิดใจคุยกับคนที่ไว้ใจได้หรือดูแล้วมีความจริงใจต่อตน และที่สำคัญคือเขาจะคุยต่อกับคนที่มีคุณสมบัติทำให้เขาชื่นชอบ เพราะฉะนั้นในระหว่างการพูดคุยคุณต้องชัดเจนในความเป็นตัวตนในทุกรูปแบบการสื่อสารไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยหรือแม้กระทั้งการเคลื่อนไหวร่างกายที่สามารถตอบสนองต่อคู่สนทนาได้อย่างลื่นไหล การนั่งหรือยืนตัวตรง ส่งภาษากายด้วยความยิ้มแย้ม สื่อสารด้วยการผ่ายมือเปิดและมีความพร้อมเสนอสำหรับการปิดการสนทนา คือสิ่งที่เหล่านักเจรจามืออาชีพใช้กัน

2. ใช้คำพูดที่แตกต่าง 

ประโยคคำพูดเปรียบเสมือนสารสำคัญที่เราส่งต่อเจตนาและความรู้สึกสู่คู่สนทนา จึงมีคำเปรียบเปรยให้เราได้ยินเสมอว่า “ก่อนพูดเราเป็นนายแต่เมื่อพูดไปแล้วคำพูดคือนายเรา” นั่นแสดงให้เห็นว่าจงระวังคำพูดอยู่เสมอ ไม่รีบเร่งในบทสนทนา ใช้ถ้อยคำที่สละสลวยเชิงขอร้องขอความคิดเห็นมากกว่าการออกคำสั่ง ตรงประเด็น มีประโยชน์ และต้องเป็นมิตรต่อคู่สนทนาอย่างไร้ข้อกังขา และนี่คือข้อแนะนำของ James Altucher นักโน้มน้าวใจผู้มีชื่อเสียง

3. ฟังอย่างตั้งใจ 

ใช่แล้วครับ นี้คือวิธีการพูดอีกรูปแบบหนึ่งที่ทำให้คนใจอ่อนลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ หากคุณต้องการให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวคุณและคู่สนทนาเป็นไปได้ด้วยดี การให้ความสนใจรับฟังเรื่องที่เข้าพูดอย่างตั้งใจ ให้เขาได้พูดตามความพอใจของเขา ทิ้งช่วงเวลาตอบอย่างมีนัยยะ สัก 2 วินาที และงดคำโต้ตอบพวก อืม อ๋อ อ่ะห่ะ เหรอ สวนกลับจะยิ่งทำให้เขารู้สึกว่าเขาคือคนสำคัญและคุณจริงใจที่จะรับฟังเขาจริง ๆ ข้อคุณยังไม่ต้องเชื่อก็ได้ครับ แต่อยากให้คุณลองทำเลยครับ 

4. ใส่ใจกับคู่สนทนา 

ถ้าเปรียบเปรยโลกธุรกิจในปัจจุบันกับสังคมในวัยเด็ก ๆ คำพูดที่ว่า อย่ารับของจากคนแปลกหน้า น่าจะยังใช้ได้อยู่เพราะเรากำลังจะหยิบยื่นขนมผ่านความเชื่อที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่วัยเยาว์นั่นเอง แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่สามารถข้ามกำแพงนั้นได้กลับเป็นความปรารถนาที่มีอยู่ในตัวคู่สนทนานั่นเอง การให้ความสำคัญกับคู่สนทนานอกจากเปิดใจรับฟังแล้ว การสื่อสารในสิ่งที่เขาต้องการและปรารถนาไม่ว่าจะเป็น ความปลอดภัย ความรัก ความอยากเป็นเจ้าของหรือความต้องการได้รับการยกย่อง จะทำให้เขารู้สึกว่าเป็นคนสำคัญและยอมโอนอ่อนเปิดรับขนมในมือของท่านได้

 5. หลีกเลี่ยงการโต้แย้ง

ใช่ว่าทุกคนจะไม่มีข้อผิดพลาด นั่นรวมถึงตัวเราเองด้วย การรับฟังคู่สนทนาอย่างตั้งใจด้วยความเข้าใจในพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่สามารถทำผิดพลาดได้เสมอ เสมือนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อยู่เสมอโดยคาดคิดได้และไม่ได้คาดคิด จะทำให้คุณหลีกเลี่ยงข้อโต้แย้งที่อาจเกิดขึ้นแบบอัตโนมัติด้วยภาวะอารมณ์และข้อมูลที่ถูกสะสมมาแต่ในอดีต และนั่นคือปุ่ม Pause ที่จะช่วยให้ปฎิสัมพันธ์ที่ดีไม่หยุดชะงักไปในระหว่างการสนทนา

 6. กล้าที่จะคิดค้าน

แต่แม้ว่าการหลีกเลี่ยงการโต้แย้งจะสิ่งที่ดี แต่คุณก็ต้องกล้าที่จะคิดค้าน เพื่อหารูปแบบวิธีการสื่อสารที่แนบเนียน ส่งต่อความคิดของเราอย่างมีเหตุมีผล ด้วยประโยคคำพูดที่สวยงามหรือการเปรียบเปรยที่ชัดเจน เพื่อให้เขาคิดตามและรู้สึกว่า ความคิดที่ออกมานั้นเป็นของเขา และนั่นคือจุดที่จะทำให้เขาคล้อยตามเราได้โดยง่าย ทั้งยังแสดงถึงศักยภาพทางความรู้ ความคิดของเราที่ส่งต่อให้เขาอย่างจริงใจนั่นเอง (ค้านได้ แต่ให้ค้านอย่างมีจำกัด ไม่อย่างนั้นจะถูกหาว่าขวางโลกได้)

 7. การเรียกชื่อ

ตัดบทมาที่ข้อสำคัญยิ่งและไม่อาจมองข้ามไปเลยทีเดียว ก็คือ ถ้าอยากให้ใครประทับใจและจดจำคุณได้ จงจำชื่อเขาให้ได้และเรียกให้ถูกทุกครั้งในระหว่างการสนทนาและการพบเจอกันในคราวต่อไป เพราะนั่นเป็นเสมือนการแสดงความใส่ใจที่ทำให้เขารู้สึกได้ว่า เขาเป็นคนสำคัญจริง ๆ และกำแพงที่แข็งกร้าวก็อาจจะแปรเปลี่ยนเป็นสะพานที่สวยงามเพื่อให้คุณข้ามไปได้นั่นเอง

แน่นอนครับทักษะการสื่อสารที่ดีสามารถเปลี่ยนทัศนคติ รูปแบบความสัมพันธ์และมุมมองของคุณในสายตาของผู้อื่นได้ และการหากลวิธีพูดโน้มน้าวใจคนหรือทำให้คนใจอ่อนได้นั้นก็อาจมีหลากหลายเช่นกัน แต่เชื่อได้เลยว่าพื้นฐานที่ผู้สื่อสารที่ดีควรมีเหมือน ๆ กัน นั่นก็คือ ความเข้าใจที่ดีต่อพฤติกรรมของมนุษย์ ระดับชั้นความต้องการตามหลักจิตวิทยาพื้นฐานอันส่งผลต่อการวิเคราะห์หาวิธีการที่ดีที่สุดเพื่อการปฏิสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ส่งและรับสารจนนำไปสู่การปฏิบัติที่คู่ควร และวิธีการดังกล่าวข้างต้นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งในอีกหลาย ๆ วิธีที่จะนำพาคุณสู่การเป็นผู้ที่มีความสามารถในการโน้มน้าวใจคนอย่างมืออาชีพได้ เพียงแค่คุณ ตัดสินใจเริ่มต้นลงมือเพิ่มทักษะนี้เท่านั้น

บทความล่าสุด