Sigmund Freud คือใคร? เจ้าพ่อแห่งวงการนักจิตวิทยา

Sigmund Freud คือใคร? เจ้าพ่อแห่งวงการนักจิตวิทยา

ในวงการจิตวิทยา คงไม่มีใครไม่รู้จักเจ้าพ่ออย่าง Sigmund Freud ซึ่งก็ถือว่าเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกของวิธีคิดใหม่ๆในด้านของจิตวิทยามากมาย ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่า Sigmund Freud นั้นคือใครและมีทฤษฎีที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง

อนึ่ง ก่อนที่ทุกคนจะไปอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องทฤษฎีของ Sigmund Freud ผมต้องบอกก่อนว่าทฤษฎีหลายอย่างของ Freud นั้นถือว่าเป็นแค่ความคิดเห็นหรือมุมมองอย่างหนึ่งเท่านั้น (opinions) ไม่ได้เป็น ข้อเท็จจริง (facts) เพราะด้วยวิทยาศาสตร์ในยุคใหม่ก็เริ่มสามารถหาหลักฐานมาโต้แย้งทฤษฎีของ Sigmund Freud ได้บ้างแล้ว

Sigmund Freud คือใคร

Sigmund Freud คือนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ชาวออสเตรีย เชื้อสายยิว เป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาด้านจิตวิทยาของโลก Freud เกิดวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ.1856 เขาเป็นเจ้าของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis Theory) อันมีชื่อเสียงโด่งดัง ที่เชื่อว่า “แรงจูงใจของมนุษย์เกิดมาจากจิตใต้สำนึก”

Freud เชื่อว่าธรรมชาติมนุษย์ เกิดมาพร้อมแรงขับทางสัญชาตญาณ (Instinctual drive) และจิตเป็นพลังงานสามารถเคลื่อนที่ เปลี่ยนแปลงได้

เขาเป็นแพทย์ที่เชี่ยวชาญโรคสมองและประสาท ได้ศึกษาจนพบว่าจิตใจของมนุษย์มีอำนาจเหนือร่างกาย คนป่วยเป็นอัมพาตหลายรายล้มป่วยเพราะภาวะทางใจ เขาจึงไม่เชื่อว่ามนุษย์สามารถตัดสินใจบนเหตุผล หรือกำหนดสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตได้เอง 100%

Sigmund Freud กับอิทธิพลด้านจิตวิทยา

ยุคที่ Sigmund Freud ค้นคว้าเรื่องจิตใต้สำนึก หลาย ๆ คนยังไม่เชื่อว่าจิตใต้สำนึกมีจริง และจะมีความเป็นวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร

แต่ Freud ก็บุกเบิกจุดประกายให้คนหันมาสนใจเรื่องจิตใต้สำนึกได้อย่างมากมาย หนังสือ Dream Psychology  หรือจิตวิทยาความฝัน ของ Freud ถือได้ว่าเป็นหนังสือต้นแบบที่เกี่ยวกับทฤษฎีจิตวิทยาเล่มแรก ๆ ของโลกเลยทีเดียว

คำศัพท์ในวงการแพทย์ต่าง ๆ ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันนั้น ก็ล้วนแล้วเป็นคำศัพท์ที่ Sigmund Freud เป็นผู้คิดขึ้นมาแทบทั้งสิ้น

เช่น จิตใต้สำนึก จิตสำนึก อีโก้ ซูเปอร์อีโก้ การเก็บกด การพลั้งปาก แรงขับทางเพศ ฯลฯ งานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นของ Freud นับว่าเป็นรากฐานสำคัญของการศึกษาและพัฒนาทางด้านจิตวิทยา ตลอดมาจนถึงยุคปัจจุบันนี้

กระบวนการคิดของมนุษย์แบบ Sigmund Freud

Freud เชื่อว่าบุคลิกภาพของคนที่แตกต่างกันนั้น ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่พบเจอมาไม่เหมือนกันของแต่ละคนในวัยเด็ก รวมทั้งขึ้นอยู่กับการแก้ปัญหาของเด็กแต่ละคนด้วย

โดยในช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่ง 6 ปี นับเป็นช่วงวัยที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาทางกระบวนการคิดมาก โดยเขาได้แบ่งกระบวนการคิดออกเป็น 2 ลักษณะด้วยกัน คือ

การคิดลักษณะที่ 1 คือ แบบ Primary Process (ปฐมภูมิ) เป็นการคิดในระดับจิตไร้สำนึก เหมือนการคิดเป็นของเด็ก ๆ ไม่ค่อยเป็นเหตุเป็นผล ไม่สนใจเรื่องต่าง ๆ รอบ ๆ ตัว หรือเวลาและสถานที่ สิ่งเดียวที่ต้องการคือความสุข ความสมหวัง ซึ่งหากได้มาตามความต้องการเมื่อไหร่ถึงจะพอใจ  และยังไม่คำนึงว่าผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไรด้วย (Pleasure Principle) เช่น การเพ้อฝัน

การคิดลักษณะที่ 2 คือ แบบ Secondary Process (ทุติยภูมิ) เป็นการคิดที่ใช้กันอยู่ทั่ว ๆ ไป เป็นการคิดในระดับจิตสำนึก รวมทั้งจิตก่อนสำนึก ก็จะมีกระบวนการคิดเช่นเดียวกัน เป็นการคิดที่อิงหลักการและเหตุผล มองทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริง (Reality Principle) เช่น เชื่อบางครั้งมีผิดหวัง บางครั้งก็มีสมหวัง หรือของบางอย่างอาจต้องมีการรอคอยเพื่อให้ได้มา

ทฤษฎีพัฒนาการของ Sigmund Freud

พฤติกรรมของมนุษย์ส่วนใหญ่ จะเกิดแรงจูงใจจากจิตใต้สำนึก ที่ขับเคลื่อนออกมาในรูปแบบความฝัน การพลั้งปากพูด หรืออาการผิดปกติด้านจิตใจ

เช่น โรคจิต โรคประสาท ฯลฯ ทฤษฎีของ Freud เชื่อว่า มนุษย์มีแรงขับทางสัญชาตญาณ ที่จะแสดงออกมาในรูปแบบสัญชาตญาณทางเพศ (Sexual Instinct) ที่แสดงออกในรูปพลังทางจิต โดยแบ่งการทำงานของจิตออกเป็น 3 ระดับ

1. จิตใต้สำนึก (Unconscious Mind)

จิตใต้สำนึก (Unconscious Mind) เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกมาโดยไม่รู้ตัว จากแรงขับของจิตใต้สำนึก ที่กระตุ้นให้แสดงออกตามความพึงพอใจ จิตใต้สำนึกจะกระตุ้นให้เกิดความปรารถนา ซึ่งมีผลมาจากวัยเด็ก กลายเป็นพฤติกรรมติดตัวจนเป็นผู้ใหญ่ จากการไม่ได้รับการยอมรับ

เช่น ถูกห้าม ถูกลงโทษบ่อย ๆ ก็จะเก็บกดอยู่ในจิตส่วนนี้ และคอยกำหนดพฤติกรรม เช่น ก้าวร้าว อ่อนโยน เกลียดกลัวบางอย่าง ฯลฯ

2. จิตสำนึก (Conscious Mind)

จิตสำนึก (Conscious Mind) เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกมาโดยรู้ตัว จากประสาทสัมผัสทั้งห้า โดยคนเราส่วนใหญ่จะรู้ตัวตลอดเวลาว่า กำลังจะทำอะไร หรือกำลังคิดอะไรอยู่ เป็นการรับรู้พื้นฐานที่อยู่ในโลกของความเป็นจริง จิตจะควบคุมการกระทำต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับรู้ตัว (Awareness) เรียกว่าเป็นการแสดงพฤติกรรมออกมา โดยเจตนาและมีจุดมุ่งหมาย

3. จิตกึ่งสำนึก (Subconscious)

จิตกึ่งสำนึก (Subconscious) เป็นพฤติกรรมที่แสดง หรือไม่แสดงออกมา จากจิตในระดับที่รู้ตัวเช่นกัน หรือจากประสบการณ์ที่สั่งสมไว้ เมื่อถึงเวลาคับขัน จะแสดงออกได้ตามแรงขับสัญชาตญาณ ในระดับเดียวกับจิตสำนึก

เช่น เราไม่ชอบหัวหน้าใหม่ในที่ทำงาน แต่ไม่ต้องการให้เพื่อนร่วมงานรู้ ก็จะแสดงออกแบบปกติ แต่จะรู้สึกตัวเองตลอดว่าไม่ชอบ วันใดเกิดอยากแสดงออกให้เห็นก็จะทำ

โครงสร้างบุคลิกภาพ (Structure of Personality) ของ Sigmund Freud

Freud เชื่อว่าพัฒนาการบุคลิกภาพ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ยิ่งสัมพันธ์กับโลกภายนอก หรือสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ มากขึ้น ก็จะส่งผลออกมาต่างกัน และโครงสร้างบุคลิกภาพของมนุษย์ ที่จะส่งผลทำให้พฤติกรรมของแต่ละคนแตกต่างกันนั้น แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน ดังนี้

1. อิด (Id)

อิด (Id) เป็นต้นทางของบุคลิกภาพที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด Id เป็นแรงขับทางสัญชาตญาณ ที่คอยกระตุ้นให้มนุษย์ ตอบสนองความต้องการของตัวเอง ในการแสวงหาความสุข ความพึงพอใจ แต่ในขณะเดียวกัน Id ก็ทำหน้าที่ช่วยลดความเครียดที่เกิดขึ้นด้วย เพราะการทำงานของ Id จะทำอะไรตามความพอใจนั่นเอง

2. อีโก้ (Ego)

อีโก้ (Ego) เป็นบุคลิกภาพที่แสดงพฤติกรรมออกมาตรงกับความจริง และขอบเขตของสังคม ทำให้มนุษย์รู้จักตัวเอง Ego ของแต่ละคน จะอิงกับหลักความเป็นจริง มีการใช้ความคิดแบบ Secondary Process คือ ใช้หลักการเหตุผล มีสติไตร่ตรอง มีการรับรู้ Ego เป็นส่วนที่อยู่ในระดับจิตสำนึก เมื่อแต่ละคนโตขึ้น Ego ก็จะแข็งแกร่งขึ้น ทำให้สามารถควบคุม Id ได้ดีขึ้น

3. ซูเปอร์อีโก้ (Superego)

ซูเปอร์อีโก้ (Superego) เป็นบุคลิกภาพที่เกี่ยวข้องกับความผิดชอบ ชั่วดี ศีลธรรม บรรทัดฐานสังคม ค่านิยม ขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ Superego จะทำหน้าที่ควบคุมให้มนุษย์ประเมินพฤติกรรมต่าง ๆ ของตัวเอง ผ่านมโนสำนึกคุณธรรมจริยธรรม ที่แต่ละคนได้รับพัฒนาการ มาจากการอบรมเลี้ยงดูในวัยเด็ก

พัฒนาการบุคลิกภาพ 5 ขั้น ของ Sigmund Freud

อย่างที่ได้บอกแล้วว่า ทฤษฎีพัฒนาการบุคลิกภาพของ Sigmund Freud จะเกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางเพศ ที่แสดงออกมาในรูปแบบของสัญชาตญาณทางเพศ ตั้งแต่เป็นเด็กทารก ที่แสดงออกมาในรูปของพลังของลิบิโด (Libido) ที่สามารถเคลื่อนไปยังส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ที่รู้สึกพึงพอใจ Freud ก็ได้แบ่งพัฒนาการทางบุคลิกภาพออกเป็น 5 ขั้น

1. ขั้นปาก (Oral Stage) เริ่มตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึง 1 ขวบ ในวัยนี้จะมี Erogenous Zone หรือความรู้สึกพึงพอใจ อยู่ที่บริเวณปาก หากได้รับการกระตุ้นที่ปาก ก็จะทำให้เด็กเกิดความพึงพอใจ และจะตอบสนองความพึงพอใจด้วยการดูด เช่น การดูดนมแม่ของเด็ก เป็นความสุข ความพึงพอใจ ในแบบ Oral Stage

2. ขั้นทวารหรือขั้นอวัยวะขับถ่าย (Anal Stage) เริ่มตั้งแต่อายุ 1-3 ขวบ โดยความรู้สึกพึงพอใจจะอยู่บริเวณทวาร เด็กจะมีความพึงพอใจ เมื่อมีสิ่งกระตุ้นบริเวณทวาร เริ่มเป็นตัวของตัวเอง มีความพอใจที่ได้ควบคุมอวัยวะของตนเอง โดยเฉพาะอวัยวะขับถ่าย  เด็กจะมีความสุขในการกลั้นอุจจาระ หรือถ่ายอุจจาระ เป็นความขัดแย้งที่พ่อแม่ต้องคอยดูแลเอาใจใส่

3. ขั้นอวัยวะเพศตอนต้น (Phallic Stage) เริ่มตั้งแต่อายุ 3 – 5 ขวบ โดยความรู้สึกพึงพอใจจะอยู่ที่อวัยวะเพศ เด็กมีความพึงพอใจที่ได้จับอวัยวะเพศ รู้สึกพึงพอใจเพศของตัวเอง แต่ถ้าหากเด็กมีเพศตรงข้ามกับพ่อแม่ ก็จะเกิดความรู้สึกมุมกลับอีกด้าน เช่น เด็กผู้ชายจะรักใคร่หวงแม่ จึงเกิดความรู้สึกอิจฉาพ่อ หรือเด็กผู้หญิงจะรักหวงพ่อ จนรู้สึกอิจฉาและมีความรู้สึกเป็นศัตรูกับแม่

4. ขั้นแฝง (Latency Stage) เริ่มตั้งแต่อายุ 6 – 11 ปี ในขั้นนี้ความพึงพอใจ หรือ Erogenous Zone จะไม่ปรากฏชัดว่า จะอยู่ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย จะไม่อยู่เฉพาะที่เรียกว่า เป็นเหมือนขั้นแฝงของพลัง Libido เป็นระยะพักในเรื่องเพศ และจินตนาการทางเพศเอาไว้ชั่วคราว

5. ขั้นอวัยวะเพศตอนปลาย (Genital Stage) เริ่มจากอายุ 12 ขวบขึ้นไป เป็นระยะเข้าวัยรุ่น โดยความพึงพอใจจะกลับมาอยู่ที่บริเวณอวัยวะเพศ เพราะเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ มีพัฒนาการทางร่างกาย และทางอารมณ์ มีความสามารถในการสืบพันธุ์ มีความต้องการทางเพศที่รุนแรง จึงส่งผลให้มีความเป็นตัวของตัวเองสูง รักการเป็นอิสระ

Sigmund Freud ใช้ทฤษฎีจิตวิเคราะห์เปรียบเทียบจิตใจมนุษย์ว่า คล้ายภูเขาน้ำแข็งที่ลอยอยู่กลางมหาสมุทร มียอดภูเขาโผล่พ้นน้ำเพียงเล็กน้อย แต่ส่วนที่จมอยู่ใต้น้ำนั้นมีมากกว่า

เขาเปรียบส่วนที่ลอยพ้นน้ำเป็นดังจิตสำนึก ส่วนที่อยู่ปริ่ม ๆ น้ำคือจิตกึ่งสำนึก และส่วนสุดท้าย ที่เป็นส่วนใหญ่ของภูเขาน้ำแข็ง คือ จิตใต้สำนึก ที่คนจะไม่มีโอกาสได้เห็นหรือรับรู้ได้ถึงการมีอยู่นั่นเอง

ทฤษฎีจิตวิทยาของ Sigmund Freud ที่พยายามศึกษาค้นคว้าการเข้าถึงจิตใจของมนุษย์ ก็เพื่อนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในแง่มุมต่าง ๆ ทฤษฎีความคิด และผลงานทางด้านวิชาการของ Freud ถูกเผยแพร่และนำไปใช้อย่างกว้างขวาง สร้างประโยชน์ให้กับการพัฒนาการทางการแพทย์และจิตวิทยาเป็นอย่างมาก

บทความล่าสุด