สังคมนิยม คืออะไรกันนะ? ข้อดีและข้อเสีย [Socialism]

สังคมนิยม คืออะไรกันนะ? ข้อดีและข้อเสีย [Socialism]

ภายในหลายปีที่ผ่านมานี้ คนไทยทุกเพศทุกวัย ก็หันมาสนใจเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองกันมากขึ้น

ซึ่งแน่นอนว่าคำศัพท์ทางด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ และด้านระบอบการปกครอง หลายอย่างก็กลายเป็นคำพูดประจำวันของทุกคนไปแล้ว ทั้งประชาธิปไตย สังคมทุนนิยม และระบบแบบสังคมนิยม คำศัพท์พวกนี้บางอย่างก็ดูเข้าใจง่าย บางอย่างก็ดูเข้าใจยาก และแต่ละอย่างก็มีข้อดีข้อเสียไม่เหมือนกัน

ในบทความนี้ ผมอยากเขียนอธิบายเรื่องสังคมนิยม Socialism เป็นพิเศษ แต่คำว่า Socialism หรือสังคมนิยม ที่คนพูดกันมีความหมายว่าอะไรกันนะ แล้วระบบสังคมนิยมนี่สรุปว่าดีหรือไม่ดีกันแน่ เรามาลองหาคำตอบด้วยกัน

Socialism คืออะไรกันนะ

Socialism หรือสังคมนิยมคือรูปแบบเศรษฐกิจ ที่ทุกคนในสังคมเป็นเจ้าของปัจจัยในการผลิต การแจกแจง โดยที่มีส่วนกลางหรือรัฐบาลจะเป็นคนวางแผนเศรษฐกิจ และรัฐบาลจะเข้ามาควบคุมกิจการที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค หรือที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของของประชาชน

ในระบบทุนนิยม หรือ Capitalism ที่สังคมในไทยของเราเป็นอยู่นี้ เราจะเห็นได้ว่าในระบบทุนนิยมที่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้ และทุกคนก็สามารถจ้างพนักงานได้ หรือถ้าจะพูดอีกแบบนึงก็คือขอให้เรามีเงิน เราก็จะมีโอกาสเสมอ … ในสังคมและระบบแบบนี้ ทุกคนมีโอกาส 

แต่ในระบบสังคมนิยม Socialism นั้นจะใช้ระบบที่ตรงกันข้ามกับระบบทุนนิยม ซึ่งก็คือทุกคนจะเป็นเจ้าของกิจการร่วมกัน (ทุกคนในที่นี้รวมถึงทั้งประชาชนแล้วก็รัฐบาล) 

หมายเหตุ: ความหมายของระบบทุนนิยม และสังคมนิยม ที่ผมเขียนในบทความนี้ เป็นความหมายเชิงทฤษฎี ซึ่งอาจจะมีความสุดโต่งอยู่บ้าง และอาจจะมีความแตกต่างจากความหมายที่นักวิเคราะห์เศรษฐกิจ และนักการสังคมบางคนพูด 

ปัญหาหลักของระบบทุนนิยมก็คือ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ระหว่างชนชั้นสูงและชนชั้นล่าง เพราะสังคมที่นิยมเงินเป็นหลักก็จะให้โอกาสกับคนที่มีเงินเยอะ ซึ่งคนที่มีเงินก็จะมีโอกาสเยอะ และก็จะยิ่งสามารถทำเงินได้เยอะขึ้น แต่ในทางกลับกันคนที่ไม่มีเงินเลยก็จะไม่มีโอกาส (หรือมีโอกาสน้อยกว่าคนอื่นมากๆ) สังคมแบบนี้ทำให้คนรวยก็รวยต่อไป และคนจนก็ไม่สามารถหลีกหนีจากวงเวียนแห่งความจนได้

ในขณะเดียวกัน ระบบสังคมนิยมก็คือระบบที่ทุกคนมีเท่าเทียมกัน เพราะทุกคนเป็นเจ้าของเหมือนกันหมด (โดยที่ส่วนมากรัฐจะเป็นคนดูแลเรื่องการแจกแจงทรัพยากรให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม) 

ซึ่งก็สังคมนิยมจะแตกต่างจากคอมมิวนิสต์ (Communist) ตรงที่รัฐเป็นเจ้าของทุกอย่าง และประชาชนไม่สามารถเป็นเจ้าของอะไรได้เลย

หนึ่งอย่างที่ทุกคนควรจะทำความเข้าใจก็คือ ในโลกนี้ไม่มีระบบสังคมของประเทศไหนที่เป็น ทุนนิยม 100% คอมมิวนิสต์ 100% หรือ สังคมนิยม 100% ทุกประเทศล้วนนำข้อดีข้อเสียของแต่ละระบบสังคม นำมาปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและผู้คนของตัวเอง

ข้อดีข้อเสีย ของระบบสังคมนิยม

อุดมการณ์ของสังคมนิยมก็คือการลดความเหลื่อมล้ำของชนชั้น ที่เราอาจจะเห็นได้ชัดในระบบสังคมแบบทุนนิยม โดยเฉพาะปัญหาของชนชั้นล่างที่บางคนไม่อะไรเลย และก็ไม่มีโอกาสที่จะแก้ตัวด้วย

ซึ่งระบบสังคมนิยม ก็จะมีการแจกแจงอาหาร เสื้อผ้า หรือแม้แต่การศึกษาให้ทุกคนเท่าเทียมกัน อย่างน้อยที่สุดปัจจัยทั้ง 4 และปัจจัยที่ต้องใช้ในการดำรงชีวิตอย่างการศึกษาและการแพทย์ ก็ควรเป็น ‘โอกาส’ ที่ทุกคน ‘ต้องมี’ ไม่ใช่ใครรวยกว่าได้เปรียบ

นอกจากนั้นการทำงานในระบบสังคมนิยม ก็ไม่ต้องมานึกถึงปัญหาด้านการทำงานแบบสังคมนิยมอีก หมายความว่าไม่มีการที่นายจ้างเอาเปรียบลูกจ้าง ไม่มีการใช้แรงงานเด็ก ไม่มีบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำทุกอย่างขายทุกอย่าง และกดขี่เจ้าของกิจการขนาดเล็ก

อย่างไรก็ตาม โลกของสังคมนิยมก็ได้พิสูจน์แล้วว่า เงิน และ การแข่งขัน ทำให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาได้ ซึ่งถ้าประเทศไหนอยู่ด้วยระบบสังคมแบบประชานิยม 100%  ก็คงจะไม่สามารถผลักดันให้ประเทศเติบโตได้ทันประเทศอื่นๆ ซึ่งก็หมายความว่าเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมอาจจะมีความเสี่ยงที่จะล้มลง ถ้าประชาชนไม่มีแรงจูงใจอย่าง ‘เงิน’ เป็นตัวผลักดัน 

เรามาดูตัวอย่างของประเทศต่างๆที่เรียกตัวเองว่า ‘สังคมนิยม’ กันครับ ว่าแต่ละประเทศเป็นอย่างไรบ้าง

สังคมนิยม และ โซเวียต รัสเซีย

ตัวอย่างที่คนพูดถึงมากที่สุดเวลาพูดถึงสังคมนิยมก็คือ โซเวียต รัสเซีย ซึ่งเป็นตัวอย่างระบบสังคมนิยมที่ล้มเหลวมาก

ซึ่งระบบการสังคมของโซเวียตรัสเซียในสมัย 1920 ก็คือทุกคนต้องทำงานเพื่อประเทศและเพื่อประชาชนคนอื่น หากเราทำงาน รัฐก็จะแจกจ่ายค่าจ้างให้เราเป็นอาหาร เสื้อผ้า ยา และปัจจัยอื่นๆที่จำเป็น

สังคมแบบนี้ในตอนแรกก็เหมือนว่าจะดี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือผลผลิตที่ได้จากทั้งการเกษตรและด้านการผลิตและอื่นๆนั้น ถือว่าต่ำมาก ผลผลิตต่ำกว่าตอนที่เป็นทุนนิยมเยอะ 

สังคมนิยมทำให้ทุกคนคิดว่า
เราไม่จำเป็นต้องพยายามเหนือกว่าคนอื่น
เพราะเราไม่มีเหตุผลที่ต้องพยายามให้คนอื่น 

ปัญหาแรกก็คืออาหารไม่พอสำหรับประชากรทุกคน ต่อให้รัฐพยายามนำเข้าอาหารและปัจจัย 4 เข้ามาจากต่างประเทศก็ยังไม่เพียงพอ หลังจากนั้นไม่นานเศรษฐกิจก็เริ่มล้ม 

แน่นอนว่าสาเหตุอื่นๆที่ทำให้โซเวียตรัสเซียล้มเหลวก็มีครับ ซึ่งสาเหตุหลักอื่นๆที่คนมักพูดกันก็คือการโกงและการคอรัปชั่นกันในรัฐบาลนั้นเอง แน่นอนว่าพอเศรษฐกิจไม่ดี ประชาชนเริ่มไม่มีข้าวกิน พอเห็นรัฐบาลโกงอีกก็ไม่แปลกที่จะทำการปฏิวัติ

นักเศรษฐกิจหลายคนได้บอกไว้ว่า สังคมแบบทุนนิยม เป็นสังคมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ต่อให้เราพยายามแก้ไขหรือพัฒนามากแค่ไหน มนุษย์ก็จะย้อนกลับมาใช้ระบบทุนนิยมเหมือนเดิมอยู่ดี อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบันก็มีหลายประเทศที่นำหลักของทุนนิยมมาผสมกับสังคมนิยมได้ ยกตัวอย่างเช่นประเทศฟินแลนด์เป็นต้น

สังคมนิยม และ ฟินแลนด์ 

ก่อนที่ผมจะเริ่มคุยเรื่องสังคมนิยมและฟินแลนด์ ผมขออธิบายก่อนหรือว่า ‘ฟินแลนด์ใช้ระบบทุนนิยม’ อยู่ แค่มีหลายปัจจัยที่ดูเหมือนเป็นการเอา ‘สังคมนิยมเข้ามาส่งเสริมระบบทุนนิยม’ ให้มีความ ‘อ่อนโยน’ และ ‘เท่าเทียม’ มากขึ้น

สิ่งที่โซเวียตรัสเซียสอนให้เราเข้าใจก็คือ
ความเท่าเทียมที่สำคัญคือ ความเท่าเทียมของ ‘โอกาส’
ไม่ใช่ความเท่าเทียมของ ‘ผลลัพธ์’

ถ้าทุกคนได้ผลลัพธ์เหมือนกันหมด ทุกคนก็ไม่มีเหตุผลที่จะพยายามหรือพัฒนาตัวเอง เพราะยังไงผลลัพธ์ก็ยังเหมือนเดิม เราทำงานมากแค่ไหนเราก็ยังได้ข้าว 3 มื้อต่อวันอยู่ดี

ซึ่งถ้าเราดูกันแค่ในหลักเศรษฐศาสตร์ หากเราไม่ทำระบบเศรษฐกิจให้เป็นแบบทุนนิยม ประชาชนก็จะไม่พยายาม และประเทศก็จะไม่สามารถเติบโตได้

ในทางกลับกัน ระบบสังคมนิยมที่ฟินแลนด์นำมาดัดแปลงใช้ ก็คือความเท่าเทียมของโอกาส ด้านการศึกษา 

ในประเทศฟินแลนด์ การที่โรงเรียนเก็บค่าเทอมเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย หมายความว่านักเรียนทุกคนไม่ว่าพ่อแม่จะรวยแค่ไหน ก็ต้องเข้าโรงเรียนรัฐบาล และเนื่องจากว่าโรงเรียนรัฐบาลทุกโรงเรียนมีคุณภาพเท่ากัน ทุกโรงเรียนใช้มาตรฐานเดียวกันหมด พ่อแม่ทุกคนก็สามารถส่งลูกไปโรงเรียนไหนก็ได้ (ก็คือโรงเรียนที่ใกล้บ้าน)

(ซึ่งก็หมายความว่า พ่อแม่ที่มีฐานะที่อยากจะให้ลูกเรียนโรงเรียนดีๆ ก็จำเป็นต้องจ่ายภาษี บริจาคเงินเข้าภาครัฐ ให้รัฐนำเงินไปบริหารพัฒนาการศึกษาเพิ่ม)

แน่นอนว่าเด็กที่จบออกมาก็จะมีทักษะที่เท่าเทียมกัน อย่างน้อยก็ไม่ต้องมานั่งเทียบกันว่าใครจบมาจากมหาลัยอะไร ม.ปลายอะไร ในกรณีนี้เด็กที่พ่อแม่มีฐานะมากกว่าก็ยังมีจุดเริ่มต้นที่ดีกว่าเด็กคนอื่นอยู่ดี แต่เด็กที่ได้เรียนรู้ ได้เข้าสังสรรค์กับเพื่อนทุกชนชั้น ก็จะมีความเห็นอกเห็นใจคนต่างชนชั้นมากกว่าเด็กจากสังคมทุนนิยมที่ประเทศอื่น

อย่างไรก็ตามสาเหตุหลักที่ทำให้ฟินแลนด์สามารถทำแบบนี้ได้ ก็เพราะว่าประชากรของฟินแลนด์มีจำนวนน้อย และมีฐานะค่อนข้างใกล้เคียงกัน (มีความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นน้อยกว่าประเทศที่มีประชากรเยอะ) ทำให้การบริหารและการดูแลทรัพยากรด้านการศึกษาทำได้ง่ายมากขึ้น

ประเภทสังคมนิยม ที่ทุกคนอาจจะคุ้นเคยกันดี

ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ เส้นเล็ก เส้นหมี่ คนก็ยังเรียกว่าก๋วยเตี๋ยวเหมือนกัน เพราะฉะนั้นสังคมนิยมที่หลายคนคิดว่ามีแค่ความหมายเดียว ก็สามารถมีหลายประเภทได้เช่นกัน 

จริงแล้วสังคมนิยมนั้นสามารถแตกเอามาเป็นหลายประเภทได้เยอะมาก เพราะแต่ละประเทศก็ใช้ระบบสังคมนิยมผสมกับระบบทุนนิยมบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งถ้าจะให้มาดูวิเคราะห์แต่ละประเทศจริงๆ แต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกันเลยทีเดียว ทำให้เราสามารถนิยามระบบสังคมแบบสังคมนิยมได้หลากหลาย

ในส่วนนี้ผมจะขอหยิบประเภทสังคมนิยมที่คนพูดถึงเยอะ ซึ่งส่วนมากก็จะมาจากระบบสังคมนิยมหลักในประวัติศาสตร์ 

Democratic Socialism – ก็คือระบบสังคมนิยมโดยที่มีรัฐบาลแบบประชาธิปไตย หมายความว่าประชาชนก็ต้องเลือกรัฐบาลที่บริหารประเทศแบบประชานิยม รัฐบาลก็ต้องทำหน้าที่ดูแลและแจกจ่ายการผลิตให้กับผู้คน บางประเทศ ณ ปัจจุบันก็ใช้ระบบนี่อยู่เช่นฟินแลนด์เป็นต้น ที่ใช้ประชาธิปไตยเพื่อให้รัฐบาลดูแลทรัพยากรที่สำคัญของการศึกษา 

Libertarian Socialism – คือระบอบสังคมนิยมแบบอนาธิปไตย หรือสังคมนิยมที่ไม่มีรัฐบาลนั่นเอง หมายความว่าประชาชนก็เป็นเจ้าของทุกอย่าง ทุกคนมีอิสระที่จะทำอะไรก็ได้ และที่สำคัญคือทุกคนก็จะไม่ถูกผูกมัดกับระบบทุนนิยม สิ่งนี้อาจจะเป็นระบบที่ตรงกันข้ามกับระบบสังคมที่เราอยู่ทุกวันนี้มากที่สุด

Marxism – เป็นสังคมนิยมตามหลักทฤษฎีของ Karl Marx ที่ถือว่าเป็นผู้นำด้านความคิดของระบอบสังคมนิยมเลย โดยที่หัวใจหลักของ Marxism ก็คือการสร้างสังคมที่ตรงกันข้ามกับระบบทุนนิยม ซึ่งเป็นระบบที่ Karl Marx บอกว่าไม่สามารถอยู่ได้ตลอดไป โดยระบบสังคมนิยมของโซเวียตรัสเซีย ก็ถูกปลูกฝังมาด้วยไอเดียของ Karl Marx มาในระดับหนึ่ง เพียงแต่ว่าสังคมนิยมของโซเวียตรัสเซียในเชิงปฏิบัตินั้นทำพลาดมากไปหน่อย

Utopian Socialism – คือระบบสังคมนิยมแบบต้นฉบับ โดยที่ผู้คิดเชื่อมโยงระบบนิเวศกับสิ่งที่เรียกว่าสวรรค์บนดิน (Utopia) ในระบบสังคมนิยมแบบนี้ ประชาชนทุกคนจะไม่ถูกจูงใจด้วยทุนนิยม และพร้อมที่จะร่วมมือกันเพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่าสำหรับทุกคน โดยระบบนี้เชื่อว่าทุกคนมีจริยธรรมและคุณธรรมที่ดีงามในตัว เรียกว่าเป็นระบบในฝันเลยทีเดียว 

เราจะเห็นแล้วว่าประเภทของระบบสังคมนิยมนั้นมีหลากหลายมาก บางประเภทก็มีความคล้ายคลึงกับระบบสังคมทั่วไปของเราในทุกวันนี้ บางประเภทก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับสังคมที่เราอยู่ในปัจจุบันเลย

สำหรับบางคนนั้น มันคงเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับหรือทำความเข้าใจระบบสังคมแบบอื่นที่เราไม่เคยอาศัยอยู่มาก่อน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกระบบทุกประเภทมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าประชาชนและผู้นำประเทศจะสามารถควบคุม ปฏิบัติการ และดำเนินการ ได้ดีแค่ไหน

เราจะเห็นแต่ละประเทศก็มีจุดเด่น จุดด้อยไม่เหมือนกัน บางประเทศอย่างอินเดียหรือจีนก็มีประชากรเยอะทำให้ไม่สามารถใช้ระบบสังคมแบบเดียวกับประเทศที่มีประชากรน้อยอย่างฟินแลนด์ได้ บางประเทศอย่างอเมริกาก็ถือว่าเป็นประเทศที่ทุกคนมีรายได้สูง ทุกคนมีปัจจัยทั้งสี่อยู่แล้ว ก็อาจจะไม่ได้ต้องการความเท่าเทียมของปัจจัย 4 เหมือนประเทศใกล้ตัวเรา

สุดท้ายแล้ว ผมคิดว่าการที่เราจะบอกว่าระบบสังคมแบบไหนดีที่สุดในคงเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตามเราก็สามาถศึกษา ทำความเข้าใจระบบสังคมต่างๆ เพื่อหาวิธีทำให้สังคมของเรา ‘ดีกว่าเดิม’ ได้

บทความอื่นๆที่แนะนำ

ความจนและปัญหาความยากจนในครอบครัว – ความจนคืออะไร
สิทธิส่วนบุคคล คืออะไร มีอะไรบ้าง – กฏสังคมที่เราควรรู้
15 วิธีทำให้สังคมดีขึ้น (ที่เราทำได้ด้วยตัวคนเดียว)





บทความล่าสุด