ถ้าจะมีอะไรสักอย่างที่จะทำให้เราสามารถรู้สึกสบายใจได้ สิ่งนั้นก็คงจะเป็นเรื่องของการที่เรามีความมั่นคงในด้านต่างๆ ของชีวิตอยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่แปลกเลยที่ทำให้คนเราล้วนแต่อยากที่จะแสวงหาความมั่นคงในชีวิตกันทั้งนั้น เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะเกิดมาพร้อมกับความมั่นคงที่เพียบพร้อมในทุกๆ ด้าน จึงจำเป็นต้องมีการเรียนรู้และพัฒนาความสามารถของตัวเอง เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพไร้กังวล
ความมั่นคงในชีวิตคืออะไร
ความมั่นคง หมายถึง การมีเสถียรภาพในด้านต่างๆ และการอยู่ในสถานะที่มีความรู้สึกที่ปลอดภัยอย่างไร้กังวล และได้รับการป้องกันจากภัยอันตรายต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้โดยตั้งใจ หรือโดยบังเอิญก็ตาม เช่น ความมั่นคงในด้านการเงิน หรือความมั่นคงในด้านหน้าที่การงานต่างๆ
มั่นคงแปลว่าต้องยืนยาว หมายความว่าเราต้องสามารถที่จะมั่นใจได้ว่าตัวเองจะใช้ชีวิตอยู่รอดได้อย่างปกติสุขในทุกๆ ด้าน แล้วยังสามารถเก็บรักษาสิ่งนั้นไว้ได้อย่างยั่งยืน
ความสำคัญของการมีชีวิตที่มั่นคง
ผมอาจไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่า การที่เรามีความมั่นคงจะสามารถทำให้เรามีความสุขได้อย่างแน่นอน
แต่อย่างมีหนึ่งที่ค่อนข้างมั่นใจเลยก็คือ เมื่อคนเรามีความมั่นคงในชีวิตแล้ว ก็จะทำให้ความทุกข์ของเราที่เคยมีลดน้อยลงได้อย่างแน่นอน เนื่องจากว่า หากเรามีการใช้ชีวิตที่มั่นคงแล้ว เราก็จะมีความรู้สึกที่ทำให้เราสบายใจขึ้นได้ในระดับหนึ่ง และไม่จำเป็นต้องมัวคอยเป็นกังวลกับเรื่องต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งตัว ทั้งนี้การมีชีวิตที่มั่นคงก็ยังเป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถที่จะเดินหน้าใช้ชีวิตต่อไปในแต่ละวันได้อย่างมั่นใจ
ดังนั้น ทุกๆ คนจึงควรที่จะได้รับความมั่นคงในชีวิต เพียงแต่ว่าเรื่องนั้นตัวคุณเองจะต้องเป็นคนที่สร้างมันขึ้นมาด้วยตัวเองในกรณีที่คุณจะอาจไม่ได้เกิดมามีต้นทุนมากกว่าคนอื่น หรือมีความมั่นคงที่เพียงพอต่อความอยู่รอดปลอดภัยในชีวิต
แต่ต่อให้คุณเกิดมาเพียบพร้อมกับความมั่นคงในหลายๆ ด้านที่คนอื่นยังไม่มี ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะมีชีวิตที่มั่นคงแล้วจริงๆ เพราะความมั่นคงที่ว่านั้น มันก็จะสามารถที่จะหายไปได้ทุกเมื่อ หากเราเลือกที่จะไม่ให้ความสำคัญ หรือมองข้ามมันไป
เพราะฉะนั้น การรู้วิธีที่เราจะสามารถรักษาความมั่นคงนี้ให้คงอยู่ได้ตลอดไป หรือเพิ่มพูนความมั่นคงนี้ให้มากยิ่งขึ้นจนรู้สึกว่ามีความเสี่ยงน้อยที่สุด จึงเป็นสิ่งที่ควรจะต้องให้ความสำคัญ และเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้เราสามารถที่จะจัดการและรับมือกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที จึงจะสามารถเรียกว่า การมีชีวิตที่มั่นคงได้อย่างเต็มปาก
ความมั่นคงมีอะไรบ้าง
สิ่งที่เป็นรากฐานของคำว่าความมั่นคงในด้านการเงินก็คือ การมีเงินเก็บออม เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแต่จำเป็นที่จะต้องใช้เงินในการซื้อมาทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถยนต์ สินค้าที่ใช้บริโภคอุปโภคในชีวิตประจำวัน หรือรวมไปถึงการลงทุนในสินทรัพย์และตราสารทางการเงินต่างๆ ก็ตาม
เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเรารู้จักที่จะเริ่มมีการวางแผนด้านการเงินตั้งแต่ต้น ก็จะทำให้เราสามารถมีเงินเก็บออมได้ไม่ยาก และก็ยังสามารถที่จะนำเงินออมของเราไปลงทุนต่อยอดให้เงินทำงานแทนเรา เพื่อให้เงินงอกเงยได้ หรือที่เรียกว่า Passive Income นั่นเอง และด้วยการวางแผนการเงินที่รอบคอบเช่นนี้ ก็จะสามารถทำให้ตัวเองมีความมั่นคงในด้านการเงินได้อย่างไม่ยากเย็น โดยไม่จำเป็นต้องทำงานไปตลอดชีวิต
เมื่อลองพิจารณารูปแบบการออมเงินของคนไทย จากผลสำรวจของนิด้าโพล ก็จะพบว่า จุดมุ่งหมายในการออมเงินของคนไทย คือ การออมเงินเพื่อใช้ในยามฉุนเฉินมากถึง 41% แทนที่จะออมเงินเพื่อเก็บไว้ใช้หลังจากที่ตัวเองเกษียณ ซึ่งเท่ากับว่าคนไทยเรานิยมออมเงินเพื่อเป้าหมายในระยะสั้นและระยะปานกลางเท่านั้น โดยยังไม่ได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงการออมเงินเพื่อเป้าหมายในระยะยาว หรือเป้าหมายเพื่อการเกษียณ ที่มากพอ
แม้ว่าหลายคนคงรู้กันดีอยู่แล้วว่า การออมนั้นเป็นสิ่งสำคัญ แต่จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า คนไทยที่จำนวนยอดเงินฝากมากกว่า 1 ล้านบาท มีเพียงแค่ 1% ของบัญชีออมทรัพย์ทั้งหมดเท่านั้นเอง และจากข้อมูลของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก็ยังบอกว่า คนไทยกว่า 88% ฝากเงินไว้แค่ในบัญชีออมทรัพย์เท่านั้น ซึ่งทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ต่ำ ทั้งยังมีแนวโน้มว่าครัวเรือนไทยจะมีการออมเงินที่น้อยลง และอาจส่งผลให้เกิดการขาดสภาพคล่องยามที่จำเป็นต้องใช้เงิน รวมถึงอาจส่งผลให้ไม่มีเงินเก็บที่เพียงพอในตอนหลังเกษียณอีกด้วย
เคล็ด(ไม่)ลับบริหารเงินสไตล์คนรุ่นใหม่ จากธนาคารกรุงศรีอยุธยา คือ ใช้หลักการบริหารเงินแบบ 20-50-30 โดยการแบ่งเงินจากรายได้ในแต่ละเดือนออกเป็น 3 ส่วน
ส่วนที่ 1 เป็นเงินออม คิดเป็น 20% ของรายได้ต่อเดือน
เงินก้อนนี้จะเป็นทุนที่เราจะใช้สานฝันให้กับตัวเอง เช่น การใช้เป็นเงินในการทำธุรกิจส่วนตัว หรือเอาไว้ลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนเพิ่มเติม เช่น การซื้อกองทุน หรือ เอาไว้เป็นเงินสำรองยามฉุกเฉิน รวมไปถึงเป็นเงินเก็บระยะยาวเพื่อเกษียณตัวเอง
ส่วนที่ 2 เป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน คิดเป็น 50% ของรายได้ต่อเดือน
เราควรจะกันเงินในส่วนนี้ไว้ใช้จ่ายในเรื่องที่จำเป็นอย่างปัจจัย 4 ที่เราจำเป็นต้องใช้เป็นประจำ เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า ค่าเดินทาง เป็นต้น จะได้ไม่มีปัญหาเงินไม่พอใช้ตามมาตอนปลายเดือน
ส่วนที่ 3 เป็นค่าความสุขส่วนตัว คิดเป็น 30% ของรายได้ต่อเดือน
ในเมื่อเรากันเงินในส่วนที่ต้องเก็บออมกับส่วนที่จำเป็นต้องใช้จ่ายแยกไว้เรียบร้อยแล้ว ส่วนสุดท้ายที่เหลืออีก 30% เราก็สามารถเอามาใช้จ่ายในการเติมเต็มความสุข เพื่อเป็นกำลังใจให้กับตัวเองได้ เช่น การซื้อสิ่งของที่อยากได้ การรับประทานอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ หรือการไปท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งเราจะเรียกเงินก้อนนี้ว่า ก้อนกิเลส
ความมั่นคงในด้านหน้าที่การงาน
หลายคนคงจะเข้าใจว่า ความมั่นคงในหน้าที่การทำงานนั้น หมายถึง สภาพของการทำงานที่ทำให้ตัวเองมีความมั่นใจว่า จะสามารถทำงานในอาชีพนั้นได้ตามระยะเวลาที่กำหนด หรือ ตรงตามความต้องการของตัวเอง รวมถึงมีสวัสดิการต่างๆ ที่สร้างความพึงพอใจให้กับเราได้ แล้วเราต้องทำงานในสายอาชีพไหนถึงจะสามารถที่จะการันตีความมั่นคงในการทำงานของแต่ละสายอาชีพนั้นๆ ให้กับเราได้
คนส่วนใหญ่อาจจะนึกถึง งานที่ได้ผลตอบแทนเป็นเงินเดือนเยอะๆ ที่มีเข้ามาตลอดทุกๆ เดือน หรือ การสมัครเข้ารับราชการ ซึ่งเป็นงานที่มีฐานเงินเดือนที่แน่นอน และมีสวัสดิการที่ค่อนข้างเป็นที่น่าพึงพอใจ หรือสำหรับบางคนก็อาจจะเป็นงานที่ชอบ เมื่อทำแล้วรู้สึกมีความสุข แต่ในบางครั้งก็มีคนที่ทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจให้กับงานอย่างสุดกำลัง และสิ่งที่ได้กลับมามีเพียงแค่เงินก้อนหนึ่ง กับความเหนื่อยล้าที่เกินจะทน
ถ้าหากตั้งคำถามว่า ทำงานที่ไหนแล้วจะมีความมั่นคงในด้านหน้าที่การงาน ก็คงไม่สามารถตอบได้โดยง่าย เพราะแม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่หลายๆ แห่งทั่วโลกที่เคยรุ่งโรจน์มาหลายสิบปี ก็สามารถเกิดการตกต่ำ หรือล้มละลายได้อย่างรวดเร็วในช่วงเวลาหนึ่งเช่นกัน เช่น กลุ่มบริษัทที่ต้องปิดตัวลงเนื่องจากผลกระทบของไวรัสโควิด 19 ที่เกิดขึ้น เป็นต้น ส่วนงานรับราชการในไทยก็เคยมีการปลดพนักงานออกเป็นจำนวนมากเช่นกัน
ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องตั้งคำถามใหม่ว่า เราควรจะทำอย่างไรกับตัวเอง ให้มีความมั่นคงในหน้าที่การงาน เพราะว่าจริงๆ แล้ว งานที่มั่นคงนั้นมันไม่มีอยู่จริงตั้งแต่แรกแล้ว และสิ่งที่เราควรจะทำเพื่อให้เกิดความมั่นคงในหน้าที่การงานนั่นก็คือ การทำตัวเองให้มั่นคง ด้วยการพัฒนาตนเองอย่างสุดความสามารถอยู่ตลอดเวลา
เมื่อเรามีความสามารถที่เพียงพอต่อความต้องการของคนอื่นๆ ไม่ว่าเราจะอายุเท่าไหร่ หรืออยู่ไกลแค่ไหนก็ตาม ก็จะมีคนที่พยายามตามหาเราจนเจอ แล้วอยากที่จะเสนองานให้ หรืออยากชักชวนให้ไปร่วมงานด้วยเสมอ และด้วยสิ่งนี้จึงทำให้สามารถเรียกว่า ความมั่นคงในด้านหน้าที่การงาน ได้อย่างแท้จริง
ความมั่นคงในด้านสุขภาพ
เราเคยถามตัวเองหรือไม่ว่า เราได้ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของตัวเองมากน้อยแค่ไหน เชื่อว่ามีหลายคนที่มักจะมองข้ามเรื่องการดูแลสุขภาพของตัวเองไป อาจจะเนื่องด้วยภาระหน้าที่ที่จำเป็นต้องรับผิดชอบในแต่ละวัน เ
ช่น การตั้งหน้าตั้งตาทำงานอย่างหนัก เพื่อที่มีความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จในด้านการงาน หรือ ตอนที่เป็นนักศึกษาก็คงจะมีช่วงที่อดหลับอดนอน เพื่ออ่านหนังสือเตรียมตัวสำหรับการเรียนและการสอบ เป็นต้น จนทำให้เราอาจจะละเลยการดูแลสุขภาพของตัวเองไป
จริงอยู่ที่การตั้งใจการเรียน ขยันทำงาน เพื่อที่จะให้ตัวเองประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม ซึ่งคนเราก็มักที่จะต้องการไขว่คว้าหาความสำเร็จกันเป็นธรรมดา แต่อยากให้ลองหยุดคิดดีๆ ว่า ถ้าหากวันใดวันหนึ่งร่างกายของเราไม่สามารถทำงานต่อไปได้ มันก็อาจจะทำให้เราไม่สามารถไปถึงความสำเร็จนั้นได้อีกต่อไป หรือ ต่อให้ได้ความสำเร็จนั้นมาแล้ว มันก็ไม่สามารถที่จะช่วยชีวิตของเราได้เช่นกัน
เพราะฉะนั้นความสำเร็จในชีวิตจะต้องมาพร้อมกับการมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่สมบูรณ์ ซึ่งเชื่อว่าแทบทุกคนก็คงจะรู้วิธีการดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หรือการพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น แต่ถ้าหากใครไม่รู้วิธีดูแลสุขภาพของตัวเองจริงๆ ก็สามารถหาข้อมูลได้ตัวตนเอง หรือสามารถไปปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญโดยตรงก็ได้เช่นกัน
ในส่วนของสุขภาพทางใจก็ไม่ควรที่จะมองข้าม เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่ดูแลได้ง่ายๆ เหมือนสุขภาพกาย ถ้าไม่สามารถรักษาด้วยตัวเองได้ ก็ควรต้องไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างจริงจัง แต่ในปัจจุบันคนเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพกันมากขึ้น รวมถึงมีสิ่งที่ช่วยฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพทางใจ เช่น ASMR ที่ช่วยเรื่องปัญหาที่เกิดจากจิตใจภายในอย่างการเครียดจนนอนไม่หลับ เป็นต้น หรือจะเป็น Podcast ที่รวบรวมความรู้และแรงบันดาลใจต่างๆ มาไว้ให้ฟังอย่างมากมาย
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ในช่วงที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่สามารถดำเนินควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ดีกว่าหลายๆ ประเทศทั่วโลก และข้อมูลทางสถิติของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ที่เคยได้ทำวิจัยสำรวจประเทศที่มีความมั่นคงด้านสุขภาพ พบว่า ประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาเพียงหนึ่งเดียวที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก โดยครองอันดับ 6 จาก 195 ประเทศทั่วโลก และยังเป็นอันดับ 1 ของเอเชียอีกด้วย
ความมั่นคงในด้านความสัมพันธ์
ถือว่าเป็นความมั่นคงในด้านที่หลายคนมักจะประสบปัญหาอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากในแต่ละวันเราก็จำเป็นที่จะต้องมีปฎิสัมพันธ์กับคนรอบข้างในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนฝูง คนรัก หรือคนในครอบครัวก็ตาม เมื่อเราเลือกที่จะมีความสัมพันธ์กับใครสักคนแล้ว แน่นอนว่าเราก็อยากที่จะให้ความสัมพันธ์อันดีนั้นคงอยู่ต่อไป แต่ความสัมพันธ์อันดีที่ว่ามันก็อาจจะไม่ราบรื่นเสมอไป เพราะในแต่ละวันก็มีโอกาสที่จะเกิดปัญหาที่ทำให้เราไม่เข้าใจกัน หรือ ผิดใจกันได้หลายครั้ง โดยไม่ได้ตั้งใจ
ดังนั้น การที่จะมีความมั่นคงในด้านสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เราจำเป็นที่จะต้องเปิดใจ เรียนรู้ฝ่ายตรงข้ามให้มากๆ โดยปราศจากอคติให้ได้เสียก่อน และจากนั้นก็ต้องค่อยระมัดระวังการพูดการจา หรือกระการทำของตัวเองให้ดีเช่นกัน เพราะทุกอย่างที่เราแสดงออกไปล้วนแต่สามารถส่งผลต่อความมั่นคงในความสัมพันธ์ของเรากับคนรอบข้างได้ทั้งนั้น
ถ้าหากเรามีการวางตัวที่เหมาะสม น่านับถือใครๆ ก็อยากที่จะเข้าหาเรา และต้องการผูกมิตรกับเรา กลับกันถ้าเราวางตัวดีแค่ในช่วงแรก แต่อยู่ไปเรื่อยๆ เราก็อาจจะละเลย หรือเผลอแสดงสิ่งที่ไม่ดีออกไปโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องหมั่นสำรวจตัวเองอยู่เสมอด้วยเช่นกัน
ความสัมพันธ์กับคนรักก็เป็นปัญหาโลกแตกเหมือนกัน ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ที่พบเจอมักจะเป็นเรื่องของการคาดหวังที่มากเกินไป และเมื่อไม่ได้ตามที่คาดหวังเอาไว้ ก็มักจะทำให้เกิดปัญหาตามมา ซึ่งอะไรที่มันมากเกินไป หรือ น้อยเกินไป ก็ย่อมไม่ส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ของคนสองคน และถ้าหากอยากที่จะมีความสัมพันธ์กับคนรักที่มั่นคง ผมก็อยากจะแนะนำให้ลองมาใช้กฎความสัมพันธ์แบบ 60-40 กันดูครับ
กฎความสัมพันธ์ 60-40 ก็คือ การสร้างและรักษาความสัมพันธ์ให้ยั่งยืน โดยการแบ่งเป็นส่วนสำหรับการให้เวลากับอีกฝ่ายไว้ประมาณ 60% และส่วนที่ตัวเองคาดหวังว่าจะได้รับกลับมาจากคนรักประมาณ 40% เมื่อการคาดหวังที่จะได้รับกลับมาของแต่ละฝ่ายไม่ได้มีมากมาย ก็จะทำให้โอกาสที่จะเกิดปัญหานั้นน้อยลง และยังทำให้แต่ละคนได้ใช้เวลาของตัวเอง รักษาความสัมพันธ์ได้อย่างยั่งยืน
แล้วอาจจะมีบางคนสงสัยว่าทำไมถึงไม่แบ่งสัดส่วนเป็น 50-50 ซึ่งต่างฝ่ายต่างเท่าเทียมกันไม่ดีกว่าหรือ แต่วิธีคิดแบบนี้ก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จก็ได้ เพราะเมื่อต่างฝ่ายต่างรู้สึกว่า การให้เวลาต้องเท่าเทียมกัน ก็จะเกิดการเฝ้าสังเกตว่าอีกฝ่ายนั้นจะให้เราเท่าไหร่ แล้วเราก็ค่อยทำให้กลับไปเท่านั้น ซึ่งการใช้ชีวิตคู่ในความเป็นจริง มันไม่ใช่อะไรที่เราจะต้องมานั่งแบ่ง 50-50 ตลอดเวลา แน่นอนว่ามันจะต้องมีฝ่ายที่จำเป็นต้องเสียสละมากกว่าอยู่แล้ว ดังนั้น ต้องคอยสำรวจความสัมพันธ์ของคุณกับคนรักให้ดี เพื่อความมั่นคงในความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน
สุดท้ายนี้ผมก็ยังคงย้ำว่า ความมั่นคงนั้นก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนจำเป็นที่ควรจะต้องมีในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงในด้านการเงิน ความมั่นคงในด้านหน้าที่การงาน ความมั่นคงในด้านสุขภาพกายและสุขภาพใจ รวมไปถึงความมั่นคงในด้านความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ซึ่งเมื่อเราสามารถทำให้ตัวเองเกิดความมั่นคงในด้านต่างๆ ได้แล้ว เชื่อว่าชีวิตของเราจะเปลี่ยนไปในทางที่ดียิ่งขึ้นอย่างแน่นอน
บทความล่าสุด
การจัดโต๊ะคอมให้สวยถูกใจ พร้อมฟังก์ชันการใช้งานครบครัน...
ในมุมมองหนึ่ง ‘ลูกคนกลาง’ ดูเหมือนจะต้องแบกรับภาระทางใจอันหนักอึ้ง...