การอยู่กับปัจจุบันคืออะไร? และเราต้องทำอย่างไรบ้าง

การอยู่กับปัจจุบันคืออะไร? และเราต้องทำอย่างไรบ้าง

หลายครั้งนะครับเวลาที่เราเกิดความกังวลใจ ไม่สบายใจ หรือทุกข์ และนำความไม่สบายใจเหล่านั้นไปพูดคุยกับคนรอบข้าง เรามักจะได้รับคำพูดว่า 

“อย่าเพิ่งคิดไปก่อนสิเรื่องมันยังไม่เกิดขึ้นเลย” หรือ “อย่ากังวลเลย อยู่กับปัจจุบัน”

เคยสงสัยกันไหมครับว่าการอยู่กับปัจจุบันมันคืออะไรกันแน่นะ มันคือการไม่คิดถึงอดีตที่ผ่านมา และไม่คาดหวังกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึงใช่หรือไม่? ในบทความนี้เราจะมาตอบคำถามกันว่าการอยู่กับปัจจุบันคืออะไร ดีอย่างไร และ เราต้องทำอย่างไรบ้างถึงจะอยู่กับปัจจุบันได้มากขึ้น

การอยู่กับปัจจุบันคืออะไร?

การอยู่กับปัจจุบันคือการที่เรารับรู้และตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่วอกแวกกับการครุ่นคิดถึงเรื่องราวหรือเหตุการณ์ในอดีตหรือกังวลไปกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึงหรือยังไม่ได้เกิดขึ้น หรือจะพูดว่าเป็นการใส่ใจและให้สมาธิกับสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ก็ได้

นอกจากตัวอย่างที่ผมให้ไปตอนต้นบทความแล้ว คำพูดที่แสดงถึงการอยู่กับปัจจุบันได้แก่

“อย่าเพิ่งคิดถึงเรื่องที่มันยังไม่เกิด”
“เรื่องนั้นมันเป็นอดีตไปแล้ว อยู่กับปัจจุบันนะ”
“มันผ่านไปแล้วนะอย่าคิดมาก ลืมๆไปเถอะ” 
“อนาคตยังมาไม่ถึง อยู่กับปัจจุบันจะได้ไม่เครียด”

ซึ่งการอยู่กับปัจจุบันเป็นกุญแจสำคัญในการมีสุขภาพที่ดีและมีความสุข ช่วยให้เราต่อสู้กับความวิตกกังวล ลดความกังวลและความครุ่นคิด ช่วยให้เรามีเหตุผลและเชื่อมโยงกับตัวเองและทุกสิ่งรอบตัวของเราได้อย่างมีสติ

การอยู่กับปัจจุบันกลายเป็นหัวข้อยอดนิยมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเป็นเคล็ดลับการใช้ชีวิตที่ทันสมัยที่ได้รับการสนับสนุนจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น (นับว่าแปลกที่ถึงแม้ว่าวิทยาศาสตร์จะก้าวไปไกลแล้ว แต่สุดท้ายมนุษย์ก็ต้องกลับมาศึกษาเรื่องที่ศาสนาพุทธสอนมาหลายร้อยปีแล้ว…ซึ่งก็คือการทำสมาธิและการตั้งสติ)

ในหัวข้อถัดไป ผมอยากพูดถึงข้อดีของการอยู่กับปัจจุบันซักนิด เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพมากขึ้น

ข้อดีของการอยู่กับปัจจุบัน

การอยู่กับปัจจุบันและการใช้ความสามารถในการมีสติไม่เพียงทำให้เรามีความสุขมากขึ้นแต่ยังช่วยให้เราจัดการกับความเจ็บปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความเครียดและลดผลกระทบต่อสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจของเราและพัฒนาความสามารถในการรับมือกับอารมณ์เชิงลบ เช่นความกลัว ความโกรธ ความกังวล ได้เป็นอย่างดี

ดังนั้นการอยู่กับปัจจุบันจึงมีข้อดี ดังนี้

1. สุขภาพดีขึ้น

การลดความเครียดและความวิตกกังวลจะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้อง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคอ้วน

อย่างที่เราทราบกันดีว่าความเครียดและความวิตกกังวลเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคต่าง ๆ จากการศึกษาพบว่าการอยู่กับปัจจุบันมีผลต่อการใช้ชีวิตอย่างมากทั้งในด้านสุขภาพร่างกายและในด้านจิตใจก็เช่นกัน 

2. การพัฒนาความสัมพันธ์ของเรา

คุณเคยนั่งอยู่กับใครแล้วเหมือนอยู่คนเดียวไหมครับ? ดูเหมือนร่างกายของคน ๆ นั้นจะอยู่ข้าง ๆ คุณ แต่จิตใจกลับล่องลอยไปที่อื่น การอยู่ร่วมกับคนที่ไม่พร้อมจะใช้ช่วงเวลาเหล่านั้นกับคุณ

แน่นอนครับก็คงไม่แตกต่างอะไรกับการที่คุณอยู่คนเเดียว การที่คุณหรือคนข้าง ๆ คุณไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน นั่นก็หมายความว่าการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันก็เป็นเรื่องยาก ในทางกลับกันหากอยู่ร่วมกับคนที่อยู่กับปัจจุบัน ให้ความสำคัญ และโฟกัสกับคนตรงหน้า เราจะสนุกกับการอยู่กับเขา และเราสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ด้วยการใช้ชีวิตในช่วงเวลานั้นร่วมกัน

คุณสามารถเป็นคน ๆ นั้นที่คนอื่นชอบอยู่ด้วย เพราะพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนอยากเป็นคนสำคัญ เมื่อคนข้าง ๆ ให้ความสำคัญและโฟกัสในการใช้เวลาร่วมกันการพัฒนาความสัมพันธ์ก็เป็นเรื่องง่าย

3. การควบคุมตนเองที่ดีขึ้น

การอยู่กับปัจจุบันทำให้เราสามารถควบคุมร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ได้มากขึ้น เมื่อเราใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ลองนึกดูว่าชีวิตของเราจะดีขึ้นแค่ไหนหากไม่ได้อยู่กับความเสียใจต่อเรื่องราวในอดีตหรือความกังวลใจกับเรื่องราวในอนาคต คุณจะมีความสงบสุขมากขึ้นและมีความสุขมากขึ้นอย่างแน่นอน

ซึ่งการอยู่กับปัจจุบันนั้นเป็นสิ่งที่ดี (คงไม่มีใครบอกว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีอยู่แล้ว) แต่เราจะทำอย่างไรให้เราสามารถอยู่กับปัจจุบันได้มากขึ้น โดยสิ่งที่คนส่วนมากไม่รู้เลยก็คือการอยู๋กับปัจจุบันนั้น ‘ทำได้ง่ายกว่าที่คิด’

ทำอย่างไรถึงจะอยู่กับปัจจุบันได้มากขึ้น

หลายคนพูดว่า “การอยู่กับปัจจุบัน อาจพูดง่ายแต่ทำยาก” บทความนี้จะชวนทุกคนมาเริ่มต้นอยู่กับปัจจุบันได้อย่าง่ายๆกัน

1. คิดถึงอดีตและอนาคตให้น้อยลง

ให้ทบทวนว่าเพราะอะไรเราจึงคิดถึงแต่เรื่องนั้นวนไปวนมาไม่รู้จบ แน่นอนครับว่าคงเป็นไปไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ที่เราจะไม่คิดถึงอดีตและอนาคตเลย แต่สิ่งที่อยากชวนทุกคนมาทบทวนก็คือการคิดถึงดอีตและอนาคตด้วยวิธีที่ดีต่อสุขภาพและมีความวิตกกังวลต่ำ

เช่น การคิดถึงอนาคตว่าวันนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่าอาจมีฝนตกรุนแรงจึงคิดวางแผนเตรียมอุปกรณ์สำรองไฟไว้ก่อนหากเกิดไฟฟ้าดับ ดังนั้นการคิดถึงอนาคตด้วยวิธีที่ดีต่อสุขภาพและมีความวิตกกังวลต่ำจะทำไปเพื่อที่จะเตรียมรับมือเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นเท่านั้น

สำหรับมือใหม่ สิ่งที่ผมแนะนำเลยก็คือ ‘การหยุดเพื่อหายใจ’ ซึ่งก็เป็นวิธีง่ายๆที่ผมค้นพบว่าทำให้ตัวเอง ‘หงุดคิดเรื่องที่ไม่จำเป็นได้ดี’ นอกจากนั้นแล้ว เรายังสามารถหาตัวช่วยอื่น อย่างการหาเพื่อนมาช่วยเตือนสติ หรือการตั้งให้มือถือแจ้งเตือนนานๆทีเพื่อให้เราหยุดทำอะไรบางอย่าง เช่น หยุดเพื่อทำสมาธิ หรือ หยุดเพื่อตระหนักถึงความสุขเล็กน้อยรอบตัวบ้าง

2. สังเกตตัวเองอย่างมีสติ

หาก ‘สติ’ เป็นสิ่งที่ยังตับต้องได้ยาก เราก็สามรถเริ่มจากการจดจ่อกับ ‘กิจวัตรประจำวัน’ เพื่อเสริมสร้างการรับรู้ช่วงเวลาปัจจุบัน ซึ่งเราสามารถเริ่มต้นด้วยการดำเนินตามกิจวัตร ‘ การสังเกตตัวเอง’

ขณะที่คุณนั่งหรือนอนลงบนเตียง หายใจเข้าลึก ๆ และมีสติสักสองสามครั้ง สังเกตวิธีที่ลมหายใจเข้าและออกจากนั้นสังเกตตัวเองโดยให้มุ่งความสนใจไปที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายในแต่ละครั้ง สังเกตว่าบริเวณนั้นรู้สึกอย่างไรและสังเกตความรู้สึกที่คุณกำลังประสบอยู่หลังจากจดจ่ออยู่ครู่หนึ่ง

ให้เริ่มต้นที่ปลายเท้าของคุณแล้วเลื่อนขึ้นไปยังส่วนถัดไปของร่างกาย เช่น หลังจากที่คุณสังเกตที่ปลายนิ้วเท้าแล้ว คุณเปลี่ยนโฟกัสไปที่เท้า จากนั้นจึงเป็นข้อเท้า และน่องตามลำดับ 

กิจกรรมนี้ไม่เพียงแต่เป็นวิธีการที่ดีในการทำให้คุณอยู่ในสภาพที่มีสติทันที แต่ยังช่วยให้คุณสังเกตได้ว่าร่างกายของคุณมีความรู้สึกแตกต่างไปจากปกติหรือไม่ คุณอาจได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยที่โดยปกติคุณจะไม่สังเกตเห็นเพียงแค่ใช้เวลาไม่กี่นาทีในแต่ละเช้าวันใหม่เพื่อสแกนร่างกายของคุณ

การสำรวจร่างกายง่าย ๆ แบบนี้เป็นวิธีที่ดีในการทำให้ตัวเองมีสติและสัมผัสกับร่างกาย การทำเช่นนี้ในตอนเช้ายังสามารถช่วยให้คุณเริ่มต้นวันใหม่ได้อย่างดี 

3. เขียนไดอารี่ในตอนเช้า

ใช้เวลาสักครู่ในตอนเช้าก่อนที่คุณจะออกไปทำงานหรือไปโรงเรียนเพื่อนำสมุดบันทึกของคุณออกมาเขียนสิ่งที่คุณจะทำในวันนี้ หรือเขียนอะไรก็ได้ที่มันอยู่ในหัวของคุณ ซึ่งจะมากเท่าไหร่ก็ได้ที่คุณรู้สึกอยากเขียน การจดบันทึกสิ่งต่าง ๆ ลงไปในสมุดสามารถทำให้หัวของคุณปลอดโปร่งและช่วยให้คุณเริ่มต้นวันใหม่ได้อย่างมีสติ 

การเขียน ‘เป้าหมายของคุณออกมา’ และ สอบถามตัวเองทุกวันว่า ‘เป้าหมายนี้สำเร็จมากแค่ไหน’ ก็เป็นหนึ่งในวิธืที่ทำให้เรา ‘จับต้องปัจจุบัน’ ได้มากขึ้น

‘เป้าหมาย’ เป็นวิธีการที่ยอดเยี่ยมที่ไม่เพียงทำให้คุณมีโอกาสทำตามเป้าหมายได้มากขึ้นเท่านั้นแต่ยังช่วยให้คุณมีสติมากขึ้นด้วยการฝึกการมองเห็นภาพของการบรรลุเป้าหมายไม่เพียงช่วยให้คุณปรับปรุงสมาธิและสติได้ดีขึ้นเท่านั้นแต่ยังช่วยลดความเครียด ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน เพิ่มความพร้อมและแรงจูงใจที่คุณอาจต้องใช้เพื่อทำทุกอย่างในรายการให้สำเร็จ 

4. เดินชมธรรมชาติอย่างมีสติ

การใช้ประโยชน์จากความงดงามตามธรรมชาติรอบตัวเราเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ดีในการปลูกฝังสติให้มากขึ้น

ในช่วงแรกอาจจะมองว่ามันไร้สาระ เสียเวลา แต่ในครั้งต่อไปคุณจะรู้สึกว่ามันจำเป็น การเดินไม่ว่าจะเป็นการเดินทางรอบตึกหรือเดินเล่นในจุดที่สวยงามตามธรรมชาติ (เห็นได้ง่ายๆก็คือเมื่อคนเราอายุมากขึ้น เราจะรักธรรมชาติเหมือนกัน)

สิ่งที่คุณต้องทำคือใช้ประสาทสัมผัสทั้งหมดของคุณและรับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งรอบตัวคุณและภายในตัวคุณ ตั้งใจกับการรับรู้ของคุณ สังเกตว่าเท้าของคุณกระทบพื้นในแต่ละก้าวดูทุกสิ่งรอบตัวคุณเปิดหูของคุณกับเสียงทั้งหมดที่อยู่รอบตัวคุณรู้สึกว่าหายใจเข้าและหายใจออกแต่ละครั้งและโดยทั่วไปเพียงแค่ตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา

กิจกรรมนี้ไม่เพียงช่วยให้คุณเชื่อมต่อกับตัวตนที่แท้จริงของคุณเท่านั้นแต่ยังช่วยเชื่อมโยงคุณกับสภาพแวดล้อมของคุณ และช่วยเพิ่มการรับรู้ถึงความงามที่อยู่รอบตัว กิจกรรมง่าย ๆ แต่ประโยชน์มากมายเพราะจะทำให้ความเครียดลดลง สุขภาพหัวใจดีขึ้น อารมณ์ดีขึ้น และก็อาจถือว่าเป็นการออกกำลังกายได้สบาย ๆ เพียงครั้งเดียว!

5. ทบทวนวันของคุณอย่างมีสติ

อาจเป็นเรื่องง่ายที่เราจะรู้สึกเหนื่อยและหมดแรงในตอนท้ายของวันแล้วปล่อยให้สิ่งต่างๆหลุดลอยไป

ลองใช้เวลาสักครู่เพื่อทบทวนวันของคุณในตอนท้ายของวัน โดยลองนึกย้อนไปเริ่มต้นตั้งแต่เช้าที่ผ่านมาของคุณไปจนถึงปัจจุบัน
ลองคิดดูว่ามันทำให้คุณรู้สึกอย่างไร อย่าลืมจดบันทึกเหตุการณ์ที่น่าจดจำเป็นพิเศษเพื่อช่วยเก็บความทรงจำและอารมณ์ของคุณในขณะนั้น

แน่นอนว่าการปฏิบัติตามแนวทางเหล่านี้พูดง่ายกว่าทำ แต่การฝึกฝนจะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น !

จุดสำคัญคืออย่าปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความคิดเกี่ยวกับอดีตหรืออนาคตนานเกินไป เมื่อเรารู้ตัวและอยู่กับปัจจุบันเราไม่จำเป็นต้องกังวลเกี่ยวกับการจมอยู่กับความคิดในอดีตหรือความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของเรา เราสามารถทบทวนอดีตของเราและคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นโดยไม่สูญเสียตัวเราเอง

สุดท้ายนี้ ผมคิดว่า ‘การอยู่กับปัจจุบัน’ ในความหมายของหลายๆคนอาจจะไม่เหมือนกันซะทีเดียว อย่างไรก็ตาม ผมก็คิดว่าการหาความสุขจากการไม่จดจ่อกับเรื่องในอดีตหรือกังวลกับเรื่องในอนาคตมากเกินไปก็เป็นสิ่งสำคัญที่มนุษย์ทุกคนควรที่จะฝึกไว้ เพราะฉะนั้น ผมขอให้ทุกคนมีความสุขกับการเรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบันมากๆนะครับ

บทความล่าสุด