Stoicism คืออะไร? การอดทนและควบคุมตนเอง แบบสโตอิก

Stoicism คืออะไร? การอดทนและควบคุมตนเอง แบบสโตอิก

ความรู้สึกที่ว่าโลกไม่เข้าข้างเรา ทำอะไรก็ติดขัดไปทุกอย่าง อาจจะทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยวและสิ้นหวัง หลายคนก็อาจจะโทษ ‘โชคชะตา’ ของตัวเองที่เราเกิดมาไม่มีทุนและไม่มีทักษะเท่าคนอื่น แต่สำหรับนักปรัชญา เซโน แห่ง ซิติอุม (Zeno of Citium) ปัญหาเหล่านี้คือแรงบันดาลใจให้เราสู้ต่อไป

ผมคิดว่าศาสนาและความเชื่อต่างๆเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยยึดเหนี่ยวใจเวลาที่เรามีปัญหา โดยเฉพาะปัญหาที่ไม่สามารถตอบได้ด้วยหลักการที่ชัดเจนอย่างวิทยาศาสตร์ แต่ในบางครั้ง ศาสนาและความเชื่อที่เราถูกปลูกฝังมาก็อาจจะไม่เพียงพอที่จะทำให้เรา ‘เข้าใจปัญหา’ ทุกอย่างได้ 

การเปิดใจศึกษา ‘ปรัชญา’ และ ‘แนวคิด’ แบบอื่นเพิ่มเติม ไม่ได้แปลว่าแนวคิดเก่าหรือความเชื่อเก่าของเราไม่ถูกหรือไม่ดี ในทางตรงข้าม การรับฟังมุมมองที่แตกต่างทำให้เราเห็นภาพรวมปัญหาได้ดีขึ้น และเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรามีอยู่แล้วมากกว่าเดิม ในวันนี้ผมอยากจะเขียนบทความแนะนำปรัชญาความคิดเรื่องการอดทน การไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ อย่าง Stoicism (ลัทธิสโตอิก)

Stoicism คืออะไร? Stoicism หมายถึงอะไรกันแน่นะ

Stoicism (ลัทธิสโตอิก) คือแนวคิดปรัชญาที่สอนให้อดทนต่อความยากลําบาก ควบคุมตัวเอง และไม่ปล่อยให้อารมณ์แง่ลบมากวนใจ Stoicism สอนว่าความสุขอยู่ที่มุมมองของเราและเราสามารถเลือกที่จะมีความสุขได้หากเราปลดปล่อยตัวเองออกจากความกลัว

ตามประวัติศาสตร์ Stoicism เป็นแนวคิดที่มีมาตั้งแต่ พศ. 242 มาจากบุคุคลที่ชื่อ เซโน แห่ง ซิติอุม โดยที่หัวใจหลักของลัทธินี้ก็คือการสอนว่า ‘เหตุผล’ หรือ ‘คุณธรรม’ เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องมี

ส่วน ‘ของนอกกาย’ เช่น สุขภาพ เงิน และความสุขนอกกาย เป็นสิ่งธรรมดาที่ไม่มีทั้งดีหรือไม่ดีในตัว ทั้งหมดคือสิ่งที่เราสามารถใช้ ‘คุณธรรม’ เพื่อทำให้ดีขึ้นได้

เซโน แห่ง ซิติอุม (Zeno of Citium) เป็นพ่อค้าที่สูญเสียทุกอย่างหลักจากที่ ‘เรือล่ม’ ในกรุงเอเธนส์ ซึ่งพ่อค้าเซโนที่ ‘ว่างงาน’ แล้วก็เดินเข้า ‘ร้านหนังสือ’ เพื่อ ‘ฆ่าเวลา’ ด้วยการศึกษาปรัชญาต่างๆ (อารมณ์เหมือนการไถเฟสบุ๊คฆ่าเวลาของคนสมัยนี้) และหลังจากนั้น เซโน ก็ได้สร้างแนวคิด Stoicism ที่เกี่ยวกับ การใช้เหตุผล การอดทด และการควบคุมตัวเองขึ้นมา

ทุกวันนี้เราใช้คำว่า Stoic แทนคนที่สามารถคงสติได้ในสถานการณ์ที่เคร่งเครียด และ ไม่ถูกกระทบด้วยอารมณ์ความรู้สึกแบบ ‘สุดโต่ง’ นอกจากนั้น เราจะเห็นได้ว่า แนวคิดของลัทธิสโตอิกจะคล้ายกับแนวคิดของศาสนาพุทธและลัทธิเต๋า โดยเฉพาะส่วนเรื่องการหาความสุขจากการเปลี่ยนมุมมองเรื่องความทุกข์และความกลัว ในส่วนหลังของบทความนี้ผมจะอธิบายส่วนนี้เพิ่มเติมภายหลัง

Man is the master of his own fate
มนุษย์เป็นนายผู้ถือโชคชะตาชีวิตของตนเอง

คุณธรรม 4 ประการของลัทธิสโตอิก (4 Cardinal Virtues)

ลัทธิสโตอิก ถูกริเริ่มขึ้นมาสมัยกรีซโบราณ ทำให้หลักการแนวคิดหลายอย่างของสโตอิกมีกลิ่นอายเรื่อง การเมือง ปรัชญา และความกล้าหาญ ใครที่ดูหนังแนวนี้บ่อยๆก็คงจะเห็นภาพนักรบกรีกโบราณที่มีแนวคิดแบบนี้ ชาวสโตอิกให้ความสำคัญกับการพัฒนาตัวเองด้วยหลักคุณธรรม 4 อย่าง ก็คือ ปัญญา การประมาณตน ความยุติธรรม และ ความกล้าหาญ

ปัญญา (Wisdom) หมายถึงการใช้สติ เหตุผล ข้อมูล และตรรกะ เพื่อการตัดสินใจและแก้ปัญหาต่างๆ สำหรับนักปรัชญาและจริธรรมอย่างชาวกรีซโบราณ ปัญญาคือความรอบคอบเพื่อทำสิ่งที่ถูกต้อง มีคุณธรรม

การประมาณตน (Temperance) หมายถึงการอดทน ควบคุมตัวเอง และนำความคิดเรื่องความพอเพียงมาปรับให้เหมาะกับทุกแง่มุมของชีวิต เป็นการควบคุมอารมณ์ความรู้สึกโกรธ ความรุนแรง ความเศร้า

ความยุติธรรม (Justice) หมายถึงการให้ความยุติธรรมกับทุกคน แม้แต่กับคนที่ทำผิด รวมถึงความคิดที่ว่าเราคู่ควรและเหมาะสมกับอะไร คนอื่นคู่ควรเหมาะสมกับอะไร จุดต่างระหว่างความต้องการส่วนตัวและความต้องการส่วนรวมคืออะไร

ความกล้าหาญ (Courage) หมายถึงการใช้ความกล้าหาญในเวลาที่สำคัญ และการใช้ชีวิตประจําวันด้วยความชัดเจนและความซื่อสัตย์ มักถูกใช้ควบคู่กับความกล้าในการเลือกทำตามความยุติธรรมและความกล้าที่จะอดทนต่ออุปสรรคต่างๆ

คุณธรรมทั้ง 4 อย่างนี้เป็นแนวคิดที่ได้รับแรงบัญดาลใจมาจาก โสกราตีส (Socrates) ที่ถือว่าเป็นเจ้าพ่อด้านปรัชญาและจริยธรรมคนแรกๆของฝั่งตะวันตก ซึ่งก็เหมาะกับ ‘สังคมนักรบ’ อย่างชาวกรีซโบราณ ที่ต้องอดทนต่อสงครามและสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ‘แนวคิด’ และ ‘มุมมอง’ ของสโตอิกโบราณก็ควรนำมาปรับให้เหมาะสมกับยุคสมัยด้วย แนวคิดด้าน ‘ความยุติธรรม’ ก็มีการเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการอยู่เรื่อยๆ เช่น ในสมัยก่อน ‘ทาส’ คือสัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง แต่ในสมัยนี้ทาสคือสิ่งที่ผิดคุณธรรม

คุณธรรม 4 ประการของลัทธิสโตอิก (4 Cardinal Virtues of Stoicism)

ข้อดีและข้อเสียของการเป็น Stoics

‘ความอดทน’ คือสิ่งแรกที่เรานึกถึงเวลาพูดถึงลัทธิสโตอิก การอยู่เหนืออารมณ์ตัวเองและการใช้ชีวิตด้วยเหตุและผลย่อมสามารถทำให้เรามีสติและอยู่อย่างไร้ความทุกข์ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามความทุกข์ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเป็นมนุษย์และก็คงไม่มีปรัชญาความคิดอะไรที่สามารถช่วยทำให้เราปลอดความทุกข์ได้ 100%

จุดด้อยของความคิดของ Stoics ก็คือการ ‘ความสุข’ ที่อาจจะหายไปพร้อมกับความทุกข์ที่น้อยลง ‘ความรู้สึก’ เป็นสิ่งที่เราสามารถ ‘เลือกปฏิเสธ’ ได้ยาก หลายครั้งการเลือกปฏิเสธความทุกข์ก็อาจจะทำให้ใจของเรารู้สึกเมินเฉยต่อความสุขด้วย 

Enjoy present pleasures in such a way as not to injure future ones ~ Seneca
จงมีความสุขกับปัจจุบัน ในวิธีที่ไม่ทำร้ายอนาคต ~ เซเนกา

ภาพของ Stoics ที่คนอาจจะนึกถึงกันก็คือ ทหารที่อดทนต่อสภาพสงครามโหดร้าย หรือ หุ่นยนต์ที่ไม่มีความรู้สึก ถึงแม้หลายคนจะบอกว่าการเป็น Stoics ไม่ได้หมายความว่าเราต้องละทิ้งความสุขเล็กๆน้อยๆของชีวิตไป แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การเลือกมองแค่ความสุขและเมินความทุกข์เป็นสิ่งที่ทำยากและอาจจะต้องใช้การปรับมุมมองชีวิตนานหลายปีถึงหลายสิบปี บางคนต้องใช้เวลาชั่วชีวิต

การเอาใจใส่และความเห็นอกเห็นใจ (empathy and compassion) เป็นสองสิ่งที่ทำให้มนุษย์สามารถอยู่รวมกันเป็นสังคมที่มีความสุขได้ และผมก็คิดว่าสังคมที่ทุกคนอดทนเมินเฉยปัญหาเล็กๆน้อยๆอาจจะไม่ใช่สังคมที่ดีที่สุดก็ได้ หรือถ้าคุณมองว่าการเป็น Stoics ที่ถูกต้องจริงๆคือการเป็น Stoics ที่มีการเอาใจใส่และความเห็นอกเห็นใจ คุณก็อาจจะมองว่าข้อเสียของ Stoics ก็คือ ‘ทำได้ยาก’ แทน

It is the nature of the wise to resist pleasures, but the foolish to be a slave to them ~ Epictetus
คนฉลาดจะต่อต้านตัญหา แต่คนโง่จะตกเป็นทาสของพวกมัน ~ อิปิคเตตัส

แนวคิด Stoicism เทียบกับศาสนาพุทธและลัทธิเต๋า

ถึงแม้ว่าแนวคิด Stoicism ได้จางหายไปเรื่อยๆตามเวลา แต่เราก็เห็นกลิ่นอายของแนวคิดความอดทน ควบคุมตัวเอง ได้ตามศาสนาและแนวคิดต่างๆใกล้ตัวเราอย่างศาสนาพุทธและลัทธิเต๋า

หลักการคิดของ Stoicism เรื่องการหาความสุขจากภายในนั้นคล้ายคลึงกับ ‘ความสบายใจ’ จากนิพพานในแนวคิดของศาสนาพุทธมาก และแนวคิดเรื่องการปล่อยวางและ ‘อะไรจะเกิด ก็ต้องเกิด’ ก็เป็นแนวคิดที่คล้ายกับลัทธิเต๋ามากเช่นกัน 

We suffer not from the events in our lives but from your judgement about them ~ Epictetus
เราไม่ได้ทุกข์ทรมานจากเหตุการณ์ต่างๆในชีวิตของเรา แต่จากมุมมองการตัดสินใจของเราเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น ~ อิปิคเตตัส

ความคิดและมุมมองแบบนี้มีความคล้ายกับศาสนาใกล้ตัวคนไทยอยางพวกเรามาก แถมในยุคสมัยนี้เรายังเห็นมุมมองแนวนี้ได้จากหนังสือพัฒนาตัวเองและจากงานวิจัยด้านจิตวิทยาต่างๆด้วย

ผมก็ไม่ทราบว่า ‘ความคิดแนวนี้’ มีต้นตอมาจากไหน และใครเป็นต้นกำเนิดของใครกันแน่ แต่สิ่งที่ผมอยากจะสื่อก็คือ ในยุคสมัยที่การสื่อสารไม่ได้สะดวกสบายเหมือนทุกวันนี้ หากคนหลายคนจากทั่วโลกสามารถค้นพบ ‘สัจธรรมชีวิต’ ที่คล้ายคลึงกันได้ สัจธรรมที่ว่านี้ก็มีความน่าศึกษาอยู่ไม่น้อย 

ปรัชญา Stoicism และโลกปัจจุบัน

ความเศร้า ความโกรธ ความกลัว คือสิ่งที่คอยควบคุมเราตั้งแต่เกิด และหนึ่งในหน้าที่ของมนุษย์ก็คือการเรียนรู้ที่จะควบคุมความรู้สึกเหล่านี้ หลายคนเลือกที่จะ ‘ควบคุมความรู้สึก’ ผ่านการเพิ่มอำนาจและเงินตรา บริโภคความวัตถุนิยมเพื่อเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายในชีวิต เพื่อที่ซักวันหนึ่งวัตถุบางอย่างจะทำให้เรารู้สึกไม่ว่างเปล่า ไม่เศร้า ไม่กลัวอีกต่อไป เราหวังว่าความสุขที่แท้จริงจะอยู่ในสิ่งของซักอย่างที่เราสามารถซื้อได้

หลายพันปีมาแล้วที่มนุษย์เราจมอยู่กับปัญหานี้ และในโลกปัจจุบันที่มีปัญหาภายนอกน้อยลง ทุกคนป่วยน้อยลง ทุกคนมีข้าวกินมากขึ้น ทุกคนอายุยืนยาวมากขึ้น ปัญหาด้านความรู้สึกก็กลายเป็นปัญหาใหญ่มากขึ้นเช่นกัน ปัญหานี้แม้จะแก้ไม่ได้ทันทีหรือในระยะสั้น แต่สิ่งที่ทำได้ก็คือการเรียนรู้ทำความเข้าใจ และหนึ่งในวิธีนั้นก็คือการหันกลับมาดูปรัชญาเก่าแก่แบบลัทธิสโตอิก

ในบทความส่วนด้านบน ผมได้ใช้คำว่า ‘ปฏิเสธความทุกข์’ ซึ่งก็คงไม่ถูกต้องซะทีเดียว ปรัชญา Stoicism เป็นแนวคิดที่มีมานานแล้ว แต่คำสอนบางอย่างก็ได้จางหายไปตามกาลเวลา สิ่งที่คงเหลืออยู่ทุกวันนี้ก็มีแค่คำสอนผ่าน ‘คำพูด’ จากนักปราชญ์ นักปรัชญา ในสมัยก่อน และคำสอนถูกส่งต่อมาถึงทุกวันนี้ก็เป็นแค่ ‘การตีความ’ จากผู้อ่านผ่านประสบการณ์ส่วนตัวของหลายๆคน

‘คำสอน’ จากนักปรัชญาสโตอิกสมัยก่อนพูดถึง การอดทน การก้าวผ่านอุปสรรค การเอาชนะความท้ายทายต่างๆ และไม่ได้พูดถึงการ ‘ปฏิเสธความทุกข์’ มากเท่าที่คนบางส่วนเข้าใจกัน (ยกเว้น โสกราตีส ที่พูดถึงการการปล่อยวาง ปลงตัณหามากเป็นพิเศษ) 

การ ‘ปฏิเสธไม่ให้ปัญหามาทำร้ายเรา’ แปลได้หลายอย่าง คนส่วนมากอาจจะแปลว่าเป็นการลุกขึ้นมาแก้ปัญหาทันที ไม่จมกับความทุกข์ซ้ำๆซากๆ แต่บางคนอาจจะแปลว่าเราอาจจะแพ้บ้าง ล้มบ้าง เศร้าบ้าง หากเรายอมรับอารมณ์ตัวเองได้ (หนึ่งในความหมายของการ ‘อยู่เหนืออารมณ์ตัวเอง’) เราก็สามารถลุกขึ้นสู้ใหม่ได้อย่างเข้มแข็งเช่นกัน 

Stoics หลายคนมองว่าความเจ็บปวดและความเศร้าคือความท้าทายให้เรียนรู้ก้าวผ่าน และหลายคนเรียนรู้ได้ดีที่สุดหลังจากที่ ‘รับมือกับอารมณ์ตัวเอง’ เสร็จแล้ว ปัญหาก็คือ ‘วิธีการ’ ว่าเราจะรับมือได้ดีหรือได้ไม่ดีแค่ไหน 

สุดท้ายนี้ผมแนะนำให้คุณเลือกและตีความเอาเองว่า การเป็นสโตอิก ในรูปแบบของตัวคุณนั้นเป็นแบบไหนกันแน่

Stoicism is about the domestication of emotions, not their elimination ~ Nassim Nicholas Taleb
ลัทธิสโตอิกคือการควบคุมอารมณ์ ไม่ใช่การกำจัดอารณ์ออกไป ~ นาซิม นิโคลัส ทาเล็บ    

บทความล่าสุด