ปรัชญาด้านจริยธรรม คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์ปวดใจมากที่สุด อะไรคือสิ่งที่ถูกและอะไรคือสิ่งที่ผิด ซึ่งคำถามพวกนี้ก็ไม่ได้มีคำตอบที่แน่นอนเลย
หลายคนคิดว่า ถ้าเรารู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด การตัดสินใจหลายๆอย่างในชีวิตก็คงง่ายขึ้น เพราะทุกอย่างมีผลลัพธ์ที่แน่นอน แต่ในโลกความเป็นจริงก็ไม่ใช่อย่างนั้น ทุกครั้งที่เราเลือกอะไรบางอย่าง เราก็ต้องเสียโอกาสในการทำอะไรอย่างหนึ่งเช่นกัน เพราะเวลาและทรัพยากรของเรามีจำกัด
ยกตัวอย่างเช่น หากคุณว่างวันอาทิตย์แค่วันเดียว คุณก็อาจจะมีเวลาแค่พาแฟนไปดูหนัง หรือพาพ่อแม่ไปกินข้าว หรือจะให้เวลาตัวเองไปหาหมอฟัน ตัวเลือกพวกนี้อาจจะดูว่าไม่มีอะไรถูกไม่มีอะไรผิด แต่ถ้าคุณเลือกไปแล้วคุณก็จะต้องนั่งกังวลว่าเราเลือกได้ดีที่สุดหรือยัง
หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือต่อให้คุณเลือกตัวเลือกที่คุณสบายใจที่สุด ณ เวลานั้น ตราบใดที่ตัวเลือกนั้นยังทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่ดีในบางอย่าง (เช่นทำให้เราไม่สามารถแบ่งเวลาให้คนอื่นในชีวิตได้ หรือทำให้คนเสียใจเล็กๆน้อยๆ) ธรรมชาติของมนุษย์ก็คือ…เราก็จะรู้สึกไม่ดีอยู่ดี
ในบทความนี้เรามาลองดูปรัชญาทางจริยธรรมที่คนถกเถียงกันมานานอย่าง ‘ปัญหารถราง’ มาลองศึกษากันว่าทำไมนักปรัชญาหลายๆคนถึงชอบถามคำถามนี้ และทำไมปรัชญาทางจริยธรรมถึงสำคัญสำหรับสังคมมนุษย์
ปัญหารถรางคืออะไร (Trolley Problem)
ปัญหารถราง คือการทดลองความคิดทางจริยธรรมแบบหนึ่ง หากมีรถรางกำลังวิ่งเข้าไปชนคนหลายคน คำถามก็คือเราควรที่จะสับรางรถวิ่งจากการชนห้าคนไปชนแค่หนึ่งคนหรือเปล่า
คำถามนี้มีมานานเกือบร้อยปีแล้ว แต่ก็ยังมีการถกเถียงกันอยู่เรื่อยๆ เพราะไม่มีคำตอบได้คำตอบเดียวที่ถูกต้อง จริยธรรมอาจถูกหล่อหลอมด้วยกฎเกณฑ์ทางสังคมและวัฒนธรรม แต่สุดท้ายการตัดสินใจก็อยู่ที่ตัวบุคคลอยู่ดี
ขอสรุปใหม่อีกรอบนะครับ รถรางกำลังวิ่งอยู่และตัวเลือกของคุณมีแค่สองข้อเท่านั้น
- ปล่อยให้รถวิ่งต่อไปเพื่อชนคน 5 คน
- สับรางให้รถวิ่งไปชนคน 1 คน
ทางเลือกที่ถูกจริยธรรมคือแบบไหน? สิ่งที่เราควรทำคืออะไรกันแน่
หากเราทำความคิดของประโยชน์นิยม (Utilitarianism) เราก็อาจจะบอกว่าชีวิตของคน 5 คนมีคุณค่ามากกว่าชีวิตของคนแค่ 1 คน เพราะฉะนั้นการสับรางก็เป็นทางเลือกที่ถูกแล้ว…ถึงแม้เราจะยังรู้สึกผิดที่มีคนตายจากตัวเลือกนี้ อย่างไรก็ตาม นักปรัชญาหลายคนก็โต้เถียงว่าชีวิตของคนเราควรจะมีคุณค่าเท่ากันหรือเปล่า และในกรณีไหนบ้างที่ชีวิตจะมีคุณค่าไม่เท่าเทียมกัน
ลองติดตามสถานการณ์ดังกล่าวดูนะครับ ว่าตัวเลือกของคุณจะเปลี่ยนไปหรือเปล่า
- หากเป็นผู้ใหญ่ 5 คนกับเด็ก 1 คน
- หากเป็นคน 5 คนกับคนในครอบครัวคุณ 1 คน
- หากเป็นนักโทษ 5 คนกับคนธรรมดา 1 คน
การทดสอบจริยธรรมด้วยปัญหารถรางมีหลายรูปแบบ แต่คุณก็คงจะเห็นภาพว่าในหลายกรณี คำว่า ‘ทุกชีวิตมีค่าเท่ากัน’ นั้นเริ่มเจือจางลงเรื่อยๆ
ชีวิตจริงคงไม่เหมือนในนิยาย เพราะทางเลือกเรามีแค่ 2 ทาง เราไม่สามารถจินตนาการทางเลือกที่ทุกคนจบแบบมีความสุขได้ นอกจากนั้นหลักการปรัชญาก็บอกอีกว่า ‘การไม่เลือกอะไรเลยก็คือการเลือกอย่างหนึ่ง’ แปลว่าถึงคุณจะคิดไม่ออก ไม่ทำอะไรเลย รถรางก็จะวิ่งไปชนคน 5 คนอยู่ดี (ส่วนเรื่องที่ว่าคุณจะผิดหรือเปล่า ที่ไม่ทำอะไรเลยก็ต้องทำถกเถียงกันอีกนอกรอบ)
หากคุณคิดว่าคำถามยากแล้ว ผมมีอีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าจะทำให้คุณปวดหัวมากกว่าเดิมอีก
ปัญหาศัลยแพทย์ (Surgeon Problem)
คุณเป็นศัลยแพทย์มือหนึ่ง ที่มีคนไข้ห้าราย แต่ละคนต้องผ่าตัดอวัยวะคนละอย่าง และจะต้องตายหากไม่ได้รับการผ่าตัดทันที แต่ก็โชคร้ายเพราะว่าอวัยวะที่คนไข้แต่ละคนต้องการนั้นไม่มีอยู่ในโรงพยาบาลของคุณ ทีนี้คุณก็เลยมองไปเห็นภารโรงที่ทำงานใกล้ๆ ภารโรงที่มีอวัยวะที่สามารถบริจาคให้คนไข้ทั้ง 5 รายได้พอดี และเป็นภารโรงที่ถ้าหายตัวไปก็คงไม่มีใครสงสัยจะสนใจอะไร
คุณสามารถฆ่าคนเพื่อเอาอวัยวะของภารโรงมาช่วยคน 5 คนได้หรือเปล่า?
เป็นคำถามที่อาจจะฟังดูโหดร้าย แต่หัวใจของคำถามก็อยู่ที่จุดเดิมก็คือว่าคุณค่าของชีวิตคนเราเท่ากันมากแค่ไหน ชีวิตของคนหนึ่งคนสามารถทดแทนกับชีวิตของคนห้าคนได้หรือเปล่า
เคยมีงานวิจัยวิเคราะห์ไว้ว่า นักปรัชญาเกือบถึง 70% เลือกที่จะ ‘สับราง’ ในคำถามรถรางด้านบน หมายความว่าการเลือกที่จะช่วยคน 5 คนแทนที่จะช่วยคน 1 คน ก็ถือว่าเป็นคำตอบที่สังคมน่าจะยอมรับได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับคำถามศัลยแพทย์นี้ คนส่วนมากเลือกที่จะ ‘ไม่ช่วย’ คนห้าคน เพราะรู้สึกว่าการฆ่าคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเป็นสิ่งที่ผิด หมายความว่าการ ‘สับราง’ หรือการ ‘ปล่อยให้ตาย’ ไม่ใช่การฆ่าคนแบบตรงๆเหมือนกับในกรณีศัลยแพทย์นี้
นอกจากนั้น เราก็สามารถถามคำถามได้อีกหลายสถานการณ์เช่น
- หากเป็นคนในครอบครัวคุณ กับภารโรง 1 คน
- หากเป็นคน 5 คน กับนักโทษ 1 คน
หากคุณคิดว่าการเลือกตัดสินใจจากการอ่านบทความยากแล้วล่ะก็ ถ้าคุณอยู่ในสถานการณ์จริงคนก็คงวิตกกังวลมากกว่านี้อีกเป็น 10 เท่า 100 เท่า
(ในโลกแห่งความเป็นจริง คงไม่มีศัลยแพทย์ไหนที่เลือกที่จะทำแบบนี้ เพราะถ้าถูกจับได้ก็คงติดคุก แถมยังทำให้คนทั่วโลกกลัวการไปผ่าตัดขึ้นมากันหมด เพราะไม่รู้ว่าที่ผ่าตัดไม่สำเร็จเพราะถูกเอาอวัยวะไปหรือเปล่า)
หนึ่งในคำตอบที่เราได้ยินบ่อยก็คือทุกชีวิตมีค่าที่ ‘วัดไม่ได้’ หมายความว่าในฐานะมนุษย์ด้วยกัน เราไม่สมควรที่จะเลือกว่าชีวิตไหนมีค่ามากกว่ากัน เพราะเราไม่มีสิทธิ์นั้น ตราบใดที่เราไม่ได้เลือกและ ‘ปล่อยให้เป็นไป’ เหมือนในกรณีรถราง เราก็ยังสามารถตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผลในระดับหนึ่ง
‘ความสมัครใจ’ เป็นสิ่งที่แพทย์ต้องถามถึงเสมอเวลาพูดเรื่อง ‘การบริจาคอวัยวะ’ เพราะสุดท้ายแล้ว เจ้าของชีวิตก็มีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจว่าชีวิตของตัวเองมีค่าแค่ไหน
จุดหมายของบทความนี้ ไม่ใช่การทำให้คนรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไม่ดี หรือทำให้คุณคิดเยอะจนนอนไม่หลับ เป้าหมายของบททดสอบทางจริยธรรมทุกอย่างก็คือการ ‘ทำให้คุณรับรู้’ เพื่อที่จะทำให้คุณสามารถ ‘ตัดสินใจอย่างมีสติ’ ได้มากขึ้น
ผมใช้คำว่าตัดสินใจอย่างมีสติ ไม่ใช่คำว่าตัดสินใจอย่าง ‘ถูกหรือผิด’ ก็เพราะว่าในบริบทของจริยธรรม คำว่า ‘ถูกหรือผิด’ ก็เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนอีก แต่บทความนี้ก็ยังไม่ได้จบแค่นี้ครับ ในส่วนสุดท้ายนี้เรามาดูคำถามทางจริยธรรมของยุคเทคโนโลยีครองเมืองกันบ้าง
ปัญหารถยนต์ไร้คนขับ (Self Driving Car Problem)
รถยนต์ที่ไร้คนขับสามารถถูกโปรแกรมให้หักเลี้ยวเองได้เวลามีอุบัติเหตุ คำถามก็คือหากรถยนต์ไร้คนขับเห็นว่ากำลังจะวิ่งไปชนเด็กที่กำลังข้ามถนน เราควรจะโปรแกรมให้รถหักเบี่ยงออกไปชนคนบนฟุตบาทหรือเปล่า
เทคโนโลยีใหม่ๆก็เป็นตัวจุดประเด็นระหว่างนักปรัชญากับนักกฎหมายหลายๆคนเช่นกัน ในช่วง 3-5 ปีมานี้คงไม่มีปัญหาปรัชญาอะไรที่โด่งดังมากกว่ากรณีรถยนต์ไร้คนขับ ที่สามารถเคลื่อนที่เองได้ หักเลี้ยวเองได้ และทำการตัดสินใจเองได้โดยไม่ต้องใช้คนขับ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับโปรแกรมที่วิศวะคอมเขียนมาให้
ปัญหาของรถยนต์ไร้คนขับ ก็อยู่ในหมวดเดียวกับปัญหาทางปรัชญาต่างๆ เราจะให้รถยนต์ตีมูลค่าชีวิตของคนได้ยังไงบ้าง
อย่างไรก็ตามปัญหารถยนต์ไร้คนขับนั้นโดยรวมแล้วมีความลึกซึ้งมากกว่าปัญหารถรางและปัญหาศัลยแพทย์ เพราะโปรแกรมที่ถูกใส่ไปในรถยนต์นั้นถูกคิดมาดีแล้ว หากเรามองว่าปัญหารถรางและศัลยแพทย์เป็นการตัดสินใจเฉพาะหน้าที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ เพราะฉะนั้นต่อให้คิดผิดไปเราก็ไม่รู้สึกผิดมาก ปัญหาโปรแกรมในรถยนต์นั้นก็เป็นสิ่งที่เราต้องเตรียมตัวเตรียมใจมาก่อนที่จะเริ่มนั่งด้วยซ้ำ
และนอกจากนั้น หากรถยนต์ไร้คนขับเกิดการชนขึ้นมาจริงๆ ใครจะผิดกัน? เจ้าของรถ? ผู้ผลิตรถยนต์? หรือจะเป็นวิศวะผู้ลงโปรแกรม?
ปัญหานี้ก็ไม่มีคำตอบเช่นกันครับ แต่ทางเลือกที่ถูกเสนอมาก็คือการ ‘ให้คนซื้อเลือก’ ผมคิดว่าเจ้าของรถยนต์ไร้คนขับควรที่จะมีสิทธิ์ในการเลือกว่าจะให้รถเลี้ยวหรือรถวิ่งตรงในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ อาจจะเป็นการปรับตั้งค่ารถเหมือนกันตั้งค่ามือถือ นักปรัชญาเรียกส่วนนี้ว่า ‘การตั้งค่าจริยธรรมส่วนบุคคล’ (personalized ethics settings)
การทำแบบนี้ก็จะทำให้มนุษย์เรามีตัวเลือกมากกว่าเดิม แต่ใครจะอยากนั่งรถที่ถูกโปรแกรมมาให้เบี่ยงชนฟุตบาทจนเกิดอันตรายต่อคนขับกันนะ
บทความล่าสุด
การจัดโต๊ะคอมให้สวยถูกใจ พร้อมฟังก์ชันการใช้งานครบครัน...
ในมุมมองหนึ่ง ‘ลูกคนกลาง’ ดูเหมือนจะต้องแบกรับภาระทางใจอันหนักอึ้ง...