Call Out (คอลเอ้าท์) คืออะไร? ต่างจากการด่าอย่างไรบ้าง?

Call Out (คอลเอ้าท์) คืออะไร

พอสังคมมนุษย์พัฒนาผ่านปัจจัยพื้นฐานไปได้ (อาหาร ที่พัก ยา และ ปัจจัยอื่นๆ) เราก็จะเห็นได้ว่ามีปัญหาทางสังคมอีกมากมายที่ไม่ได้รับการแก้ไขหรือบางทีก็อาจจะไม่ได้รับการมองเห็นเลยด้วยซ้ำ ในมุมมองนี้ การ Call Out (คอลเอ้าท์) หรือการเรียกร้องให้สังคมมองเห็นปัญหาที่เคยมองข้ามไปก็เลยเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันสังคมให้ก้าวหน้าไปยังทางที่ถูกต้อง

ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่าการ Call Out และทำไมหากเราทำกิจกรรมเหล่านี้ได้ไม่ดีจะกลายเป็นการทำให้สังคมแตกแยกกว่าเดิม

Call Out (คอลเอ้าท์) คืออะไร?

Call Out (คอลเอ้าท์) คือการเผยแพร่ความผิดพลาดของบุคคลหรือองค์กรให้สังคมสามารถรับรู้ได้ เป็นการแสดงออกว่ากิจกรรมที่ผิดพลาดบางอย่างควรได้รับการรับรู้ แก้ไข หรือมีความแสดงความรับผิดชอบมากกว่าที่ได้รับในปัจจุบัน

หากเราเข้าใจหลักการของการ Call Out เราก็ต้องเริ่มจากการยอมรับก่อนว่ามนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบ ทุกคนล้วนมีการทำผิดพลาด และเนื่องจากว่าไม่มีใครสามารถใช้สติในการใช้ชีวิตได้ 100% ตลอดเวลา (อาจจะมีเบลอบ้าง มองข้ามปัญหาบ้าง หรือไม่อาจให้สมาธิกับทุกกิจกรรมในชีวิตได้หมด) เราก็จะเห็นว่าปัญหาทางสังคมมีอยู่มากมายที่คนมองข้าม

ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาเรื่องขยะ ปัญหาเรื่องความยากจน ปัญหาเรื่องการเหยียดผิวเหยียดเพศ ปัญหาเรื่องธุรกิจผูกขาด ปัญหาเรื่องภาวะโลกร้อน หรือแม้แต่ปัญหาเรื่องการเมือง คอรัปชั่น และความไม่เป็นธรรมต่างๆ 

สาเหตุที่เราบอกว่าเป็นปัญหาทางสังคม ก็เพราะว่าปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่คนหนึ่งคนหรือคนกลุ่มเล็กๆจะสามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง ส่วนมากแล้วต้องเกิดจากการที่เราไปโน้มน้าวคนอื่นให้มาเห็นความสำคัญกับปัญหานี้เหมือนกับเรา เพื่อให้มีแรงผลักดันในแนวกว้างมากขึ้น 

ขอย้ำว่าการคอลเอ้าท์มีองค์ประกอบสองอย่าง 1) มีปัญหาสังคมที่เราอยากแก้ไข และ 2) เราต้องทำการโน้มน้าวคนอื่นให้เห็นด้วย เพื่อให้คนส่วนมากเห็นค่า

การคอลเอ้าท์ที่ดีคือการด่าหรือเปล่า?

ผมเชื่อว่าการคอลเอ้าท์เป็นสิ่งที่ดี เพราะผมเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนไม่ได้มีใครสมบูรณ์แบบ ผมไม่ได้คิดว่าตัวเองเก่งทุกอย่าง แล้วก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองรู้ทุกอย่าง ปัญหาบางอย่างที่ผมไม่เคยเจอมากับตัว ไม่เคยประสบด้วยตัวเอง บางครั้งผมก็อาจจะเผลอมองข้ามไปได้

ยกตัวอย่างเช่น ในตอนเด็ก หากผมไม่ได้เคยดูสารคดีเรื่อง Super Size Me ก็คงไม่เคยตระหนักว่า ‘อาหารขยะ’ กระทบต่อสุขภาพคนมากแค่ไหน เช่นเดียวกัน หากผมไม่ได้เรียนวิชา ‘สภาพแวดล้อมของเรา’ ตอนอยู่มหาลัย ผมก็คงไม่เข้าใจว่าการรักษ์โลกคือที่เรายอมลำบากวันนี้เพื่อช่วยเหลือคนรุ่นหลังในอนาคต

ในฐานะผู้ฟัง หากเราเปิดใจยอมรับข่าวสารใหม่ๆบ้าง เราก็จะมองโลกเปลี่ยนไปทันทีเลยครับ โลกเรามีปัญหาอีกมากมายที่เรายังไม่สามารถแก้ไขได้ 

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ ผู้พูด หรือ คนที่อยากจะโน้วน้าวให้คนอื่นทำตาม เราก็จะเห็นได้ว่ามีวิธีพูดบางอย่างที่โน้มน้าวคนได้ดีกว่าวิธีพูดอย่างอื่น 

ปัญหาส่วนมากที่เราเห็นในการคอลเอ้าท์ก็คือ ‘เราพยายามโน้มน้าวคนด้วยวิธีดีๆแล้ว พอเราโน้มน้าวไม่ได้ หรืออีกฝ่ายไม่เห็นด้วย เราก็จะหงุดหงิดแล้วเปลี่ยนวิธีเป็นการด่าแทน’ 

ยกตัวอย่างเช่น พ่อแม่ที่พูดดีๆแล้วลูกไม่ฟัง สุดท้ายก็กลายเป็นโมโหหรือว่าใช้ความรุนแรง เพราะพูดตรงๆครับ การควบคุมอารมณ์เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก และ มนุษย์เราส่วนมากทำอะไรก็อยากจะได้ผลลัพธ์ทันที ยิ่งเป็นปัญหาที่เราทุ่มเทใจให้หรือมองว่าเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่มาก เราก็ยิ่งควบคุมตัวเองได้ยาก

หากเรามองในมุมมองนี้ เราก็จะเห็นได้ว่าการด่าหรือการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยคำหยาบนั้นไม่ใช่วิธีโน้มน้าวคนที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด ในบางกรณีอาจจะทำให้เกิดผลลัพธ์ด้านลบด้วยก็ได้ 

ส่วนตัวแล้วผมเข้าใจว่าการควบคุมอารมณ์เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก และการด่าเพราะเป็นการระบายหรือทำให้เรารู้สึกสบายใจอย่างหนึ่ง แต่หากเป้าหมายของเราคือการโน้มน้าวสังคมให้เชื่อมั่นในปัญหานี้ เพื่อที่จะได้เสียงส่วนมากมาช่วยแก้ไขปัญหา เราก็ควรพิจารณาในการเลือกใช้วิธีการโน้มน้าวที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้

เพราะการด่านอกจากจะเป็นการลดความน่าเชื่อถือของตัวเองแล้ว ยังเป็นหนึ่งในวิธีที่ ‘กีดกันคนกลาง’ ที่เราควรจะสามารถโน้มน้าวให้มาเชื่อถือในตัวเราได้ แต่เราทำไม่ได้เพราะว่าเขาไม่ชอบในวิธีที่เราสื่อสาร

ผมไม่ได้บอกว่าเราห้ามรู้สึกมีอารมณ์ด้านลบ จริงๆแล้วการสื่อสารด้วยอารมณ์เป็นวิธีการโน้มน้าวคนที่ดีที่สุดแล้ว แต่เราควรจะระวังคำที่เราใช้ในการสื่อสารมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เราสื่อสารผ่านช่องทาง Social Media ซึ่งคนสามารถเอาไปตีความในด้านลบได้ง่าย แถมยังไม่เหมาะสำหรับการพูดคุยเชิงลึกหรือตอบโต้ในระยะยาว

ความท้าทายหลักของการ Call Out กับคนที่เห็นต่าง

เนื่องจากว่าหัวข้อนี้อาจจะเป็นหัวข้อที่ละเอียดอ่อนสำหรับคนหลายๆคน ผมจะขอสรุปความคิดเห็นผมอีกรอบนะครับ ผมเชื่อว่าการ Call Out เป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมสามารถเรียนรู้ปัญหาของกันและกันได้ ซึ่งก็จะทำให้สังคมสามารถก้าวหน้าไปในทิศทางที่ดีพร้อมกันได้

สังคมในปัจจุบันนี้มีความหลากหลายทางด้านความคิดเยอะครับ บางคนชอบกินกระเพราไข่ดาว บางคนชอบกินหมูสะเต๊ะ บางประเทศเติบโตได้ด้วยประชาธิปไตย บางประเทศก็เติบโตได้ด้วยระบอบเผด็จการ ในฐานะที่ผมก็คิดผิดมาหลายครั้ง ส่วนตัวแล้วผมก็ไม่กล้าไปแนะนำใครว่าอันไหนถูกอันไหนผิด

ซึ่งความแตกต่างทางด้านความคิดนั่นแหละที่เป็นจุดที่ท้าทายที่สุดในการ Call Out เพราะยิ่งคุณทุ่มเทให้กับความคิดเห็นใดมากเท่าไหร่ คุณก็น่าจะจินตนาการได้ว่าคงมีกลุ่มคนอีกหนึ่งกลุ่มที่มีความทุ่มเทกับความคิดของเขามากพอๆกับคุณ…แต่ในมุมมองที่แตกต่าง

แน่นอนว่าผมก็มีมุมมองทางด้านความคิด ความเป็นธรรม ความผิดชอบชั่วดี เป็นของตัวเอง ซึ่งในบทความนี้ผมจะไม่ขอแสดงความคิดเห็นทางด้านนี้ (เดี๋ยวจะนอกเรื่องและไม่จบ) แต่หากคุณเชื่อมั่นในความคิดของคุณมากๆ และคุณคิดว่าคุณต้องอาศัยความช่วยเหลือของคนกลุ่มใหญ่กลุ่มอื่นเพื่อให้ไอเดียนี้เป็นจริง ผมคิดว่าเราควรจะต้องพิจารณาวิธีการโน้มน้าวคนดังนี้:

3 ปัจจัยที่ต้องระวัง เพื่อให้การ Call Out มีประสิทธิภาพมากขึ้น

บอกตามตรงนะครับ แต่ละคน แต่ละสังคม แต่ละปัญหา มีข้อจำกัดไม่เหมือนกัน ผมไม่สามารถพูดได้ว่าข้อแนะนำนี้จะช่วยแก้ปัญหาให้คุณได้ทุกอย่าง แต่อาจจะเป็นแนวทางให้เรานำไปปรับใช้ได้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคุณไม่ว่ามากหรือน้อยก็ตาม

แต่ละคนมองคุณค่าของปัญหาไม่เท่ากัน – การโน้มน้าวคนไม่ใช่แค่เขียนประโยคบอกเล่า แล้วคาดหวังให้อีกฝ่ายจะทำตามเราได้ 100% การโน้มน้าวคนที่ดีคือการพยายามทำความเข้าใจมุมมองของอีกฝ่าย เรียนรู้ว่าอีโก้ของอีกฝ่ายถูกผูกอยู่กับอะไร และค่อยๆช่วยอีกฝ่ายแก้ไขปัญหาทีละเล็กทีละน้อย เพื่อให้เขาสามารถสร้างตัวตนใหม่ได้ โดยที่อีโก้ของตัวเองจะไม่แตกสลายทันที

การโน้มน้าวผ่านอารมณ์ด้านลบ – เคยมีนักเจรจาธุรกิจสอนผมไว้ว่า วิธีโน้มน้าวคนที่ดีที่สุดก็คือการที่ทำให้เขารู้สึกว่าเขากำลังช่วยเหลือเราอยู่ เพราะฉะนั้นแทนที่เราจะไปบอกอีกฝ่ายว่า ‘เขาผิดต้องทำการแก้ไข’ เราก็ควรจะเปลี่ยนคำพูดนี้เป็น ‘ผมกำลังลำบาก ผมกำลังเศร้า ช่วยผมหน่อย’  

หลีกเลี่ยงช่องทางที่คนนำไปตีความแปลกๆได้ – ยิ่งเป้าหมายของคุณยิ่งใหญ่มากแค่ไหน คุณก็จะมีคนที่ต่อต้านคุณเยอะมาก หลายคนอาจจะบอกว่าไอเดียของคุณไม่ดี อาจจะใส่ร้ายตัวคุณด้วยซ้ำ หากเป็นไปได้เลือกที่จะใช้ช่องทางที่สามารถสื่อสารได้หลายอย่างและคนนำไปตีความแปลกๆได้ยาก ยกตัวอย่างเช่นการพูดออกวีดีโอมีความยาวสิบนาที ก็จะแสดงความจริงใจได้ดีกว่าการเขียน Twitter หนึ่งบรรทัด

เราจะเห็นได้ว่ากิจกรรมเหล่านี้ล้วนต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในกรณีที่เราต้องไปโน้มน้าวให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมที่เขาเคยชอบทำมากๆหรือเคยคิดว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ซึ่งผมยอมรับว่าผมไม่ใช่คนที่เจรจาโน้มน้าวคนได้เก่ง และในหลายๆครั้งผมก็ไม่ได้เป็นคนที่ใจเย็นขนาดที่ควบคุมตัวเองได้ตลอดเวลาด้วยซ้ำ แต่หากมองในรูปแบบคนทำงาน 

ถ้าเป้าหมายไหนสำคัญกับเราจริง เราก็ควรที่จะพยายามเพื่อทำให้เป้าหมายนี้เป็นจริง ไม่ว่าเราจะต้องควบคุมตัวเองมากแค่ไหนก็ตาม

บทความนี้ผมเขียนขึ้นมาพิเศษเพราะผมเห็นว่าสังคมในปัจจุบันของเรานั้นมีความคิดแตกต่างและมีการทะเลาะกันเกิดขึ้นเยอะมาก โดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อในอิสระทางความคิดและก็เคารพในเสียงส่วนมากของประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามในยุคปัจจุบัน ผมมองเห็นคนทั้งสองฝ่ายแล้วก็รู้สึกว่าไม่เห็นมีใครมีความสุขเลย

สุดท้ายนี้ผมอยากจะบอกว่าสังคมที่ดีคือสังคมที่ทุกคนพยายามจะเข้าใจกันและกัน อาจจะมีเรื่องที่ทะเลาะกันบ้าง แต่หากระบบถูกออกแบบมาให้คนต่อสู้กันเอง ผมก็คิดว่าระบบแบบนี้ควรถูกพิจารณาและแก้ไขให้ดีมากขึ้น และกลับมาเข้าเรื่องการคอลเอ้าท์ ผมก็อยากจะทิ้งท้ายว่าอีกรอบว่า หากเราอยากจะโน้มน้าวคนอื่นจริงๆ เราก็ควรที่จะศึกษาวิธีการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

บทความล่าสุด