โกหกสีขาวและการโกหกเพื่อให้คนอื่นสบายใจ…ดีจริงหรือ

โกหกสีขาว white lies

คงไม่มีใครชอบให้คนโกหกใส่เรา ใช่ไหมครับ

มนุษย์ทุกคนชื่นชอบความจริงใจและความตรงไปตรงมา และด้วยเหตุผลนี้ ทุกคนเลยมอง ‘การโกหก’ เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความจริงใจ 

อย่างไรก็ตาม คนส่วนมากก็อาจจะไม่สามารถยอมรับคำพูดที่เป็นความจริงได้ทุกอย่างเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำพูดในแนวตักเตือนหรือแนววิจารณ์เป็นต้น ซึ่งเหตุผลก็คงมาจากการที่เราไม่สามารถยอมรับได้ว่าภาพ ‘ลักษณ์ของตัวเอง’ ที่เรามีนั้น ไม่ตรงกับภาพลักษณ์ของเราในมุมมองคนอื่น 

บางครั้งความจริงก็เหมือนจะเป็นยาขมที่ยากที่จะยอมรับ แต่การโกหกก็เป็นภาพวาดอันสวยงามที่พร้อมจะพังทลายได้ทุกเมื่อเหมือนกันครับ (Ugly Truth and Beautiful Lie)

ในวันนี้เรามาลองดูกันว่าการโกหกเพื่อให้คนอื่นสบายใจ และการโกหกสีขาว มันเป็นยังไงกันนะแล้วทำไมคนเราถึงชอบทำกัน

โกหกสีขาว และ การโกหกเพื่อให้คนอื่นสบายใจ [White Lies]

การโกหกสีขาว (white lies) คือการโกหกที่คนพูดคิดว่าจะไม่ทำร้ายใคร เพราะความจริงจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเสียใจเสียหน้า โกหกสีขาวอาจทำให้รู้สึกดีในช่วงแรก แต่ในระยะยาวอาจส่งผลเสียต่อทุกคน

ข้อเสียของการโกหกทุกชนิดได้แก่การทำลายความน่าเชื่อถือของตัวเอง และการสร้างนิสัยชอบปกปิดปัญหาข้างหน้าด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ทางเลือกที่ดีกว่าของการโกหกเพื่อให้คนอื่นสบายใจคือการใช้เวลาเพื่อหาทางออกที่ดีกว่าเช่นวิธีการพูดที่ทำให้เราพูดความจริงได้และก็รักษาน้ำใจของอีกฝ่ายได้เหมือนกัน

ก่อนที่จะเริ่มพูดเรื่องการโกหก ผมขอบอกไว้ก่อนนะครับว่า ในโลกนี้ไม่มีกฎตายตัวว่าเรื่องไหนเราควรโกหกเพื่อให้คนอื่นสบายใจ และเรื่องไหนเราควรพูดความจริง ขั้นตอนการเข้าสังคมขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสภาพจิตใจของผู้ฟัง ความสำคัญของเรื่องที่จะพูด หรือ ความสนิทสนมระหว่างคนพูดกับคนฟัง 

ทีนี้เรากลับคุยมาเรื่องการโกหกให้คนอื่นสบายใจกัน การโกหกแบบนี้คือการวัดระหว่างคุณค่าของ ‘การรักษาน้ำใจ’ และ ‘การสร้างความเชื่อใจระยะยาว’

หากเพื่อนของคุณมาขอคำปรึกษาว่าการที่เค้าตื่นสายไปทำงานมันผิดหรือเปล่า สิ่งที่คุณควรจะบอกคืออะไรระหว่าง ‘ตื่นสายนิดหน่อยไม่เป็นไรหรอก’ กับ ‘ถ้าตื่นสายแล้วอาจจะโดนไล่ออกนะ’ สิ่งที่ถูกคือการพูดโกหก (หรือพูดในสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย) ให้อีกฝ่ายสบายใจ หรือจะพูดความจริงที่ทำให้อีกฝ่ายกังวลใจกันแน่

ความสบายใจที่แท้จริงต้องสามารถทำได้ทั้งสองอย่าง ก็คือเราต้องทำให้อีกฝ่ายรู้สึกสบายใจ และทำให้อีกฝ่ายสามารถแก้ปัญหาที่ตัวเองไม่รู้สึกถึงด้วย ซึ่งก็แปลว่าวิธีที่ดีที่สุดคือการ ‘หาวิธีพูดความจริง โดยไม่ทำร้ายจิตใจของอีกฝ่าย’ นั่นเอง…แต่วิธีนี้ก็ยากมากและต้องอาศัยอีคิว (EQ) พอสมควร

วันนี้ผมจะขออธิบายเรื่องการโกหกสีขาวและการโกหกเพื่อทำให้คนอื่นสบายใจ แต่ก่อนที่เราจะเข้าเรื่องพวกนี้ ผมคิดว่าเราต้องกลับมานิยามคำว่า ‘โกหก’ กันก่อน

การโกหก…คืออะไร

คำว่า ‘โกหก’ อาจจะอธิบายง่ายสำหรับหลายคน แต่สำหรับผมคำพูดและการโกหกเป็นอะไรที่ซับซ้อนมาก ยกตัวอย่างเช่น 

หากคนพูดจาโอเวอร์ จะถือว่าโกหกไหม? (เช่น รถติดชาติหนึ่ง)

หากคนพูดผิด หรือ พูดเพราะไม่รู้ความจริงจะโกหกไหม? (เช่น การที่เพื่อนเราสอนการบ้านเราผิด)

หากคนไม่พูดอะไรเลย หรือพยายามเปลี่ยนเรื่องไม่ให้คำตอบ จะถือว่าโกหกไหม?

การโกหกก็คือการที่เราให้ข้อมูลที่ไม่จริง…แบบตั้งใจครับ หมายความการโกหกเป็นสิ่งที่มีมากกว่า ‘คำพูด’ บางครั้งการที่เราเลือกที่จะไม่พูดความจริง เช่นการไม่ยิ้มแล้วหัวเราะแห้งๆเวลาผู้หญิงถามว่า ‘แต่งตัวสวยไหม’ ก็อาจจะเป็นการโกหกเช่นกัน ภาษาอังกฤษเรียกสิ่งนี้ว่า lie by omission (โกหกโดยจงใจให้ข้อมูลไม่ครบ)

การโกหก มีอยู่สองปัจจัยก็คือ ‘ความตั้งใจ’ และ ‘ความถูกต้องของสิ่งที่พูด’

หมายความว่าความสามารถในการรับรู้ข้อมูลและความสามารถในการสื่อสารของทั้งสองฝ่ายต้องเท่าเทียมกัน ยกตัวอย่างเช่นการพูดประชดอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราทำเพราะอยากจะโกหกแต่หากอีกฝ่ายไม่สามารถ ‘ตีความหมาย’ คำประชดของเราได้ก็อาจจะหาว่าเราโกหกเป็นต้น 

แน่นอนว่าของบางอย่างอาจจะถือว่าเป็นการโกหกแต่เนื่องจากว่าข้อมูลไม่ได้สำคัญมากคนส่วนมากก็เลยไม่ได้ใส่ใจกับสิ่งที่ได้ยินกัน ยกตัวอย่างเช่นการที่เราตอบคำถามว่า ‘สบายดีมั้ย’ ว่า ‘สบายดีมาก’ เป็นต้น ถ้าเราคิดถึงเรื่องโกหกเล็กน้อยพวกนี้…คนเราก็คงพูดโกหกทุกวัน วันละหลายรอบ

เวลาที่เราบอกว่าอีกฝ่ายโกหกก็หมายความว่า เรากำลังคิดว่าอีกฝ่าย ‘มีความตั้งใจ’ ที่จะ ‘ปิดบังความจริงที่สำคัญ’ อะไรกับเราอยู่ ซึ่งก็หมายความว่า เราคิดว่าอีกฝ่าย ‘มีความประสงค์ที่จะให้ข้อมูลที่ผิด’ กับเราอยู่ ไม่ว่าความประสงค์นั้นจะมาจากเจตนาดีหรือไม่ดีก็ตาม

เหตุผลของการโกหกสีขาว

นักจิตวิทยาเคยพูดไว้ว่าปัญหาของคนโกหกไม่ได้อยู่ที่อีกฝ่ายหรอก แต่อยู่ที่คนพูดโกหกนี่เหล่ะที่ไม่สามารถรับความจริงได้ ในมุมมองนี้ คนที่โกหกสีขาวก็กำลังกลัวผลลัพธ์อะไรบางอย่างที่ไม่ดีสำหรับตัวเองอยู่เช่นกัน

ในกรณีที่เป็นการโกหกสีขาว ผมคิดว่าฝ่ายที่พูดโกหกคงมี ‘ความตั้งใจ’ ที่จะทำดีในระดับหนึ่ง แต่แค่ ‘วิธีแสดงความหวังดี’ อาจจะออกมาผิดพลาดบ้าง หรือการเรียงลำดับความสำคัญอาจจะผิดนิดหน่อย เหตุผลที่คนเลือกที่จะโกหกสีขาวมีดังนี้ครับ

  • ความกลัว – ไม่ว่าจะกลัวอีกฝ่ายรู้สึกแย่ รู้สึกโมโห หรือ กลัวถูกลงโทษก็ตาม
  • ความละอายใจ – ความคิดที่ว่าเราอาจจะทำเรื่องไม่ดีไว้และไม่อยากพูดถึง
  • ความรู้สึกผิด – เช่นการคิดว่าเราอาจจะเสียชื่อเสียง หรือกลัวว่าคนอื่นจะมองเราผิดไปถ้าความจริงถูกเปิดเผย

แต่ละคนที่โกหกอาจจะมีเหตุผลต่างกันออกไป แต่สาเหตุหลักก็คงไม่พ้นที่ผมเขียนไว้ด้านบน ซึ่งเหตุผลแต่ละอย่างก็อาจจะดูไม่ค่อยดีซักเท่าไร แต่จะมีเวลาไหนบ้างไหมที่การโกหกสีขาวเป็นเรื่องที่เราควรทำ?

เวลาไหนที่เราควรโกหกสีขาว

ในส่วนนี้เราจะเข้าสู่ปัญหาหลักของสังคมมนุษย์เลยครับ ซึ่งก็คือเรื่อง ‘จริยธรรม’ นั่นเอง 

จริยธรรมจะต่างกับบทความอื่นๆที่ผมเขียนมาส่วนมากเพราะสุดท้ายแล้วการตัดสินใจว่าอะไรดีหรือไม่ดีก็ขึ้นอยู่กับความคิดของแต่ละคน และความคิดของแต่ละคนก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างเช่น ความเชื่อ วัฒนธรรม วิธีการเลี้ยงดูของครอบครัว และประสบการณ์ชีวิตเป็นต้น

ผมขอพูดตรงๆนะครับ บางครั้งการโกหกสีขาวเล็กน้อยก็เหมือนจะเป็นวิธีเข้าสังคมที่ดีที่สุด ยกตัวอย่างเช่น

  • เวลามีคนซื้อของขวัญที่เราไม่อยากได้มาให้ และสิ่งที่เหมือนจะดีที่สุดก็คือการ ‘ขอบคุณนะ เราชอบของขวัญชิ้นนี้มากเลย’
  • เวลาที่คุณกำลังคุยโทรศัพท์กับเพื่อนอยู่แล้วอีกฝ่ายพูดเยอะไม่จบซักที คุณอยากจะวางสายแล้วแต่คุณจะบอกว่า ‘ไม่อยากคุยแล้ว ไปก่อนนะ’ หรือ ‘มีธุระต้องรีบทำให้เสร็จ ไว้คุยกันใหม่ละกัน’
  • เวลาเพื่อนนัดคุณและเพื่อนคนอื่นกินข้าว และคุณไม่ค่อยอยากจะไปเจอเพื่อนบางคนในกลุ่มเท่าไร คุณจะบอกคนทั้งกลุ่มว่า ‘ไม่อยากเจอคนนี้’ หรือ ‘ติดธุระ ไปไม่ได้นะ’ 

ทุกกรณีที่ผมให้มาคือการโกหกเพื่อรักษาน้ำใจของอีกฝ่าย เราอาจจะพูดได้ว่าคุณมีความเห็นอกเห็นใจมากเลยอยากที่จะเคารพความรู้สึกของอีกฝ่ายด้วยซ้ำ

ครูตอนประถมของผมชอบสอนว่า ‘ถ้าเราพูดดีไม่ได้ เราก็ไม่ควรที่จะพูดเลยดีกว่า’ (If you can’t say anything nice, you shouldn’t say anything at all)…ใช่ครับ ผมเป็นเด็กที่ตรงไปตรงมามาก (จนเกินงาม) 

จุดสำคัญก็คือเราต้องไม่โกหกเพื่อ ‘หลีกเลี่ยงหน้าที่ของตัวเอง’ หากหัวหน้าคุณถามว่าทำงานเสร็จหรือยัง อย่าโกหกให้เหตุผลไร้สาระ คุณต้องให้คำอธิบายว่าทำไมถึงทำไม่เสร็จ หากมีคนชวนคุณไปออกเดทแล้วคุณไม่ชอบคนคนนั้น คุณก็ควรที่จะปฏิเสธไปตรงๆแทนที่จะบอกว่าไม่ว่าง การยอมรับความผิด (หรือยอมรับความจริง) และ ไม่สร้างคำโกหกเพื่อปิดปังเรื่องพวกนี้คือเรื่องของจริยธรรมและความชื่อสัตย์ ซึ่งสำคัญกว่าความกลัว ความละอายใจ และความรู้สึกผิดในใจเรา

ทางออกที่ดีกว่าการโกหกสีขาว

ผมได้อธิบายไปเยอะแล้วว่ากรณีไหนควรจะโกหก และ กรณีไหนที่ไม่ควรโกหก แต่ถ้าคุณยังลังเลใจระหว่างการที่จะต้องพูดความจริงที่แสนโหดร้ายหรือกลัวที่จะพูดคำโกหกอยู่ สิ่งที่ผมแนะนำคือดังนี้ครับ

  • ฝึกคำพูดให้ดีกว่าเดิม – บางครั้งปัญหาไม่ได้อยู่ว่าเราพูดเรื่องอะไร แต่อยู่ที่ว่าเราพูดยังไงมากกว่า คนที่พูดเก่งรู้จักการใช้ภาษาก็มีชัยไปมากกว่าครึ่งครับ
  • พัฒนาวิธีการพูด – นอกจากคำพูดแล้ว โทนเสียง และ ภาษาร่างกายของเรายังเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารที่ดีมากอีกด้วย หากเราอยากให้คนตั้งใจฟังเราและเชื่อในสิ่งที่เราพูด เราควรที่จะพูดในโทนที่น่าเชื่อถือ เช่นการกดเสียงให้ขรึมมากขึ้นเหมือนดีเจวิทยุตอนกลางคืนเป็นต้น
  • หาโอกาสในการพูดให้เป็น – แน่นอนว่านอกจากวิธีการพูดแล้ว เวลาและโอกาสในการพูดก็สำคัญไม่แพ้กัน หากเราเลือกที่จะพูดความจริงในเวลาที่เหมาะสม เช่นเวลาที่อีกฝ่ายกำลังรู้สึกดีหรืออยู่ในสภาพจิตใจที่ดี เราก็อาจจะสื่อสารได้ดีมากขึ้น
  • หาคนช่วยพูดแทน – หากเราคิดว่าเราไม่สามารถสื่อสารความจริงได้ ในกรณีนี้การหาคนที่สามารถพูดแทนเราได้ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ยกตัวอย่างเช่นหาคนที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่า (ให้หมอพูดแทน หรือจ้างที่ปรึกษาทางธุรกิจมาพูดแทน) หรือการให้คนที่อีกฝ่ายเคารพมากกว่าเป็นคนพูด (เช่นให้คุณย่าเป็นคนพูดกับคุณพ่อ)

ผมคิดว่าปัญหาทางด้านการสื่อสารก็ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ครับ และการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ก็ต้องใช้ประสบการณ์และความสามารถในการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathy) ด้วย คนที่สนใจสามารถอ่านบทความของผมเรื่อง ทักษะการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

การโกหกที่ดี…มีด้วยหรอ

สุดท้ายนี้ ผมคิดว่าทุกอย่างในโลกนี้คงไม่มีอะไรที่ขาวทั้งหมดหรือดำทั้งหมด…และการโกหกก็เช่นกัน 

หากใครไม่เชื่อว่าการโกหกเป็นเรื่องดีได้ ผมขอยกตัวอย่างสุดโต่งให้ดูละกันนะครับ ในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ในสมัยที่นาซีกำลังล่าชาวยิวอย่างป่าเถื่อน มีคนเยอรมันหลายคนที่ต่อต้านความคิดนี้และได้แอบซ่อนชาวยิวไว้ในบ้านตัวเอง ซึ่งแน่นอนเวลามีทหารนาซีมาถามคนพวกนี้ว่าช่วยยิวอยู่หรือเปล่า คำตอบก็คือคำว่า ‘ไม่’ อย่างแน่วแน่

การโกหกแนวนี้อาจจะไม่ได้ทำเพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกสบายใจ แต่ถ้าเรามองการโกหกสีขาวว่าเป็น ‘การโกหกที่ไม่ทำร้ายใคร’ ผมคิดว่าความหมายก็ตรงตัวอยู่ เพราะเราโกหกเพื่อช่วยคนอื่น

ผมเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกคนที่กำลังโกหกเพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลกจากการถูกสังหารหมู่อยู่ แต่บางทีสาเหตุการโกหกอาจจะไม่เกี่ยวกับตัวคนที่โกหก…และอาจจะไม่เกี่ยวกับคนที่ถูกโกหกด้วยซ้ำ 

ความจริงก็คือ หากเรามองโลกในสิ่งที่เป็นและเอาตัวเราไปอยู่ในสังคมที่มีแต่คนที่หวังดีต่อเรา ต่อให้ใครจะพูดโกหกหรือพูดปิดบังความจริงแค่ไหน เราก็สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขต่อไปได้ และต่อให้เราโกหกสีขาวบ่อยแค่ไหน คนที่รักเราก็คงพร้อมที่จะให้อภัยเราเสมอ

เพราะสิ่งที่สำคัญที่แท้จริงไม่ได้มาจากคำพูดเพียงไม่กี่คำ แต่มาจากการสังเกตุการกระทำ สังเกตุอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่น สังเกตุเจตนาที่แท้จริง และเข้าใจความรู้สึกที่ว่าคนรอบข้างของเรา ‘หวังดีต่อเรา’ และ ‘อยากให้สิ่งที่ดีกับเราเสมอ’

ถ้าคุณชอบ…ลองอ่านบทความพวกนี้ดู

บทความล่าสุด