ความสมดุลของชีวิตกับการทำงาน สร้างได้ยังไง Work-Life Balance

ความสมดุลของชีวิตกับการทำงาน

เราทำงานเพื่ออะไรกัน? 

และเราควรจะใช้เวลาไปกับการทำงานมากแค่ไหนนะ?

มีงานอะไรคุ้มค่ามากพอที่เราจะเจียดเวลาสำหรับครอบครัวหรือคนที่เรารักเพื่อทำให้เสร็จไหม?

คำตอบพวกนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผมจะตอบแทนคุณได้หรอกครับ แต่สิ่งที่ผมจะมาพูดวันนี้ก็คือ เหตุผลว่าทำไมการหาสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน (Work-Life Balance) มันถึงยาก แล้วทำไมสมดุลนี้ถึงสำคัญ

ความสมดุลของชีวิตกับการทำงาน (Work-Life Balance)

การทำงานและชีวิตส่วนตัวคือสองขั้วพลังที่พร้อมจะดึงเวลาอันเป็นจำกัดของคุณเสมอ เป้าหมายของการทำงานคือการสร้างผลงานด้วยประสิทธิภาพที่มากที่สุด ส่วนเป้าหมายของชีวิตคือการหาสมดุลเพื่อที่จะรับรู้ประสบการณ์หลากหลายของชีวิต หน้าที่ของเราก็คือการจัดการเวลาและภาระต่างๆเพื่อที่จะรักษาสมดุล และเรียนรู้ที่จะใช้เวลาที่มีอยู่ให้ดีที่สุดแทน

สำหรับคนส่วนมาก ชีวิตเราไม่สามารถอยู่ได้ถ้าไม่ทำงาน แต่เราก็จะไม่มีเป้าหมายในการทำงานถ้าเราเลือกที่จะไม่มีความสุขกับการใช้ชีวิต 

แม้ ‘จุดสมดุล’ ของชีวิตกับการทำงานของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ผมคิดว่าขั้นตอนในการ ‘หาจุดสมดุล’ นั้นสามารถเรียนรู้กันได้ โดยที่เราต้องเข้าใจเป้าหมายและเวลาที่ต้องใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายของการทำงานและการใช้ชีวิตให้ได้ก่อน

เป้าหมายของการทำงาน คืออะไร

เป้าหมายของการทำงานของทุกคนไม่เหมือนกันครับ บางคนทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ บางคนทำงานเพราะรู้สึกสนุกและท้าทาย หรือบางคนทำงานเพราะอยากจะเข้าสังคม

แต่ไม่ว่ายังไงก็ตาม ถ้าเราพูดว่าเราต้องทำงาน ก็แปลว่าเราต้องมีงานที่ต้องทำให้เสร็จหรืองานที่ต้องส่ง เหลือก็เท่ากับว่าเรามีเป้าหมายในแต่ละวันหรือแต่ละปีที่ต้องทำให้สำเร็จให้ได้

เป้าหมายของการทำงานก็คือประสิทธิภาพและประสิทธิผล เราจะทำยังไงให้งานออกมาดีและเร็วที่สุด ด้วยทรัพยากรที่น้อยที่สุด ซึ่งไม่ว่าจะเป็นงานฝ่ายการขาย การตลาดหรือการเงิน ผมก็เข้าใจว่าเป้าหมายของทุกคนที่ทำงานก็คงเป็นประมาณนี้

เราทำงานเพราะเราหวังผลตอบแทน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะในโลกที่ทุนนิยมเป็นกฏของสังคม สิ่งที่เราทำก็คือการทำตามกฎในฐานะประชากรคนหนึ่ง

แต่แน่นอนว่าเป้าหมายของการทำงานก็ไม่ได้เท่ากับเป้าหมายของชีวิตเสมอไป ไม่สิ…บ่อยครั้งที่เป้าหมายการทำงานขัดกับเป้าหมายของชีวิต

แล้วเป้าหมายของชีวิตคืออะไรกันนะ?

เป้าหมายของชีวิต คืออะไร

ชีวิตมนุษย์เรามีหลายด้านครับ นอกเหนือจากด้านการทำงานให้ผมพูดมาเยอะแล้ว เราก็ต้องสนใจเรื่องครอบครัว เรื่องของตัวเราเอง หรือหลายคนก็อาจจะสนใจเรื่องสังคมด้วย

บางคนต้องตื่นตอนเช้าพาลูกไปโรงเรียน แล้วก็ทำงานทั้งวัน พอตกเย็นก็ต้องรีบไปรับลูกพร้อมกับซื้อกับข้าวแล้วเครื่องใช้ในบ้านต่างๆ หากแฟนรู้สึกแย่เราก็ต้องหาเวลาคุยช่วยปรับทุกข์ตอนกลางคืนหลังส่งลูกนอน

เป้าหมายชีวิตพวกนี้ไม่ได้เรียกร้องแค่เวลาของเรา แต่ก็ยังเรียกร้องพลังกายและพลังใจของเราด้วย

ไม่ว่าสิ่งที่สำคัญหรือเป้าหมายในชีวิตของคุณคืออะไร ผมค่อนข้างมั่นใจว่าทุกคนมีหน้าที่และความรับผิดชอบเป็นของตัวเอง บางอย่างเราก็อยากจะทำให้ดีเพราะเราชอบ หรือบางอย่างเราก็อยากทำให้ดีเพราะว่ามันเป็นความรับผิดชอบของเรา

ใช่ครับ การเป็นมนุษย์คือการที่เราต้องสามารถสร้างสมดุลระหว่างสิ่งสำคัญต่างๆในชีวิตเราให้ได้

เป้าหมายของชีวิตคือการหาสมดุล และ เป้าหมายของการทำงานก็คือประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งสองอย่างนี้มีเป้าหมายที่ตรงข้ามกัน

ชีวิตและการทำงาน – เมื่อเป้าหมายตรงข้ามกัน

การทำงาน คือการโฟกัสที่ผลลัพธ์และผลตอบแทน ซึ่งถ้าคุณไม่ระวังสิ่งที่เรียกว่า ‘การทำงาน’ ก็จะคอยดึงเวลาส่วนอื่นของคุณมาเสมอเพื่อทำให้ผลลัพธ์และผลตอบแทนของการทำงานมันดีขึ้นเรื่อยๆ

ในขณะเดียวกัน ชีวิต งานอดิเรก และความรับผิดชอบอื่นๆของคุณก็จะคอยดึงเวลาการทำงานกลับมา เพื่อที่จะคงเป้าหมายของชีวิตไว้ ซึ่งก็คือการสร้างสมดุลนั้นเอง

และในเวลา 1 วัน หรือ 24 ชั่วโมง เราก็ต้องหาจุดอิ่มตัวให้ได้ว่าเราอยากจะ ‘ลงทุน’ กับการทำงานแค่ไหน เราอยากจะ ‘รับผิดชอบ’ ชีวิตส่วนอื่นแค่ไหน และเราอยากจะ ‘สนุก’ กับเวลาว่างของเราแค่ไหน

แต่ละคนมีจุดอิ่มตัวไม่เหมือนกันครับ แล้วแต่ละคนก็มีหน้าที่ความรับผิดชอบไม่เหมือนกันด้วย แต่ที่ทุกคนมีเหมือนกันก็คือ เวลา และอำนาจในการตัดสินใจชีวิตตัวเอง

หนึ่งวันของคุณ คือการเล่นชักกะเย่อระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต แต่มีวิธีไหนไหมที่จะช่วยให้การจัดการชีวิตและการทำงานมันง่ายขึ้น

วิธีการจัดการชีวิตและการทำงาน

ปัญหาสมดุลชีวิตและการทำงานเกิดจากการที่คุณไม่สามารถลงเวลาให้กับทุกอย่างที่เรียกร้องความสนใจของคุณได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณต้องทำก็คือ ‘การจัดการตารางเวลา’ ให้ดีขึ้น 

แน่นอนว่าคำตอบคงไม่ใช่อะไรง่ายๆเช่นการบอกว่า ‘ทำงานให้เร็วขึ้น’ หรือ ‘พยายามมากขึ้น’ อยู่แล้ว เรามาลองดูวิธีจัดตารางเวลาเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตกันครับ

  • ไม่มีเวลาทำ ก็จ้างคน – ผมคิดว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด แต่มันก็ต้องใช้เงินหรือใช้เวลาในการลงทุนเยอะ หากงานหรือสิ่งที่สำคัญในชีวิตมันล้นมือเรา เราก็ต้องหาคนช่วย ไม่ว่าจะเป็นการจ้างคนมาช่วยทำงาน หรือจ้างมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปรับลูกกลับมาจากโรงเรียนทุกวัน ความรับผิดชอบอันไหนที่คุณคิดว่ามีคนทำแทนได้ คุณก็ควรรีบจัดการสร้างระบบให้เรียบร้อย
  • ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็น – ไม่ว่าจะเป็นในที่ทำงานหรือในชีวิตส่วนตัว ผมคิดว่าทุกคนน่าจะมีเวลาบางช่วงหรือภาระบางส่วนที่มันไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ ซึ่งโดยส่วนมากแล้วสิ่งที่จะโดนตัดออกไปอย่างแรกสุดเลยก็คือเวลาส่วนตัวของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นเวลาดูหนัง ฟังเพลง หรืออ่านหนังสือ
  • จัดเวลาชีวิตใหม่ – หากคุณไม่สามารถตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออกจากชีวิตได้ สิ่งที่คุณอาจจะทำร้ายก็คือใช้เวลาให้มีประโยชน์มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นหาคุณกำลังรถติดขณะขับรถ คุณก็อาจจะใช้เวลานั้นดูคอร์สออนไลน์พัฒนาทักษะตัวเอง หรือโทรหาคนที่คุณรักเพื่อที่จะใช้เวลาให้คุ้มค่ามากขึ้น
  • กฏสองนาที – เป็นวิธีจัดการงานข้างหน้าที่ผมชอบมากครับ งานหรือภาระอะไรที่ใช้เวลาทำไม่เกินสองนาทีให้รีบทำทันที และงานอะไรที่ใช้เวลาทำเกินสองนาทีให้พักไว้ก่อนแล้วค่อยทำทีเดียวพร้อมกับงานอย่างอื่น
  • ในกรณีที่ตารางเวลาชนกัน จงเลือกสิ่งที่คุณจะไม่เสียใจภายหลัง – ไม่ว่าคุณจะจัดตารางชีวิตเก่งแค่ไหน วันใดวันหนึ่งก็จะเกิดความผิดพลาดตารางชนกันได้อยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปหาลูกค้าสำคัญ หรือการไปงานรับปริญญาลูก หากคุณเลือกอย่างมีสติแล้ว คุณก็ไม่ควรเสียใจภายหลังอีกต่อไป

คำตอบของการหาสมดุลไม่ใช่การ ‘ใส่เวลาเพิ่ม’ สมดุลชีวิตและการทำงานของเราอาจจะดีขึ้นถ้าเรา ‘ตัดบางอย่าง’ ทิ้งออกไปก็ได้ 

แต่สุดท้ายแล้วเทคนิคการบริหารเวลาเพื่อสร้างสมดุลก็เป็นวิธีที่มีข้อจำกัดเยอะ หากเราสามารถทำความเข้าใจเหตุผลของการสร้างสมดุลตั้งแต่แรกเราก็สามารถหาคำตอบที่ดีกว่านี้ได้

แต่ถ้าเราเลิกมองสมดุลเป็นเรื่องของการจัดเวลา…

ต่อให้เราบริหารจัดตารางดีแค่ไหน ‘เวลา’ ก็เป็นทรัพย์ยากรที่มีจำกัด ต่อให้เราพยายามบริหารเวลาสร้างสมดุลแค่ไหน เราก็สามารถทำเวลาหลุดมือได้ทุกเมื่อ

คนส่วนมากไม่เข้าใจว่า เวลาเป็นแค่ปัจจัยรองของการสร้างสมดุลในชีวิตและการทำงานเท่านั้น

สิ่งที่สำคัญกว่าในการหาสมดุลของชีวิตและการทำงานก็คือ ‘การใส่ใจ’ …. แต่มันแปลว่าอะไรกันนะ?

การใส่ใจคือการที่คุณรับรู้และเข้าถึงทุกสถานการณ์ในชีวิตคุณ มันเป็นการที่คุณมีสติและ ‘อยู่กับปัจจุบัน’ ในขณะที่คุณกำลังทำทุกอย่าง

ผมจะลองยกตัวอย่างดูนะครับ ในหนึ่งวัน ถ้าหักเวลานอนพักผ่อนแล้ว คุณอาจจะมีเวลาแค่วันละ 16-18 ชั่วโมงเท่านั้น ต่อให้คุณทำงานเร็วหรือบริหารคนเก่งแค่ไหน คุณก็มี ‘จุดสูงสุด’ ที่เท่าเดิม

แต่ถ้าคุณมองการจัดสมดุลชีวิตเป็นการใส่ใจกับสิ่งที่ทำอยู่ คุณก็จะสามารถใช้ใจคุณกับงานได้ 100% และ กับชีวิตส่วนตัวได้ 100% เช่นกัน หากเราเลือกที่จะมองข้ามการ ทำให้ดีขึ้น หรือ อยากได้เวลามากกว่านี้ เป็นการ ‘ใช้เวลาที่มีอยู่ให้ดีที่สุดแทน’ เราก็จะหลุดพ้นจากสมดุลของชีวิตและการทำงานได้

อย่างไรก็ตามสมดุลของชีวิตและการทำงานก็ไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถตัดสินใจด้วยตัวเองได้ทั้งหมด ของบางอย่างเช่นเวลาการเข้างานที่บริษัทเป็นคนกำหนด หรือการพาลูกไปหาหมอก็เป็น ‘สิ่งที่ใช้เวลา’ มากพอกับสิ่งที่ต้องใช้ใจทำเลย (เราไม่สามารถเข้างานวันละ 3 ชั่วโมง หรือบังคับให้หมอตรวจโรคให้เสร็จได้ภายใน 10 นาที)

หากคุณคิดว่าคุณยังไม่สามารถข้ามมายังขั้นตอนการ ‘ใช้เวลาที่มีอยู่ให้ดีที่สุด’ ได้ ผมแนะนำให้คุณกลับไปศึกษาเรื่องวิธีการจัดการชีวิตและการทำงานข้างบนใหม่อีกรอบก่อนนะครับ เราต้องบริหารชีวิตเราอย่างมีลำดับและต้องมั่นใจก่อนว่า ‘ความต้องการพื้นฐาน’ ของทุกอย่างในชีวิตและการทำงานของคุณได้รับการดูแลแล้ว

ความสำคัญของการจัดสมดุลชีวิต

สิ่งที่สำคัญจริงๆก็คือ คุณต้องมองชีวิตคุณด้วยความเป็นจริง ว่าคุณพอใจกับเวลาที่คุณลงไป และคุณพอใจกับผลลัพธ์ที่คุณได้มามากแค่ไหน เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่จะตัดสินว่าคุณบริหารเวลาได้ดีแค่ไหนคือก็ตัวคุณเอง ในอีกยี่สิบ สามสิบ หรือสี่สิบปีข้างหน้า คุณจะเสียใจกับสิ่งที่ได้ทำ หรือ การตัดสินใจที่คุณเลือกไปไหม?

ผมเข้าใจว่ามันน่าหงุดหงิดมากเวลามีบอกเราให้ทำให้ดีกว่านี้ หรือทำให้เร็วกว่านี้ทั้งๆที่เรารู้สึกว่าเราก็ทำดีแล้วหรือเราทำได้มากที่สุดแค่นี้แล้ว

การบอกให้คนจัดสมดุลชีวิตเป็นเรื่องที่พูดได้ง่าย แต่ถ้าเรามาลองดู ‘สิ่งที่เราต้องทำ’ ในแต่ละวันแล้วมันก็ยากที่จะทำให้มันดีขึ้นได้ในวันสองวัน หรือจะบอกให้ใส่ใจกับทุกอย่างมันก็ไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถปรับตัวได้ทันทีอยู่แล้ว

ไม่ว่าจะเป็นการจัดเวลาภายนอกหรือการใส่ใจจากข้างใน เราต้องเข้าใจว่าสมดุลชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างมากในการ ‘เรียนรู้’ และ ‘สร้าง’ มันขึ้นมา

เพราะอะไรที่ได้มาง่ายๆมันก็คงไม่ใช่สิ่งที่เราอยากได้จริงๆใช่ไหมครับ

บทความล่าสุด