ตอนเด็กๆเราอาจจะกลัวความืด กลัวผี กลัวการอยู่คนเดียว หรือ บางคนก็อาจจะกลัวที่สูง กลัวแมลงสาบ
แต่ความกลัวนั้นเกิดมาจากอะไรกันนะ ทำไมมนุษย์เราถึงต้องกลัวด้วย ในวันนี้เรามาเรียนรู้เกี่ยวกับความกลัวกัน
ความกลัวคืออะไร – สาเหตุของความกลัว
ความกลัวคือปฏิกิริยาตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่มีไว้ป้องกันตัวเองเวลาเจอกับอะไรที่อาจจะส่งผลไม่ดีกับตัวเองได้ เวลาที่เราเผชิญกับสิ่งที่ทำให้เรากลัว ร่างกายของเราก็จะเตือนตัวเองด้วยการสร้างเหงื่อ ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น และเพิ่มอะดรีนาลีนในให้เราตื่นตัวมากขึ้น
ความกลัวไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดีเสมอไป มนุษย์ในสมัยก่อนก็ใช้ความกลัวเพื่อเตือนตัวเองว่าอย่าออกไปล่าสัตว์ใกล้เสือและสิงโต หากมนุษย์ไม่มีความกลัวอะไรเลยก็คงไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ยาวนานขนาดนี้
สาเหตุของความกลัวของคนเรานั้นมีหลายอย่าง ความกลัวเป็นอารมณ์ที่ซับซ้อนอย่างหนึ่งเลยครับ คนบางคนกลัวเพราะที่ผ่านมาเคยเจอเหตุการณ์อะไรที่ทำให้รู้สึกไม่ดี เช่นกลัวสุนัขเพราะเคยโดนกัด บางคนก็อาจจะกลัวเพราะ ‘อาการทางกายภาพ’ เช่น กลัวที่สูงเพราะทำให้รู้สึกเวียนหัว
สมองของคนเรา ‘ตีความหมาย’ ความกลัวไม่เหมือนกัน ซึ่งก็ทำให้มันยากในการสื่อสารอารมณ์ความกลัวนี้ให้คนอื่นเข้าใจ
จิตวิทยาและทฤษฎีของความกลัว
ในโลกหลายร้อยปีที่แล้วที่มนุษย์ไม่สามารถป้องกันตัวเองจากภัยอันตรายต่างๆได้ ความกลัวก็เป็นสิ่งที่คอยช่วยเหลือเรา แต่ในโลกปัจจุบันที่ภัยอันตรายพวกนี้ลดน้อยลง ความกลัวกลายเป็นอะไรที่เข้าใจได้ยาก
สมองของเรายังคงมองว่า ‘การพูดต่อหน้าคนเยอะๆ’ เป็นอะไรที่น่ากลัว น่ากลัวจนทำให้ร่างกายเราสั่นจนควบคุมไม่ได้ (เหตุผลก็คือมนุษย์มองว่าการเข้าสังคมเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการอยู่รอด และการที่เราไม่สามารถเข้าสังคมได้ดี อย่างการพูดต่อหน้าคนอื่น ก็เป็นการทำให้พื้นที่ของเราในสังคมถูกสั่นคลอน)
ปฏิกิริยาต่อความกลัวของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนกลบเกลื่อนความกลัวด้วยอารมณ์โมโห ส่งเสียงดังเพื่อขู่อีกฝ่ายว่าอย่ามาเข้าใกล้นะ บางคนก็ใช้การหลีกเลี่ยงความกลัว เช่นกลัวจมน้ำเลยไม่อยากไปเที่ยวทะเล
ปัญหาของคนส่วนมากก็คือการกลัวจนไม่กล้าทำอะไร และ การติดอยู่กับความรู้สึกกลัวจนลืมหาทางแก้หรือหาวิธีลดความกลัวนั้นๆ
ความกลัวและโรควิตกกังวล (Anxiety)
ความกลัวและอาการโรควิตกกังวลเป็นสิ่งที่คนพูดถึงร่วมกันบ่อย ทั้งสองอย่างมีอาจจะมีอาการคล้ายๆกันแต่ตามความหมายแล้ว ความกลัวจะหมายถึงการคุกคามจากสิ่งที่เรารู้และเข้าใจ ส่วนความวิตกกังวลเป็นอาการจากสิ่งที่เราไม่รู้หรือภัยที่เราไม่สามารถอธิบายได้
ทั้งสองกรณีทำให้ร่างกายเราเกิดอาการเครียด ทำให้มีอาการเหงื่อไหล หัวใจเต้นเร็ว หายใจไม่ออก แต่สาเหตของอาการทั้งสองอย่างจะไม่เหมือนกัน
ความรู้สึกวิตกกังวลหมายถึงการที่เราเดินไปในซอยมืด แล้วเกิดรู้สึกไม่ดีจนมวนท้อง เป็นความรู้สึกที่ว่าคนแปลกหน้าจะกระโดดออกมาเมื่อไรก็ได้ เราไม่ได้เห็นว่าภัยอยู่ต่อหน้าเรา แต่เรา ‘มองว่า’ ภัยสามารถเกิดขึ้นได้จนรู้สึกเครียด
อย่างไรก็ตามคำว่า ‘กลัว’ ก็เป็นอาการที่ใช้อธิบายกิริยาพวกนี้ได้ในภาษาทั่วไป การเลือกคำศัพท์ให้ถูกก็เป็นเรื่องดี แต่การเข้าใจความกลัวเพื่อหาวิธีเอาชนะมันให้ได้สำคัญกว่า
ความกลัวของมนุษย์เกิดจากความไม่รู้
เราสามารถอยู่เหนือความกลัวของตัวเองได้ ผมไม่ได้หมายความว่าเราต้องไม่รู้สึกกลัวนะครับ แต่แค่อาการของความกลัวไม่ควรทำให้การตัดสินใจของเราแย่ลง
กฏแรกของความกลัวก็คือเรากลัวในสิ่งที่เราไม่รู้ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถมองในที่มืดได้ เพราะฉะนั้นความมืดที่ทำให้เรามองไม่เห็นก็เลยกลายเป็นความกลัว หรือหากเราโดนย้ายไปอยู่ในสถานที่ใหม่ๆ ต้องเจอคนใหม่ๆ เราก็อาจจะรู้สึกกลัวได้เพราะเราไม่เคยอยู่ในสถานการณ์นี้มาก่อน
ยิ่งไปกว่านั้น เวลาสมองสั่งให้ร่างกายของเรากลัว เราก็จะรู้สึกแปลก หากเราไม่เข้าใจชีวศาสตร์ของความกลัวเราก็จะยิ่งรู้สึกตกใจเข้าไปใหญ่เวลาเรารู้สึกว่าขยับไม่ได้ ส่งเสียงไม่ออก ยิ่งเราไม่รู้ เราก็ยิ่งกลัว
สิ่งที่เราไม่รู้อาจจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ เวลาเราข้ามถนน ต่อให้เรามองแล้วว่าไม่มีรถ เราก็ยังจะต้องระวังตัวอยู่ดี ความรู้สึกไม่มั่นคงกับสถานการณ์พวกนี้บางคนก็เรียกว่าความกลัว ยิ่งถ้าคุณไปเดินถนนที่คุณไม่เคยไปมาก่อน หรือไปต่างประเทศความกลัวพวกนี้ก็จะยิ่งมีผลมากขึ้น
‘ตลาดหุ้น’ เป็นตัวอย่างของความกลัวเพราะความไม่แน่นอน การซื้อขายทุกอย่างขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือทั้งหมด (โดยที่มีตัวเลขผลประกอบการมาเป็นตัวช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ) การที่เราไม่สามารถรับรู้ถึงการกำไรขาดทุนได้อย่างแน่นอนทำให้เราทำตัว ‘ไม่สมเหตุผล’ มากขึ้น ยิ่งเรากลัวเรายิ่งรู้สึกว่าเราควรทำอะไรบางอย่าง
ความไม่รู้ เป็นลาภอันประเสริฐ
แต่การที่ ‘เรารู้ว่าตัวเองไม่รู้’ กลายเป็นการสร้างความกลัว
วิธีเอาชนะความกลัว
ผมคิดว่าเวลาคนอยากจะ ‘ชนะความกลัว’ เค้าไม่ได้อยากให้ร่างกายตัวเองขาดความรู้สึกกลัวหรอกครับ สิ่งที่คนอยากได้ในการเอาชนะความกลัว คือการเอาชนะ ‘อาการไม่ดีของความกลัว’
‘อาการไม่ดีของความกลัว’ ก็เช่น กลัวจนไม่กล้าทำอะไร กลัวจนรู้สึกโมโหโดยไม่รู้ตัว หรือ กลัวจนต้องตีตนออกห่างจากสิ่งดีๆในชีวิต สิ่งแย่ๆที่เกิดจากความกลัวพวกนี้เราคงอยากจะลดให้น้อยลงให้ได้ หนังฝรั่งหลายเรื่องว่าไว้:
ความกล้าไม่ใช่การปราศจากความกลัว
แต่คือการเลือกจะทำแม้จะมีความกลัวอยู่เต็มหัวใจ
แต่ชีวิตไม่ใช่หนังฮอลลีวูด ความกล้ามันอธิบายยาก เรามองว่าการเอาชนะความกลัวคือการตั้งสติกันดีกว่า แต่ ‘การตั้งสติ’ มันทำยังไงกันนะ
ในมุมมองของการเอาชนะความกลัว การตั้งสติคือการพยายามเข้าใจจิตใจและร่างกายของตัวเอง ทำไมเราถึงกลัวและอะไรกันแน่ที่ทำให้เรากลัว
ยกตัวอย่างเช่น หากเราบอกว่า ‘กลัวที่สูง’ มันต้องสูงแค่ไหนเราถึงจะกลัวกัน ถ้าสูงสิบเมตรเราจะกลัวไหม? แล้วถ้าห้าเมตร? สามเมตร? หนึ่งเมตร? สิบเซน? การค่อยๆเรียนรู้จุดอ่อนของตัวเอง ไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหน ก็ทำให้เราเอาชนะความกลัวได้มากขึ้น
ไม่ว่าความกลัวนั้นจะมีเหตุผลมากแค่ไหน หากเราเข้าใจที่มาและขอบเขตของความกลัว เราก็จะรู้สึกว่าความกลัวนั้นไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้นอีกต่อไป
เคล็ดลับเอาชนะความกลัว
หากคุณเป็นคนที่มีความกลัวหรือความวิตกกังวลมากเกินไป (จนอาจจะรบกวนการใช้ชีวิต) คำแนะนำที่ดีที่สุดคือการหาศูนย์รักษา แต่ถ้าอาการของคุณไม่ได้มีมากขนาดนั้น ลองใช้วิธีด้านล่างดูก็ได้ครับ
- ให้เวลาตัวเองอยู่กับความกลัวอย่างน้อย 2-3 นาที หากใจเข้าออกและบอกกับตัวเองว่า ‘ความกลัวเป็นเรื่องธรรมดา มีเข้ามาก็มีออกไปได้’ หลักจากผ่านไป 2-3 นาทีแล้วให้หาอะไร ‘หล่อเลี้ยง’ ตัวเอง อาจจะเป็นการโทรหาเพื่อนหรือครอบครัวของคณ หรือ ออกไปทำกิจกรรมอะไรที่คุณคิดว่าจะทำให้คุณรู้สึกดี
- จดสิ่งที่ทำให้คุณรู้สึก ‘อยากขอบคุณ’ – และนำรายการสิ่งของพวกนี้ออกมาดูเวลาที่คุณรู้สึกแย่ ให้เติมรายการพวกนี้ไปเรื่อยๆ
- ออกกำลังกาย – การออกกำลังกายทำให้สมองของคุณโฟกัสไปเรื่องอื่นที่ไม่ได้ทำให้คุณกลัว คุณอาจจะแค่ออกไปเดินเล่นไม่กี่นาทีหรือไปวิ่งหนึ่งชั่วโมงก็ได้ หลังจากที่คุณออกกำลังกายเสร็จแล้วคุณจะรู้สึกมีพลังและมั่นใจในตัวเองมากขึ้น
- มุขตลก – ใช้เรื่องตลกเพื่อปรับมุมมองเกี่ยวกับความกลัวของเรา คนที่สามารถหัวเราะเรื่องความกลัวของตัวเองได้จะเข้มแข็งมากกว่าเดิม
- ชื่นชมความกล้าของตัวเอง – ทุกครั้งที่คุณกล้าลองอะไรใหม่ๆหรือกล้าท้าทายความกลัวของตัวเอง ให้หาวิธีให้รางวัลตัวเองหน่อย เรียนรู้ว่าความกล้าเป็นอะไรที่ต้องฝึกฝน
ผมคิดว่าข้อสำคัญก็คือเราต้องไม่โทษตัวเองเรื่องความกลัวและเราต้องไม่คิดว่าความกลัวเป็นเรื่องที่ผิดหรือเรื่องน่าอาย คนเราจะพัฒนาได้เมื่อเราสามารถยอมรับปัญหาของตัวเองได้ หากเรายอมรับความกลัวของตัวเองและค่อยๆหาวิธีก้าวผ่านความกลัวได้ทีละเล็กทีละน้อย เราก็จะเป็นคนที่ดีขึ้นได้ อย่าไปฟังความคิดแง่ลบในหัวเรา
ใช้ความกลัวให้เป็นประโยชน์
สุดท้ายนี้สิ่งเรายังสามารถใช้ความกลัวในการกระตุ้นตัวเองให้ทำอะไรใหม่ๆหรือมีพลังใจมากขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่นการใช้การ ‘กลัวความล้มเหลว’ เป็นแรงจูงใจในการทำงาน หรือใช้ ‘กลัวป่วย’ เพื่อผลักดันให้ตัวเองออกกำลังกายเพิ่มอย่างสม่ำเสมอ
ผมไม่คิดว่าความกลัวเป็นเรื่องที่แย่เสมอไป สิ่งสำคัญคือเราต้องหาวิธีอยู่กับความกลัวปัจจุบันให้ได้ และ หาวิธีก้ามผ่านความกลัวที่ทำให้ชีวิตเราแย่ละ ความกลัวจะเป็นสิ่งไม่ดีต่อเมื่อเราปล่อยให้ความกลัวมาบงการชีวิตมากเกินไป แต่ถ้าเราทำอะไรอย่างมีสติและมีเป้าหมายแล้ว การนำความกลัวเล็กน้อยมาใช้ให้เป็นประโยชน์ก็ไม่ใช่เรื่องแย่ครับ
อารมณ์และความรู้สึกเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าเราเป็นมนุษย์ แต่หากเราเรียนรู้ที่จะเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกตัวเอง เรียนรู้ว่าจุดไหนคือ ‘ความพอดี’ ของเรา เราก็จะเป็นมนุษย์ที่ดีกว่าตัวเราเมื่อวาน
บทความเกี่ยวข้องที่เราแนะนำ
- 7 สิ่งที่ควรรู้เวลาคุณรู้สึกไม่ดีพอ
- Stoicism คืออะไร? การอดทนและควบคุมตนเอง แบบสโตอิก
- วิธีรับมือความผิดหวังและความเสียใจ
บทความล่าสุด
การจัดโต๊ะคอมให้สวยถูกใจ พร้อมฟังก์ชันการใช้งานครบครัน...
ในมุมมองหนึ่ง ‘ลูกคนกลาง’ ดูเหมือนจะต้องแบกรับภาระทางใจอันหนักอึ้ง...