แม้จะมีทฤษฎีที่เชื่อว่า การบ่นคือการระบายอารมณ์ เป็นวิธีช่วยลดความเจ็บปวดอย่างหนึ่งด้วยเช่นกัน แต่หากเราได้ทำงานใกล้ชิดกับคนขี้บ่นขึ้นมาจริง ๆ เราจะรู้ได้เลยว่า เป็นเรื่องที่น่ารำคาญมาก ที่ต้องมาคอยรับฟังสารพัดความเห็นที่จู้จี้จุกจิก
หากบ่นหนัก ๆ เข้า การบ่นจะกลายเป็นมลพิษทางอารมณ์ กับคนรอบข้างโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน แน่นอนว่าแต่ละคน มีหนทางในการจัดการกับอารมณ์ของตัวเองต่างกันไป บางคนอาจจะบ่นเพราะมีวาระซ่อนเร้นไม่ได้บ่นไปทุกเรื่อง แต่ต้องการจะบอกอะไรแบบอ้อม ๆ
5 ข้อเสียของการบ่น (ที่ทำร้ายเรากว่าที่คิด)
บางคนก็บ่นไปทุกเรื่อง เพราะไม่เคยพอใจในอะไรสักอย่าง แต่รู้หรือไม่ว่า ไม่ว่าจะบ่นแบบไหน เมื่อการบ่นไม่มีขอบเขต บ่นซ้ำ ๆ เดิม ๆ มันเป็นข้อเสียอย่างรุนแรง ที่ทำให้เกิดการคิดลบ เกิดความเครียด วิตกกังวล จนมีความเสี่ยงเป็นภาวะทางจิตได้เหมือนกัน
เมื่อรู้แล้วว่าการบ่นเป็นสิ่งที่ไม่ดี ก็ควรจะลด ละ เลิก ซะแต่เนิ่น ๆ เพื่อจะได้ไม่กลายเป็นคนที่ถูกตั้งแง่จากสังคมรอบข้าง วันนี้เราจะพาไปดูข้อเสียของการบ่นกัน
1. ยิ่งบ่น ยิ่งเหนื่อย (และยิ่งอยากบ่นต่ออีก)
เพราะสาเหตุของการบ่นนั้นมีหลากหลายมากมาย จนบางครั้งเราเองก็อาจไม่รู้ตัวว่าที่บ่น ๆ อยู่นั้นคือเรื่องไหนกันแน่ แต่หลัก ๆ มักจะเกิดจากความไม่พอใจในบางสิ่ง หรือยากจะยอมรับกับอะไรบางอย่าง ทำให้เกิดปฏิกิริยาจากความคิดภายในร่างกาย และส่งต่อออกมาเป็นการบ่นนั่นเอง
แม้ว่าการบ่นดูเหมือนจะเป็นการพูดเบา ๆ พูดเรื่องเดิม ๆ ซ้ำซาก แต่การบ่นนั้น กลับใช้พลังงานมากกว่าปกติ เพราะต้องใช้สมองในการคิดมากขึ้น จิตใจจะกระเจิดกระเจิงฟุ้งซ่าน จนทำให้เลือดลมแปรปรวน ทำให้ร่างกายเหนื่อยง่าย อ่อนเพลียง่าย
ในการบ่นแต่ละครั้ง จะมีความไม่สบายใจ คิดมาก จนถึงอาการขุ่นข้องหมองใจ ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการใช้พลังงานในร่างกาย
2. ฝึกตัวเองให้เป็นคนคิดลบ โดยไม่รู้ตัว
เพราะการบ่นคือการนำเรื่องเก่ามาพูดซ้ำ เท่ากับเป็นการตอกย้ำให้ความรู้สึกที่แย่อยู่แล้ว กลับแย่ลงไปมากกว่าเดิม
จนบางครั้งอาจจะกลายเป็นเหมือนการสะกดจิตตัวเองไปเลยก็ได้ เพราะการบ่นด้วยความไม่พอใจ เป็นตัวขับเคลื่อนพลังด้านลบมากขึ้น และเมื่อคิดลบมากขึ้น การยอมรับนับถือตัวเอง ความภูมิใจในตัวเอง (Self-Esteem) ก็ลดลง (อ่านเพิ่มเรื่อง self-esteem ได้ที่นี่)
หากคิดลบบ่อย ๆ ก็จะมองตัวเองไม่มีคุณค่าลงเรื่อย ๆ ไม่พอใจในทุกสิ่ง ไม่มีแรงบันดาลใจ ขาดความมั่นใจ หรือหากหนักเข้าก็จะเริ่มไม่รักตัวเอง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลกระทบจากการบ่น จนกลายเป็นคนตั้งแง่คิดลบกับทุกปัญหา บ่นวนลูปอยู่แต่เรื่องเดิม ไม่ยอมคิดไปข้างหน้าเสียที ทำให้เรื่องราวต่าง ๆ แย่มากกว่าเดิม
3. การบ่นทำให้กลายเป็นคนมีเพื่อนน้อย
ถึงแม้ว่าการเป็นคนขี้บ่น จะเป็นสิ่งที่พบได้ในคนส่วนใหญ่ก็ตาม แต่อย่างที่บอกไปแล้วว่า การบ่นนั้นมีหลายระดับ และแต่ละคนมีการจัดการแก้ปัญหาที่ต่างกัน
แต่หากจัดการไม่ได้ กลายเป็นคนพูดอะไรซ้ำ ๆ ไม่รู้เวลาพูด ก็จะทำให้คนรอบข้างเบื่อหน่าย หนัก ๆ เข้าก็เริ่มไม่อยากฟัง ไม่อยากเป็นที่ระบายหรือรองรับอารมณ์ ก็จะเริ่มหลบหน้าเรา หรือค่อย ๆ ถอยห่าง เว้นระยะการทำงานร่วมกันออกไปเรื่อย ๆ
ลองนึกภาพดู อาจจะมีเพื่อนที่ออฟฟิศ ประชุมเสร็จก็จะออกมาบ่นต่อไม่หยุด ทั้ง ๆ ที่รับฟังเรื่องราวในห้องประชุมมาแล้ว ก็ยังเอาเรื่องเดิมออกมาพูดอีก ใครทนได้ก็ต้องคอยพยักหน้าเห็นด้วย
แต่หากเราบ่นหนักเข้า คนรอบข้างเราก็จะค่อย ๆ หายไปทีละคนสองคน เพราะไม่อยากทนรับฟังนั่นเอง แต่ก็นั่นแหละ เพราะมีผลวิจัยออกมาว่าคนทำงานออฟฟิศ ใช้เวลามากกว่า 20 ชั่วโมงต่อเดือนในการบ่น คิดเป็น 12.5% ของเวลาทำงานทั้งหมดกันเลยทีเดียว
4. คุณกำลังลดคุณภาพชีวิตตัวเอง
สิ่งหนึ่งที่เรามักจะได้ยินคือ ไม่ว่าเราจะบ่นใครก็ตาม คนที่ได้ยินเสียงบ่นชัดเจนก็คือตัวเราเอง ยิ่งเป็นการบ่นในทางลบ ได้ยินเรื่องลบบ่อย ๆ ก็จะเป็นตัวการทำลายความสุข บั่นทอนความคิดดี ๆ ที่มีอยู่ในตัวเรา และส่งผลต่อการดำเนินชีวิตด้วย
เราอาจจะมีเหตุผลร้อยแปดพันประการที่จะบ่น แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า การบ่นนั้นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรได้เลย นอกจากเพื่อนจะเข้าใกล้เราน้อยลงแล้ว นาน ๆ เข้าเราอาจถูกโดดเดี่ยว ให้ต้องอยู่กับกลุ่มคนที่ขี้บ่นเหมือน ๆ กันก็เป็นได้
และพอเกิดเหตุการณ์แบบที่ว่าขึ้นมาแล้วจริง ๆ ก็ต้องมาคอยกังวลอีกว่า ทำไมเพื่อนหายไป ทำไมคนทำงานที่เคยสนิทค่อย ๆ ถอยห่างออกไป หรือพยายามหลบหน้า ต้องใช้เวลาไปกับความวิตกกังวลเป็นส่วนใหญ่
บางคนคิดมากจนพาเสียสมาธิ เสียการเสียงานไปเลยก็มี หรือหากเป็นการบ่นกับคนในครอบครัวบ่อย ๆ ก็จะกลายเป็นเกิดเรื่องบาดหมาง หรือทะเลาะเบาะแว้งกันได้ ความสุขต่าง ๆ ในชีวิตก็จะค่อย ๆ หายไป
5. การบ่นเสี่ยงต่อการเกิดโรค
รู้หรือไม่ว่า ไม่ใช่เฉพาะเรื่องสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน หรือเพื่อนฝูงเท่านั้น แต่การบ่นยังส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ด้วยเช่นกัน เพราะมีผลการวิจัยออกมาแล้ว และชี้ให้เห็นว่า การบ่นและความเครียดที่เกิดขึ้น อาจทำให้สมองส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) หดตัวลง
ฮิปโปแคมปัสเป็นสมองส่วนที่มีผลต่อความจำและการคิด ที่ช่วยให้เราคิดอย่างรอบคอบ เฉลียวฉลาด ซึ่งหากฮิปโปแคมปัสลดลงมาก ๆ อาจส่งผลถึงการเป็นอัลไซเมอร์ Alzheimer ได้เช่นกัน
ไม่เพียงแต่สมองเท่านั้น การบ่นมาก ๆ บ่นบ่อย ๆ ยังส่งผลเสียต่อร่างกายได้ด้วยเช่นกัน
เพราะการบ่นจะกระตุ้นให้ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนแห่งความเครียดหลั่งออกมา จะมีผลต่อระดับและเส้นทางออกซิเจนในเลือด ส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของร่างกายในระยะยาว อาจะทำให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ฯลฯ
ข้อเสียของการบ่นที่เราบอกไว้ด้านบนนั้น ล้วนส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตทั้งสิ้น จากคนที่เคยมีเพื่อนฝูงห้อมล้อม เพื่อนก็จะเริ่มลดน้อยลง
หากอยากจะเลิกนิสัยการบ่นพร่ำเพรื่อ จนทำให้เราเป็นกลายเป็นคนน่ารำคาญในสายตาคนรอบข้าง ก็ต้องรีบย้อนกลับมาทบทวนปัญหาต่าง ๆ ว่า สาเหตุของการเป็นคนชอบบ่น เกิดจากอะไรกันแน่ เริ่มตั้งต้นใหม่ ค่อย ๆ แก้ไขไปทีละจุด พร้อมรับฟังคำเตือนอย่างมีสติ อย่าปล่อย ๆ ไป จนกลายเป็นความเคยชินและสายเกินแก้
การบ่นมีข้อเสียมากมาย แม้ว่าบางครั้งเชื่อว่า คนชอบบ่นอาจจะไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าการระบายอารมณ์ แต่หากปล่อยให้การบ่นครอบงำบ่อย ๆ เข้า ทัศนคติด้านลบก็จะติดตัวเรามาโดยไม่รู้ตัว ที่บอกมาทั้งหมดไม่ใช่ว่าไม่ควรบ่นเลย
แต่ต้องไม่ลืมว่าการบ่นอาจทำได้เพียงบางครั้งบางคราวเท่านั้น และที่สำคัญบ่นแล้วต้องหาทางแก้ปัญหาไปพร้อม ๆ กันด้วย ไม่อย่างนั้นเราจะกลายเป็นคนที่มีพฤติกรรมที่น่ารำคาญต่อผู้อื่น และการบ่นยังส่งผลเสียต่อสุขภาพของตัวเราเองด้วยเช่นกัน
บทความล่าสุด
การจัดโต๊ะคอมให้สวยถูกใจ พร้อมฟังก์ชันการใช้งานครบครัน...
ในมุมมองหนึ่ง ‘ลูกคนกลาง’ ดูเหมือนจะต้องแบกรับภาระทางใจอันหนักอึ้ง...