คุณโมโหง่ายจนทำให้ชีวิตแย่ลงหรือเปล่า? โมโหจนไม่เป็นอันทำงาน โมโหจนคนรอบข้างปลีกตัวหนี โมโหจนสุขภาพร่างกายและจิตใจแย่ลง
ความโกรธเป็นเรื่องธรรมดาและเป็นอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ แต่เราก็ควรหาวิธีควบคุมอารมณ์นี้ในทางที่ถูกด้วย การที่เราไม่พยายามควบคุมอารมณ์ของตัวเองอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความสัมพันธ์ต่างๆในชีวิตได้ ในบทความนี้เรามาดูกันว่าการควบคุมอารมณ์โมโห ‘ที่เราเริ่มได้วันนี้’ ทำยังไงบ้าง
Table of Contents
วิธีทำให้ใจเย็นและควบคุมอารมณ์เวลาโมโห
วิธีทำให้ใจเย็น ควบคุมอารมณ์เวลาโมโห เริ่มจากการสังเกตุอารมณ์ของตัวเอง หากรู้สึกว่าตัวเองกำลังหงุดหงิด หัวร้อนให้พยายามหาวิธีเปลี่ยนความคิดความสนใจไปที่เรื่องอื่น นอกจากนั้น เราสามารถควบคุมอารมณ์ด้วยการดูแลสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิตใจ และ สุขภาพความคิดของเรา
อาจจะเป็นการสรุปวิธีทำให้ใจเย็นที่ง่ายไปหน่อย ในส่วนต่อไป เรามาดูอ่านรายละเอียดวิธีควบคุมอารมณ์โมโหของเราเพิ่มกันครับ
ทำความเข้าใจอารมณ์โกรธ
อย่างที่บอกไป ความรู้สึกโกรธเป็นเรื่องธรรมดา มันเป็นอารมณ์อย่างหนึ่งไม่มีดีไม่มีแย่ และเหมือนอารมณ์อื่นๆของเรา ความโกรธเป็นสัญญาณบอกถึงสภาพจิตใจของเรา มันบอกเราว่าเรากำลังรู้สึกแย่ หรือรู้สึกถูกกดดัน
เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องธรรมดามากที่เราจะรู้สึกโกรธ โดยเฉพาะเวลาที่มีคนมาทำให้เรารู้สึกแย่ แต่ความโกรธจะเริ่มกลายเป็นปัญหาถ้าคุณปลดปล่อยมันออกมาในทางที่ทำร้ายตัวเองและคนรอบข้าง
คุณอาจจะคิดว่าการระบายอารมณ์ออกมาเป็นสิ่งที่ทุกคนทำกัน บางครั้งคนรอบข้างคุณอาจจะเป็นฝ่ายผิดด้วยซ้ำที่คิดมากเกินไป คุณอาจจะคิดว่าความโกรธของคุณเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว หรือว่าการแสดงความโกรธเป็นสิ่งที่จำเป็นในการให้คนรับฟังผลเมื่อคืน แต่ในความเป็นจริงแล้วความโกรธอาจจะสร้างผลลบให้กับชีวิตคุณมากกว่าเดิม คนรอบข้างคนอาจจะมองคุณแย่ลง ความโกรธจะรบกวนการตัดสินใจของคุณ และจะเป็นสิ่งที่ทำให้คุณไม่ประสบความสำเร็จ
ข้อเสียของความโกรธ
หากคุณเป็นคนที่โมโหบ่อย หรือปล่อยให้อารมณ์มาควบคุมการตัดสินใจของคุณ คุณอาจจะเจอปัญหาดังนี้ครับ
- สุขภาพร่างกาย – การที่คุณปล่อยให้ร่างกายอยู่ในสภาวะเครียดและโมโหอยู่ตลอดเวลาจะทำให้คุณมีโอกาสเป็นโรคหัวใจ โรคความดัน โรคนอนไม่หลับ โรคเบาหวาน และทำให้ ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอลง
- สุขภาพจิตใจ – การโมโหบ่อยๆเป็นการใช้พลังงานสมองเราอย่างมากครับ คุณจะไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้อย่างมีเหตุผล และจะไม่สามารถมีความสุขกับชีวิตได้อย่างเต็มที่ นอกจากนั้นแล้วคุณอาจจะเป็นโรคเครียด โรคซึมเศร้า หรือโรคอื่นๆอีกเยอะแยะเลย
- หน้าที่การงาน – การแสดงความคิดที่แตกต่าง และการให้คำแนะนำเป็นเรื่องที่ดี แต่การใช้อารมณ์มากเกินไปจะทำให้เพื่อนร่วมงาน หัวหน้า และลูกค้า เคารพคุณน้อยลง เท่ากับว่าความคิดเห็นของคุณจะไม่มีใครเห็นค่ามากกว่าเดิม
- ความสัมพันธ์ – บางครั้งการโมโหครั้งเดียวก็อาจจะทำให้คนจำไปตลอดทั้งชีวิตก็ได้ อารมณ์โมโหเป็นตัวทำร้ายความสัมพันธ์มาเยอะแล้วครับไม่ว่าจะเป็นมิตรภาพ ความรัก ความสัมพันธ์ในที่ทำงานก็ตาม ยิ่งคุณแสดงอารมณ์โมโหมากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งยากที่จะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเชื่อใจคุณ พูดความจริงให้คุณฟัง หรือรู้สึกปลอดภัยที่จะอยู่กับคุณ และปัญหานี้จะทวีคูณเวลาคุณอยู่กับเด็ก
หากคุณเป็นคนที่โมโหง่ายหรือหัวร้อนแล้วรู้สึกว่าการควบคุมอารมณ์เป็นสิ่งที่อยู่เนื้อตัวคุณเอง สิ่งที่คุณควรทำก็คือการถามตัวเองดูว่าอารมณ์พวกนี้มันมาจากไหนกัน อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกโมโหกันแน่ และเราสามารถแสดงอารมณ์ของเราออกมาในลักษณะที่ไม่ต้องทำร้ายคนอื่น หรือปล่อยให้อารมณ์มาควบคุมชีวิตเราได้ยังไงบ้าง
8 วิธีทำให้ใจเย็นและควบคุมอารมณ์
คนส่วนมากคิดว่าการควบคุมอารมณ์คือการยับยั้งตัวเอง ปิดบังความรู้สึก แต่การไม่โมโหอะไรเลยเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อร่างกายของเราครับ นอกจากนั้นยิ่งเราพยายามปิดอารมณ์ตัวเองมากเท่าไร เวลาที่เราหลุดโมโหออกมาก็จะยิ่งควบคุมตัวเองไม่ได้มากขึ้นไปอีก การควบคุมอารมณ์ไม่ใช่การปิดบังความรู้สึกแต่เป็นการทำความเข้าใจ ‘ข้อความ’ ของอารมณ์นั้น และหาวิธีแสดงอารมณ์นั้นออกมาแบบที่เราไม่เสียความควบคุม
หากเราทำได้เราจะรู้สึกดีมากขึ้น และ โอกาสที่คนจะอยากช่วยเราแก้ปัญหาหรือทำตามสิ่งที่เราขอก็มีมากขึ้นด้วย เราจะสามารถบริหารความขัดแย้งในชีวิตเราได้และพัฒนาความสัมพันธ์ต่างๆให้ลึกซึ้งมากกว่าเดิม
การจัดการความโกรธและควบคุมอารมณ์เป็นอะไรที่ใช้ความพยายามเยอะครับ แต่ยิ่งเราฝึกมากเท่าไรมันก็จะยิ่งง่ายขึ้นเรื่อยๆ หากเราทำความเข้าใจข้อดีและประโยชน์ของการจัดการความโกรธแล้ว เราจะรู้สึกว่าชีวิตของเราสดใสและน่าพึงพอใจมากกว่าเดิม
#1 หาสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความโกรธ
คุณเคยอารมณ์เสียเพราะเรื่องอะไรไร้สาระไหมครับ บางครั้งเราก็ทะเลาะกับคนอื่นเพราะเรื่องไม่เป็นเรื่องเช่นการลืมล้างจาน หรือ การมาสายไม่กี่นาที ส่วนมาแล้วปัญหาจะมาจากเรื่องที่ใหญ่กว่าเสมอ หากคุณเริ่มรู้สึกว่าตัวเองหงุดหงิด หัวร้อน ให้ลองถามตัวเองว่า ‘เรากำลังโมโหเรื่องอะไร’ การหาเหตุผลของอารมณ์นี้จะทำให้คุณสามารถสื่อสารความรู้สึกได้ดีกว่าเดิม เริ่มทำอะไรในแง่บวก และ หาวิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่าได้
ความโกรธอาจจะเป็นอารมณ์ที่ใช้ปิดบังความรู้สึกอย่างอื่นอยู่ เช่นความอาย ความรู้สึกไม่ปลอยภัย ความเจ็บปวด ความรู้สึกผิด หรือ ความรู้สึกอ่อนแอ หากคุณเป็นคนที่โมโหง่าย มันอาจจะเป็นไปได้ว่าคุณเป็นคนชอบปิดบังความรู้สึกที่แท้จริง…โดยที่คุณอาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้ หากคุณเป็นคนที่โตมาในครอบครัวที่การแสดงอารมณ์ความรู้สึกเป็นเรื่องที่ถูกห้ามหรือถูกผู้ใหญ่ต่อว่า โอกาสที่คุณจะเป็นแบบนี้ก็มีมากขึ้น ในฐานะผู้ใหญ่ คุณอาจจะรู้สึกยากที่จะยอมรับอารมณ์อื่นนอกจากอารมณ์โกรธ
ความโกรธสามารถใช้ปิดบังความกังวลได้เช่นกัน โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคจิตวิตกกังวล ถ้าคุณกำลังรู้สึกถูกคุกคาม ไม่ว่าจากสิ่งที่คุณคิดไปเองหรือมีอยู่จริง ร่างกายของคุณจะตอบโต้ความรู้สึกนี้ บางคนอาจจะตอบโต้ความกังวัลด้วยความกลัวรู้สึกอยากหนี แต่บางคนก็จะตอบโต้ความรู้สึกนี้ด้วยความโกรธและความรุนแรง หากคุณอยากจะเปลี่ยน ‘การตอบสนองทางอารมณ์’ ของตัวเอง คุณก็ต้องทำความเข้าใจว่าอะไรเป็นสาเหตุของความกลัวหรือความกังวล
ปัญหาจากวัยเด็กอาจจะเป็นต้นตอของความโกรธ หากคุณเห็นคนในครอบครัวทะเลาะ พูดเสียงดัง ทำร้ายร่างกาย หรือโยนของใส่กัน คุณก็อาจจะคิดว่าการแสดงความโกรธเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนทำกันและความโกรธก็อาจจะมาจากปัญหาสุขภาพก็ได้ เช่น โรคซึมเศร้า บาดแผลทางจิตใจ หรือโรคเครียด
เบาะแสว่าความโกรธของคุณมากจากสิ่งที่ลึกกว่านั้น
หากคุณเป็นคนที่ไม่ชอบประนีประนอม คุณอาจจะรู้สึกว่ามันยากที่จะเข้าใจมุมมองของผู้อื่น หรือยากที่จะยอมรับความคิดใหม่ๆ หากคุณโตมาในครอบครัวที่ใช้ความโกรธเพื่อควบคุมคนอื่น คุณอาจจะเข้าใจว่าคนที่โกรธเป็นคนที่มีอำนาจเพราะมีเสียงดังที่สุดหรือเรียกร้องเยอะที่สุด การประนีประนอมอาจจะดูเหมือนความอ่อนแอหรือความล้มเหลว
คุณคิดว่าความคิดที่แตกต่างคือการโจมตีตัวตนของคุณ หากคุณคิดว่าคุณถูกเสมอและโมโหทุกครั้งที่คนอื่นไม่เห็นด้วย คุณอาจจะต้องกลับมาดูอีโก้ของตัวเอง คนที่ไม่มั่นใจในตัวเองหรือไม่รู้สึกว่าตัวเองอยู่ในการควบคุมอาจจะ ‘แปรมุมมอง’ คนอื่นว่าเป็นการท้าทายตัวตนของคุณแทนที่จะมองว่าเป็นการ ‘มองอะไรไม่เหมือนกันเฉยๆ’
คุณไม่สามารถแสดงอารมณ์อย่างอื่นได้นอกจากการโมโห คุณอาจจะมองตัวเองว่าทุกอย่างอยู่ในการควบคุมของคุณหรือคุณเป็นคนที่เก่งกว่าคนอื่น คุณอาจจะคิดว่าคุณไม่ใช่คนที่ต้องรู้สึกกลัว รู้สึกผิด หรือรู้สึกอายอะไรทั้งนั้น ความจริงก็คือมนุษย์ทุกคนมีอารมณ์ความรู้สึกเหมือนกันทั้งนั้น แต่การที่เราไม่ยอบรับความรู้สึกพวกนี้ทำให้เราต้องใช้ ‘ความโกรธ’ ออกมาปิดปังความรู้สึกจริงๆแทน หากคุณรู้สึกว่าตัวเองเป็นแบบนี้ให้กลับมาถามตัวเองว่าความรู้สึกที่แท้จริงของเราเป็นยังไงกันแน่
#2 ความโกรธและสัญญาณเตือนต่างๆ
บางครั้งเราอาจจะคิดว่าความโกรธมันระเบิดออกมาทันทีและเราไม่สามารถควบคุมอะไรได้ แต่จริงๆแล้วมันมีสัญญานเตือนที่ร่างกายพยายามจะบอกคุณหลายอย่าง การสังเกตุสัญญาณจากร่างกายพวกนี้ก่อนที่คุณจะรู้สึกเลือดร้อนเป็นขั้นแรกของทำให้ตัวเองใจเย็นลงครับ
สังเกตุสัญญาณความโกรธจากร่างกายตัวเอง
- รู้สึกมวนท้อง
- การกำมือหรือเกร็งกราม
- รู้สึกตึงหรือร้อน
- หายใจเร็วขึ้น
- ปวดหัว
- รู้สึกว่าอยากทำอะไรให้เร็วขึ้น หรือ อยากเดินไปเดินมา
- ‘เห็นสีแดง’
- ไม่สามารถจดจ่อทำอะไรได้
- หัวใจเต้นแรง
- เกร็งไหล่
#3 ตัวจุดชนวนของคุณ
ความเครียดไม่ใช่ข้ออ้างของความโกรธ แต่การทำความเข้าใจว่าความเครียดพวกนี้จะทำให้คุณใจเย็นมากขึ้น ให้ลองสังเกตุดูว่ากิจกรรมแต่ละวันของคุณมีอะไรบ้าง และ มีเวลาไหน คนไหน สถานที่ไหน หรือ สถานการณ์ไหนที่ทำให้คุณหงุดหงิดหรือโมโหเป็นพิเศษอยู่เรื่อยๆหรือเปล่า
บางทีคุณอาจจะชอบทะเลาะกับเพื่อนกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ บางทีการขับรถติดไปทำงานทุกวันทำให้คุณหงุดหงิด ให้หาตัดจุดชนวนของคุณให้เจอและหาวิธีหลีกเลี่ยงชนวนพวกนี้ หรือ อย่างน้อยก็พยายามเปลี่ยนมุมมองให้เรื่องพวกนี้มากดดันจิตใจคุณน้อยลง
ความคิดแง่ลบที่อาจจะจุดชนวนความโกรธ
คุณอาจจะคิดว่าคนอื่นหรือสิ่งอื่นเป็นตัวทำให้คุณโมโห ไม่ว่าจะเป็นการทำอะไรไม่เกรงใจของคนอื่น หรือ สถานการณ์น่าหงุดหงิด แต่ปัญหาความโกรธส่วนมากไม่เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เป็นเพราะการเข้าใจและมุมมองต่อสถานการณ์ของคุณเอง คิดคิดแง่ลบที่ทำให้คุณรู้สึกหงุดหงิดได้แก่
- ความคิดเหมารวม – คุณใช้คำว่า ‘ตลอด’ กับ ‘ ไม่เคย’ บ่อยแค่ไหน ยกตัวอย่างเช่น ‘เธอขัดชั้นตลอด’ ‘เธอไม่เคยเข้าใจชั้นเลย’ การที่เราใช้คำว่า ตลาด ไม่เคย ทุกครั้ง อะไรพวกนี้แปลว่าเราชอบเอาเหตุการไม่กี่ครั้งมาเหมารวมมาทุกคนหรือทุกครั้งต้องเป็นแบบนี้
- ยึดติดกับ ‘ควรจะ’ หรือ ‘ต้อง’ – การที่เรามีมุมมองต่ออะไรแคบเกินเราก็จะคิดว่าสถานการณ์นี้มีทางแก้แค่อย่างเดียว จนทำให้เกิดการเข้าใจว่ามัน ‘ควรจะ’ หรือ ‘ต้องเป็น’ แบบนั้นหรือแบบนี้เท่านั้น เวลาที่อะไรไม่เป็นไปตามมุมองหรือความเข้าใจของเรา เราก็จะรู้สึกหงุดหงิด
- ชอบอ่านใจและคิดไปเอง – บางทีเราชอบคิดแทนคนอื่น คิดไปเองว่าคนอื่นจงใจทำให้เราโมโห จงใจเมินเรา หรือ จงใจไม่เคารพเรา
- เมินความดี – การที่เรามองที่สิ่งที่รบกวนจิตใจของเราก็แปลว่าเราเลือกที่จะมองข้ามความดีหรือความสุขที่มีอยู่ เราเมินความดีรอบตัวเราและเลือกที่จะเก็บความรู้สึกหงุดหงิดเล็กๆน้อยๆแต่ละอย่างจนเรา ‘ระเบิด’ ออกมาในที่สุด บางทีเราก็ระเบิดกับเรื่องเล็กๆน้อยๆด้วยซ้ำ
- โทษคนอื่น – เวลามีอะไรแย่เกิดขึ้น มันก็เป็นความผิดของคนอื่นเสมอ คุณบอกตัวเองว่า ‘ชีวิตไม่แฟร์เลย’ และโทษคนเวลาคุณมีปัญหาแทนที่จะเริ่มรับผิดชอบชีวิตตัวเองให้มากขึ้น
ถ้าคุณเริ่มเห็นรูปแบบความคิดที่ทำให้คุณโกรธเรื่องๆ คุณก็จะเข้าใจวิธีปรับความคิดของให้ดีขึ้นได้ ลองถามตัวเองดูครับว่า เรามีหลักฐานอะไรที่จะสนับสนุนความคิดนี้ไหม? ความคิดนี้ถูกจริงหรือเปล่า? มันมีมุมมองต่อปัญหาหรือสถานการณ์นี้ที่มันเป็นความจริงหรือเหมาะสมมากกว่าไหม? หากเพื่อนของคุณคิดแบบนี้ คุณจะแนะนำเพื่อนของคุณว่ายังไง
#4 วิธีทำให้ใจเย็นทันที
หากเราเริ่มรู้สึกถึงสัญญาณต่างๆว่าเรากำลังจะโมโหครั้งใหญ่แล้ว เราก็สามารถทำให้ตัวเองใจเย็นลงก่อนได้ ให้ลองทำตามขั้นตอนพวกนี้ดูเพื่อควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ดีขึ้นครับ
โฟกัสกับสัญญาณต่างๆของร่างกาย – ให้เรารับรู้สัญญาณต่างๆที่เขียนไว้ในข้อสอง การตั้งสติสังเกตุความคิดความรู้สึกตัวเองจะทำให้อารมณ์โมโหเบาลง
หายใจลึกๆ – ให้หายใจลึกๆช้าๆ เพื่อลดความตึงเครียดในร่ายกาย ให้เราหายใจลึกจากหน้าท้องและสูดอากาศเข้าปอดให้เยอะมากที่สุด
ออกไปเดิน – การออกไปเดินหรือที่คนทั่วไปบอกว่า ‘ออกไปสงบสติอารมณ์’ เป็นเรื่องที่ดีครับ กิจกรรมที่ใช้แรงหน่อยเช่นการเดินหรือการออกกำลังกายจะช่วยให้เรา ‘ปลดปล่อยพลัง’ ที่เราเก็บไว้ และช่วยทำให้เราใจเย็นลงได้
รับรู้การสัมผัสต่างๆ – เราสามารถใช้สัมผัสต่างๆเช่น การได้กลิ่น การได้ยิน การลิ้มรส และการสัมผัสและเคลื่อนไหว เพื่อลดความเครียดและทำให้ใจเย็นลง คุณอาจจะลองฟังเพลงที่คุณชอบ ดูรูปเก่าๆที่ทำให้คุณรู้สึกดี ดื่มน้ำหวานซักแก้ว หรือออกไปเล่นกับสัตว์ต่างๆ
การยืดตัวและการนวด – ความตึงเครียดของจิตใจและร่างกายนั้นจะสัมพันธ์กัน ถ้าคุณรู้สึกว่าร่ายกายตัวเองตึงเครียดก็ให้ลองหมุนใหล่ หมุนคอ หรือ บิดตัวเพื่อให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
นับหนึ่งถึงสิบ – ให้โฟกัสที่การนับเลขเพื่อรอให้สมองของคุณคิดตามความรู้สึกให้ทัน หากคุณนับถึงสิบแล้วยังโมโหอยู่ก็ให้เริ่มนับใหม่อีกรอบ
นอกจากนั้นแล้ว ผมแนะนำให้ทุกคนอ่านบทความเรื่อง 40 วิธีทําใจให้สงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ที่จะสอนให้คุณอยู่เหนือความรู้สึกของตัวเองได้
สิ่งนี้มันน่าโมโหจริงหรือเปล่า
หากคุณเริ่มรู้สึกหงุดหงิดให้ลองถามคำถามพวกนี้กับตัวเองดู
- เรื่องนี้มันสำคัญขนาดไหน ถ้าเรามองในภาพรวมใหญ่แล้ว
- มันมีค่าพอให้เราต้องโมโหขนาดนี้หรือเปล่า
- การที่เราต้องหัวเสียทั้งวันเพื่อเรื่องนี้มันคุ้มแค่ไหน
- การตอบสนองของเราเหมาะสมกับสถานการณ์แค่ไหน
- มีอะไรที่เราน่าจะทำได้ดีกว่าดีไหม
- การกระทำของเราคุ้มเวลาของเราไหม
#5 การ ‘ระบายอารมณ์’ ที่ดีกว่าเดิม
ถ้าคุณคิดแล้วว่าสถานการณ์มันคู่ควรกับการโมโหของคุณ และมันมีวิธีที่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ถ้าคุณพยายาม คุณก็ต้องหาวิธีระบายหรือแสดงอารมณ์ออกมาในรูปแบบที่ดีกว่าเดิม หากคุณรู้วิธีแก้ไขสถานการณ์ในแง่ดี คุณก็จะสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ของคุณให้ดีกว่าเดิมได้แทนที่จะทำให้ทุกอย่างแย่ลง
คุณต้องทะเลาะอย่างแฟร์ๆ แต่มันหมายความว่ายังไง? มันเป็นเรื่องธรรมดาที่คุณจะโมโห และมันเป็นเรื่องธรรมดาที่การโมโหจะทำให้คนอื่นรู้สึกไม่ดี แต่ถ้าคุณเอาเรื่องที่ไม่ดีของอีกฝ่ายมาอ้างหรือเอาความผิดเมื่อนานแล้วมาใช้เป็นเหตุผล มันก็เหมือนกับว่าคุณกำลังเอาเปรียบอีกฝ่ายอยู่ด้วยจุดอ่อนของเค้า
ความสัมพันธ์ควรเป็นเป้าหมายหลักเสมอ แทนที่จะโฟหัสเรื่อง ‘ทะเลาะให้ชนะ’ เราควรพยายามรักษาและพัฒนาความสัมพันธ์ให้ดีกว่าเดิมแทน เราต้องเคารพตัวตนและมุมมองของอีกฝ่ายให้ได้
ให้โฟกัสที่ปัจจุบันแทน ในขณะที่เรากำลังทะเลาะกันอย่างรุนแรง มันก็ง่ายที่เราจะหยิบเรื่องในอดีตต่างๆออกมาพูดด้วย แทนที่จะดูแต่เรื่องแย่ๆที่ผ่านมาและหาว่าใครผิด เราควรหาวิธีแก้ปัญหาใจอนาคตมากกว่า
คุณต้องพร้อมที่จะให้อภัย คุณจะไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ถ้าคุณไม่พร้อมหรือไม่สามารถที่จะให้อภัย ความรู้สึกที่อยากจะลงโทษคนอื่นเป็นอะไรที่ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาในอดีตได้ แต่บางครั้งทำให้ปัญหามีมากกว่าเดิมเพราะเรามัวแต่มองอะไรที่ไม่ถูกจุด และใช้พลังงานอย่างเปล่าประโยชน์
หากคุณโมโหมากจริงๆก็ให้พักก่อน ถ้าคุณโมโหจนไม่สามารถควบคุมตัว้องได้ก็ให้เอาตัวคุณออกจากบทสนทนาชั่วคราว อาจจะเป็นไม่กี่นาที หรือยาวเท่าไหร่ก็ได้จนกว่าคุณจะรู้สึกใจเย็นลง
คุณต้องเข้าใจว่าเมื่อไหร่ถึงจะปล่อยวาง หากคุณไม่สามารถเห็นพร้อมต้องกัน ในภาษาฝรั่งเขาเรียกว่า เห็นด้วยที่จะไม่เห็นด้วย (agree to disagree) การทะเลาะกันต้องใช้สองฝ่าย หากการทะเลาะกันมันไปไม่ถึงไหนสักที คุณก็อาจจะเลือกที่จะให้อิสระกับตัวเองแล้วเดินออกมา
#6 ใจเย็นลงด้วยการดูแลตัวเอง
สุขภาพร่างกายและจิตใจเป็นสิ่งที่มีผลต่ออารมณ์และความตึงเครียดของเรามาก
ความเครียด ยิ่งเรารู้สึกเครียดเราก็ยิ่งโมโหง่าย หากเราสามารถควบคุมความเครียดได้เราก็จะรู้สึกว่าอารมณ์ของเราอยู่ในการควบคุมของเรา คุณอาจจะใช้วิธีง่ายๆอย่างการนั่งสมาธิ การตั้งสติ หรือการฝึกหายใจก็ได้ ทุกอย่างจะดูสงบขึ้นถ้าเราสามารถควบคุมอารมณ์ได้
ให้พูดกับคนที่คุณรักหรือเชื่อใจ ไม่มีอะไรที่ทำให้เรารู้สึกดีขึ้นได้มากกว่าการใช้เวลากับคนที่สำคัญต่อเรา ผู้ฟังที่ดีไม่จำเป็นต้องให้คำตอบหรือแก้ปัญหาให้เราก็ได้ ตราบใดที่คนคนนั้นพร้อมที่ฟังและทำความเข้าใจปัญหาของเรา การอธิบายสถานการณ์ของเราเพื่อหามุมมองที่แตกต่างไม่เหมือนกับ ‘การบ่น’ หากเราแค่อยากบ่นหรือระบายความโกรธให้คนอื่นฟัง เราก็ยิ่งรู้สึกโมโหมากกว่าเดิม ซึ่งก็เท่ากับว่าปัญหาด้านนี้ก็จะไม่ได้ถูกแก้ไขอะไร
นอนให้พอ เวลาเรานอนไม่พอเราจะเริ่มมีความคิดด้านลบมากขึ้น และ เราก็จะมีความรู้สึกหงุดหงิดหรือใจร้อนมากขึ้นด้วย หากเป็นไปได้เราต้องนอนให้ได้อย่างน้อยเจ็ดถึงเก้าชั่วโมง
ออกกำลังกายเป็นประจำ การลดความเครียดที่ดีที่สุดคือการออกกำลังกาย เวลาเราออกกำลังกายเสร็จแล้วเราจะรู้สึกผ่อนคลายแล้วมีความคิดบวกตลอดวัน ให้พยายามออกกำลังกายอย่างน้อยสามสิบนาทีทุกวัน หรือจะพยายามย่อยเวลาออกกำลังกายเป็นช่วงเล็กๆที่เหมาะกับตารางชิวิตคุณก็ได้
สิ่งเสพติด ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ แอลกอฮอล์ หรืออย่างอื่นก็ตาม ของพวกนี้มีสารเคมีที่ระงับความสามารถการควบคุมอารมณ์ของคุณ คนที่รับคาเฟอีนมากเกินไปจะรู้สึกหงุดหงิดง่ายและโมโหบ่อยขึ้น
#7 อารมณ์ขันระงับความเครียด
คำว่า ‘ยิ้มให้กับปัญหา’ เป็นอะไรที่มากกว่าแคปชั่นเฟสบุ๊ค เวลาเรารู้สึกเครียด อารมณ์ขันและความร่าเริง จะช่วยทำให้เราเปลี่ยนบรรยากาศ เปลี่ยนมุมมอง และ แก้ไขความไม่เข้าใจกันได้มากขึ้น หากคุณรู้สึกว่าตัวเองกำลังโกรธอยู่ให้ลองนำมุขตลกเบาๆมาเล่นดู มุขตลกทำให้เราช่วยอธิบายอารมณ์ยากๆได้ง่ายกว่าเดิม แถมยังลดโอกาสที่จะทำร้ายความรู้สึกของคนอื่นอีก
สิ่งที่สำคัญก็คือเราต้อง ‘หัวเราะไปกับ’ อีกฝ่ายแทนที่จะหัวเราะใส่อีกฝ่าย การพูดประชดหรือเล่นมุขตลกเพื่อลดความสำคัญของคนอื่นเป็นเรื่องที่เราต้องระวังเข้าไว้ หากคุณไม่มั่นใจก็ให้เล่นมุกตลกเกี่ยวกับปัญหาของตัวเองแทน คนส่วนมากชอบคนที่สามารถมีความสุขกับความล้มเหลวของตัวเองได้
เพราะฉะนั้นหากคุณทำอะไรผิด หรือ ทำน้ำหกใส่ตัวเอง แทนที่จะโมโหโวยวายก็ให้ลองเปลี่ยนอารมร์นั้นมาเป็นมุขตลกแทน บางทีมุขอาจจะออกมาไม่ตลกอย่างที่เราคิด แค่ยังไงมุขตลกแป้กก็ไม่ได้ทำร้ายใคร
ถ้าเราเรียนรู้ที่จะใช้มุกตลกในการแก้สถานการณ์ตึงเครียด เราจะสามารถเปลี่ยนการทะเลาะกันให้มาเป็นความสัมพันธ์ที่แน่นเหนียวมากขึ้น
#8 รับรู้เวลาคุณต้องการความช่วยเหลือของมืออาชีพ
หากคุณทำมาทุกอย่างแล้วยังไม่สามารถลดความใจร้อนของตัวเองได้ หากความโกรธยังอยู่เหนือความควบคุมของคุณอยู่ทุกที โดยเฉพาะถ้าความโกรธนี้มันทำร้ายคนรอบข้างของคุณ คุณจำเป็นที่จะต้องหาคนช่วย
‘การจัดการความโกรธ’ เป็นอะไรที่สามารถสอนกันได้ หากคุณไปคลาสการจัดการความโกรธคุณก็จะเจอคนที่มีปัญหาคล้ายๆคุณที่จะเข้าใจคุณมากกว่าคนอื่น และ สามารถเรียนรู้ที่จะบริหารอารมณ์ตัวเองให้ดีขึ้น
อย่าอายที่จะไปหาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาบำบัด บางทีปัญหาที่คุณมีอาจจะมาจากการที่ฮอร์โมนในร่างกายที่ไม่เท่ากันและคุณอาจจะต้องการความช่วยเหลือมากกว่าที่คุณคิด หรือบางทีคุณอาจจะแค่อยากหาคนนอกเพื่อรับฟังปัญหาส่วนตัวของคุณก็ได้ บางทีคุณอาจจะค้นพบวิธีแสดงความโกรธแบบใหม่ที่ไม่ทำร้ายใครและคุณไม่เคยรู้มาก่อน
ใครที่อ่านบทความแล้ว รบกวนทำแบบสอบถามเพื่อให้ผมสามารถเขียนบทความที่ทุกคนชอบได้มากขึ้น https://forms.gle/TrkHTigUtcEMzqNt6
บทความล่าสุด
การจัดโต๊ะคอมให้สวยถูกใจ พร้อมฟังก์ชันการใช้งานครบครัน...
ในมุมมองหนึ่ง ‘ลูกคนกลาง’ ดูเหมือนจะต้องแบกรับภาระทางใจอันหนักอึ้ง...