คำถามเรื่องความหมายของชีวิตและเหตุผลในการใช้ชีวิตนั้น เรียกว่ากำเนิดมาพร้อมกับสังคมมนุษย์เลย มนุษย์มีความคิด มนุษย์มีสติ มนุษย์มีความอยากรู้อยากเห็น…มนุษย์ก็เลยมีคำถาม
คนเราส่วนมากก็ไม่รู้หรอกว่าชีวิตตัวเองต้องการอะไร หรือ อยากได้อะไรกันแน่ และยิ่งเราถามตัวเองมากแค่ไหน เราก็จะยิ่งรู้สึกสับสนมากขึ้นเท่านั้น สมองและใจของคุณไม่มีปากเลยพูดไม่ได้ เพราะฉะนั้นคุณก็จะไม่สามารถถามสิ่งที่ตอบคุณไม่ได้ สิ่งที่คุณต้องทำก็คือการ ‘สังเกต’ และ ‘รับฟัง’ ซึ่งก็ต้องทำใจไว้เลยว่าต้องใช้เวลา
บทความนี้เขียนเกี่ยวกับเรื่องวิธีการค้นหาความหมายของชีวิตและขั้นตอนต่างๆที่คุณสามารถทำได้จริงเพื่อหาเหตุผลในการใช้ชีวิต อย่างไรก็ตามก่อนที่คุณจะอ่านบทความนี้ ผมแนะนำให้คุณอ่านเรื่อง 11 เหตุผลในการใช้ชีวิต ที่จะอธิบายเกี่ยวกับสัจธรรมและเหตุผลที่คนส่วนมากค้นพบเกี่ยวกับชีวิตตัวเองนะครับ
วิธีค้นหาความหมายของชีวิต
ความหมายชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่ได้มาจากภายนอก แต่เราต้องค้นพบจากภายในผ่านการสังเกตและรับฟังตัวเอง มนุษย์แต่ละคนมีเหตุผลในการใช้ชีวิตไม่เหมือนกัน และขั้นตอนที่ทุกคนสามารถทำได้เพื่อหาความหมายให้ชีวิตก็คือ การทดสอบลองอะไรใหม่ๆ
อธิบายง่ายๆนะครับ ความชอบของเรา และ ความหมายของชีวิต เป็นสิ่งที่อยู่ในจิตใต้สำนึก (subconscious) และ จิตไร้สำนึก (unconscious) หมายความว่าหากคุณไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องเหล่านี้ ไม่ได้คุยกับนักจิตวิทยาเฉพาะทาง ‘การถามคำถามตัวเอง’ ก็เหมือนกับการถามเด็กที่พูดไม่ได้ ถามสัตว์เลี้ยงที่ไม่เข้าใจภาษา คุณจะไม่ได้คำตอบและคุณจะรู้สึกผิดหวัง
แต่เราก็สามารถใช้การสังเกตแทนได้ ต่อให้เด็กแรกเกิดพูดไม่ได้ พ่อแม่ที่เลี้ยงดูมากับมือก็คงรู้ว่าลูกชอบกินอะไร หากเราใส่ใจกับร่างกายและจิตใจตัวเอง เราก็จะสามารถรับฟังได้ดีมากขึ้น ซึ่งตัวช่วยในส่วนนี้ก็มีเยอะ ทั้งการตั้งสติ ทำสมาธิ หากใครสนใจเรื่องเหล่านี้ผมแนะนำให้อ่านบทความเรื่อง Mindfulness และ การสร้างสติ นะครับ
หากเราเข้าใจตรงกันแล้ว ว่าเราต้องรับฟังและสังเกตตัวเองให้ดี ปัญหาก็คือคนส่วนมากต่อให้รับฟังและสังเกตมาเยอะ ก็ไม่เจอคำตอบ ในส่วนนี้ก็เป็นเพราะว่าเราสังเกตอย่างเดียว แต่เราไม่มีตัวเปรียบเทียบ พ่อแม่ที่มีลูกหลายคนก็จะรู้ได้ง่ายกว่าว่าลูกแต่ละคนถนัดและไม่ถนัดอะไรบ้าง แต่เราจะเปรียบเทียบกับอะไรดี
คำตอบก็คือ ‘การเปรียบเทียบกับตัวเอง’ คุณต้องลองทำอะไรใหม่ ทำอะไรที่แตกต่าง ลองทำอะไรที่ตัวเองชอบและไม่ชอบ ในภาษาวิทยาศาสตร์ก็คือ ‘การทดลอง’ เพราะคุณจะสามารถรับรู้ได้ทันทีว่าตัวคุณในสถานการณ์ที่แตกต่างจะเป็นยังไง แน่นอนครับว่าการทำอะไรใหม่ๆ ทำอะไรที่ไม่เคยทำมันทั้งเหนื่อยและฟังดูน่ากลัว แต่ผมรับรองว่าทุกคนทำได้ ไม่ต้องใช้เงินเยอะด้วย เราใช้แค่ใจกับเวลาก็พอ
5 ขั้นตอนหาเหตุผลในการใช้ชีวิต (+ อีก 1 ขั้นตอนแถม)
#1 เริ่มจากสิ่งที่ทำให้มีความสุข หรือสิ่งเล็กๆที่เติมเต็มเราก่อน
คำถามแรกก็คือเราจะต้องลองทำอะไรก่อนดี สิ่งที่เราสามารถทดลองทำได้มีตั้งเยอะ ตั้งแต่การเดินไปหน้าปากซอยไปถึงการอ่านหนังสือเล่มใหม่ไปถึงการไปเที่ยวสถานที่ต่างๆ ในขั้นตอนแรกนี้ ‘ทิศทาง’ ที่เราควรตั้งก็คือ ‘อะไรที่เราชอบ’
เราควรจะเริ่มจากสิ่งง่ายๆที่เราอยากทำ หากคุณเป็นคนขี้กลัวก็เริ่มจากสิ่งง่ายๆเล็กๆน้อยๆ หากคุณมีพลังมากหน่อยก็เริ่มจากสิ่งที่ยากๆที่คุณอยากทำไปเลย ข้อแม้มีอย่างเดียวก็คือ ‘เราต้องไม่เคยทำมาก่อน’
อาจจะเป็นการออกไปกินร้านอาหารใหม่ การไปเที่ยวที่ใหม่ๆ การคุยกับคนไม่รู้จัก การเปลี่ยนท่าออกกำลังกาย การอ่านหนังสือเล่มใหม่ การเริ่มงานอดิเรกซักอย่าง เราไม่ต้องสนใจว่าคนอื่นจะคิดว่าสิ่งเหล่านี้สำคัญหรือดูเล็กน้อยแค่ไหน แค่เราคิดว่าเราชอบและน่าลองทำดูก็พอแล้ว สิ่งนี้คือเป้าหมายของเรา
#2 ทำอะไรต้องทำให้เสร็จ
ขั้นตอนที่สองอาจจะไม่ใช่ขั้นตอนเท่าไร แต่เป็นเครื่องเตือนสติ หากคุณเริ่มทำกิจกรรมเหล่านี้แล้ว คุณต้องทำให้เสร็จ ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาแย่ หรือไม่ว่าคุณจะเบื่อแล้วก็ตาม ตราบใดที่สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้ชีวิตของคุณแย่ลง (เช่น สิ่งผิดกฎหมาย ทำแล้วรู้สึกผิด ใช้เงินเยอะเกินไป หรือทำให้อนาคตแย่ลง)
นิสัยการเริ่มอะไรแล้วต้องทำให้เสร็จเป็นวินัยชีวิตที่สำคัญ แต่ก็ไม่ใช่บทเรียนที่ผมจะสอนในวันนี้ ผมแค่จะบอกว่าหากคุณทำไม่เสร็จ คุณก็จะได้ข้อมูลไม่ครบ เหมือนคุณเดินทางไปครึ่งทางแล้วมาบอกคนอื่นว่าไปเที่ยวครั้งนี้ไม่สนุกเลย
ถ้าคุณคิดว่าเริ่มอะไรใหญ่ๆตั้งแต่ตอนแรกอาจจะทำไม่เสร็จ ให้ลองเริ่มจากการทำอะไรเล็กๆน้อยๆที่ตัวเองชอบก่อน แล้วค่อยขยับเพิ่มไปทีละนิด เรายังไม่ต้องรีบก็ได้ ขอแค่ต้องค่อยๆทำเรื่อยๆ บางคนค้นพบความหมายของชีวิตตอนอายุ 90 ก็มี
#3 ทุกครั้งที่ลองอะไรใหม่ๆ ให้จดสิ่งที่ชอบและไม่ชอบ
ข้อนี้จะเป็นเรื่องของการสังเกตและรับฟัง การบังคับให้ตัวเองเขียนทั้งเรื่องสิ่งที่ชอบและไม่ชอบ จะฝึกให้คุณสามารถตีค่าข้อดีข้อเสียของทุกอย่างได้ ของที่คุณชอบก็มีข้อเสียบ้าง ของที่คุณเบื่อก็อาจจะมีข้อดีนิดหน่อย
ขั้นตอนนี้ผมคงไม่ต้องอธิบายอะไรมาก แต่จริงๆแล้วผมอยากให้ทุกคนใช้เวลาประเมินตัวเองเยอะหน่อย อย่างน้อยสามสิบนาทีต่อหนึ่งกิจกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ยังไม่ถนัดเรื่องการสังเกตตัวเองมากนัก หรือคนที่ไม่ถนัดเรื่องความรู้สึกตัวเอง
#4 พักผ่อน ประเมินตัวเอง ฟื้นพลังงาน
หลังจากที่คุณได้ลองอะไรใหม่ๆและประเมินตัวเองแล้ว ในส่วนนี้เราจะให้โอกาสตัวเองให้พักผ่อนบ้าง หากเหนื่อยมากจะพักซักสามวันหรือหนึ่งอาทิตย์ก็ได้ครับ (โดยเฉพาะคนวัยทำงานที่มีเวลาแค่ เสาร์อาทิตย์)
ในระหว่างที่กำลังพักผ่อน ก็ลองคิดดูว่า สิ่งที่คุณชอบแบบจากข้อที่แล้วมีส่วนไหนที่สามารถทำเพิ่มหรือทำให้แตกต่างได้บ้าง หาคุณชอบกินกระเพราหมู คุณอาจจะลองสั่งกระเพราไก่คราวหน้า และในส่วนที่คุณไม่ชอบ จะมีวิธีไหนที่คุณสามารถลดข้อเสียเหล่านี้ได้ไหม หากเราไม่ชอบยกเวท เราก็อาจจะวิ่งแทน เราจะได้ไม่ต้องทิ้งการออกกำลังกายทุกอย่าง
‘เพิ่มของดี ลดของเสีย’ เป็นข้อคิดหลักที่เราจะใช้ในการผลักดัน เลือกกิจกรรมอื่นๆ
#5 ทดสอบและทดลองอะไรที่คล้ายๆกัน
หากคุณยังคิดไม่ออกจากข้อที่แล้วว่ากิจกรรมต่อไปที่อยากจะทำคืออะไร ในส่วนนี้ก็ให้ลองคิดดูนะครับ อาจจะเป็นกิจกรรมที่ต่อยอดมาจากกิจกรรมในข้อที่ 1 หรืออาจจะเป็นกิจกรรมใหม่เลยก็ได้
ซึ่งกระบวนการก็เหมือนเดิม ให้เราเลือกกิจกรรมใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน สัญญากับตัวเองว่าจะทำให้เสร็จ ประเมินตัวเอง หาวิธีลดข้อเสียเพิ่มข้อดี แล้วก็คิดไอเดียทำกิจกรรมใหม่ๆเพื่อต่อยอด
ผมออกแบบขั้นตอนเหล่านี้มาให้คุณสามารถทำซ้ำและต่อยอดได้เรื่อยๆ เพราะผมเชื่อว่า ‘ความหมายและเหตุผลในการใช้ชีวิต’ เป็นสิ่งที่มาจากประสบการณ์ของเรา หากคุณเหนื่อยคุณก็พักแต่ต้องสัญญาว่าจะลุกขึ้นมาทำใหม่ และถ้ามีคนต่อว่าหรือไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่คุณทำ คุณก็แค่ไม่ต้องไปสนใจคำพูดคนอื่น
#6 ทำซ้ำอีกหนึ่งครั้ง สามครั้ง สิบครั้ง และ ตลอดชีวิต (แถม)
จริงๆแล้ว วิธีหาความหมายชีวิตก็คือการหาสิ่งที่เราชอบแล้วก็ทดลองทำสิ่งที่คล้ายๆกันไปเรื่อยๆจนกว่าจะเจอสิ่งที่ใช่และสิ่งที่คุณคิดว่าจะเติมเต็มคุณได้ สำหรับบางคนสิ่งเหล่านี้มาได้โดยธรรมชาติ แต่สำหรับคนส่วนมาก เราก็ต้องพยายามกันหน่อย อาจจะเหนื่อยแต่คุ้มค่าแน่นอน
อย่างที่บอกครับบางคนใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อหาสิ่งที่ตัวเองชอบ และที่หลายคนไม่รู้ก็คือสิ่งที่เราชอบนั้นก็เปลี่ยนแปลงได้เรื่อยๆ หมายความว่าสิ่งที่ตัวเราชอบตอนสมัยมัธยม เราก็อาจจะไม่ได้ชอบเมื่ออายุ 30…และก็อาจจะกลับมาชอบใหม่ตอนอายุ 50
หากเรามีประสบการณ์มากขึ้น ได้เรียนรู้อะไรมากขึ้น ได้ลองอะไรใหม่ๆมากขึ้น ความคิดเห็นกับมุมมองของเราก็จะเปลี่ยนไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตมนุษย์ เพียงแค่ เราต้องอย่ายึดติดกับความชอบในอดีตมาก จนทำให้เราไม่มีความสุขในปัจจุบัน
เคล็ดลับใน ‘5 ขั้นตอนหาเหตุผลในการใช้ชีวิต’ ของบทความนี้ก็คือ คุณต้องมีความสุขกับสิ่งที่ทำ หากคุณไม่มีความสุข ก็แปลว่าคุณไม่ได้ชอบ แต่ข่าวดีก็คืออย่างน้อยคุณก็รู้ตัวเองว่าคุณชอบอะไร ไม่ชอบอะไรมากขึ้น 1 อย่าง และถ้าคุณมีความสุขกับสิ่งเหล่านี้ การทำซ้ำก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
การค้นหาคำตอบว่า เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร มีคุณค่าอะไรหรือเปล่า
การตอบคำถามชีวิต ไม่ได้เหมือนในห้องสอบ เราไม่สามารถลอกคนอื่นได้ เพราะคำตอบชีวิตของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน แต่ถึงเราจะไม่สามารถลอกคนอื่นได้ เราก็สามารถเรียนรู้และนำมาปรับปรุงชีวิตเราได้ หากเราเห็นกิจกรรมที่คนอื่นทำแล้วดูน่าสนุก เราก็แค่ลองทำตาม ส่วนเราจะชอบหรือเปล่าก็ขึ้นอยู่กับตัวเรา ไม่ได้แปลกอะไรเลย
หากคุณไม่ได้อะไรเลยจากบทความนี้ขอแค่ให้คุณจำไว้ 3 ขั้นตอนนี้ก็พอครับ (1) ให้เราลองทำอะไรใหม่ๆ (2) ทำอะไรแล้วต้องทำให้เสร็จ และ (3) ทำเสร็จแล้วต้องรู้จักสังเกตตัวเอง ขอให้ทุกคนสนุกกับการค้นหาตัวเองนะครับ
บทความล่าสุด
การจัดโต๊ะคอมให้สวยถูกใจ พร้อมฟังก์ชันการใช้งานครบครัน...
ในมุมมองหนึ่ง ‘ลูกคนกลาง’ ดูเหมือนจะต้องแบกรับภาระทางใจอันหนักอึ้ง...