เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร – 11 เหตุผลในการใช้ชีวิต (ของคุณ)

เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร - 11 เหตุผลในการใช้ชีวิต (ของคุณ)

เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร และเหตุผลในการใช้ชีวิตมีอะไรบ้าง สองอย่างนี้ล้วนเป็นคำถามที่หลายคนเคยคิดกันในชีวิต แน่นอนว่าหากเราถามคน 100 คน คำตอบที่เราได้ก็คงมี 100 อย่าง แต่ละคนมีเป้าหมาย มีสิ่งที่ชอบ ไม่เหมือนกัน ก็เลยทำให้เหตุผลการใช้ชีวิตไม่เหมือนกัน

ปัญหาที่ใหญ่กว่าการหาเหตุผลการใช้ชีวิตของ ‘มนุษยชาติ’ ก็คือการหาคำตอบของ ‘เหตุผลการใช้ชีวิตของตัวคุณ’ หากเราตอบคำถามนี้ไม่ได้ ชีวิตเราก็คงรู้สึกว่างเปล่า ท้อ และไม่มีความสุข

ในบทความนี้ผมจะขอพูดถึงกรณีศึกษาว่า คนส่วนมากมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร มีเหตุผลในการใช้ชีวิตยังไงบ้าง และที่สำคัญที่สุดก็คือ ‘คุณจะหาเหตุผลในการใช้ชีวิตของตัวเอง’ ได้ยังไง หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนนะครับ

เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร 

เหตุผลในการใช้ชีวิตมีอยู่หลายอย่าง ขึ้นอยู่กับมุมมอง ความชอบ และประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน โดยเหตุผลในการใช้ชีวิตของคนส่วนมากสามารถแบ่งออกมาได้สี่มุมมอง ก็คือ การหาความสุข ก้าวผ่านความทุกข์ หาเป้าหมาย และ การทิ้งมรดกให้คนอื่น

สิ่งแรกที่ทุกคนต้องเข้าใจก็คือ มนุษย์แต่ละคนมีมุมมองชีวิตไม่เหมือนกัน ทฤษฎีเกี่ยวกับการใช้ชีวิตมีอยู่มากมาย ซึ่งก็คงไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าวิธีคิดแบบไหนดีกว่า หรือมีค่ามากกว่าวิธีคิดของคนอื่น ข้อดีก็คือ ผมเรียบเรียง ‘ตัวเลือก’ ไว้ให้คุณเยอะ นำไปอ่านแล้วพิจารณาเองได้เลยว่าแบบไหนที่เหมาะสำหรับคุณ

นอกจากนั้น หากคุณเป็นคนที่กำลังเหนื่อยกับชีวิต รู้สึกไม่มีความสุข ไม่ค่อยมีเป้าหมาย สิ่งแรกที่คุณต้องดูแลก่อนก็คือ ‘ร่างกายตัวเอง’ งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายที่ได้ระบุไว้ว่า ‘ความสุข’ ส่วนหนึ่งมาจากสุขภาพร่างกายที่ดี เพราะร่างกายที่แข็งแรงจะเหนื่อยน้อยกว่า ผลิตฮอร์โมนแห่งความสุขได้มากกว่า

เพราะฉะนั้น ก่อนที่คุณจะเรียนเกี่ยวกับเหตุผลในการใช้ชีวิต ให้เริ่มออกกำลังกาย กินอาหารให้ครบห้าหมู่ นอนหลับให้พอดี หากร่างกายไม่พร้อม คำตอบก็ไม่มาหาคุณครับ (ไม่เชื่อผมก็ไม่เป็นไร ถือว่ายอมโดนคนไม่รู้จักหลอกให้ออกกำลังกายซักสามสี่วัน ชีวิตไม่แย่ลงหรอก)

…แต่ถ้าคุณพร้อมแล้ว เราไปดู 11 เหตุผลในการใช้ชีวิต สำหรับคุณกันเลย

11 เหตุผลในการใช้ชีวิต สำหรับคุณ

การหาความสุข

ความสุขกับการใช้ชีวิตเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกันในสายตาคนทั่วไป ข้อดีก็คือหากเรามีความสุขเราก็จะรู้สึกดี การตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีก็ไม่ใช่สิ่งที่แย่อะไรใช่ไหมครับ ข้อเสียคือความสุขมีนิยามหลากหลาย ความสุขของเราไม่ใช่ความสุขของคนอื่น ทำให้การแปล ‘ความสุข’ (ที่เป็นนามธรรม) ให้ออกมาเป็นภาพลักษณ์ที่จับต้องได้ (รูปธรรม) นั้นทำได้ยาก

ปัญหาของคนส่วนมากก็คือ ‘ไม่รู้ว่าความสุขคืออะไร’ หากเราทำสิ่งที่คิดว่าจะทำให้เรามีความสุข แต่เรากลับไม่มีความสุข นั้นก็เพราะว่าคุณโดนตัวเองหลอก หรือเข้าใจตัวเองผิดไปเอง ในเรื่องของการนิยามความสุข ผมแนะนำให้ทุกคนอ่านบทความของผมเรื่อง ความสุขคืออะไร และ ego คืออะไร นะครับ

เหตุผล #1 – เป้าหมายชีวิตคือการมีความสุข

ผมคิดว่าหลายคนมีมุมมองความคิดแบบนี้ คนเรามีเวลาจำกัด เพราะฉะนั้นก็ควรมีความสุขเข้าไว้ สิ่งที่หลายคนค้นพบในชีวิตก็คือ ‘ความสุขขึ้นอยู่กับมุมมองชีวิต’ หากเรามองโลกในแง่ดี เลือกที่จะมองแต่สิ่งดีๆ ต่อให้เรามีปัญหาเราก็มีความสุขได้

สิ่งที่เราต้องเข้าใจก็คือ มุมมอง ไม่ใช่สิ่งที่เราจะได้มาภายในวันสองวัน เราต้องฝึกปรับมุมมองตัวเอง บางคนก็ใช้เวลาเป็นปี นอกจากนั้นแล้วต่อให้เราปรับได้ โอกาสที่มุมมองเราจะ ‘หลุด’ เวลาชีวิตมีปัญหา ก็มีเยอะ เปรียบได้กับการออกกำลังกาย หากเลิกทำเมื่อไรเราก็กลับมาอ้วนใหม่

จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก โดยรวมแล้ว จะฝึกมองโลกในแง่ดีไว้ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร

เหตุผล #2 – ชีวิตคือมอบความสุข 

ในขณะที่บางคนคิดว่าชีวิตคือการเก็บเกี่ยวความสุข หลายคนก็พบสัจธรรมชีวิตว่า ‘การให้’ ก็คือความสุขอย่างหนึ่ง อาจจะเป็นการทำเพื่อครอบครัว เพื่อคนรัก หรือเพื่อคนที่เราไม่รู้จักเลยก็ตาม

คนเป็นแม่ ต่อให้ต้องอดข้าว แต่ถ้าเห็นลูกกินอย่างมีความสุขก็รู้สึกดีแล้ว บางคนก็ค้นพบว่าการให้ทำให้ ‘เข้าใจคุณค่า’ ของตัวเองมากขึ้น เราคงไม่เข้าใจข้อดีของโอกาสและสิ่งของที่เรามี จนกว่าจะเห็นคนที่ต้องการสิ่งนี้มากกว่าเรา

ความพิเศษของการให้ก็คือเราสามารถทำได้อย่างไม่มีจำกัด ขึ้นอยู่กับว่าเราอยากจะเปิดใจเพื่อช่วยเหลือคนอื่นมากแค่ไหน

เหตุผล #3 – เป้าหมายชีวิตคือการได้ทำสิ่งที่ตัวเองชอบ 

สำหรับหลายคน ความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับมุมมอง แต่ขึ้นอยู่กับการกระทำ เช่นได้ทำกิจกรรมที่ตัวเองชอบ ได้กินของอร่อย หรือได้ทำงานที่ตัวเองอยากทำ

ความสุขแบบนี้เป็นความสุขกับการผูกมัดกับสิ่งที่มีรูปธรรม สามารถทำให้จับต้องได้ง่ายมากกว่า แต่ก็จะทำให้เราผิดหวังได้ง่ายเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ‘การทำงาน’ ต่อให้เราได้งานที่เราชอบ มีเงินเดือนมากพอใช้จ่าย แต่สุดท้ายแล้วพอผ่านไป 5ปี 10ปี ความเบื่อ ความไม่พึงพอใจ ก็จะตามเรามาได้เสมอ

ผมไม่ได้บอกว่าความสุขแบบนี้ไม่ดี เพียงแต่คุณควรที่จะมีความสุขแบบนี้ ‘ควบคู่’ ไปกับความสุขอย่างอื่นด้วย ไม่อย่างนั้นเวลาคุณท้อ คุณก็จะท้อหนักเลย

การลดความทุกข์

หากเรามองว่าความสุขคือเหตุผลในการใช้ชีวิต สิ่งที่ตรงกันข้ามกับความสุขก็คงมีความเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน

ความทุกข์เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถเลี่ยงได้ ชีวิตบางคนก็ทุกข์มากกว่าคนอื่น และถึงแม้ว่าคงไม่มีใครที่อยากจะทุกข์ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะหาประโยชน์จากความทุกข์ไม่ได้เลย

เหตุผล #4 – การลดหรือกำจัดความทุกข์

หลายคนคิดว่าชีวิตน่าจะมีค่ามากกว่านี้หากเราไม่มีความทุกข์ ซึ่งก็มีความจริงในระดับหนึ่ง หากชีวิตเรามีปัญหา หากรอบตัวเรามีปัญหา โอกาสที่เราจะมีความสุขก็คงมีน้อยลง

แต่การที่คุณจะหาเหตุผลในการใช้ชีวิตจากความทุกข์ คุณก็ต้องวาดเส้นให้ได้ว่าอยู่ที่จุดไหนคุณถึงจะพอใจ หากคุณตอบตัวเองตรงนี้ไม่ได้ ต่อให้ชีวิตดีขึ้น มีเงินมากขึ้น ได้ทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำมากขึ้น ความทุกข์ของคุณก็จะเท่าเดิม

หนึ่งก็คือเราต้องเข้าใจว่า ความไม่พอใจในตัวเองและความทุกข์คือเครื่องมือที่มนุษย์มีไว้เพื่อผลักดันตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ มนุษย์ที่พอใจในตัวเองก็จะไม่พัฒนา และสิ่งมีชีวิตที่ไม่พัฒนาก็จะสูญพันธุ์ เป็นกลไกตามธรรมชาติ ในกรณีนี้หากจิตใจคุณกำลังทุกข์อยู่ คุณก็ต้องหาทางแก้ไข แต่ก็ไม่จำเป็นต้องปล่อยให้ความทุกข์นั้นหยุดตัวคุณ

และสองก็คือความทุกข์ไม่มีทางหมดไปได้ คุณอาจจะทำให้ความทุกข์น้อยลงได้ แต่สำหรับบางคนถูกยุงกัด นอนตกหมอน ก็เป็นความเจ็บปวดที่เป็นความทุกข์เช่นกัน ในส่วนนี้ก็ให้หาวิธีแก้ไขลดความทุกข์ตามความเหมาะสมของตัวเองนะครับ

เหตุผล #5 – สร้างค่าให้ความทุกข์

เป็นมุมมองของคนที่สู้ชีวิต หลายคนมองว่าอุปสรรคหรือความทุกข์ก็คือความท้าทาย เป็นสิ่งที่เราสามารถก้าวผ่านเพื่อให้ตัวเองแข็งแกร่งขึ้น 

คนกลุ่มนี้มองว่าหากความทุกข์เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ เราก็คงจำเป็นต้องหาประโยชน์จากความทุกข์ให้มากที่สุด เพราะเรามีเวลาที่จำกัด ชีวิตก็มีชีวิตเดียว จะให้ใช้เวลาอยู่กับความทุกข์นานโดยไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยก็คงไม่ดี เหมือนการเรียนเต้นรำกลางสายฝน

ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถมองชีวิตแบบนี้ได้ และบางครั้งคนที่มองชีวิตแบบนี้ก็ ‘หลุด’ กลับมาท้อชีวิตได้เช่นกัน ผมคิดว่าเหตุผลนี้ควรจะใช้ควบคู่กับคำตอบอื่นๆในบทความด้วย เพื่อที่เราจะไม่ต้องกดดันตัวเองมากไป

ผมแนะนำให้อ่านบทความเรื่อง แนวคิดสโตอิก ที่จะพูดถึงปรัชญาของกลุ่มคนที่นำความทุกข์มาเป็นแรงผลักดันให้ชีวิตตัวเองดีขึ้น นับว่าน่าสนใจเลยทีเดียว

หาเป้าหมาย

คนบางประเภทอยู่เฉยๆไม่ได้ครับ หากไม่ได้ทำอะไรนานๆก็จะรู้สึกหงุดหงิด จิตใจว้าวุ่น รู้สึกว่างเปล่า คำว่า ‘นานๆ’ นี้สำหรับบางคนก็คือ 1 อาทิตย์ สำหรับบางคนก็คือ 10 ปี จิตใจคนเราก็เหมือนกับร่างกายครับ ถ้าไม่ได้เคลื่อนไหวนานๆร่างกายก็จะรู้สึกช้า หากเราไม่ได้ทำอะไรบ้าง จิตใจเราก็คงรู้สึกว่างเปล่า

เหตุผล #6 – การสร้างความสัมพันธ์

มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคมทั้งในเชิงสังคมศาสตร์และเชิงวิทยาศาสตร์ หากมนุษย์ไม่ช่วยเหลือกัน ในฐานะสิ่งมีชีวิตเราก็คงไม่สามารถคงอยู่ได้นานถึงทุกวันนี้ นอกจากนั้นแล้ว หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ก็มีอยู่เยอะ ร่างกายคนเรามีฮอร์โมนแห่งความสุขที่เรียกว่าเซโรโทนินกับออกซิโทซิน (Serotonin & Oxytoxin) ที่จะถูกผลิตเวลาเราได้อยู่กับคนรัก ได้รู้สึกว่าถูกยอมรับในสังคม

‘กำลังใจ’ จากภายนอกเป็นสิ่งสำคัญ ถึงแม้จะมีคนส่วนน้อยที่อยู่ได้ด้วยตัวคนเดียว คุณก็ไม่ได้จำเป็นต้องเหมือนคนเหล่านี้ก็ได้  หากคุณมีความสุขที่ได้อยู่กับคนรัก ได้อยู่กับครอบครัว หรือได้อยู่กับเพื่อน บางครั้งคำตอบในชีวิตของคุณอาจจะอยู่ที่ ‘ช่วงเวลา’ เหล่านี้ ซึ่งคุณก็ควรรักษาไว้ให้ดี

เหตุผล #7 – การตอบคำถามชีวิต

ชีวิตเรามีคำถามมากมาย และแน่นอนว่าไม่มีใครชอบการมีคำถามค้างคา ซึ่งคำถามในชีวิตของคนเราก็มีหลายอย่าง เราเกิดมาเพื่ออะไร เราชอบอะไรกันแน่ เราอยากทำอะไร หากคำถามเหล่านี้มีความสำคัญกับเรา ถ้าเราตอบไม่ได้เราก็คงรู้สึกหงุดหงิด

‘ความอยากรู้’ เป็นบุคลิกอย่างหนึ่งของมนุษย์ หากเราไม่ตั้งคำถามเราก็ไม่มีคำตอบ การตั้งคำถามและหาคำตอบคือสาเหตุที่นักวิทยาศาสตร์และนักธุรกิจทั้งหลายสามารถเปลี่ยนโลกได้ 

เพราะฉะนั้น หากเหตุผลในการใช้ชีวิตของคุณมาจากคำถามอะไรก็ได้ คุณก็สามารถเริ่มจากการตอบคำถามเหล่านี้ ซึ่งวิธีหาคำตอบก็มีมากมาย เช่น การอ่านหนังสือ การออกไปเจออะไรใหม่ๆ การคุยกับคนที่คิดต่าง หรือการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ของตัวเอง 

จำไว้ว่าหากเป็นคำถามที่สำคัญจริงๆ ต่อให้คุณต้องใช้เวลาทั้งชีวิต มันก็คุ้มที่จะหาคำตอบ 

เหตุผล #8 – การถูกเติมเต็ม

ในหลักจิตวิทยา เป้าหมายของมนุษย์ก็คือการถูกเติมเต็ม บางครั้งเราก็อาจเรียกสิ่งนี้ว่า ‘ความสบายใจ’  หรือบางคนก็อาจเรียกว่าสิ่งที่ตรงข้ามกับ ‘ความรู้สึกว่างเปล่า’

การอธิบายว่า ‘ความรู้สึกถูกเติมเต็ม’ คืออะไรหรือทำได้อย่างไรนั้นเป็นเรื่องยาก สำหรับคนที่ว่างเปล่า การให้อธิบายความรู้สึกเติมเต็มก็คงเหมือนกับการให้จินตนาการสีที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน (แปลว่าทำไม่ได้)

ข้อดีก็คือ วิธีหาสิ่งที่เติมเต็มก็เหมือนกับวิธีหาเหตุผลในการใช้ชีวิตแบบอื่นๆ แปลว่าเราต้องใช้ความพยายามในการหาคำตอบ ทำอะไรใหม่ๆ ตรวจสอบสภาพจิตใจตัวเองเรื่อยๆ ตรวจสอบความชอบความไม่ชอบของตัวเองเรื่อยๆ ตราบใดที่เรายังให้โอกาสตัวเองได้ลองอะไรใหม่ๆเสมอ สักวันหนึ่งเราก็จะหาสิ่งที่เติมเต็มตัวเองได้แน่นอน เพียงแต่คุณต้องใช้เวลาและความอดทน

การทิ้งมรดก

มรดก หมายถึงการทิ้งอะไรให้คนอื่น

หลายคนอาจสงสัยว่าชีวิตหลังที่เราไม่อยู่แล้วเป็นอย่างไร ในส่วนนี้ก็ไม่มีใครตอบได้ว่าเราจะไปไหนต่อ แต่สิ่งที่เราจับต้องได้มากกว่าก็คือการคำนึงถึงคนอื่น ซึ่งคำตอบที่คนส่วนมากมีกัน ก็คือการทิ้งอะไรให้คนข้างหลัง

เหตุผล #9 – การทิ้งมรดก

มรดกมาได้ในหลายรูปแบบ นักธุรกิจที่อยากสร้างองค์กรยิ่งใหญ่อยู่ได้เป็นร้อยปี ศิลปินก็อยากทิ้งผลงานให้โลกชื่นชม บางคนก็อยากทิ้งโลกที่ดีกว่าไว้สำหรับคนรุ่นหลัง

สาเหตุในความอยากทิ้งมรดกก็มีหลายอย่าง ความภาคภูมิใจส่วนตัว ความรักให้กับคนรุ่นหลัง หรือบางคนก็แค่อยากจะทิ้งแต่ส่วนหนึ่งของตัวเราให้โลกจดจำไว้ 

โดยรวมแล้ว คนที่อยากทิ้งมรดกก็มีความคาดหวังหรืออีโก้ในระดับหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แค่เราต้องบริหารความคาดหวังเหล่านี้และใช้ให้ถูกช่องทาง สิ่งเหล่านี้คือ ‘ดาบสองคม’ ที่ทำร้ายเราได้ แต่ก็ผลักดันเราให้ก้าวหน้าได้เช่นกัน

เหตุผล #10 – การช่วยคนอื่น 

ในส่วนนี้ผมได้อธิบายไปเยอะแล้วเรื่องความสุขจากการให้และการทำเพื่อคนอื่น แต่หลายครั้งที่การช่วยคนอื่นไม่ได้มีเหตุผลก็เพราะความสุขอย่างเดียว เราช่วยคนอื่นเพราะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เราช่วยคนอื่นเพราะเป็นสิ่งที่ต้องทำ

ผมคิดว่าบุคคลกลุ่มนี้คือคนที่มีคุณธรรมและจริยธรรมในใจที่ ‘แข็งแกร่ง’ กว่าคนอื่นๆ คนส่วนมากเพียงแค่ได้ทำดีหรือช่วยคนอื่นเล็กน้อยก็มีความสุขแล้ว แต่มีเพียงไม่กี่หยิบมือที่จะทุ่มเททั้งชีวิต เพราะเห็นคุณค่าของการช่วยเหลือคนอื่นจริงๆ

ถึงแม้ว่าจะหาตัวได้ยาก โดยเฉพาะในสังคมทุนนิยมทั่วไป แต่ตัวอย่างคนที่หาเป้าหมายชีวิตได้จากการช่วยเหลือคนอื่นก็มีเช่น กลุ่มคนอาสาสมัครไปช่วยพื้นที่ยากไร้และในประเทศที่ขาดโอกาส ชีวิตคนเรามีเวลาจำกัด คนที่ทุ่มเทเวลาเหล่านี้ให้กับคนอื่นก็นับว่าน่าชื่นชมมากครับ

เหตุผล #11 – ครอบครัว

มรดกสุดท้ายก็คือครอบครัว ครอบครัวมีคุณค่าทางสังคมศาสตร์และทางจิตใจ เป้าหมายของเผ่าพันธุ์มนุษย์ก็คือการสืบพันธุ์ บางครั้งเราก็แยกไม่ค่อยออกว่าความรู้สึกที่เรามีอยู่มาจากปัจจัยทางพันธุกรรมหรือมาจากสิ่งที่เรารู้สึกจริงกันแน่ (แนะนำว่า หากคุณสับสนเรื่องเป้าหมายในชีวิตอยู่ก็อย่าคิดเรื่องนี้เยอะ เดี๋ยวจะเครียดเพิ่มไปใหญ่)

เอาเป็นว่าในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง การได้ทำเพื่อคนรุ่นหลัง โดยเฉพาะคนในครอบครัว หรือในสังคมใกล้ตัวเราก็เป็นเป้าหมายที่ดีอย่างหนึ่ง คุณแม่ส่วนมากมีความสุขจากการได้อยู่บ้านเลี้ยงลูก คุณพ่อที่ทำงานดึกๆเพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัว นับว่าเป็นความรู้สึกที่เราถูกเติมเต็มโดยไม่รู้ตัว

สุดท้ายนี้ เกี่ยวกับเหตุผลการใช้ชีวิต

ในบทความนี้ผมก็เขียนอธิบายมาเยอะแล้วนะครับเกี่ยวกับเหตุผลในการใช้ชีวิต หากคุณถามคนนับร้อยคน ส่วนมากก็จะตอบมาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งของในบทความนี้แหละ ซึ่งผมก็หวังว่าอย่างมากว่าคุณจะเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองได้ไม่มากก็น้อย ผ่านตัวอย่างต่างๆที่ผมเรียบเรียงไว้

สิ่งสุดท้ายที่ผมอยากให้คุณเข้าใจก็คือ ‘เป้าหมายในชีวิตเปลี่ยนได้’ ต่อให้คุณเคยมีเป้าหมายใดมาก่อน ไม่ว่าเป้าหมายนั้นจะสำเร็จหรือจะไม่มีค่าอีกแล้วตอนนี้ ชีวิตในปัจจุบันก็เป็นโอกาสที่ดีในการตามหาเป้าหมายใหม่ๆเสมอ ถึงขนาดบางคนบอกว่า ‘เป้าหมายชีวิตก็คือการหาเป้าหมาย’ นั่นเหล่ะ 

ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมา ไม่ใช่เพราะผมคิดว่าจะมีคนอ่านเยอะ หรือเพราะผมอยู่ดีๆก็นึกอยากจะเขียน แต่เป็นเพราะว่ามีผู้อ่านบางคนต้องการให้ผมช่วยตอบคำถามส่วนนี้จริงๆ เพราะฉะนั้นต่อให้มีคนอ่านแค่เดือนละ 10 คน หากผมสามารถช่วยคนอื่นได้ ผมก็คิดว่าบทความนี้เป็นบทความที่ทำหน้าที่ของมันได้ดีแล้ว

หากคุณอ่านมาถึงขนาดนี้แล้วคุณยังไม่สามารถหาคำตอบของเหตุผลในการใช้ชีวิตของตัวเองได้ ผมแนะนำให้อ่านบทความนี้ต่อนะครับ 5 (+1) ขั้นตอนหาเหตุผลในการใช้ชีวิต

บทความล่าสุด