ทำไมเราต้องช่วยเหลือคนอื่น? 5 ประโยชน์ของการช่วยเหลือผู้อื่น

ทำไมเราต้องช่วยเหลือคนอื่น

‘จะช่วยคนอื่นไปทำไมกัน? ในเมื่อชีวิตเราก็ไม่ได้ดีขึ้นสักนิด’

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ที่ต้องการความช่วยเหลือจากคนอื่นเสมอ เราเกิดมาเป็นทารกที่ต้องการคนอื่นดูแล แม้ตอนเราโตขึ้นเราก็ยังต้องการความรักความเอาใจใส่จากคนอื่น ในบทความนี้เรามาดูกันครับว่า ทำไมเราต้องช่วยเหลือคนอื่น และถ้าเราช่วยคนอื่นจนตัวเองลำบาก…ดีจริงหรือเปล่า

ทำไมเราต้องช่วยเหลือคนอื่น

การช่วยเหลือคนอื่นทำให้เรามีความสุข ความสุขนี้มาจากความเป็นมนุษย์ที่ถูกสร้างมาให้เป็นสัตว์สังคม สังคมเราพัฒนาได้ถ้าทุกคนช่วยเหลือกัน และรางวัลเบื้องต้นที่จูงใจให้ทุกคนช่วยเหลือคนอื่นก็คือความสุขจากการให้

หากมองในรูปแบบของสังคมมนุษย์ เราช่วยเหลือกันก็เพราะว่า ‘มันสะดวก’ มากกว่า ในสมัยก่อนมนุษย์เรา ‘แบ่งงาน’ กันทำ เช่นมีคนออกไปล่าสัตว์ มีคนอยู่บ้านดูแลเด็ก แล้วก็มีคนออกไปทำนา ทุกคนมีเวลาจำกัดต่อวัน แต่ถ้าเราแบ่งงานกันทำ คอยช่วยเหลือกัน ทุกคนก็จะ ‘ได้กำไร’ จากสังคมแบบนี้

ในสังคมปัจจุบันคุณอาจจะคิดว่าเงินสามารถซื้อความสะดวกได้ แต่ถ้าเราดูความเป็นจริงแล้ว เรายังต้อง ‘พึ่งพาอาศัย’ คนอื่นเสมอ หากเราป่วยเราก็ต้องพึ่งหมอ หากเราอยากกินข้าวเราก็พึ่งชาวนา สังคมเราแค่ลดความสำคัญของการ ‘สำนึกบุญคุณ’ จากการช่วยคนอื่นผ่านสิ่งที่เรียกว่าการซื้อขาย 

‘เงิน’ เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกของการแลกเปลี่ยนสินค้าเท่านั้น

แต่ต่อให้เรานำปัจจัยของเงินออกไป หรือสิ่งคนเรียกกันว่า ‘การช่วยฟรีๆ’ เราก็จะเห็นได้ว่า การช่วยเหลือคนอื่นก็ยังจำเป็นอยู่ดี ทั้งในเชิงสังคมและเชิงจิตใจของคุณเอง สำหรับคนที่สนใจระบบสังคมที่พึ่งพาช่วยเหลือกัน ผมแนะนำให้อ่านบทความเรื่อง Socialism หรือระบบสังคมนิยม ที่อธิบายถึงกลไกการอยู่ด้วยกันของมนุษย์นะครับ

อย่างไรก็ตามเราก็ควรหาจุดพอดีหรือ ‘ขอบเขตในการให้’ เพราะหากเราให้คนอื่นเกินความสามารถของเรา เราก็จะรู้สึกกดดันหรือเครียดมากกว่าเดิม

ธรรมชาติของมนุษย์ทำให้เราอยากช่วยคนอื่น ความรู้สึกนี้เป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังใน DNA ของเรา หรือในทางตรงข้าม ‘DNA ของคนเห็นแก่ตัว’ ได้ถูกคัดกรองให้มีน้อยลงเรื่อยๆผ่านกระบวนการวิวัฒนาการ (คนที่เห็นแก่ตัวหรือทำตัวแปลกมักถูกกีดกันออกจากสังคม) ร่างกายของคนเราผลิตฮอร์โมนแห่งความสุขอย่าง เซโรโทนิน (serotonin) และ ออกซิโทซิน (oxytocin) เวลาที่เราได้ช่วยเหลือคนอื่นและได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

อย่างไรก็ตาม มนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบหาเหตุผลมาสนับสนุนการตัดสินใจเสมอ หากคุณสงสัยว่าทำไมเราต้องช่วยคนอื่น เหตุผลของคนส่วนมากมีดังนี้

  • ช่วยเพราะอยากช่วย – สำหรับบางคนการช่วยเหลือคนอื่นไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลก็ได้ คนประเภทนี้เป็นคนที่สามารถกระโดดไปช่วยคนจมน้ำได้โดยไม่ลังเลเลย สำหรับคนประเภทนี้การช่วยเหลือคนอื่นเป็นเรื่องธรรมชาติมาก
  • เคยลำบากมาก่อน – หลายคนอยากช่วยเหลือคนอื่นเพราะเคยลำบากมาก่อน พอเห็นคนอื่นลำบากก็เลยนึกถึงตัวเองในสมัยก่อน ถ้าตอนนั้นมีคนช่วยเราทุกอย่างก็คงสบายกว่านี้ การช่วยคนอื่นเป็นหนึ่งในวิธียอมรับอดีตที่อาจจะไม่สวยหรูของตัวเองด้วย
  • สงสาร – หลายคนช่วยคนอื่นเพราะรู้สึกสงสารก็แค่นั้น ยกตัวอย่างเช่นคนที่บริจากเงินให้ขอทานตามถนนเป็นต้น คนที่ให้เงินก็คงเข้าใจว่าตัวเองคงไม่ได้อะไรตอบแทน และส่วนมากก็คงไม่ได้เคยเป็นขอทานมาก่อน เราให้เพราะเราสงสาร ทำแล้วรู้สึกสบายใจ
  • ไม่อยากรู้สึกผิด – หลายคนมีจิตใต้สำนึกเป็นสิ่งเตือนสติอยู่เสมอครับ การอยู่กับความรู้สึกผิดบางทีมันก็ทำให้เรารู้สึกแย่กว่าความเจ็บปวดภายนอก ยกตัวอย่างเช่น สไปเดอร์แมน…หากเราสามารถช่วยคนอื่นได้ แต่เราเลือกที่จะไม่ทำ เราก็คงรู้สึกผิดไปตลอดชีวิต
  • มีคนสอนมา – ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ โรงเรียน ศาสนา หรือแม้แต่กฎลูกเสือ10 ข้อ สังคมส่วนมากสอนให้เราเป็นคนดี เราอาจจะทำดีเพราะสังคมคาดหวังให้เราทำดี ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดหรือน่าอายอะไรเลย

ผมสามารถให้เหตุผลมาหลายร้อยอย่างว่าทำไมเราถึงควรช่วยคนอื่น แต่สุดท้ายแต่ละคนก็คงมีความเชื่อของตัวเอง…ที่คนอื่นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่าย เราช่วยเหลือคนเพราะอะไร เราควรจะช่วยมากแค่ไหน สิ่งพวกนี้ต่อให้ผมแนะนำให้ได้ ทุกคนก็ยังต้องหาจุดยืนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตัวเองอยู่ดี

นอกจากเหตุผลแล้วเรามาลองดูประโยชน์ของการช่วยคนอื่นกันบ้างดีกว่าครับ

5 ประโยชน์ของการช่วยเหลือผู้อื่น

การให้เวลา เงิน หรือพลังงานของเราไปกับคนอื่นเป็นสิ่งที่ทำให้โลกของเราดีขึ้นทุกวัน และการให้ก็ทำให้เราเป็นคนที่ดีขึ้นด้วย งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายไว้ว่าการให้เพื่อสังคมทำให้เรามีความสุข มีสุขภาพดีขึ้นและทำให้เรารู้สึกเติมเต็มมากขึ้น และนี่คือ 5 ประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ของการช่วยเหลือคนอื่น

#1 การช่วยคนอื่นทำให้เรามีอายุยืนยาวขึ้น

หากคุณอยากมีอายุที่ยืนยาวขึ้นให้ลองแบ่งเวลาไปอาสาสมัครช่วยเหลือคนอื่นดูครับ การทำกิจกรรมพวกนี้สามารถช่วยพัฒนาสุขภาพเราได้ งานวิจัยระบุไว้ว่าคนที่ทำอาสาสมัครหรือเป็นจิตอาสามีทักษะในการบริหารความเครียดมากกว่าคนทั่วไป และนั่นก็หมายความว่าโอกาสในการเป็นโรคซึมเศร้าก็มีน้อยลงด้วย การช่วยคนอื่นทำให้ชีวิตของเรามีความหมายมากขึ้นและถ้าเราทำเรื่องแบบนี้ทุกวันสุขภาพจิตของเราจะดีขึ้น และสุขภาพร่างกายของเราก็จะแข็งแรงตามขึ้นมา

การอาสาสมัครทำให้เรารู้สึกเหงาน้อยลงและทำให้ชีวิตทางสังคมของเราดีขึ้น ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ทำให้สุขภาพระยะยาวของเราดีขึ้นครับ

#2 การช่วยเป็นเหมือนโรคติดต่อ

เวลามีใครทำความดี ความดีครั้งแรกก็จะกระจายและเติบโตไปเป็นความดีครั้งที่สองและสาม งานวิจัยที่หนึ่งได้ระบุไว้ว่าคนส่วนมากอยากทำความดีเพราะได้เห็นคนอื่นทำความดีเหมือนกัน เราอยู่ในสังคมที่เชื่อมหากันได้ง่ายและการสร้าง ‘แรงบันดาลใจ’ เล็กๆน้อยๆแต่ละวันจะทำให้สังคมเราดีขึ้น

#3 ทำให้เรามีความสุข

มีงานวิจัยของประเทศอเมริกาวิเคราะห์ไว้ว่าคนที่อธิบายตัวเองว่า ‘มีความสุขมาก’ จะทำการอาสาสมัครมากกว่าคนทั่วไปมากถึง 5.8 ชั่วโมงต่อเดือน การช่วยคนอื่นทำให้ร่างกายเราหลั่ง ‘สารแห่งความสุข’ เช่นฮอร์โมนที่เรียกว่า เซโรโทนิน (serotonin) มากขึ้นด้วย ยิ่งเราช่วยเหลือมาก ยิ่งเราเข้าสังคมในแง่บวกมาก เรายิ่งมีความสุข

#4 ทำให้ความดันโลหิตต่ำลง

หากคุณเป็นคนที่มีปัญหาโรคหัวใจ หมอทั่วไปก็คงบอกให้คนเลิกทานอาหารบางอย่างหรือลดเวลาทำงานลงบ้าง แต่คุณก็ควรแบ่งเวลามาทำกิจกรรมช่วยคนอื่นบ้าง รายงานวิจัยระบุไว้ว่าผู้สูงอายุที่ทำอาสาสมัครอย่างน้อย 200 ชั่วโมงต่อปี สามารถลดความเสี่ยงการเป็นโรคความดันสูงได้ถึง 40% เลยทีเดียว โดยเหตุผลก็คงเพราะว่าบุคคลพวกนี้มีโอกาสเข้าสังคมมากขึ้นซึ่งช่วยลดความเหงาและความเครียดที่ตามมาได้ 

#5 สร้างความหมายในชีวิตให้ตัวเอง

หลายคนคงเคยมีโมเม้นที่ถามตัวเองว่า ‘เกิดมาเพื่ออะไรกันนะ’ งานวิจัยระบุไว้ว่าการช่วยเหลือคนอื่นและการทำอาสาสมัครทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตมีเป้าหมายมากขึ้น โดยเฉพาะเวลาที่เรากำลังหมดเป้าหมายในชีวิตเช่นการเป็น ‘พ่อแม่’ หรือ ‘มนุษย์เงินเดือน’ เป็นต้น

เราจะเห็นได้ว่าการช่วยเหลือคนอื่นมีข้อดีเหนือรางวัลทางจิตใจ แต่การอาสาสมัครกับการช่วยเหลือคนรอบข้างก็มีความแตกต่างนิดหน่อย การให้คนรอบข้างหรือการให้ในสังคมใกล้ตัวเราส่วนมากจะมีการ ‘หวังผลตอบแทน’ ไม่มากก็น้อย และสิ่งที่เรากลัวก็คือการที่เราให้ความหวังดีใครไปแล้ว แต่เรากลับไม่ได้คืนมา หากเป็นกรณีพวกนี้เราควรทำยังไง และเราควรรู้สึกยังไงดี

ช่วยคนอื่นแต่คนอื่นไม่ช่วยเรา

การช่วยคนอื่นแต่คนอื่นไม่ช่วยเรากลับ และ การช่วยคนอื่นจนตัวเองลำบากหรือเดือดร้อน ก็คืออาการ ‘เสียใจภายหลัง’ นั่นเองเหล่ะครับ บางคนช่วยคนอื่นก็เพราะชินกับระบบ ‘การแลกเปลี่ยน’ ที่ผมอธิบายไว้ตอนต้น บางคนเชื่อในบุญและกรรมว่าช่วยแล้วเราต้องได้ดีคืนมาสิ 

คำตอบในอุดมคติที่สุดก็คือ การช่วยเหลือคนอื่นโดยไม่คาดหวังผลตอบแทนเป็นสิ่งที่ดีที่สุด การให้คือความสุขของชีวิตครับ แต่หากคุณกังวลว่าการช่วยเหลือคนครั้งนี้จะกลับมาทำร้ายเราภายหลัง หรือที่แย่กว่าก็คือจะกลับมาทำร้ายคนที่เรารักด้วย ผมแนะนำให้ทำตามนี้ครับ

  • ถามตัวเองว่าเราช่วยคนอื่นเพราะอะไร – สิ่งแรกที่เราต้องเข้าใจคือเหตุผลที่เราอยากช่วยคนอื่น เพราะสาเหตุในการช่วยของเราเป็นตัวตัดสินว่าเราจะช่วยคนอื่นมากแค่ไหน และเราอยากจะช่วยด้วยวิธีอะไร แค่เราให้ยืมเงินก็พอหรือเปล่า หรือเราต้องเข้าไปช่วยสอนวิธีการบริหารเงินด้วย? วิธีไหนคือการช่วยที่ดีที่สุดสำหรับเรา
  • ช่วยเท่าที่ทำได้ – การช่วยเหลือคนอื่นจนเกินความสามารถของตัวเองนั้นก็คงไม่ดี โดยเฉพาะการช่วยที่ทำให้เกิดภาระสำหรับคนรอบข้างของเราเพิ่มหรือช่วยจนเราไม่สามารถรับผิดชอบชีวิตตัวเองได้อีก เราต้องเข้าใจและรู้จักวิธีสื่อสารข้อจำกัดของตัวเอง
  • รู้ ‘ค่าใช้จ่าย’ ของการช่วย – บางครั้งการช่วยเหลืออาจจะไม่ได้ใช้แค่เงินหรือเวลาของเรา บางครั้งเราก็ต้องให้ใจไปกับอีกฝ่ายด้วย เราต้องทำความเข้าใจว่าการช่วยคนอื่นมากไปก็อาจทำให้เราหมดไฟได้เหมือนกัน หากเราช่วยคนอื่นจนตัวเองเครียดเองเราก็ควรหาวิธีอธิบายความรู้สึกนี้ออกมา
  • รู้วิธีเติมเต็มตัวเองเวลาหมดไฟ – การช่วยคนอื่นจนเราหมดไฟเองจะทำให้เรารู้สึกไม่อยากช่วยต่อ หากเราคิดว่าอีกฝ่ายไม่อยู่ในฐานะที่จะเติมเต็มให้เราได้ เราก็ต้องศึกษาวิธีเติมไฟให้ตัวเองต่อไปเรื่อยๆ
  • หาข้อจำกัดของตัวเอง – สุดท้ายแล้วคติของมนุษย์ก็คือ ทำอะไรก็ได้แต่ต้องมีความพอดี เราต้องรู้ข้อจำกัดของตัวเองและรู้ว่าเมื่อไรเราถึงต้องมีข้อจำกัดนี้ เราจะช่วยคนตลอด 24 ชั่วโมงหรือจะช่วยแค่เสาร์อาทิตย์ การทำแบบไหนเราจะรู้สึกผิดและการทำแบบไหนเราจะรู้สึกดีกันแน่

แต่สังคมเราก็ยังมีคนเห็นแก่ตัว

ต่อให้สังคมเราพัฒนาไปไกลแค่ไหน เราก็ต้องเข้าใจว่าในสังคมมีคนเห็นแก่ตัวเสมอ หลายคนก็มีนิสัยชอบเอาเปรียบคนอื่นและเราก็คงไม่สามารถทำอะไรเพื่อเปลี่ยนนิสัยคนพวกนี้ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราควรทำก็คือการรู้ข้อจำกัดของตัวเอง และหาวิธี ‘ปกป้อง’ ตัวเองด้วยการเรียนรู้ที่จะปฏิเสธและไม่ช่วยอะไรที่เกินสิ่งที่คุณทำได้ 

สุดท้ายนี้ความรู้สึกผิดหวังกับสังคมหรือกับคนที่เรารู้จักเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ แต่ความผิดหวังพวกนี้ไม่ควรทำให้เรากลัวที่จะช่วยคนอื่น เราต้องเข้าใจว่าประสบการณ์ที่ไม่ดีไม่ใช่เหตุผลที่เราจะหยุดทำอะไรดีๆให้กับตัวเองและกับสังคม เพราะฉะนั้นหากคุณมีเวลาว่าง ให้ลองหาวิธีช่วยคนอื่นที่คุณสบายใจดีกว่าครับ

บทความเกี่ยวข้องที่เราแนะนำ

บทความล่าสุด