ความรู้สึกลังเลไม่กล้าตัดสินใจเป็นสิ่งที่ทุกคนมีกันทั้งนั้น
แต่สำหรับบางคนแล้ว การลังเลมากเกินไปคงทำให้ชีวิตช้าลงหรือทำให้คนรอบข้างรู้สึกหงุดหงิดได้
แน่นอนว่าหากเรามีเวลาไม่จำกัดเราก็คงสามารถคิดตัวเลือกและหาวิธีตัดสินใจที่ดีที่สุดได้เสมอ แต่ในโลกความเป็นจริงทุกอย่างมีเวลาจำกัดครับ ยิ่งเป็นเรื่องการตัดสินใจที่สำคัญหรือที่เกี่ยวข้องกับคนอื่นเรายิ่งรู้สึกกดดันมากขึ้น
โรคไม่กล้าตัดสินใจ
โรคไม่กล้าตัดสินใจ หรืออาการลังเล เกิดจากความกลัวที่เราต้องตัดสินใจอะไรซักอย่าง ความกลัวนี้อาจจะเป็นการกลัวทำผิด การกลัวทำคนอื่นเสียใจ หรือการคิดไม่ออกเพราะข้อมูลไม่มากพอก็ได้
ไม่ว่าใครก็ไม่อยากเป็นคนที่ตัดสินใจชักช้า แต่คนส่วนมากมักลืมคิดไปว่า ‘การไม่ตัดสินใจ’ ก็เป็นการตัดสินใจอย่างหนึ่งเพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดก็คือการปรับมุมมองในชีวิตเพื่อที่จะหาวิธีตัดสินใจให้ได้ดีพอที่เราจะไม่ ‘เสียใจภายหลัง’ และการเรียนรู้ที่จะอยู่กับผลลัพธ์ของการตัดสินใจไม่ว่าผลสุดท้ายจะออกมายากหรือลำบากแค่ไหนก็ตาม
‘การไม่ตัดสินใจ’ ก็เป็นการตัดสินใจอย่างหนึ่ง
ปัญหาของการไม่กล้าตัดสินใจมีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการเสียใจภายหลัง ปัญหาเรื่องการพลาดโอกาสสำคัญต่างๆในชีวิตไป และปัญหาในการเข้าสังคม หากคุณเป็นนักขายคุณก็คงไม่อยากทำตัวโลเลต่อหน้าลูกค้า หากคุณมีเวลาจำกัดในการชอปปิ้งคุณก็คงไม่อยากใช้เวลาเลือกระหว่างนมหลายยี่ห้อ หรือหากคุณเป็นนักเรียนที่กำลังสมัครมหาลัยคุณก็คงอยากจะเลือกคณะให้ได้ก่อนกำหนดการสมัครใช่ไหมครับ
ทุกคนคงเข้าใจปัญหาของการเป็นคนโลเลไม่กล้าตัดสินใจแล้ว แต่เรามาดูกันว่าปัญหาความลังเลมันเกิดจากอะไรกันนะ
ความลังเลเกิดจากอะไร
คงไม่มีใครอยากตัดสินใจอะไรช้าลงหรอกใช่ไหมครับ หากเราสามารถตัดสินใจทุกอย่างได้ดีตั้งแต่แรกในเวลาที่น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลายอย่างในชีวิตก็คงจะดีขึ้น แต่ความลังเลในชีวิตเกิดจากอะไรกันนะ
ความลังเลสามารถเกิดได้จากสามเหตุผล เรามาลองดูกันครับ
- การตัดสินใจเป็นสิ่งที่น่ากลัว – การกลัวความล้มเหลวคือสาเหตุหลักของ ‘โรคไม่กล้าตัดสินใจ’ เลยครับ หากเราเลือกที่จะตัดสินใจอะไรบางอย่างก็เท่ากับว่าเราพร้อมที่จะยอมรับผลลัพธ์ของการตัดสินใจนั้นๆ เท่ากับว่าเราพร้อมที่รับความล้มเหลวแล้ว แน่นอนว่าไม่มีใครชอบที่จะรู้สึกผิดหรือรู้สึกว่าล้มเหลวทั้งนั้น
- การตัดสินใจแปลว่าเราอาจจะทำร้ายจิตใจคนอื่น – ในหลายกรณี การตัดสินใจก็คือการเลือกไอเดียของใครมากกว่าไอเดียของอีกคน ในฐานะมนุษย์ทุกคนก็อยากใหัคนอื่นชอบ ให้คนอื่นยอมรับใช่ไหมครับ เพราะฉะนั้นเราก็เลยกลัวที่จะทำอะไรตรงกันข้ามกับสิ่งที่คนอื่นชอบ เพราะเรากลัวว่าความสัมพันธ์จะสั่นคลอน
- การตัดสินใจคือการทำอะไรด้วยข้อมูลที่ไม่พอ – ส่วนมากแล้วพวกเราทุกคนต้องตัดสินใจในเวลาที่มีข้อมูลไม่พอเสมอ แต่ถ้าเราคิดจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเวลาไหนมันก็มีข้อมูลให้เราหาเพิ่มได้เสมอครับ ในกรณีที่สุดขั้วเราก็คงเกิดอาการ “วิเคราะห์จนเป็นอัมพาต” (Analysis Paralysis)
วิธีแก้การตัดสินใจไม่ได้
การที่เราต้องตัดสินใจอะไรเป็นสิ่งที่น่ากลัวครับ แต่สิ่งที่เราต้องเข้าใจก่อนเลยก็คือ ‘การไม่ตัดสินใจ’ ก็คือการตัดสินใจอย่างหนึ่ง หลายคนอาจจะใช้ข้ออ้างว่า ‘ตัดสินใจไม่ได้’ มาเป็นเหตุผลว่าทำไมตัวเองถึงไม่ทำอะไรเลยซักที
การก้าวผ่านอาการตัดสินใจไม่ได้อย่างแรกเลยก็คือการเข้าใจว่าคุณไม่มีทางตัดสินใจอะไรได้ดีที่สุด 100% และการที่คุณสามารถใช้สติในการตัดสินใจและสามารถมีเหตุผลมาสนับสนุนการตัดสินใจแต่ละอย่างได้ อาจจะผ่านการหาข้อมูลหรือผ่านการฟังความคิดเห็นของคนที่มีความรู้หรือผู้เชี่ยวชาญ ก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่คุณจะทำได้แล้ว
‘สติ’ คือคำตอบของปัญหาทุกอย่างในใจมนุษย์ หากเราสามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ เราก็จะมีความสุข ลองอ่านบทความเรื่อง Mindfulness คืออะไร? และ ความสุขที่แท้จริงคืออะไร
ยิ่งในกรณีที่เราต้องเลือกความคิดเห็นของใครคนหนึ่งแล้ว การไม่ตัดสินใจอะไรเลยก็คือการที่เราบอกทั้งสองคนอ้อมๆว่า ‘ทั้งสองความคิดเห็นไม่ดีพอ’ และแน่นอนว่าแทนที่คุณจะรักษาน้ำใจของทั้งสองคนจะกลายเป็นว่าคุณทำให้ทั้งสองฝ่ายรู้สึกรำคาญแทน อย่างไรก็ตามการเลือกหรือการตัดสินใจก็แปลว่าจะมีใครสักคนอึดอัดเสมอ
แต่เรื่องพวกนี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ครับ คนที่เป็นห่วงคนอื่นจริงๆไม่ใช่คนที่ลังเลไม่กล้าตัดสินใจ แต่เป็นคนที่สามารถเลือกตัวเลือกที่ดีได้ และสามารถหาวิธีอธิบายการติดสินใจให้คนอื่นเข้าใจได้
หรือถ้ามีปัญหาเรื่องความมั่นใจจนไม่กล้าตัดสินใจอะไรเลยก็สามารถอ่านบทความเรื่อง วิธีสร้างความมั่นใจในตัวเอง และ การก้าวผ่านอาการไม่มั่นใจในตัวเอง
หากคุณเป็นคนที่ไม่สามารถตัดสินใจได้เพราะมีข้อมูลไม่เยอะพอ คุณต้องลงรายละเอียดมากกว่านี้ คุณต้องการข้อมูลอะไร ข้อมูลที่คุณอยากได้ต้องใช้เวลาเท่าไรถึงจะได้มา และข้อมูลที่เราต้องรอมีค่ามากพอให้รอแค่ไหน หากคุณไม่สามารถตัดสินใจอะไรใหญ่ๆเพราะข้อมูลไม่มากพอ ผมแนะนำให้คุณเลือกตัดสินใจอะไร ‘เล็กๆ แต่เป็นขั้นตอน’ แทน หลายคนอาจจะทดลองตัดสินใจอะไรเล็กๆเพื่อทดสอบและเรียนรู้ในระยะสั้นเพื่อหาข้อมูลก่อน
วิธีแก้ความลังเลและตัดสินใจให้เร็วขึ้น
- เลือก ‘ทำให้ดีพอ’ แทน ‘ดีที่สุด’ – หากเราเลือกที่จะทำดีที่สุดเราอาจจะมองข้ามปัจจัยของ ‘เวลา’ ไป ยกตัวอย่างเช่นถ้าเราใช้เวลาคิดว่าจะกินอะไรดีตอนกลางวันเราก็อยากจะคิดให้เสร็จก่อนเที่ยงใช่ไหมครับ ทุกคนมีข้อจำกัดทางด้านเวลากันทั้ง
- ดูเป้าหมายระยะยาวแทน – หากคุณลังเลเรื่องการตัดสินใจ ผมแนะในให้ดูภาพรวมและเป้าหมายระยะยาวของคุณแทน ในหลายกรณีคุณจะพบว่าการตัดสินใจของคุณในแต่ละวัน ‘ไม่ได้มีค่าให้ลังเล’ มากขนาดนั้นเพราะในระยะยาวแล้วมันไม่มีผลอะไรเลย
- ใช้เวลาตัดสินใจ – ในบางครั้งคุณอาจจะถูกคนอื่นเร่งให้ตัดสินใจจนรู้สึกอึดอัด ในกรณีที่เราเริ่มรู้สึกว่า ‘ต้องรีบตัดสินใจให้เร็ว’ ให้ถามตัวเองดูว่า เราต้องรีบจริงหรือเปล่า และการใช้เวลาหาข้อมุลเพิ่มเพื่อจะตัดสินใจให้ดีกว่านี้มันคุ้มค่าหรือเปล่า
- หาเหตุผลว่า ‘เพราะอะไร’ ‘ทำไม’ และ ‘อะไร’ – หากเราเข้าใจเป้าหมาย วิธีทำ และ ข้อจำกัดต่างๆในการตัดสินใจแล้วเราก็สามารถได้ง่ายขึ้นใช่ไหมครับ หากคุณรู้สึกลังเลเวลาตัดสินใจให้ถามคำถามนี้เสมอครับ
- ทำความเข้าใจว่าทำไมถึงลังเล – ให้กลับไปดูเหตุผลที่ผมให้มาข้างบนอีกรอบว่าทำไมคุณถึงรู้สึกลังเลไม่กล้าตัดสินใจ แล้วค่อยหาวิธี ‘คลายความกังวล’ ให้ตัวเอง
- จำกัดเวลาในการตัดสินใจ – การตั้งข้อจำกัดให้ตัวเองเป็นวิธีที่ดีในการตัดสินใจให้เร็วครับ หลายคนลังเลเยอะเพราะประมวลผลและประมวลปัจจัยหลายอย่างมากเกินไปจนทำตัวไม่ถูก ผมแนะนำว่าให้ตั้งเวลาไว้ว่าในอีก 10-30นาที ถ้ายังหาข้อมูลไม่ครบหรือยังตัดสินใจไม่ได้ ก็ให้เลือกตัวเลือกที่ดีที่สุดที่เราคิดได้ตอนนี้แทน และเลิกคิดหรือเสียใจภายหลัง
- ย่อยการตัดสินใจเป็นเรื่องเล็กๆหลายเรื่อง – การตัดสินใจส่วนมากจะประกอบไปด้วยขั้นตอนเล็กน้อยเต็มไปหมด หากคุณต้องเลือกระหว่างสองอย่าง สิ่งแรกที่คุณต้องตัดสินใจเลยก็คือ ‘เกณฑ์ในการตัดสินใจ’ เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่นหากเราคิดไม่ออกว่าจะกินอะไรดี ก็ให้ลองคิดดูว่าเรา ‘ไม่ได้กินอะไรมานานแล้ว’ หรือเรา ‘ขาดสารอาหารชนิดไหนเป็นพิเศษ’ ไหมแทนเป็นต้น
- ประเมินข้อดีที่สุดและข้อเสียที่สุด – วิธีดูข้อดีข้อเสียเป็นสิ่งที่คนทำกันเยอะ แต่ส่วนมากแล้วทุกอย่างมีข้อดีข้อเสียทั้งนั้นและการลังเลก็จะเกิดจากการที่ ข้อดีข้อเสียเท่าเทียมกัน เป็นต้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราอาจจะดูได้แทนก็คือ ‘ข้อดีที่ดีที่สุด’ และ ’ข้อเสียที่แย่ที่สุด’ แทน ถ้าข้อเสียที่แย่ที่สุดมันไม่ได้แย่ขนาดนั้น ผมว่ามันก็เป็นตัวเลือกที่ดีนะ
- เลิกการตัดสินใจเล็กๆน้อยๆ – มีนักวิจัยเคยบอกว่าทุกคนมี mental energy (พลังงานจิต) แต่ละวันจำกัด ซึ่งพลังงานนี้จะใช้ในการคิดเรื่องอะไรยากๆ หรือการตัดสินใจต่างๆในแต่ละวัน และการใช้ mental energy มากเกินไปก็จะทำให้คุณรู้สึกเหนื่อย (คิดสภาพเวลาคุณทำข้อสอบยากๆแล้วกลับบ้านมาสลบไปเลย) เพราะฉะนั้นหากคุณอยากตัดสินใจให้ดีขึ้น คุณก็ต้องประหยัดพลังงานพวกนี้ไว้คิดแต่เรื่องที่สำคัญ คุณอาจจะลองทำแบบ Mark Zuckerberg ที่ใส่เสื้อเหมือนเดิมทุกวันก็ได้
ตัดสินใจยังไง…ไม่ให้เสียใจภายหลัง
โรคไม่กลัาตัดสินใจย่อมตามมาด้วยอาการ ‘เสียใจภายหลัง’
เราตัดสินใจถูกหรือเปล่า? เราทำได้ดีที่สุดแล้วหรือยัง?
เวลาที่เราตัดสินใจเสร็จแล้วเราจะรู้สึก ‘โล่งอก’ เสมอครับ แต่อาการโล่งอกจะอยู่กับเราได้แค่แป๊ปเดียวเท่านั้น หลังจากที่คุณลาออกจากงานหรือตัดสินใจลงทุนครั้งใหญ่ไปหลายอาทิตย์แล้ว สมองของคุณก็จะกลับมาคิดเรื่องการตัดสินใจเก่าๆเสมอ
หลายคนกลัวการตัดสินใจเพราะเกลียดความรู้สึกเสียใจภายหลังแบบนี้ครับ เรามาลองดูกันว่าจะแก้อาการแบบนี้ได้ยังไง
- จดเหตุผลในการตัดสินใจไว้เสมอ – สาเหตุที่เรารู้สึก ‘เสียใจภายหลัง’ หลายอาทิตย์หลังจากที่เราได้ตัดสินใจไปแล้วก็เพราะเรา ‘ลืมเหตุผล’ ที่เราตัดสินใจไปครับ ยกตัวอย่างง่ายๆก็เวลาที่คุณเลิกกับแฟนแต่พอผ่านไปหลายเดือนแล้วกลับรู้สึกคิดถึง หากคุณเริ่มรู้สึกว่ากำลัง ‘เสียใจภายหลัง’ คุณก็ควรที่จะกลับไปดูขั้นตอนและเหตุผลในการตัดสินใจตั้งแต่ตอนแรก ถ้าหลังจากที่คุณตัดสินใจอะไรไปแล้ว ‘ไม่มีตัวแปรอะไรเปลี่ยนแปลง’ นอกจากความคิดในหัวของคุณ คุณก็มั่นใจได้เลยว่าตัดสินใจถูกแล้ว
- จำไว้ว่าคุณทำได้ดีที่สุดแล้ว – ทุกการสินใจของคุณมีข้อดีและข้อเสียทั้งนั้น ไม่ว่าคุณจะตัดสินใจอะไร ยังไงก็ต้องมีสิ่งที่คุณจะเสียใจภายหลังอยู่ดี เพราะฉะนั้นต่อให้คุณเลือกทางเลือกอื่น ผลลัพธ์ก็คงไม่เปลี่ยนใช่ไหมครับ (หมายความว่าผลลัพธ์ก็คือคุณก็มีเรื่องให้เสียใจภายหลังอยู่ดี) คุณได้ตัดสินใจอย่างดีที่สุดไปแล้วด้วยข้อมูลที่คุณมีในตอนนั้น ซึ่งคุณก็ควรที่จะยอมรับการตัดสินใจของตัวเอง
ความรู้สึก เสียใจภายหลัง อาการผิดหวัง คืออารมณ์ปกติของมนุษย์ ผมแนะบทความเรื่อง วิธีรับมือความผิดหวังและความเสียใจ
สิ่งที่ผมอยากจะให้ทุกคนจำไว้ก็คือ ถึงแม้ว่าผลลัพธ์การตัดสินใจของคุณจะทำให้คุณลำบากหรือรู้สึกแย่ มันก็ไม่ได้แปลว่าการตัดสินใจนั้นเป็นสิ่งที่ผิด ในทางตรงกันข้ามเลย เรื่องที่ถูกต้องส่วนมากคือเรื่องยากเสมอครับ
บทความเกี่ยวข้องที่เราแนะนำ
- ความกลัวคืออะไร? เกิดจากอะไร? วิธีเอาชนะความกลัวมีอะไรบ้าง?
- 40 วิธีปล่อยวางเพื่อสร้างความสุขในชีวิต
- 7 สิ่งที่ควรรู้เวลาคุณรู้สึกไม่ดีพอ
บทความล่าสุด
การจัดโต๊ะคอมให้สวยถูกใจ พร้อมฟังก์ชันการใช้งานครบครัน...
ในมุมมองหนึ่ง ‘ลูกคนกลาง’ ดูเหมือนจะต้องแบกรับภาระทางใจอันหนักอึ้ง...