ความรู้สึกอึดอัดเวลาคนอื่นเข้าใกล้เรามากเกินไปหมายความว่าพื้นที่ส่วนตัวของเรากำลังถูกคุกคาม ซึ่งหากเป็นไปได้ก็คงไม่มีใครอยากจะรู้สึกถูกคุกคามหรือรู้สึกอึดอัดแบบนี้ อย่างไรก็ตามการใช้ชีวิตจริงโดยเฉพาะชีวิตทำงานและชีวิตในเมืองที่มีผู้คนแออัด บางครั้งเราก็เลือกโอกาสการเข้าสังคมไม่ได้
ในบทความนี้เรามาดูกันว่า Personal Space หรือ พื้นที่ส่วนตัว และ ระยะห่างระหว่างบุคคล คืออะไรกัน และเราจะต้องทำยังไงเพื่อที่จะเคารพพื้นที่ส่วนตัวของคนอื่นและปกป้องพื้นที่ส่วนตัวของตัวเอง
Personal Space หรือ พื้นที่ส่วนตัวคืออะไร
Personal Space หรือ พื้นที่ส่วนตัว หมายถึงระยะทางระหว่างบุคคลที่จะทำให้คุณรู้สึกปลอดภัยในสภาพแวดล้อมต่างๆอย่างในครอบครัว ในสถานที่ทำงาน หรือในสถานที่เข้าสังคม พื้นที่ส่วนตัวระหว่างบุคคลจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ความสัมพันธ์กับอีกฝ่าย และวัฒนธรรมของสังคม
ตัวอย่างของ Personal Space ที่เห็นได้ง่ายที่สุดก็คือในโรงหนัง เครื่องบิน และรถไฟฟ้า ที่หากเราไม่จำเป็นจริงๆก็คงไม่เลือกนั่งข้างคนอื่น หากเป็นไปได้ทุกคนก็อยากมีพื้นที่ส่วนตัว ที่ไม่ต้องนั่งติดกับใคร โดยเฉพาะคนไม่รู้จัก
พื้นที่ส่วนตัวระหว่างคุณและคนในครอบครัว อาจจะต่างกันกับพื้นที่ส่วนตัวระหว่างคุณและคนที่คุณไม่รู้จักเลย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หากมีคนแปลกหน้าเดินเข้ามาใกล้ๆเรา เราก็คงรู้สึกระแวง ความกลัวและสัญชาตญาณในการปกป้องตัวเองเป็นธรรมชาติของมนุษย์
และปฏิกิริยาตอบโต้ของคนที่ถูกคุกคามพื้นที่ส่วนตัวก็มีได้หลายอย่าง บางคนอาจจะรู้สึกกระวนกระวาย บางคนอาจจะรู้สึกโมโห บางคนก็อาจจะรู้สึกวิตกกังวล
หลายคนอาจจะมอง Personal Space หรือพื้นที่ส่วนตัว ว่าเป็นเหมือน ‘เกราะป้องกัน’ ทำให้เรารู้สึกปลอดภัย ไม่อึดอัด อย่างไรก็ตามในบางกรณีพื้นที่ส่วนตัวก็อาจจะเป็นเหมือนฟองสบู่ที่พร้อมจะแตกได้ทุกเมื่อหากคนอื่นกระทบเข้า แต่ก็ไม่ต้องกังวลอะไรไปนะครับ ในส่วนท้ายของบทความผมจะมีเขียนเรื่องสิ่งที่ควรรู้เมื่อพื้นที่ส่วนตัวของคุณถูกคุกคามให้ทุกคนศึกษา
แต่ก่อนหน้านั้นเราไปลองดูปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ส่วนตัวหรือ Personal Space ของแต่ละคนกัน
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ส่วนตัวและระยะห่างระหว่างบุคคล
เราจะเห็นได้ว่าพื้นที่ส่วนตัวสำหรับแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานการณ์ แต่ละความสัมพันธ์ ยกตัวอย่างเช่น
พื้นที่ส่วนตัวระหว่างผู้ชายกับผู้ชาย ผู้ชายกับผู้หญิง และผู้หญิงกับผู้หญิง
พื้นที่ส่วนตัวระหว่างคนในเมืองแออัด แล้วคนที่อยู่นอกเมือง
พื้นที่ส่วนตัวระหว่างคู่รัก เทียบกับคนสองคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
พื้นที่ส่วนตัวระหว่างคนไทย เทียบกับชาวต่างชาติแถบตะวันตก
หากเราลองสังเกตดีๆ เราจะเห็นได้ว่าพื้นที่ส่วนตัวแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับนิสัยส่วนตัว การเลี้ยงดูในครอบครัว ประสบการณ์ชีวิต และวัฒนธรรมของสังคม
สังเกตได้ง่ายๆก็คือชาวต่างชาติมีการจับมือและกอดกันเป็นการทักทาย แต่ในวัฒนธรรมประเทศไทย จะต้องเว้นระยะเป็นการทักทายแบบไม่สัมผัสกัน อย่างการไหว้ แต่ถึงขนาดนั้นพื้นที่ส่วนตัวระหว่างเพื่อนสนิทกับคนที่ไม่รู้จักอะไรเลยก็ไม่เหมือนกันอยู่ดี
ซึ่งสังคมเราก็คงจะดีขึ้น หากทุกคนเรียนรู้ที่จะสังเกตพื้นที่ส่วนตัวของคนอื่น เราเคารพพื้นที่ส่วนตัวเขา เขาก็เคารพพื้นที่ส่วนตัวเรา สังคมแบบนี้ก็คงมีความสุขไม่น้อย แต่ยิ่งเรามีภาระทางสังคมเยอะมีหน้าที่การงานเยอะ การเลือกสังคมที่เหมาะกับพื้นที่ส่วนตัวเราก็อาจจะเป็นไปได้ยาก ในกรณีนี้เราก็ต้องปรับตัว พร้อมที่จะเรียนรู้ที่จะอยู่กับคนอื่น และพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้คนอื่นเรียนรู้ที่จะอยู่กับเราได้
ข้อควรระวังเกี่ยวกับพื้นที่ส่วนตัวของคนอื่น
อย่างแรกเลยเรามาดูกันเกี่ยวกับ ‘พื้นที่ส่วนตัวของคนอื่น’ ก่อน สิ่งที่เราชอบคนอื่นอาจจะไม่ได้ชอบก็ได้ เพราะฉะนั้นเพื่อให้เราสามารถเข้าสังคมได้อย่างถูกต้อง ข้อควรระวังมีดังนี้ครับ
#1 อย่าจับคนที่คุณไม่ได้รู้จักมาก่อน ยกเว้นสำหรับการทักทายในบางวัฒนธรรม เช่นการจับมือ
#2 อย่าจับลูกคนอื่นเด็ดขาด ยกเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง
#3 อย่าจับของคนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
#4 เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1 เมตร ยกเว้นคุณจะสนิทกันมากๆ
#5 หากมีคนเดินถอยหลังหรือเอนหลังหนี อาจจะเป็นไปได้ว่าคุณกำลังไปรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของเขาอยู่ ให้เดินถอยออกมา 2-3 ก้าว
หัวใจหลักของพื้นที่ส่วนตัวก็คือการเคารพพื้นที่และสิ่งของของคนอื่น เว้นระยะไว้ให้อีกฝ่ายรู้สึกสบายเพื่อที่อีกฝ่ายจะได้สามารถเคารพพื้นที่และของของเราได้ เพราะคนที่ไม่ถูกเติมเต็มก็คงไม่สามารถเติมเต็มให้คนอื่นได้
จริงๆข้อแนะนำเรื่องพื้นที่ส่วนตัวนั้นมีอยู่เยอะมาก โดยรวมแล้วควรจะใช้ทักษะการสังเกตและการเอาใจเขามาใส่ใจเราเพื่อการระยะพื้นที่ส่วนตัวของแต่ละคนอีกที เช่น การไม่แอบดูมือถือคนอื่น หรือการเว้นระยะพื้นที่ส่วนตัวระหว่างชายหญิง ถึงแม้จะเป็นเพื่อนที่เรารู้จัก
ข้อแนะนำด้านบนส่วนมากใช้ได้ในกรณีส่วนมาก ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมไหน เป็นบริบทการเข้าสังคมทั่วไปหรือการทำงาน สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและความชอบของคุณครับ
เวลาคนอื่นเข้ามาในพื้นที่ส่วนตัวของเรา
ในส่วนนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับทักษะการเข้าสังคม และการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์มากกว่า ส่วนมากแล้วข้อแนะนำต่างๆในเวลาคนอื่นเข้ามาในพื้นที่ส่วนตัวของเรานั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับจังหวะและเวลาด้วย ให้ลองนำไปอ่านและปรับใช้ดูเวลาที่จำเป็นนะครับ
#1 ทำใจและปรับตัว หลายครั้งที่การเข้าสังคมเป็นเรื่องเลี่ยงไม่ได้ โดยที่เราทำได้แค่ปรับตัว
#2 ถอยหลังหรือเอนหลังหนี เพื่อหวังให้อีกฝ่ายคิดได้ เหมาะสำหรับคนที่ไม่ชอบเผชิญหน้าโดยตรง
#3 พูดตรงๆไปเลยว่ารู้สึกอึดอัด โดยปรับวิธีการพูดให้เข้ากับสถานการณ์และผู้รับฟัง
ในบางครั้งการอธิบายให้อีกฝ่ายเข้าใจก็อาจจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด เพราะการเข้าสังคมที่ดีต้องอาศัยทักษะการสื่อสารของทั้งสองฝ่าย บางครั้งอีกฝ่ายอาจจะคิดไม่ถึงก็ได้ เช่นคุณอาจจะเป็นคนถนัดซ้าย ทำให้ต้องใช้พื้นที่ฝั่งซ้ายเยอะขึ้น หรือคุณอาจจะเป็นคนสายตายาว ทำให้ต้องเดินออกมาเพื่อให้เห็นชัดขึ้น
หรือถ้าเป็นกรณีในโรงเรียน หรือที่ทำงาน ก็สามารถสอบถามฝ่ายบุคคลและผู้ใหญ่ที่สามารถให้คำแนะนำได้
สุดท้ายนี้เกี่ยวกับพื้นที่ส่วนตัว และ Personal Space
ผมคิดว่าทักษะการเข้าสังคมเป็นเรื่องที่แปลก ยิ่งเรามีประสบการณ์เยอะแค่ไหน เราก็ยิ่งพร้อมที่จะฟันธง ตัดสินใจแทนอีกฝ่ายว่าอีกฝ่ายชอบอะไร อยากให้เราทำอะไร แทนที่จะเป็นการสังเกต หรือถามอีกฝ่ายตรงๆตั้งแต่แรก ในกรณีนี้ประสบการณ์ชีวิตกลับกลายเป็นข้อผูกมัดที่ทำให้เราไม่สามารถพัฒนาได้
หนึ่งในทักษะการเข้าสังคมที่สำคัญมากๆ แต่ไม่ค่อยมีใครสอนกัน ก็คือทักษะการอ่านภาษากายของคนอื่น บ่อยครั้งที่คนอื่นแสดงให้เราเห็นแล้วว่าไม่ชอบ อึดอัด แต่หากเราไม่เคยรู้มาก่อน อ่านภาษากายไม่ออก เราก็จะไม่สามารถเคารพความรู้สึกของคนอื่นได้
สังคมที่ดีก็คือสังคมที่ผู้คนเห็นอกเห็นใจกัน พร้อมที่จะเคารพทั้งการตัดสินใจและพื้นที่ส่วนตัวของอีกฝ่าย อาจจะฟังเหมือนเรื่องง่าย แต่การเข้าสังคมโดยไม่ตัดสินหรือมีข้อสันนิษฐานอะไรเลยนั้นต้องใช้ทักษะการเห็นอกเห็นใจ หรือ Empathy ที่เยอะมาก แน่นอนว่าทักษะนี้ก็เป็นสิ่งที่เราต้องฝึกซ้อม ฝึกฝน และเตือนใจตัวเองเรื่อยๆ ไม่ใช่สิ่งที่เราได้มาแล้ว สามารถเก็บไว้ใช้ได้ตลอดชีวิตโดยไม่ต้องทำอะไรเลย
สำหรับคนที่ชอบบทความนี้ ผมแนะนำให้อ่านบทความด้านล่างเพื่อศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับทักษะต่างๆ ที่จะทำให้คุณเป็นคนที่ ‘อ่อนโยน’ มากขึ้นนะครับ
Mindfulness คืออะไร
ทักษะการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น คืออะไรกัน (Empathy)
Introvert คืออะไร? แล้วการเป็นคนชอบเก็บตัวดีหรือไม่ดีกันนะ?
บทความล่าสุด
การจัดโต๊ะคอมให้สวยถูกใจ พร้อมฟังก์ชันการใช้งานครบครัน...
ในมุมมองหนึ่ง ‘ลูกคนกลาง’ ดูเหมือนจะต้องแบกรับภาระทางใจอันหนักอึ้ง...