การเรียนรู้ด้วยตนเอง คืออะไร [วิธีการเรียนรู้ด้วยตัวเอง]

การเรียนรู้ด้วยตนเอง

ในยุคสมัยที่ข้อมูลมีอยู่ทุกหนแห่งและเราสามารถเรียนรู้ได้ทุกเวลา ทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวเองก็เป็นทักษะที่อาจจะสร้างความแตกต่างระหว่างคนที่ประสบความสำเร็จกับคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ หากเราไม่รู้อะไรเราก็สามารถหาหนังสือศึกษาเพิ่มเติม หาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต หรือดูวีดีโอสอนใน YouTube ก็ได้ 

ยิ่งเราเข้าใจว่าโอกาสในการเรียนรู้มีอยู่ทุกหนแห่ง เราก็ต้องยืนให้ความสำคัญกับทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น … แต่ทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวเองก็ต้องเป็นสิ่งที่เราต้องฝึกฝนเช่นกัน

การเรียนรู้ด้วยตนเองคืออะไร

การเรียนรู้ด้วยตัวเอง คือการเรียนรู้โดยไม่ต้องผ่านผู้สอนหรือสถาบัน ส่วนมากคนที่เรียนรู้ด้วยตัวเองคือคนที่สามารถเลือกหัวข้อเรื่องที่ตัวเองสนใจ เลือกวิธีที่จะเรียนรู้ เลือกสื่อและวัสดุในการเรียนรู้ และเลือกเวลาที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเอง 

หลักการเรียนรู้ด้วยตัวเองก็เป็นสิ่งที่มีการปลูกฝังให้กับทุกคนมานานแล้ว ตั้งแต่อยู่ในโรงเรียน เราก็มีการบ้านที่นักเรียนต้องไปหาข้อมูลไปศึกษาเพิ่มเติมเอาเอง หากเป็นเมื่อก่อนเราก็ต้องไปหาข้อมูลในห้องสมุด แต่ในสมัยนี้หลายๆคนก็เลือกที่จะหาข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ตกัน และทักษะนี้ก็กลายเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นมากขึ้นเมื่อเราโตขึ้นเรื่อยๆ

ยกตัวอย่างเช่นในมหาลัย ที่เนื้อหาที่อาจารย์สอนหลายๆอย่างไม่สามารถควบคุมได้ภายในเวลาเรียนไม่กี่ชั่วโมง ผลลัพธ์ก็คือนักเรียนก็ต้องไปศึกษาเพิ่มเติมนอกเวลาเรียน หรือในกรณีที่เราทำงาน หลายครั้งที่ทำงานไม่ได้มีการฝึกสอนอย่างเป็นทางการ ทำให้หนึ่งในหน้าที่ของพนักงานก็คือการหาวิธีเรียนรู้ด้วยตัวเอง

ลักษณะและองค์ประกอบของการเรียนรู้ด้วยตนเอง

การเรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นทักษะที่สำคัญ อย่างไรก็ตามทักษะนี้ก็จะมีความแตกต่างจากทักษะการเรียนรู้แบบกลุ่ม หรือทักษะการเรียนรู้แบบมีคนสอน เรามาดูกันว่าองค์ประกอบของการเรียนรู้ด้วยตัวเองมีอะไรบ้าง

เป้าหมายของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง – องค์ประกอบหลักของการเรียนรู้ด้วยตัวเองก็คือการตั้งเป้าหมายของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ในกรณีที่เราอยู่ในโรงเรียนมีอาจารย์สอน เป้าหมายหลักของการเรียนรู้อาจจะเป็นการทำคะแนนให้ดี หรืออาจจะเป็นการเน้นท่องจําเป็นส่วนมาก แต่ในกรณีที่เราเลือกที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเอง เราก็สามารถตั้งเป้าหมายและวิธีการในการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ 

สถานการณ์และสภาพแวดล้อมที่จะเรียนรู้ – อีกหนึ่งองค์ประกอบก็คือการเลือกสถานการณ์และสภาพแวดล้อมที่เราอยากจะเรียนรู้ หมายความว่าเราไม่จำเป็นต้องจำกัดเวลาเรียนรู้อยู่ที่ 8:00 นถึง 17:00 น แต่เราสามารถเลือกเวลาที่เรารู้สึกว่าเรามีสมาธิมากที่สุดและพร้อมที่จะเรียนรู้มากที่สุด สำหรับบางคนเวลานี้อาจจะเป็นเวลาตอนเช้า สำหรับบางคนเวลานี้อาจจะเป็นเวลาตอนกลางคืน 

วิทยาศาสตร์สมัยนี้ไปไกลขนาดที่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมคนถึงมีสมาธิดีกว่าตอนกลางคืนเทียบกับตอนกลางวัน ซึ่งก็แปลว่าคนกลุ่มนี้สามารถเรียนรู้ได้ดีกว่าในตอนกลางคืนมาก ปัญหาก็คือคนกลุ่มนี้มีประสิทธิภาพในการเรียนน้อยในตอนกลางวัน ทำให้การเรียนในโรงเรียนหรือเรียนจากมีคนสอนไม่ได้ประสิทธิภาพอย่างที่ควร 

ตั้งแต่โบราณแล้ว ‘การศึกษา’ โดยเฉพาะโรงเรียน ถูกสร้างมาเพื่อให้ ‘มีประสิทธิภาพในการสอน’ มากที่สุด หมายความว่าจากนักเรียนร้อยคน เป้าหมายของโรงเรียนก็คือการทำให้ ‘นักเรียนส่วนมาก’ มีคะแนนที่ดี สอบวัดระดับได้ดี อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ ก็คือนักเรียนบางส่วนอาจจะไม่ได้รับผลดีตามที่คนออกแบบวางระบบไว้

สำหรับคนที่มีสมาธิในการเรียนมากกว่าตอนกลางคืน คนที่มีสมาธิในการเรียนมากกว่าในกลุ่มเล็ก ระบบการสอนแบบมาตรฐานอาจจะใช้ไม่ได้ผลเท่าไร

ปัญหาของการเรียนรู้ด้วยตนเอง 

ถึงแม้ว่าการเรียนรู้ด้วยตัวเองจะฟังดูสวยหรูมากแค่ไหน ทุกอย่างก็ย่อมมีจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง 

ปัญหาแรกของการเรียนรู้ด้วยตัวเองก็คือการที่เรา ‘ไม่รู้ในสิ่งที่เราไม่รู้’ หมายความว่า การเรียนรู้ด้วยตัวเองเหมาะสำหรับการเรียนรู้แนวที่มีโจทย์หรือปัญหาให้เราศึกษาอย่างแน่นอน และยิ่งคุณช่างสังเกตช่างถามมากแค่ไหน คุณก็จะยิ่งได้ประโยชน์จากการเรียนรู้ด้วยตัวเองมากเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่นถ้ามีคนบอกให้คุณไปสร้างรถมา 1 คัน หากคนไม่รู้ว่าขั้นตอนการสร้างรถควรจะเริ่มยังไง มันก็ยากที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเอง

ปัญหาของการที่เราไม่รู้ในสิ่งที่เราไม่รู้ยิ่งมีผลมากในกรณีที่โจทก์หรือปัญหามีคำตอบที่ตายตัว เช่นในกรณีโจทย์เลขหรือโจทย์วิทยาศาสตร์ ในสมัยหลายร้อยปีที่แล้ว ถ้าคุณสงสัยว่า ‘แรงโน้มถ่วงโลกเท่ากับเท่าไร’ คุณก็คงไม่สามารถหาคำตอบหรือเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ขนาดนั้น ยิ่งคำถามมีความลึก มีความยากมากเท่าไร การเรียนรู้ ‘สิ่งที่มนุษยชาติใช้เวลาหลายร้อยปีเพื่อบันทึกไว้’ ก็อาจจะไม่ใช่การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากนัก

ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ สำคัญมากในกรณีที่ ‘ผลลัพธ์ของการเรียนรู้’ มีความสำคัญ หากคุณต้องหาข้อมูลเพื่อไปทำงานและถ้าคุณไม่สามารถหาข้อมูลนี้ได้บริษัทก็จะเกิดความเสียหาย ในกรณีนี้คุณก็อาจจะต้องพึ่งพาความสามารถทั้งการเรียนรู้ด้วยตัวเองและทั้งการหาข้อมูลจากเพื่อนร่วมงาน ในกรณีเดียวกันหากคุณเป็นนักเรียนต้องทำคะแนนสอบเพื่อไปสมัครงานหรือว่าไปสมัครเรียนต่อ ผลลัพธ์ของการเรียนรู้ก็สำคัญมาก

ไม่ใช่ว่าเราจะไม่สามารถหาคำตอบด้วยตัวเองได้เวลามีผลลัพธ์ที่สำคัญ แต่สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงก็คือเวลาและความพยายามที่เราต้องทุ่มเทกับคำตอบนั้นๆ ส่วนมากแล้วในกรณีที่ผลลัพธ์มีความสําคัญ  เวลาและความเร็วในการหาคำตอบก็มักจะมีความสำคัญมากเช่นกัน ซึ่งถ้าหากคุณไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพตัวเลือกอื่นก็คือการถามคนอื่น 

ลักษณะของผู้ที่มีการเรียนรู้ด้วยตนเอง 

เราจะเห็นได้ว่าทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวเองนั้นจะมีประโยชน์มากสำหรับคนบางประเภทและสำหรับบางสถานการณ์เท่านั้น ในส่วนนี้เรามาดูกันว่าลักษณะของผู้ที่มีการเรียนรู้ด้วยตัวเองและสามารถรับประโยชน์จากการเรียนรู้ด้วยตัวเองมากที่สุดนั้นต้องเป็นยังไง

ลักษณะของผู้ที่มีการเรียนรู้ด้วยตนเองก็คือผู้ที่มีแรงจูงใจและสามารถผลักดันตัวเองให้ศึกษาเรื่องต่างๆได้ บุคคลประเภทนี้อาจจะมีวินัยในการศึกษามากเป็นพิเศษ หรืออาจจะเก่งเรื่องการตั้งเป้าหมายให้ตัวเอง และแจ้งเรื่องการนำเป้าหมายที่ตั้งมาเพื่อจูงใจตัวเอง ไม่ว่าวิธีจูงใจจะมาจากเป้าหมายหรือวินัย จุดสำคัญก็คือบุคคลประเภทนี้สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้

ลักษณะที่สองของผู้ที่มีการเรียนรู้ด้วยตัวเองก็คือลักษณะของความสามารถในการหาข้อมูล ถึงแม้ในยุคสมัยนี้ข้อมูลจะสามารถหาได้ง่ายๆไม่ว่าจะเป็นผ่านอินเทอร์เน็ตหรือหนังสือต่างๆ แต่ก็มีเพียงไม่กี่คนที่สามารถใช้แหล่งข้อมูลพวกนี้ได้อย่างเต็มคุณค่า คนที่สามารถเก็บเกี่ยวความรู้จากสื่อที่ตัวเองมีอยู่ใกล้ตัวได้ ทั้งๆที่คนอื่นไม่เห็นวิธีการ ก็คือคนที่มีลักษณะของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

นอกจากนั้นแล้ว เราก็จำเป็นต้องดูลักษณะส่วนวิธีการเรียนรู้ของคนด้วย ยกตัวอย่างเช่นบุคคลบางประเภทสามารถเรียนรู้และซึมซับข้อมูลจากหนังสือได้ดีและเร็วกว่าบุคคลประเภทอื่น อาจจะแปลว่าบุคคลนี้มีสมาธิในการเรียนรู้มากกว่า หรือถ้าอาจจะมีทักษะในการจดโน้ตในการตีความจากสื่อที่ตัวเองเรียนรู้มากกว่าคนปกติ

กระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองมีขั้นตอนอย่างไร

กระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเองนั้นมีขั้นตอนง่ายๆแค่ 4 ขั้นตอนเท่านั้น แน่นอนว่าสำหรับบางคนที่เรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นอยู่แล้ว ขั้นตอนพวกนี้ก็อาจจะฟังดูตรงไปตรงมา แต่สำหรับบางคนที่ยังเรียนรู้ด้วยตัวเองไม่เป็น ให้ลองศึกษาและทำตามขั้นตอนข้างล่าง

ขั้นที่ 1 ประเมินความสามารถในการเรียนรู้

ก่อนที่เราจะเริ่มเรียนรู้ด้วยตัวเอง เราก็ต้องประเมินทักษะของตัวเองก่อนว่าเราสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองมากกว่าหรือเปล่า ทักษะหลายอย่างที่คุณอยากจะเรียนรู้สามารถถูกสร้างหรือถูกเสริมเพิ่มขึ้นมาจากทักษะที่คุณมีอยู่แล้วได้ เพราะฉะนั้นหากเรามั่นใจหรือมีทิศทางพื้นฐานอยู่แล้วว่าอยากจะเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างไร เราก็สามารถนำทักษะพื้นฐานพวกนี้ไปใช้ต่อในขั้นตอนต่อไปได้

ความสามารถในการเรียนรู้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมของคุณด้วย หากคุณเป็นคนที่ต้องเรียนรู้ด้วยการอ่านหนังสือเงียบๆคนเดียวตอนกลางคืน คุณก็ควรมั่นใจก่อนว่าคนมีทั้งทรัพยากรมากกว่าสำหรับการเรียนรู้และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ด้วยตัวเองในรูปแบบของคุณ

ขั้นที่ 2 เป้าหมายในการเรียนรู้ 

ขั้นตอนต่อไปก็คือการตั้งเป้าหมายในการเรียนรู้ หากคุณอยากจะฝึกทักษะดนตรีศิลปะ คุณก็ควรตั้งเป้าหมายในใจไว้ว่าภายในระยะเวลาเท่าไหร่เราควรจะได้ผลงานประมาณเท่าไหน เป้าหมายที่ดีต้องมีทั้งผลลัพธ์และก็ระยะเวลา

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก่อนตั้งเป้าหมายก็คือการเรียนรู้ด้วยตัวเองนั้นอาจจะไม่ใช่วิธีการเรียนรู้ที่รวดเร็วที่สุด เพราะฉะนั้นเราก็ควรปรับเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาว ให้เหมาะสมกับเป้าหมายและทักษะที่เรามีอยู่ณ ปัจจุบัน ซึ่งเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวจะเป็นตัวบอกเราอีกทีว่าเราสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองเก่งแค่ไหน และถ้าเรามีปัญหาเราควรจะทำอย่างไรเพื่อหาทางแก้

ขั้นที่ 3 กระบวนการเรียนรู้ 

ขั้นตอนที่ 3 คือขั้นตอนการเรียนรู้ ในขั้นตอนนี้คุณก็ต้องเลือกวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตัวคุณและเหมาะสมกับเป้าหมายที่คุณอยากจะได้มา กระบวนการเรียนรู้ของแต่ละทักษะ แต่ละความรู้ ของแต่ละคนอาจจะมีขั้นตอนไม่เหมือนกัน หากคุณยังไม่เคยเรียนรู้ด้วยตัวเองมาก่อนก็ให้ลองคิดกลับไปทบทวนดูว่าในอดีตเวลาที่คุณเรียนรู้หรือมีคนสอนทักษะอะไรให้คุณ คุณรู้สึกถนัดกับวิธีการสอนแบบไหนมากที่สุด 

ให้ลองถามตัวเองว่าในอดีตครูคนไหนคือครูที่คุณชอบมากที่สุด ทำไมคุณถึงชอบวิธีการสอนครูคนนี้ วิธีการสอนของครูแบบไหนที่คุณไม่ชอบและรู้สึกว่าทำให้คุณไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขั้นที่ 4 ประเมินผลและพัฒนา

ขั้นตอนสุดท้ายก็คือขั้นตอนการประเมินผลและหาวิธีมาพัฒนากระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่อง ให้กลับไปดูเป้าหมายในระยะสั้นและระยะยาวของคนที่ตั้งไว้ขั้นที่ 2 และ และกลับมาพิจารณาดูว่าเป้าหมายแบบไหนพิจารณาดูว่ากระบวนการที่ทำในขั้นที่ 3 นั้นสามารถทำให้คุณก้าวไปสู่เป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวได้หรือเปล่า

ปัญหาในการประเมินผลของการเรียนรู้ด้วยตัวเองก็คือ คุณจะไม่ค่อยมีบรรทัดฐานในการเปรียบเทียบ ซึ่งสิ่งที่ดีที่สุดก็คือการออกไปคุยกับคนอื่นหรือศึกษาข้อมูลด้วยตัวเองหรือว่า การเรียนรู้แบบไหนถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับเป้าหมายของเรา

ในส่วนนี้ ผมแนะนำให้อ่านบทความเรื่องความสำคัญและแผนการพัฒนาตัวเองเพิ่มได้ที่บทความนี้ของผมนะครับ แผนการพัฒนาตัวเองที่ได้ผล

บทความเกี่ยวข้องที่เราแนะนำ




บทความล่าสุด