ทักษะการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น คืออะไรกัน? แล้วมีอะไรบ้าง?

ทักษะการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

การเห็นอกเห็นใจผู้อื่นทำยังไง? แล้วสำคัญมากขนาดไหนกันนะ?

การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ถ้าจะให้อธิบายสั้นๆก็คือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือก็คือการพยายามเข้าใจสถานการณ์ มุมมองและความรู้สึกของอีกฝ่าย และเป็นการเรียนรู้ที่จะสื่อสารความเข้าใจนั้นให้อีกฝ่ายได้รับรู้

เพราะฉะนั้นทักษะการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น นอกจากจะเป็นทักษะสำคัญในการเข้าสังคมแล้ว ยังเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิตอีกด้วย แต่ทักษะการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นคืออะไรบ้าง?

ทักษะการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy) คือ

ทักษะการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น คือการที่เราสามารถเข้าใจและเอาความคิด ความรู้สึก อารมณ์และมุมมอง ของอีกฝ่ายมาอยู่ในมุมมองของเราเองได้ การเห็นอกเห็น 3 แบบคือ การเห็นอกเห็นใจทางความคิด ทางอารมณ์และความสงสาร

  • การเห็นอกเห็นใจทางความคิด – หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือการมองในมุมมองของอีกฝ่าย เหตุการณ์ที่เราเอาตัวเราไปอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับอีกฝ่ายและเข้าใจมุมมองของเขา การเห็นอกเห็นใจแบบนี้การตอบสนองทางความคิดมากกว่าทางอารมณ์ และส่วนมากจะเป็นการช่วยหาวิธีแก้ปัญหาจากเหตุผลและตรรกะมากกว่า
  • การเห็นอกเห็นใจทางอารมณ์ – การเห็นอกเห็นใจทางอารมณ์ก็เหมือนกับว่าเรา ‘รับรู้’ อารมณ์ของอีกฝ่ายหนึ่งได้ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์หลายอย่างได้วิเคราะห์ว่าอารมณ์เป็นสิ่งที่สามารถแพร่สู่คนอื่นได้ (emotional contagious) เช่นเวลาที่เราเห็นคนยิ้มเราก็จะยิ้มตอบ คำว่า ‘เอาใจเขามาใส่ใจเราส่วน’ มากจะหมายถึงการเห็นอกเห็นใจทางอารมณ์แบบนี้
  • การเห็นอกเห็นใจแบบสงสาร – การเห็นอกเห็นใจแบบนี้คือการรับรู้ถึงความเจ็บปวดของอีกฝ่าย และพยายามหาวิธีช่วยให้มันดีขึ้น แต่ส่วนมากแล้วการเห็นอกเห็นใจแบบนี้คือการเห็นอกเห็นใจที่ดีที่สุดครับ ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีปัญหาคงไม่ได้แค่อยากให้คุณแค่เข้าใจปัญหาของเขา (การเห็นอกเห็นใจทางความคิด) และก็คงไม่ได้อยากให้คุณมาร้องไห้เป็นเพื่อน (การเห็นอกเห็นใจทางอารมณ์) แต่สิ่งที่เขาต้องการคือคนที่สามารถทางเข้าใจปัญหาและอารมณ์ของเขา แล้วก็สามารถหาวิธีช่วยแนะนำวิธีแก้ปัญหานั้นให้ได้

การเห็นอกเห็นใจทางความคิด ส่วนมากจะถูกเรียกว่า แสดงอารมณ์น้อยไป ในทางตรงข้ามการเห็นอกเห็นใจทางอารมณ์จะถูกแล้วว่าการแสดงอารมณ์มากเกินไป สิ่งที่สำคัญก็คือเราต้องหาจุดกลางระหว่างการเห็นอกเห็นใจทั้งสองอย่างนี้ ซึ่งบางทีก็อาจจะไม่เหมือนกันสำหรับทุกคนก็เป็นได้

ความสำคัญของการเอาใจเขามาใส่ใจเรา

การเห็นอกเห็นใจผู้อื่นหรือ ‘การเอาใจเขามาใส่ใจเรา’ มีประโยชน์มากกว่าแค่การเป็นทักษะในการเข้าสังคมนะครับ ตัวอย่างประโยชน์ของการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นคือ

  • การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ทำให้คนเราสามารถเข้าใจและปรองดองกับคนอื่นได้ และเป็นวิธีที่ช่วยให้เราตอบสนองต่อสถานการณ์ทางสังคมได้อย่างเหมาะสม
  • หากเราเข้าใจผู้อื่น เราก็สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของตัวเองจะช่วยให้คนเราผ่านสถานการณ์ตึงเครียดได้
  • เราจะช่วยเหลือผู้อื่นได้มากขึ้น ไม่เพียงแต่เราจะทำความเข้าใจอารมณ์ของคนอื่นได้แล้ว เรายังสามารถเข้าใจปัญหาและหยิบยื่นมือช่วยเหลือคนอื่นได้ด้วย ข้อนี้เป็นมากกว่าทักษะการเข้าสังคมเพื่อช่วยเหลือตัวเอง แต่เป็นการเข้าใจผู้อื่นเพื่อช่วยเหลือมนุษย์ด้วยกัน

ผลวิจัยบอกไว้ว่า ผู้ที่มีความเห็นอกเห็นใจน้อยมักจะตกหลุมพรางของการ ‘เหมารวม’ หรือการเอาทัศนคติของสังคมทั่วไปมาตัดสินคนอื่น ยกตัวอย่างเช่น คนส่วนมากจะชอบเชื่อมโยงความล้มเหลวของผู้อื่นกับลักษณะภายในหรือนิสัยของคนคนนั้น (เช่น คนนั้นทำไม่ได้เพราะขี้เกียจ หรือไม่เก่ง) แต่จะชอบ ‘โทษ’ ความล้มเหลวของตัวเองกับปัจจัยภายนอก (เช่น เราทำไม่ได้เพราะไม่มีใครสนับสนุน หรือเพราะโอกาสไม่เป็นใจ)

ในโลกที่เราสามารถเข้าถึงข้อมูลและข่าวสารทางไกลได้ สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมก็คือ เวลาเราเห็นข่าวภัยอันตรายในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่เราไม่เคยไปหรือไม่รู้จัก สิ่งที่เราทำก็คือการ ‘รับรู้ข่าวสาร’ และ ‘เฉยเมย’ มากกว่าการเห็นอกเห็นใจ ใช่ไหมครับ 

หรือเราอาจจะเห็นได้ในบางกรณีที่เวลามีคนประสบเหตุการอะไรที่ไม่ดี สิ่งที่คนมักทำกันก็คือการ ‘โทษเหยื่อ’ (Victim Blaming) ไม่ว่าจะด้วยการบอกว่า ‘ทำตัวอย่างนี้ก็สมแล้ว’ หรือ ‘ไปอยู่ในที่แบบนั้น จะเจออะไรก็ไม่แปลกหรอก’ ซึ่งในความเป็นจริง หากเราสามารถมองข้ามสถานการณ์ (ที่อาจจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้) สิ่งที่เราควรทำคือแสดงความสงสารและหยิบยื่นความช่วยเหลือมากกว่าการแสดงความคิดในแง่ลบ

จุดบอดของการเห็นอกเห็นใจ

ในสังคมส่วนมากจะบอกว่าการเห็นอกเห็นใจเป็นสิ่งที่ดี ในบทนี้ผมอยากจะเสนอมุมคิดเรื่องจุดบอดของการเห็นอกเห็นใจด้วยครับ

เราอาจจะลืมคิดไปกันว่า ทักษะการเห็นอกเห็นใจบางอย่างอาจจะทำให้เรา ‘เข้าสังคม’ ได้แย่ลงด้วย ยกตัวอย่างเช่น คนที่เห็นอุบัติเหตรถชนอาจจะ ‘กลัวในสิ่งที่เห็น’ มากเกินไปจนลืมเข้าไปช่วยคนที่โดนอุบัติเหต (เช่น เห็นคนเจ็บก็เลยกลัวเจ็บตามไปด้วย)

และบางครั้ง ‘ความเกลียดชัง’ หรือ ‘ความรุนแรง’ ก็อาจจะถูกส่งต่อจากสังคมมาสู่คนที่ ‘เข้าใจอารมณ์คนอื่น’ เก่งก็ได้ ยกตัวอย่างเช่นนักชาตินิยมที่อยากจะปกป้องประเทศของตัวเองเป็นต้น

สิ่งสำคัญในการพัฒนาทักษะการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นคือการที่เราสามารถ ‘รับรู้ความคิดและอารมณ์’ ของคนรอบข้าง และสามารถให้การช่วยเหลือเมื่อคนอื่นต้องการได้ แต่ในขณะเดียวกัน การ ‘ตอบสนองอารมณ์และความคิด’ ต้องไม่ทำให้เราเกิดอคติต่อสิ่งที่เราไม่ได้เห็นหรือไม่ได้ประสบด้วยตัวเอง 

นอกจากนั้นแล้ว การเห็นอกเห็นใจที่มากเกินไปอาจจะทำให้เราคิดว่า ‘มันเป็นหน้าที่ของเรา ที่ต้องทำให้คนอื่นรู้สึกดีขึ้น’ ซึ่งถ้าจะให้เราทำให้ทุกคนรู้สึกดีขึ้น…ในความคิดผม แนวคิดแบบนี้เป็น ‘ความรับผิดชอบที่มากเกินไป’ 

การเห็นอกเห็นใจ คือการทำให้อีกฝ่ายรับรู้ว่า ‘เราอยู่ด้วย’ และคือการให้พื้นที่สำหรับอีกฝ่ายในการรับรู้อารมณ์ของตัวเอง แสดงความรู้สึกออกมา และทำความเข้าใจอารมณ์และความคิดของอีกฝ่าย

การเห็นใจเห็นใจผู้อื่น เริ่มจากการเข้าใจมุมมองตัวเราเองก่อน

ปัญหาส่วนมากของคนที่ไม่เข้าใจผู้อื่นหรือไม่สามารถรับรู้อารมณ์ของผู้อื่นได้ก็เพราะว่าคนคนนั้น ‘คิดเรื่องตัวเองมากไป’ ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้แปลว่าเค้าตั้งใจ แต่แค่อาจจะเพราะเค้ามีประสบการณ์หรือมุมมองที่ไม่กว้างพอ 

ทุกคนสามารถพัฒนาความสามารถในการเห็นอกเห็นใจคนอื่นได้ และนี่เป็นแปดวิธีที่จะช่วยคุณพัฒนาทักษะนี้ครับ

  1. ออกจาก Comfort Zone – การออกไปทำหรือลองอะไรใหม่เป็นวิธีง่ายๆในการพัฒนะทักษะการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย เรียนภาษา หริอแม้แต่ฝึกซ้อมเต้น การทำอะไรใหม่ๆจะทำให้คุณรู้สึกอ่อนน้อมถ่อมตนและไม่เอาความคิดหรืออารมณ์ตัวเองเป็นที่ตั้งมากเกินไป
  2. การท่องเที่ยว – การท่องเที่ยวหรือการไปเยี่ยมชมสถาณที่หรือวัฒนธรรมใหม่ๆจะทำให้โลกคุณเปิดกว้างมากขึ้นและสามารถเข้าใจ ‘คนที่แตกต่าง’ ได้มากขึ้น
  3. ขอคำแนะนำและการเสนอแนะ – ขอคำแนะนำจากคนรอบตัวคุณเรื่องทักษะต่างๆ (เช่นทักษะการฟังหรือการเข้าใจสถานการณ์) ไม่ว่าจะเป็นจากครอบครัว เพื่อน หรือที่ทำงาน และให้เทียบกับตัวคุณที่ผ่านมาว่าพัฒนามากขึ้นแค่ไหน 
  4. ศึกษาเรื่องความรู้สึกด้วย – ให้คุณลองอ่านหนังสือหรือนิยายที่เกียวกับ ‘ความสัมพันธ์และอารมณ์’ ด้วย งานวิจัยบอกว่า หนังสือพวกนี้ช่วย ‘หมอมือใหม่’ ในการเข้าใจคนไข้มากขึ้น
  5. คุยและทำความเข้าใจผู้อื่น – การพูดคุยสอบถามประสบการณ์ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยเราเข้าใจผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการคุยเรื่องปัญหา ข้อกังวัล หรือประสบการณ์ที่คุณมีคล้ายกัน
  6. ตรวจสอบอคติตัวเอง – ทุกคนมีอคติทั้งนั้น แค่บางครั้งเราอาจจะไม่รู้สึกถึงมันก็ตาม อคติพวกนี้จะทำให้เราไม่สามารถฟัง รับรู้ หรือเข้าใจอารมณ์และความคิดผู้อื่นได้ ส่วนมากอคติพวกนี้จะเกี่ยวกับ เพศ ชนชั้น สีผิว หรือแม้แต่อายุครับ หากคุณคิดว่าตัวเองไม่ใช่คนมีอคติ ก็ให้คิดใหม่ เพราะทุกคนมีอคติกันทั้งนั้น
  7. พัฒนาความอยากรู้อยากเห็น – หนึ่งในการเป็นคนที่อ่อนน้อมถ่อมตนก็คือการที่เราสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของทุกคนได้ ยกตัวอย่างเช่น มีอะไรที่คุณสา่มารถเรียนรู้จากคนรุ่นใหม่หรือคนอายุน้อยกว่าได้หรือเปล่า หรือมีอะไรที่คุณจะเรียนรู้จากลูกค้าคนไหนที่คุณคิดว่าเค้่า ‘มองภาพรวมแคบไป’ ไหม? ความอยากรู้อยากเห็นจะกระตุ้นคำถามและคำถามคือตัวสร้างความเข้าใจคนรอบข้าง
  8. ถามคำถามให้ดีกว่าเดิม – ทุกครั้งที่คุณพบคนใหม่ๆ ให้คุณคิดคำถามล่วงหน้าที่จะช่วยให้คุณเข้าใจคนอื่นได้มากขึ้นนะครับ

ถึงแม้ว่าในบางครั้ง ‘เห็นอกเห็นใจผู้อื่น’ อาจจะทำได้ยาก แต่โดยรวมแล้วพวกเราทุกคนเกิดมาพร้อมกับทักษะในการเห็นอกเห็นใจทั้งนั้น การเข้าใจและพยายามมองโลกจากมุมมองคนอื่นเป็นทักษะในการเข้าสังคมและพัฒนาตัวเองที่สำคัญมาก เพราะคนที่สามารถเข้าใจผู้อื่นได้ดีคือคนที่สามารถช่วยเข้าใจตัวเองและเข้าไปช่วยเหลือผู้อื่นได้ด้วย

บทความเกี่ยวข้องที่เราแนะนำ

บทความล่าสุด