เราใช้ชีวิตมากกว่า 30% ในการทำงาน เพื่อที่จะสร้างความมั่นคงสำหรับความสุขในอนาคต
การทำงานต้องใช้ความอดทนครับ บางครั้งเราป่วย รู้สึกไม่ดี หรือพักผ่อนไม่พอ เราก็ต้องฝืนตัวเองไปทำงาน แต่มันจะมีวิธีไหนที่เราจะทำงานอย่างมีความสุขได้ไหมนะ
ในสภาพแวดล้อมที่ถูกต้อง เราสามารถหาความสุขจากการทำงานได้ เราสามารถรู้สึกรักในงานที่เราทำและภูมิใจกับคุณค่าของงานของเรา เราจะรู้สึกว่าการทำงานเป็นอะไรที่มากกว่าการหาเงินเพื่อใช้ชีวิต
คนเราต้องทำงานเพื่อมีชีวิตอยู่และเราก็ใช้เวลาของชีวิตไปกับการทำงานเยอะมาก แต่เราไม่ควรมองการทำงานว่าเป็นการ ‘ลงทุนเพื่ออนาคต’ หรือการ ‘สร้างความมั่นคง’ เท่านั้น งานสามารถเป็นความสุขให้กับเราได้ ซึ่งความสุขจากการทำงานนี้ก็มาจากได้หลายช่องทางเลย ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่าวิธีสร้างความสุขจากการทำงานมีอะไรบ้าง
วิธีทำงานอย่างมีความสุข
ในช่วงหลายปีแรกที่เราเริ่มทำงาน เราอาจจะคิดว่างานที่เราทำไม่ได้ทำให้เรามีความสุข เพราะงานอาจจะไม่เหมาะกับเราหรือไม่ตรงกับสิ่งที่เราฝันไว้ บางครั้งการย้ายงาน การย้ายแผนก การได้ลองทำอะไรใหม่ๆบ้างก็เป็นการเติมไฟให้เราอย่างดีครับ ยิ่งถ้าเราย้ายงานแล้วใกล้บ้านหรือได้เงินเดือนเยอะกว่าเดิมก็เป็นเรื่องที่น่าฉลอง
แต่หลายคนย้ายงานไปสุดท้ายก็เกิดอาการเบื่อซ้ำไปซ้ำมาอยู่ดี อาการเบื่องานอาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่เราทำงานไม่มีความสุข และการย้ายงานการลาออกก็ไม่ใช่ทางออกที่ดีสำหรับทุกคน บางทีการทำงานอย่างมีความสุขก็ทำได้ง่ายกว่านั้น
ความท้าทายอย่างหนึ่งของการหาความสุขจากการทำงานก็คือเรามีเป้าหมายและหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบเสมอ ซึ่งมันก็ยากที่จะทำการ ‘ปล่อยวาง’ หรือ ‘เลิกเครียด’ กับสิ่งพวกนี้ได้ ในวันนี้ผมจะลองเสมอวิธีที่ช่วยให้คุณมีความสุขกับการทำงาน แถมบางวิธีอาจจะช่วยให้งานของคุณดีขึ้นด้วยครับ
#1 เข้าใจคุณค่าของงาน
หลายคนไม่มีความสุขกับงานของตัวเองเพราะรู้สึกว่าสิ่งที่ทำ ‘ไม่มีความหมาย’ บางทีเราอาจจะทำงานอย่างเดิมซ้ำไปซ้ำมาหลายครั้งจนรู้สึกว่ามันไม่สำคัญ หรือบางทีเราก็อาจจะไม่ได้เข้าใจว่าคุณค่าของตำแหน่งงานของเราอยู่ในส่วนไหนของภาพรวมบริษัท
การทำงานทั้งที่ไม่เข้าใจคุณค่าหรือเป้าหมายของตัวงานจะทำให้เรารู้สึกเบื่อหรือรู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่มันไม่มีความหมาย ซึ่งอาการรู้สึกเบื่อหรือรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำไม่มีความหมายก็จะทำให้เราทำงานได้อย่างไม่มีความสุข
อาสาสมัครที่ทำงานช่วยสังคมเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดครับ คนพวกนี้ทำงานเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสิ่งที่เขาสนใจหรือเห็นค่า ต่อให้ได้ผลตอบแทนไม่เยอะ ทำงานเหนื่อยแค่ไหน หรือทำงานซ้ำไปซ้ำมา เขาก็ยังมีความสุขกับงานที่เขาทำได้
เพราะฉะนั้นหากคุณคิดว่าคุณไม่เข้าใจคุณค่าหรือเป้าหมายของงานที่ตัวเองทำ ให้พยายามศึกษาภาพรวมของบริษัทดู บริษัทของคุณขายลูกค้าประเภทไหน ลูกค้าพวกนี้ใช้สินค้าเราเพื่อทำอะไร และหน้าที่ของเรามีประโยชน์ต่อจุดมุ่งหมายพวกนี้มากแค่ไหน
#2 พัฒนาตัวเองเรื่อยๆ
อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไม่มีความสุขเวลาทำงานก็คือการที่เรารู้สึกว่าเราติดอยู่กับที่ไม่สามารถไปไหนได้
เป้าหมายของการทำงานหลายคนก็คือการเรียนรู้ครับ สำหรับบางคนการได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ (โดยเฉพาะสิ่งที่สามารถทำเงินได้) ก็เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นและทำให้เรารู้สึกสนุก
ซึ่งการทำงานก็คือหนึ่งในโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้หาวิธีแก้ปัญหาอะไรใหม่ๆที่เราไม่เคยคิดไม่เคยคาดฝัน และได้ทำความรู้จักและเรียนรู้เกี่ยวกับคนที่เราไม่เคยเจอมาก่อน
หากคุณรู้สึกว่ายังไม่มีความสุขกับงานที่ทำ ก็ให้ลองเก็บเกี่ยวโอกาสหาความรู้เกี่ยวกับบริษัท เกี่ยวกับสินค้า หรือเกี่ยวกับระบบการทำงานทั้งหมด ศึกษาเพื่อพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ยิ่งคุณเก่งขึ้น คุณก็จะมั่นใจในตัวเองมากขึ้น และสิ่งที่ตามมาก็คือความสุขในการทำงาน
#3 สมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน
สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับเลยก็คือไม่ใช่ทุกงานที่จะเหมาะกับทุกคน แต่ละคนมีข้อจำกัดในชีวิตไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราก็ควรจะหางานที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่เราอยากได้
หากคุณเป็นคนที่มีภาระทางบ้านเยอะ มีข้อจำกัดต่างๆที่การทำงานไม่สามารถตอบโจทย์ให้ได้ คุณก็ควรศึกษาวิธีเรื่องการพัฒนาสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานเพิ่มเติมครับ
คนบางคนหากเป็นงานที่ชอบก็ยอมทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้เลย คนบางคนก็มีข้อจำกัดต้องเลิกงานให้ตรงเวลาไปรับลูก ไม่ว่าข้อจำกัดหรือความชอบของคุณคืออะไร คุณก็ต้องหาจุดพอดีระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตให้ได้
หากคุณไม่สามารถหาจุดพอดีระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต คุณก็จะไม่มีความสุขทุกๆครั้งที่คุณสูญเสียการควบคุมตารางเวลาของตัวเองไม่ว่าจะไปกับเรื่องงานหรือเรื่องภาระส่วนตัว
ดูแลตัวเองให้ดี ตอบให้ได้ว่าจุดพอดีของคุณอยู่ที่ไหน และหาความสุขกับความพอดีนั้นให้เจอ ผมแนะนำให้คนที่สนใจสามารถอ่านบทความเรื่อง ความสมดุลของชีวิตกับการทำงาน (Work-Life Balance) ดูนะครับ
#4 ขอคำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ
เวลาเราทำงานเราก็คงมีเรื่องให้ปวดหัวหรือเรื่องที่เราทำไม่ได้มากมายใช่ไหมครับ บางครั้งการพยายามทำอะไรด้วยตัวเองหรือการเรียนรู้ด้วยตัวเองในที่ทำงานก็ไม่เพียงพอ
วิธีแก้ปัญหาหลายอย่างเราก็ไม่อาจจะคิดด้วยตัวเองได้ การขอคำแนะนำจากคนแผนกอื่นหรือหัวหน้างานที่มีประสบการณ์มากกว่าเราหรือมุมมองไม่เหมือนเราก็จะทำให้เราทำงานได้ดีขึ้น คำแนะนำไม่ได้จำเป็นต้องเกี่ยวกับเรื่องหน้าที่ของเราอย่างเดียวนะครับ การถามอะไรง่ายๆเช่น ‘คิดว่าจุดไหนที่ผมควรจะพัฒนามากขึ้นอีก’ หรือ ‘ส่วนนี้มีอะไรที่ต้องแก้ไขหรือเปล่า’ จะทำให้คนอยากช่วยให้ความรู้และช่วยสอนเรามากขึ้น
ปัญหางานที่ยากเกินไปหรือเพื่อนร่วมงานไม่เป็นมิตรไม่ให้ข้อมูลเป็นสิ่งที่ทำให้คนหนักใจจนต้องเปลี่่ยนงานบ่อยๆ ถ้าเราเข้าใจวิธีการขอความร่วมมือที่ถูกทาง ปัญหาของเราก็จะน้อยลง และความสุขของเราก็จะมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม หากเราเลือกที่จะขอคำแนะนำของคนอื่นเราก็ต้องรู้ที่จะขอบคุณและเคารพเวลาของอีกฝ่าย หากเราเลือกที่จะให้คนอื่นตัดสินใจแทนเราตลอดเวลา ผลงานของเราก็อาจจะออกมาไม่ดีเท่าไร
#5 หาโอกาสให้ตัวเองเสมอ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนเราชอบอยากลองอะไรใหม่ๆและชอบความรู้สึกว่าเราไปข้างหน้าเสมอ ยิ่งเป็นการไปข้างหน้าจากความพยายามและความสามารถของเรา เราก็ยิ่งมีความสุข
งานบางอย่างก็มีช่องทางในการโตน้อยครับ เราอาจจะรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำอยู่คือสิ่งที่เราต้องทำตลอดไป และเราก็จะเบื่อและหมดความสุขกับการทำงาน (ไม่ได้เป็นสำหรับทุกคน แต่ส่วนมากก็ใช่)
การที่เรารู้ว่าเราสามารถโตได้ในบริษัทก็คือการ ‘สร้างความหวัง’ ให้ตัวเองอย่างหนึ่ง ความหวังจะช่วยสร้างความสุข ลดความเครียด และผลักดันให้เราพยายามมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเราพยายามและพัฒนามากขึ้นคุณภาพชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวของเราก็จะดีขึ้น
ในแง่ของความหวัง ต่อให้คุณไม่ชอบงานหรือไม่รู้สึกว่างานน่าตื่นเต้น บางครั้งความรู้สึกแค่ว่า ‘เดี๋ยวทุกอย่างก็ดีขึ้นแล้ว’ ก็เพียงพอสำหรับการหาความสุขในการทำงานครับ
ความหมายของโอกาสและความหวังของแต่ละคนไม่เหมือนกัน สุดท้ายแล้วคำตอบที่เหมาะสมที่สุดก็ขึ้นอยู่กับคุณเอง คุณอาจจะมองหาโอกาสในงานที่มีอยู่หรือหาโอกาสจากงานอื่นๆที่สามารถหาได้ หรืออาจจะแค่เปลี่ยนมุมมองว่าทุกปัญหาคือโอกาสก็ได้ ตราบใดที่คุณยังให้โอกาสกับตัวเองอยู่เสมอ คุณก็จะมีความสุขมากขึ้น
#6 วิธีสื่อสารแง่บวก
การมองโลกในแง่ดีกับการสร้างบรรยากาศที่ดีย่อมทำให้เรามีความสุขใช่ไหมครับ ตามทฤษฎีแล้วการทำให้ที่ทำงานเป็นสถานที่สร้างความสุขนั้นฟังดูง่าย แต่ขั้นตอนแต่ละอย่างต้องทำให้ถูกต้อง
วิธีที่เราสามารถทำได้ทันทีก็คือเริ่มจากวิธีการพูดและการสื่อสารของเรา
ยกตัวอย่างเช่น เราควรเลิกวิธีการพูดเรื่องการหาคนที่ผิดหรือคนรับผิดชอบ และโฟกัสเรื่องวิธีการแก้ปัญหาและการป้องกันไม่ได้ให้ปัญหาเกิดขึ้นได้อีกในอนาคตเป็นต้น เราคงไม่สามารถควบคุมคำพูดของคนอื่นได้ แต่เราสามารถควบคุมวิธีการสื่อสารของตัวเองและการแก้ปัญหารอบตัวเราได้ทันที
อีกหนึ่งในวิธีการสื่อสารแง่บวกก็คือการขอคำแนะนำที่ผมได้อธิบายไปแล้วในข้อ (4) ยิ่งเราแสดงตัวว่าเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนและรับความคิดเห็นของคนอื่นมากเท่าไร เรายิ่งได้รับความเคารพและความเชื่อใจจากเพื่อนร่วมงานมากเท่านั้น
ตัวอย่างสุดท้ายก็คือคำพูดที่ตัดกำลังใจตัวเอง เช่น ‘ทำไม่ได้หรอก’ หรือ ‘ยากเกินไป’ ผมเข้าใจว่าหากเป็นงานที่มีความสำคัญเช่นการดูแลลูกค้าบัญชีใหญ่คุณอาจจะรู้สึกประหม่าได้ ซึ่งในกรณีนี้ผมก็แนะนำให้ขอความช่วยเหลือหรือคำแนะนำจากคนอื่น แต่สำหรับงานจิปาถะส่วนมากที่เป็นโอกาสให้คุณเรียนรู้อะไรใหม่ๆ คำพูดที่ดีก็คือ ‘จะพยายามทำให้ดีที่สุดครับ!’
#7 วัฒนธรรมองค์กรเหมาะกับเราหรือเปล่า
‘เข้ากันไม่ได้’ เป็นอะไรที่ใช้ได้มากกว่าชีวิตคู่ครับ
เราสามารถเกิดอาการ ‘เข้ากันไม่ได้’ กับบริษัทและสถานที่ทำงานด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นง่ายที่สุดก็คือการเข้าไม่ได้กับวัฒนธรรมองค์กรครับ ยกตัวอย่างเช่นหากเราทำงานบริษัทฝรั่ง ทางบริษัทก็จะชอบคนที่กล้าแสดงออกมากกว่า หากเราทำงานกับบริษัทญีปุ่นทางบริษัทก็จะชอบคนที่ทำงานละเอียดทำงานเป็นระบบ หรือถ้าเราทำงานองค์กรไทยเราก็ต้องทำความเข้าใจระบบ ‘ระดับความอาวุโส’ เป็นต้น
แต่ละวัฒนธรรม แต่ละระบบการทำงานมีข้อดีข้อเสียไม่เหมือนกัน และนอกจากคุณจะเป็นซุปเปอร์สตาร์ของบริษัท การเปลี่ยนระบบการทำงานของบริษัทก็เป็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงได้ยากมาก เพราะฉะนั้นทางเลือกที่ดีและทำให้เรามาความสุขที่สุดคือการหาบริษัทที่มีวัฒนธรรมการทำงานที่เหมาะกับเรา
วัฒนธรรมองค์กรในที่นี้รวมถึงวิธีทำงานและวิธีสื่อสารของแต่ละแผนกในองค์กรด้วยนะครับ ยกตัวอย่างเช่นแผนกฝ่ายขายอาจจะเป็นแผนกที่ชอบการเข้าสังคมมากกว่าแผนกบัญชี แผนกฝั่งไอทีอาจจะชอบการเล่นเกมมากกว่าแผนกผู้บริหารเป็นต้น หากเราเลือกแผนกและบริษัทที่มีวัฒนธรรมเหมือนกับสิ่งที่เราชอบเราก็จะสามารถทำงานได้อย่างมีความสุขมากขึ้น
#8 การให้
การให้คือการโฟกัสไปที่ปัญหาของคนอื่นมากกว่าการที่จะมาทุกข์กับปัญหาตัวเอง ยิ่งเราให้คนอื่นเยอะชีวิตเราก็จะมีความสุขมากขึ้น
ปัญหาของการให้ในที่ทำงานก็คือเราต้องเรียนรู้ที่จะให้อย่างมีเหตุผลและรู้จักรักษาผลประโยชน์ของตัวเองด้วย หากเราเข้าใจหน้าที่การงานและความรับผิดชอบที่เราต้องทำแล้ว เราก็ควรหาวิธีทำงานพวกนั้นให้ดีก่อน
หลักจากเราทำหน้าที่ตัวเองได้ดีแล้ว เราค่อยแบ่งเวลาให้เพื่อนร่วมงานและบริษัทของเรา แต่การให้ในที่ทำงานหมายถึงอะไรกันบ้าง?
การให้ที่ง่ายและเป็นภาระกับเราน้อยที่สุดคือการให้ข้อมูล ความรู้ และคำแนะนำ สิ่งพวกนี้เป็นอะไรที่เราไม่ต้องใช้เวลาเยอะแต่สามารถสร้างมูลค่าให้กับคนอื่นได้มาก เพราะฉะนั้นคราวหน้าที่มีคนมาขอคำแนะนำจากเรา ก็อย่าไปหวงความรู้มากเลยครับ การสร้างความสุขให้คนอื่นก็จะกลายเป็นความสุขของเราต่อมา
หรือบางครั้งคุณอาจจะเลือกซื้อขนมซื้อน้ำหวานแจกเพื่อนร่วมงานเพื่อสร้างมิตรเพิ่มก็ได้ โดนัทราคาไม่เท่าไรก็สามารถซื้อใจคนได้มากกว่าที่คิด
#9 คุณอยากทำอะไรกันแน่
งานที่ทำแล้วมีความสุขที่สุดคืองานที่เราอยากทำ ซึ่งคนที่ทำงานก็จะมีอยู่สามประเภทครับ
- คนที่รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร และได้ทำงานที่ตัวเองอยากทำ
- คนที่รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร แต่ไม่ได้ทำงานที่ตัวเองอยากทำ
- คนที่ไม่รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร
คนประเภทแรกคือคนที่มีความสุข ประเภทที่สองคือคนที่อาจจะรู้สึกหงุดหงิดหรือเสียกำลังใจ ส่วนคนประเภทที่สามคือคนที่กำลังหลงทางอยู่ครับ ซึ่งประเภทที่สองและสามก็คือไม่มีความสุขเท่าไร
หากคุณรู้ว่าตัวเองอยากทำอะไรแต่ไม่ได้ทำงานที่ตัวเองอยากทำ คุณก็ต้องถามคำถามว่าคุณจะทำให้สถานการณ์มันดีขึ้นได้ยังไงบ้าง คุณอาจจะเปลี่ยนงานไปทำอะไรที่คุณอยากทำ หรือถ้าสิ่งที่คุณอยากทำมีความเสี่ยงหรือไม่สามารถสร้างเงินได้ คุณจะลดความเสี่ยงหรือหาช่องทางทำสิ่งพวกนี้เป็นงานอดิเรกได้หรือเปล่า
หากคุณไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร คุณก็ต้องหาเวลาว่างมาลองอะไรใหม่ๆเพื่อตอบคำถามตัวเองให้ได้ หาอะไรที่คุณชอบหรือคุณถนัดทำไปเรื่อยๆจนกว่าคุณจะเจอสิ่งที่คุณอยากจะทำให้กลายเป็น ‘งานประจำ’ ของตัวเอง
#10 การพักผ่อนที่เพียงพอ
สุขภาพร่างกายสำคัญต่อความสุขทากครับ แค่คุณออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอคุณก็จะเครียดน้อยลงมากแล้ว
แต่สิ่งที่ผมต้องเน้นเป็นพิเศษสำหรับคนทำงานก็คือการนอน บ่อยครั้งที่เราอาจจะใช้เวลาทำงานมากเกินไปจนกลับบ้านสายและทำให้นอนสายไปด้วย หรือบางทีเราก็เก็บเรื่องงานมาคิดมากจนเครียดนอนไม่หลับ
การนอนไม่พอจะทำให้คุณรู้สึกเบลอไม่สามารถโฟกัสกับการทำงานได้ และยังทำให้คุณรู้สึกเครียดและหงุดหงิดมากขึ้นด้วย
นอกจากการนอนแล้ว เราควรแบ่งเวลาพักผ่อนไปเที่ยวหรืออยู่กับบ้านดูแลตัวเองด้วย ร่างกายคนเราเป็นเหมือนเครื่องจักรหากไม่มีการหยุดพักตรวจสอบสภาพร่างกายบ่อยๆก็จะมีอาการล้าและเครียดได้ การให้เวลาร่ายการเราพักไม่ใช่เป็นการขี้เกียจ แต่มันเป็นเหมือนการเติมน้ำมันรถครับ รถต่อให้วิ่งเร็วแค่ไหนก็ต้องมีการแวะเติมน้ำมันอยู่ดี
#11 การทำงานก็คือการเข้าสังคมอย่างหนึ่ง
การทำงานส่วนมากต้องมีการพูดคุยกับคนอื่น เช่นการทำงานร่วมกันแผนกอื่น การคุยกับคู่ค้าทางธุรกิจ หรือการคุยกับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นงานระดับไหนเราก็ต้องใช้ทักษะการเข้าสังคมไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง
เท่ากับว่าเราก็ต้องเลือกงานที่มีระดับการ ‘เข้าสังคม’ ให้เหมาะสมกับตัวเอง หากเราไม่อยากพูดคุยกับคนเแปลกหน้าเยอะ เราก็ควรเลี่ยงงานที่ต้องพบลูกค้า แต่ต่อให้เราเป็นพนักงานวิเคราะห์ข้อมูลที่อยู่หน้าจอคอมทั้งวัน เราก็ต้องมีการพบปะพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานไม่มากก็น้อยอยู่ดี ทางที่ดีเราเปิดใจให้กว้างและเรียนรู้ที่จะมีความสุขกับคนรอบข้างจะดีกว่าครับ
Soft Skill หรือทักษะด้านอารมณ์ ในการเข้าสังคมจะทำให้เรามีความสุขกับการทำงานมากขึ้น ถ้าเป็นไปได้ก็ฝึกไว้ไม่เสียหายอะไร แถมยิ่งเราฝึกเยอะโอกาสที่หน้าที่การงานของเราจะดีขึ้นก็มีเยอะขึ้นด้วย ซึ่งก็จะเกี่ยวข้องกับหัวข้อถัดไป…
#12 จำไว้เสมอว่าทุกคนมีความต้องการไม่เหมือนกัน
ทุกคนมีความต้องการและความชอบไม่เหมือนกัน และการเข้าสังคมที่ดีที่สุดก็คือการ ‘แลกเปลี่ยนของที่ความชอบไม่เท่าเทียม’
หมายความว่ายังไง?
ยกตัวอย่างเช่น เวลาคุณไปกินข้าวกับเพื่อนแล้วสั่งผัดผักมาหนึ่งจาน คุณชอบกินผักบุ้ง ส่วนเพื่อนคุณชอบกะหล่ำปลี คุณสองคนก็แค่แบ่งอาหารกินแต่สิ่งที่ตัวเองชอบก็พอ การทำงานก็เช่นกันครับ
ทุกคนมีความต้องการไม่เหมือนกัน บางคนก็อาจจะทำงานเพราะรู้สึกสนุก บางคนอาจจะทำงานได้ขอแค่มีคนชม บางคนมาทำงานเพื่อเข้าสังคมมีคนเดินมาทักทายสวัสดีทุกวันก็มีความสุขแล้ว หากคุณรู้ว่าคุณต้องการอะไร แต่ละคนต้องการอะไร คุณก็สามารถแลกเปลี่ยนสิ่งพวกนี้เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมในการทํางานที่มีความสุขได้แล้ว
#13 คุณมีอิสระในการทำงานแค่ไหน
ความหมายของอิสระของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนชอบคิดเองทำอะไรเองเพราะได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เยอะ ส่วนบางคนชอบให้คนช่วยคิดให้ชอบพิจารณาตัวเลือกคำแนะนำของคนรอบข้าง
งานที่สร้างความสุขคืองานที่มีระดับของ ‘อิสระ’ ที่เหมาะสมกับเรา
หากคุณเป็นคนที่ชอบอะไรท้าทายอยากจะทดลองไอเดียของตัวเอง คุณคิดว่าคุณต้องอยู่ในองค์กรบริษัทแบบไหนถึงจะได้รับอิสระมากขนาดนี้ และคุณสามารถพิสูจน์ตัวเองเพื่อขอโอกาสพวกนี้ได้หรือเปล่า
หากคุณเป็นคนที่ต้องการคนจูงมือหรือคนสอนงานเยอะ คุณจะสามารถหาองค์กรที่มีทรัพยากรเหมาะสมกับความต้องการเราได้ยังไงบ้าง
#14 มีสติกับงานที่ทำ
‘มีสติ’ และ ‘อยู่กับปัจจุบัน’ เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับความสุขที่มีมาหลายร้อยปีแล้วครับ
แต่เราจะนำวิธีคิดนี้มาใช้กับการทำงานได้ยังไงบ้าง
การมีสติหมายความว่าเราต้องไม่โฟกัสไปกับความทุกข์ของปัญหาต่างๆ เวลาเราเจอปัญหาในที่ทำงาน เราควรหาวิธีแก้ไขและป้องกันมากกว่าการเสียใจหรือกระวนกระวายใจ
ใช้สติกับสิ่งที่ทำ ตั้งใจทำงานสำคัญให้ดีที่สุด และอย่าให้ใจหลุดลอยไปกับอะไรที่ไม่คู่ควรต่อความสนใจของเรา ทำทีละงาน ค่อยๆทำให้เสร็จตามลำดับความสำคัญ ยิ่งเราเจอปัญหาเราก็ความใช้สมาธิให้มากขึ้น หากคุณทำได้ คุณจะมีความสุขกับงานและงานของคุณก็จะออกมาดีขึ้นด้วย
#15 ทำงานต้องมีเป้าหมาย
ข้อสุดท้ายเป็นเทคนิคส่วนตัวของผมเอง
มันง่ายที่เราจะรู้สึก ‘หลงทาง’ เวลาเราไม่มีเป้าหมาย ซึ่งอาการของความรู้สึกหลงทางก็มีหลายอย่าง บางคนอาจจะรู้สึกว่าเปล่า รู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่มีค่า หรือรู้สึกว่าเราทำงานเหนื่อยเพื่ออะไรกัน
สาเหตุที่คนอยากเกษียณหรืออยากเลิกทำงานก็เพราะรู้สึกว่างานที่ทำไม่ได้ตอบโจทย์ของชีวิต แต่ถ้าเราสามารถหาเป้าหมายของการทำงานได้ ชีวิตของเราก็จะมีความหมายมากขึ้น เราจะสามารถใช้ 30% ของชีวิตที่เราต้องทำงานให้มีประโยชน์ได้มากขึ้น
เป้าหมายการทำงานอาจจะเป็นอะไรง่ายๆแค่การเก็บเงิน หรือจะเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นก็ได้ ตราบใดที่เป้าหมายการทำงานทำให้เราตั้งใจทำงานและรู้สึกอยากลุกขึ้นไปทำงานทุกวันก็เพียงพอแล้ว
สุดท้ายนี้ผมขอจบบทความด้วยคำพูดของ ‘สตีฟ จอบส์’ เกี่ยวกับการทำงานครับ
“Being the richest man in the cemetery doesn’t matter to me. Going to bed at night saying we’ve done something wonderful, that’s what matters to me.”
การเป็นชายที่รวยที่สุดในสุสาน มันไม่ได้สำคัญอะไรกับผมเลย การได้พูดกับตัวเองก่อนนอนว่า เราได้ทำบางสิ่งที่สุดยอด นั่นต่างหากที่สำคัญสำหรับผม
บทความล่าสุด
การจัดโต๊ะคอมให้สวยถูกใจ พร้อมฟังก์ชันการใช้งานครบครัน...
ในมุมมองหนึ่ง ‘ลูกคนกลาง’ ดูเหมือนจะต้องแบกรับภาระทางใจอันหนักอึ้ง...